ฝรั่งเศส vs โมร็อกโก : ตัวต่อตัว ตัดเชือก ฟุตบอลโลก 2022

ฝรั่งเศส vs โมร็อกโก : ตัวต่อตัว ตัดเชือก ฟุตบอลโลก 2022

ฝรั่งเศส vs โมร็อกโก : ตัวต่อตัว ตัดเชือก ฟุตบอลโลก 2022

ฟุตบอลโลก 2022 รอบรองชนะเลิศ : ฝรั่งเศส vs โมร็อกโก
พุธ 14 ธันวาคม 2565, 02.00 น.
สนาม : อัล เบย์ท สเตเดี้ยม, อัล คอร์
ถ่ายทอดสด : One31

 

ผลการพบกัน : 11 นัด
A v B 1963 โมร็อกโก ชนะ 2-1
B v A 1966 เสมอ 2-2
เมดิเตอร์เรเนียน เกมส์ 1967 ฝรั่งเศส ชนะ 2-0
เมดิเตอร์เรเนียน เกมส์ 1975 เสมอ 1-1, ฝรั่งเศส ชนะจุดโทษ 3-1
เมดิเตอร์เรเนียน เกมส์ 1987 เสมอ 0-0
โฟร์ เนชั่นส์ 1988 ฝรั่งเศส ชนะ 2-1
Under-21 v A 1996 ฝรั่งเศส ชนะ 1-0
คิง ฮัสซัน คัพ 1998 เสมอ 2-2, ฝรั่งเศส ชนะจุดโทษ 6-5
อุ่นเครื่อง 1999 ฝรั่งเศส ชนะ 1-0
ฮัสซัน II 2000 ฝรั่งเศส ชนะ 5-1
อุ่นเครื่อง 2007 เสมอ 2-2

 

ผลงานในฟุตบอลโลก 2022
ฝรั่งเศส
รอบแบ่งกลุ่ม ชนะ ออสเตรเลีย 4-1
รอบแบ่งกลุ่ม ชนะ เดนมาร์ก 2-1
รอบแบ่งกลุ่ม แพ้ ตูนิเซีย 0-1
รอบ 16 ทีม ชนะ โปแลนด์ 3-1
รอบ 8 ทีม ชนะ อังกฤษ 2-1

โมร็อกโก
รอบแบ่งกลุ่ม เสมอ โครเอเชีย 0-0
รอบแบ่งกลุ่ม ชนะ เบลเยียม 2-0
รอบแบ่งกลุ่ม ชนะ แคนาดา 2-1
รอบ 16 ทีม เสมอ สเปน 0-0, ชนะจุดโทษ 3-0
รอบ 8 ทีม ชนะ โปรตุเกส 1-0

 

ความพร้อมก่อนเตะ
ฝรั่งเศส
เริ่มต้นเส้นทางป้องกันแชมป์โลกได้อย่างสวยงาม ชนะทั้ง ออสเตรเลีย และ เดนมาร์ก จนเป็นทีมแรกของฟุตบอลโลก 2022 ที่ลอยลำเข้าสู่รอบ 16 ทีมสุดท้าย ก่อนเกมปิดกลุ่มจะส่งสำรองลงไปแพ้พลิกล็อกต่อ ตูนิเซีย 0-1 แต่ก็ยังจบที่แชมป์กลุ่มอยู่ดี

 

ส่วนรอบ 16 ทีมสุดท้าย เอาชนะ โปแลนด์ ไม่ยากเย็นนัก 3-1 คีลิยัน เอ็มบัปเป้ ซัดสองตุง ขึ้นนำดาวซัลโวฟุตบอลโลก 2022 ด้วยการยิงไป 5 ประตู ตามด้วยรอบ 8 ทีม บลุ้นระทึกหน่อย แต่ยังอร่อยมากพอจะเบียดชนะ อังกฤษ 2-1 โอลิวิเย่ร์ ชิรูด์ สังหารชัยในเกมที่ แฮร์รี่ เคน พลาดจุดโทษสำคัญท้ายเกม

 

ก่อนหน้านี้ ดิดิเย่ร์ เดส์ชองส์ โดนปัญหาลูกทีมบาดเจ็บต่อเนื่อง ทั้ง โกร็องแต็ง โตลิสโซ่, ไมค์ เมนยอง, ปอล ป๊อกบา, เอ็นโกโล่ ก็องเต้, เพรสแนล คิมเพ็มเบ้, คริสโตเฟอร์ เอ็นคุนคู, คาริม เบนเซม่า, ลูคัส เอร์นันเดซ โดยที่ 4 รายหลังต้องถอนตัวจากฟุตบอลโลก 2022 ไป

 

แต่ว่าการลงเตะ 3 เกมหลังก็ไม่มีตัวเจ็บเพิ่มแล้ว ส่วนที่เป็นประเด็นว่า คาริม เบนเซม่า ยอดดาวยิงเจ้าของรางวัลบัลลงดอร์ 2022 จะสลัดปัญหาบาดเจ็บหวนคืนทีมมาลงเล่นในรอบน็อกเอาต์ แม้ เบนเซม่า จะคืนสนามซ้อมกับ เรอัล มาดริด แล้ว แต่กระแสคืนทีมชาติก็เงียบไปแล้วเช่นกัน

 

แต่แม้จะไม่มีตัวเจ็บเพิ่ม ก็มีรายงานเพิ่มเติมว่า นักเตะตราไก่หลายรายมีอาการป่วยแทรกซ้อน โดยเฉพาะ ดาโยต์ อูปาเมกาโน่ กับ อาเดรียง ราบิโอต์ ที่พลาดซ้อมเมื่อวันอังคาร และมีสิทธิ์จะเรียกฟิตไม่ทันเกมสุดสำคัญนัดนี้ ซึ่งถ้าไม่พร้อมจริงจะเป็น อิบราฮิมา โกนาเต้ กับ ยุสซูฟ โฟฟาน่า เสียบตำแหน่งแทนตามลำดับ

 

ส่วนถ้าพร้อมทั้งหมด เดส์ชองส์ ก็จะยึดทีมเดิมๆ เป็นแกน ด้วยระบบ 4-2-3-1 ออเรเลียง ชูอาเมนี่ กับ อาเดรียง ราบิโอต์ ดูแลเกมตรงกลาง แนวรุกให้ อุสมัน เดมเบเล่, อองตวน กรีซมันน์ และ คีลิยัน เอ็มบัปเป้ สนับสนุนหอกเป้า โอลิวิเย่ร์ ชิรูด์

 

โมร็อกโก
ม้ามืดตัวจริงแห่งฟุตบอลโลก 2022 มีความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ตัวกุนซือ วาฮิด ฮาลิลฮ็อดซิช โดนเด้งไปเมื่อกลางปี หรือก่อนฟุตบอลโลกที่กาตาร์จะมาถึงแค่ไม่กี่เดือน โดยเป็น วาลิด เรกรากี อดีตนายใหญ่ อัล-ดูฮาอิล และ วีดัด คาซาบลังก้า มาเสียบแทน

 

แต่การเปลี่ยนโค้ชเหมือนเลือกหวยถูกใบ โมร็อกโก เกมแรกยันเสมอ โครเอเชีย 0-0 ต่อมาพลิกล็อกชนะ เบลเยียม 2-0 ตามด้วยตบ แคนาดา 2-1 จนเข้ารอบด้วยการเป็นแชมป์กลุ่ม

 

สำคัญคือในรอบน็อกเอาต์ 16 ทีมสุดท้าย ยันเสมอ สเปน 0-0 ใน 120 นาที ก่อนได้ ยาสซีน “โบโน่” บูนู เป็นฮีโร่ เซฟแล้วเซฟอีกจนชนะดวลเป้าแบบคลีนชีต 3-0 เช่นเดียวกับรอบ 8 ทีมสุดท้าย ยังคงหักปากกาเซียนอีกด้ามด้วยการสยบ โปรตุเกส ของ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ 1-0 เท่ากับ 5 เกมของฟุตบอลโลก 2022 พวกเขาเสียแค่ประตูเดียว และยังมาจากการยิงตัวเองของ นาเยฟ อาแกร์ด ในเกมกับ แคนาดา ด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่าสภาพทีมเกมนี้ของ เรกรารี นั้น “อ่วมมากแม่” มีทั้งตัวเจ็บและตัวแบน มีสิทธิ์ขาดได้ถึง 5 คนในเกมนี้

 

เริ่มจากคู่เซนเตอร์แบ็กตัวจริง กัปตันทีม โรแม็ง ซาอิสส์ กับ นาเยฟ อาแกร์ด มีปัญหาบาดเจ็บทั้งคู่ รายแรกจาก เบซิคตัส เดี้ยงจนต้องหามออกจากเกมกับ โปรตุเกส ตอนครึ่งหลัง ส่วนรายหลังจาก เวสต์แฮม ยูไนเต็ด เจ็บจนไม่ได้เล่นตั้งแต่รอบที่แล้ว

 

ถัดมา นูสแซร์ มาซราอุย แบ็กซ้ายจาก บาเยิร์น มิวนิค ก็เจ็บจนพลาดรอบที่แล้วเช่นกัน เพิ่มเติมด้วย อับเดลฮามิด ซาบิรี่ มิดฟิลด์จากซามพ์โดเรีย ต้องเช็กสภาพว่าจะพร้อมหรือไม่

 

นอกจากนั้น วาลิด เชดดิร่า กองหน้าตัวสำรองจาก บารี่ ติดโทษแบนไม่อาจลงเล่นได้แน่นอน หลังโดนสองเหลืองหนึ่งแดงในเกมที่ผ่านมา

 

ประเด็นสำคัญอยู่ที่แนวรับ มีโอกาสสูงที่ เรกรากี จะต้องเปลี่ยนรวดเดียว 3 คน หากว่า ซาอิสส์ – อาแกร์ด – มาซราอุย ไม่พร้อม โดยจะเป็น จาวัด เอล ยามิก, อัชราฟ ดารี และ ยาเอีย อัตติยัต อัลลาห์ ลงแทน เหลือตัวจริงแค่แบ็กขวา อัชราฟ ฮาคิมี่

 

อย่างไรก็ตามแนวรุกไม่เป็นปัญหาแม้จะขาด เชดดิร่า ที่เป็นสำรอง โดยให้ ฮาคิม ซีเย็ค กับ โซฟียาน บูฟาล ขนาบข้างหอกเป้า ยุสเซฟ เอ็น-เนซีรี่ เหมือนเช่นเคย

 

ตัวความหวัง
ฝรั่งเศส : คีลิยัน เอ็มบัปเป้
เป็นผู้นำเกมรุกเบอร์ 1 ของทัพตราไก่ในฟุตบอลโลก 2022 แทนที่เจ้าของบัลลงดอร์อย่าง คาริม เบนเซม่า ที่ถอนตัวไป ซึ่งด้วยวัยวุฒิและคุณวุฒิของ เอ็มบัปเป้ ในวัย 23 ก็ถือว่าพร้อมเต็มที่แล้ว ภายหลังเริ่มเล่นทีมชาติมาตั้งแต่ยังละอ่อน ถึงตรงนี้เล่นไปแล้ว 64 นัด ซัด 33 ประตู และเป็นตัวเก็งเต็งหนึ่งคว้ารางวัลดาวซัลโวบอลโลกงวดนี้ ภายหลังกดไปแล้ว 5 เม็ด ยืนแท่นผู้นำอยู่ขณะเหลือแค่ 4 เกมสุดท้ายของทัวร์นาเมนต์

 

โมร็อกโก : ยาสซีน “โบโน่” บูนู
โตจาก วีดัด คาซาบลังก้า แล้วย้ายข้ามห้วยมาเข้าแคมป์ แอตเลติโก มาดริด แต่ก็ไม่อาจแทรกขึ้นชุดใหญ่ที่มี ติโบต์ กูร์กตัวส์ ขวางทางอยู่ได้ โดยอันที่จริงถือว่าจอมหนึบเชื้อสายแคนาดาวัย 31 โด่งดังอย่างเงียบๆ อยู่กับ เซบีย่า มาได้พักหนึ่งแล้ว หลังมาเล่นแบบยืมตัวปี 2019 ก่อนย้ายขาดในปีถัดมา แล้วก็สร้างชื่อระดับคว้ารางวัลนายประตูแห่งปี ลา ลีกา Zamora Trophy ติดตัวในซีซั่นก่อน ส่วนในทีมชาติ เริ่มติดธงปี 2013 เป็นต้นมา ก่อนจะเป็นมือหนึ่งในช่วง 4-5 ปีหลัง แล้วก็โครมครามสุดๆ ในฟุตบอลโลก 2022 หนนี้

 

11 ตัวจริงที่คาด
ฝรั่งเศส (4-2-3-1, กุนซือ ดิดิเย่ร์ เดส์ชองส์) อูโก้ โยริส – เตโอ เอร์นันเดซ, ราฟาแอล วาราน, ดาโยต์ อูปาเมกาโน่ (อิบราฮิมา โกนาเต้), ชูลส์ กุนเด้ – อาเดรียง ราบิโอต์ (ยุสซูฟ โฟฟาน่า), ออเรเลียง ชูอาเมนี่ – อุสมัน เดมเบเล่, อองตวน กรีซมันน์, คีลิยัน เอ็มบัปเป้ – โอลิวิเย่ร์ ชิรูด์
โมร็อกโก (4-3-3, กุนซือ วาลิด เรกรากี) ยาสซีน บูนู – ยาเอีย อัตติยัต อัลลาห์, จาวัด เอล ยามิก, อัชราฟ ดารี, อัชราฟ ฮาคิมี่ – อัซเซดีน อูนาฮี, โซฟียาน อัมราบัต, เซลิม อมัลลาห์ – ฮาคิม ซีเย็ค, ยุสเซฟ เอ็น-เนซีรี่, โซฟียาน บูฟาล

 

สถิติที่เกี่ยวข้องกับเกม ฝรั่งเศส ปะทะ โมร็อกโก
• โมร็อกโก เคยเป็นประเทศในอาณานิคมของ ฝรั่งเศส ช่วงปี ค.ศ. 1912 – 1956
• ความที่เป็นเมืองขึ้นของกัน ทำให้เจอกันบ่อยพอตัวในยุคโบราณ รวมพบกัน 11 นัด ฝรั่งเศสชนะใน 90 นาที 5 นัด โมร็อกโกชนะเกมเดียว
• แต่ 2 ทศวรรษหลัง พบกันหนเดียวเท่านั้น อุ่นเครื่องปี 2007 ที่ปารีส เสมอกัน 2-2
• คาริม เบนเซม่า อยู่ในเกมวันนั้น แต่ก็โชคร้ายไม่ได้เล่นฟุตบอลโลก 2022 อย่างที่ทราบ

• ฝรั่งเศส เสียประตูทุกนัดในฟุตบอลโลกครั้งนี้ นัดละ 1 ลูก โดยไม่มีเกมที่ทำคลีนชีตได้เลย
• สองนัดหลัง ฝรั่งเศส กดไป 5 ประตู
• แม้ไม่อาจถือได้ว่าชนะรวด แต่เกมแพ้ ตูนิเซีย 0-1 นัดปิดรอบแรก ก็เป็นการปรับส่งทีมสำรองลงสนาม ดังนั้นด้วย 11 คนแรกชุดนี้จึงจัดว่าชนะ 4 เกมซ้อนได้ ในฟุตบอลโลกครั้งนี้
• ทำลายอาถรรพ์ทีมแชมป์เก่าตกรอบแรก 3 ทัวร์นาเมนต์รวดไปแล้ว และอยู่ในเส้นทางสำหรับการจะเป็นทีมแรกที่สามารถป้องกันแชมป์โลกได้ ถัดจาก บราซิล 1962 ยุค เปเล่
• ฝรั่งเศส เพิ่งโดนใบเหลืองไปแค่ 5 ใบ น้อยสุดในจำนวนทีมที่ยังเหลือ (น้อยสุด อังกฤษ 1) รวมถึงว่าก็ยิงได้เยอะสุด (11 ประตู) ในจำนวนทีมที่ยังเหลือ

• โมร็อกโก สร้างประวัติศาสตร์เป็นทีมแอฟริกัน/อาหรับ รายแรกที่มาถึงรอบรองชนะเลิศ ฟุตบอลโลก
• แน่นอนว่ายังเป็นผลงานดีสุดของตัวเอง ถัดจากการเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก 1986
• โมร็อกโก มีลุ้นแชมป์โลกอยู่พอประมาณเมื่อมาถึงตรงนี้ แม้ว่าข้อเท็จจริงจะบอกว่า พวกเขาเคยเป็นแชมป์ทวีป แอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่นส์ แค่สมัยเดียวถ้วน ตั้งแต่ปี 1976 มาแล้ว

• วาลิด เรกรากี เกิดที่ฝรั่งเศส (1975) โตมาเล่นฟุตบอลอาชีพในฝรั่งเศส ตำแหน่งแบ็กขวา สังกัด ราซิ่ง ปารีส, ตูลูส, อชักซิโอ, ราซิ่ง ซานตานเดร์ (สเปน), ดิชง และ เกรอน็อบล์ แต่ติดทีมชาติโมร็อกโก 45 นัด ระหว่างปี 2001-2009
• โซฟียาน บูฟาล เกิดที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส (1993) และเล่นอาชีพในลีกฝรั่งเศสตั้งแต่แรกจนตอนนี้ สังกัด อองเช่ร์
• โรแม็ง ซาอิสส์ เกิดที่ฝรั่งเศส (1990) สร้างชื่อกับ เลอ อาฟร์ ก่อนย้ายไป วูล์ฟแฮมป์ตัน และตอนนี้อยู่ เบซิคตัส
• แข้งโมร็อกโกชุดนี้ เล่นใน ลีก เอิง ฝรั่งเศส จำนวน 5 คน – อัซซาดีน อูนาฮี (อองเช่ร์), โซฟียาน บูฟาล (อองเช่ร์), อัชราฟ ดารี (แบรสต์), อัชราฟ ฮาคิมี่ (เปแอสเช), ซากาเรีย อาบูคลัล (ตูลูส)
• ถ้าได้ลงตามปกติ ยาสซีน บูนู จะเพิ่มสถิติเล่นทีมชาติเป็นเกมที่ 51, อัชราฟ ฮาคิมี่ 60, โซฟียาน อัมราบัต 45, ฮาคิม ซีเย็ค 49, โซฟียาน บูฟาล 38, ยุสเซฟ เอ็น-เนซิรี่ 56

• คีลิยัน เอ็มบัปเป้ ยิงในบอลโลกหนนี้ 5 ลูกแล้ว กำลังนำดาวซัลโว และยังยิงในหนก่อน 4 ประตู รวมสองทัวร์นาเมนต์กดแล้ว 9 ลูก
• คีลิยัน เอ็มบัปเป้ เป็นแมนออฟเดอะแมตช์ 3 จาก 5 นัดที่ลงเล่นที่กาตาร์ สูงสุดเทียบเท่า ลิโอเนล เมสซี่
• โอลิวิเย่ร์ ชิรูด์ กลายเป็นผู้นำดาวซัลโวฝรั่งเศสแล้ว และมีแต่จะเพิ่มระยะห่างจาก เธียร์รี่ อองรี (51) ขึ้นไป หลังยิงแล้ว 53 ลูก รวมถึงในบอลโลกครั้งนี้ที่สอยแล้ว 4 ตุง
• อองตวน กรีซมันน์ ยังไม่มียิงประตูที่กาตาร์ แต่แอสซิสต์แล้ว 3 สูงสุดเทียบเท่า แฮรรี่ เคน และ บรูโน่ แฟร์นันเดส
• อูโก้ โยริส เป็นเจ้าของสถิติเล่นให้ฝรั่งเศสสูงสุดแล้ว 143 นัด มากกว่า ลิลิยอง ตูราม 1 เกม และทุกเกมที่ผ่านไป ก็จะยิ่งเพิ่มสถิติให้นายด่านวัยย่าง 36 ขึ้นอีก
• ถ้าได้ลงตามปกติ อูโก้ โยริส จะเพิ่มสถิติเล่นทีมชาติเป็นเกมที่ 144, ราฟาแอล วาราน 92, อาเดรียง ราบิโอต์ 35, อองตวน กรีซมันน์ 116, โอลิวิเย่ร์ ชิรูด์ 119, คีลิยัน เอ็มบัปเป้ 65

• โมร็อกโก ไม่แพ้ใครมา 10 เกมซ้อน แบ่งเป็นชนะ 7 เสมอ 3
• ในจำนวน 10 เกมที่ไร้พ่าย โมร็อกโก ไม่เสียประตูถึง 8 นัดด้วยกัน และเสียรวมแค่ 2 ลูก (2-1 แอฟริกาใต้, 2-1 แคนาดา)
• วาลิด เรกรากี คุมโมร็อกโกมาแค่ 8 นัด ยังไร้พ่าย ชนะ 5 เสมอ 3
• โมร็อกโก แพ้ครั้งสุดท้ายในยุค วาฮิด ฮาลิลฮ็อดซิช เมื่อ 1 มิ.ย. แพ้ สหรัฐอเมริกา 0-3

• เกมรอบรองชนะเลิศ ฟุตบอลโลก 10 ทัวร์นาเมนต์หลัง หรือ 40 ปีหลังสุด (20 แมตช์) ล้วนแต่ออกผลชนะแพ้แบบเบียดๆ หรือลงเอยด้วยผลเสมอต้องยืดเยื้อ ถึงกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ และมีเพียง “เกมเดียวถ้วน” เท่านั้น ที่ชนะกันเกินกว่า 3 ประตูขึ้นไป
– ยิงกันถล่มทลาย 1 นัดถ้วน คือเกมประวัติศาสตร์ที่ เยอรมนี กำราบ บราซิล 7-1 ในเวิลด์คัพ 2014 บนดินแดนแซมบ้าเอง
– ชนะห่างหน่อย 2-0 มีเกิดขึ้น 3 นัด
โปแลนด์ 0-2 อิตาลี (1982)
ฝรั่งเศส 0-2 เยอรมนีตะวันตก (1986)
อาร์เจนติน่า 2-0 เบลเยียม (1986)
– ชนะประตูเดียว 9 นัด
บัลแกเรีย 1-2 อิตาลี (1994), สวีเดน 0-1 บราซิล (1994), ฝรั่งเศส 2-1 โครเอเชีย (1998), เยอรมนี 1-0 เกาหลีใต้ (2002), บราซิล 1-0 ตุรกี (2002), โปรตุเกส 0-1 ฝรั่งเศส (2006), อุรุกวัย 2-3 เนเธอร์แลนด์ (2010), เยอรมนี 0-1 สเปน (2010), ฝรั่งเศส 1-0 เบลเยียม (2018)
– ชนะช่วงต่อเวลา 2 นัด
เยอรมนี 0-0 อิตาลี / อิตาลี ต่อเวลาชนะ 2-0 (2006)
โครเอเชีย 1-1 อังกฤษ /โครเอเชีย ต่อเวลาชนะ 2-1 (2018)
– ชนะดวลจุดโทษ 5 นัด
เยอรมนีตะวันตก 3-3 ฝรั่งเศส / เยอรมนีฯ ชนะจุดโทษ 5-4 (1982)
อาร์เจนติน่า 1-1 อิตาลี / อาร์เจนฯ ชนะจุดโทษ 4-3 (1990)
เยอรมนีตะวันตก 1-1 อังกฤษ / เยอรมนีฯ ชนะจุดโทษ 4-3 (1990)
บราซิล 1-1 เนเธอร์แลนด์ / บราซิล ชนะจุดโทษ 4-2 (1998)
เนเธอร์แลนด์ 0-0 อาร์เจนติน่า / อาร์เจนฯ ชนะจุดโทษ 4-2 (2014)

 

ทรรศนะกูรู
คริส ซัตตัน, บีบีซี : ฝรั่งเศส ชนะ 2-1
“แผนการของ โมร็อกโก ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน รับลึกแล้วโต้ แต่มันก็ไม่ง่ายต่อการรับมือของทุกคู่แข่ง พวกเขาผ่านเกมกับทีมอย่าง โครเอเชีย, เบลเยียม, สเปน, โปรตุเกส มาแล้ว และไม่เสียประตูเลยสักลูก”
“แต่ปัญหาก็คือความอ่อนล้าที่ต้องเผชิญ โรแม็ง ซาอิสส์ ต้องโดนหามออกจากเกมก่อน และยังมีต้องกังวลเรื่องความฟิตของทั้งกองหลัง นาเยฟ อาแกร์ด และคีย์แมน โซฟียาน อัมราบัต นั่นจะทำให้เกมโต้กลับของพวกเขาอาจไม่เต็มประสิทธิภาพ”
“ด้าน ฝรั่งเศส ไม่ได้เล่นด้วยสุดยอดฟุตบอลอะไร แต่พวกเขาอยู่ในระดับสูงมานาน และแสดงให้เห็นถึงความเฉียบคมที่เหนือกว่า อังกฤษ และคุณภาพเกมรุกของพวกเขาก็จตะสร้างความแตกต่างได้ในเกมนี้ ฝรั่งเศส จะยิงประตูแรกได้ และผ่านเกม 90 นาทีไปด้วยชัยชนะ”
“ที่จริง ผมก็อยากให้ความเห็นของผมผิด เพราะการเดินทางของทีมแอฟริกาอย่าง โมร็อกโก ในครั้งนี้ จะเป็นสุดยอดเรื่องเล่าตลอดกาลของฟุตบอลโลก ทว่าเมื่อมองเรื่องจริง มันก็คงถึงเวลาแล้วที่พวกเขาจะต้องบอกลา”

 

ความน่าจะเป็น
มาได้ตรงนี้ต้องยกย่องและปรบมือดังๆ ให้กับ โมร็อกโก แต่ก็ควรถือว่าพวกเขามาไกลมากพอแล้ว เมื่อปาฏิหาริย์ไม่ได้มีขายตามข้างทาง โมร็อกโก ก็คงต้องเลิกฝันถึงการจะทะลุเข้าชิงแชมป์โลกเสียที โดยเฉพาะเมื่อดันมาเกิดปัญหาในเกมรับขึ้นพอดี ต่อให้ระบบจะดีแค่ไหน เมื่อตัวไม่สมบูรณ์ก็ต้านลำบาก แถมจุดเด่นของ ฝรั่งเศส ชุดนี้ ยังอยู่ที่เกมรุกสุดจัดจ้าน จับตัวนี้ตัวนั้นมา จับตั้วนั้นตัวโน้นมี อีกด้วย

 

ผลที่คาด : ฝรั่งเศส ชนะ 2-1

ฝรั่งเศส vs โมร็อกโก : ตัวต่อตัว ตัดเชือก ฟุตบอลโลก 2022
0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น