โครเอเชีย ปราบ โมร็อกโก 2-1 ซิวอันดับ 3 ฟุตบอลโลก 2022

โครเอเชีย ปราบ โมร็อกโก 2-1 ซิวอันดับ 3 ฟุตบอลโลก 2022

บทสรุปนัดชิงอันดับ 3 ฟุตบอลโลก 2022 : โครเอเชีย 2-1 โมร็อกโก

 

ไม่ได้ถือว่าผิดไปจากความคาดหมาย ด้วยมาตรฐานก็ดี ด้วยปัญหาที่ โมร็อกโก ต้องเผชิญเอาในช่วงท้ายของ ฟุตบอลโลก 2022 ก็ดี

 

ที่สุดแล้ว เหรียญทองแดงได้ถูกคล้องลงบนคอนักเตะโครเอเชีย และ ซลัตโก้ ดาลิช

 

และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น ณ คาลิฟา อินเตอร์เนชันแนล สเตเดี้ยม คืนเสาร์ 17 ธันวาคม…

 

เกมชิงอันดับ 3 แมตช์นี้ ทั้ง ซลัตโก้ ดาลิช และ วาลิด เรกรากี แม้ต่างก็ยังต้องการชัยชนะเพื่อคว้ารางวัลปลอบใจ ให้หลังจากความพ่ายแพ้ในรอบตัดเชือก แต่ก็เลือกที่จะเปลี่ยนทีมหลายตำแหน่งทั้งคู่ โครเอเชีย เปิดทางให้สำรองอย่าง มิสลาฟ ออร์ซิช, มาร์โก ลิวาย่า, ลอฟโร มาเยอร์, โยซิป ซูตาโล่, โยซิป สตานิซิช ลงสนาม พร้อมปรับระบบเป็น 3-5-2

 

ด้าน โมร็อกโก สถานการณ์บังคับให้ต้องเปลี่ยนเมื่อทั้ง โรแม็ง ซาอิสส์, นาเยฟ อาแกร์ด, นูสแซร์ มาซราอุย ต่างบาดเจ็บ แต่แนวรุกยังคงเดิมที่ ฮาคิม ซีเย็ค, ยุสเซฟ เอ็น-เนซีรี่, โซฟียาน บูฟาล

 

เริ่มเกมขึ้นเพียง 9 นาที โครเอเชีย ก็ขยับนำ 1-0 อย่างรวดเร็ว จากฟรีคิกลูกสูตร เปิดขึ้นหน้าให้ อีวาน เปริซิช โหม่งกลับเข้าตรงกลาง ยอสโก้ กวาร์ดิโอล พุ่งโขกต่อเน้นๆ ส่งบอลเสียบเสาโดยที่ ยาสซีน บูนู ตามไม่ทัน ตาหมากรุกนำหน้า 1-0

โครเอเชีย ปราบ โมร็อกโก 2-1 ซิวอันดับ 3 ฟุตบอลโลก 2022

 

แต่ว่าสองนาทีให้หลัง โมร็อกโก ก็ตามทวงคืนได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน จากฟรีคิกริมเส้นขวาเปิดเข้าใน ลอฟโร มาเยอร์ โหม่งสกัดกลายเป็นบอลทะลักกลับหลังเข้าจุดอันตราย อัชราฟ ดารี จึงสบช่องเข้าชาร์จจ่อๆ ไม่เหลือ เปลี่ยนสกอร์เป็น 1-1

โครเอเชีย ปราบ โมร็อกโก 2-1 ซิวอันดับ 3 ฟุตบอลโลก 2022

 

จากนั้นเกมเป็นอย่างคู่คี่สูสี ผลัดกันครองบอล แต่โอกาสลุ้นสกอร์ใกล้เคียงก็มีไม่มากนัก

 

แต่ก่อนที่ครึ่งแรกจะจบเสมอกัน โครเอเชีย ก็ขึ้นนำได้อีกครั้งจากการเสียบอลหน้าเขตตัวเองของ บิลัล เอล คันนุส ไปจบที่ มิสลาฟ ออร์ซิช เอี้ยวตัวปั่นด้วยขวาส่งลูกกระแทกเสาไกลเข้าไปอย่างงดงาม โครเอเชีย นำ 2-1 เมื่อสิ้นครึ่งแรก

โครเอเชีย ปราบ โมร็อกโก 2-1 ซิวอันดับ 3 ฟุตบอลโลก 2022

 

ต่อครึ่งหลัง เกมยังเป็น โครเอเชีย ที่ทำได้ดีกว่าชัด หาจังหวะเข้าทำใกล้เคียงได้ 2-3 หน แต่ยังไม่เข้าเป้าเท่าที่ควร ขณะที่เกมก็หยุดค่อนข้างบ่อยเมื่อต่างฝ่ายต่างทยอยเปลี่ยนส่งสำรองลงเป็นระยะ

 

ล่วงมาช่วงท้าย นาที 87 โครเอเชีย น่าได้เพิ่มอย่างยิ่ง มาเตโอ โควาซิช ทะลุเข้ายิงโล่งๆ ทางซ้ายเขตโทษ แต่แปหลุดเสาไกลออกไปเอง

 

เฮือกท้าย โมร็อกโก ลุยแหลกหวังทวงคืนให้ได้ จนทดเจ็บ 90+6 ยุสเซฟ เอ็น-เนซีรี่ สบโอกาสขึ้นโหม่งโล่งๆ ในกรอบหกหลา ลูกลอยไปตกเพดานตาข่ายอย่างน่าเสียดาย ส่งผลให้เกมจบลง โครเอเชีย ชนะ 2-1 ครองอันดับ 3 ฟุตบอลโลก 2022 และเป็นหนที่ 2 ถัดจาก 1998

โครเอเชีย ปราบ โมร็อกโก 2-1 ซิวอันดับ 3 ฟุตบอลโลก 2022

 

รายชื่อผู้เล่นและสถิติที่สำคัญ
โครเอเชีย (3-5-2) โดมินิก ลิวาโควิช – โยซิป ซูตาโล่, ยอสโก้ กวาร์ดิโอล, โยซิป สตานิซิช – อีวาน เปริซิช, มาเตโอ โควาซิช, ลูก้า โมดริช, ลอฟโร มาเยอร์ (มาริโอ ปาซาลิช 66), มิสลาฟ ออร์ซิช (คริสติยาน ยาคิช 90+5) – อันเดรจ์ ครามาริช (นิโกล่า วลาซิช 61), มาร์โก ลิวาย่า (บรูโน่ เพ็ตโควิช 66)
โมร็อกโก (4-3-3) ยาสซีน บูนู – ยาเอีย อัตติยัต อัลลาห์, จาวัด เอล ยามิก (เซลิม อมัลลาห์ 66), อัชราฟ ดารี (บาเดอร์ เบนูน 64), อัชราฟ ฮาคิมี่ – บิลัล เอล คันนุส (อัซซาดีน อูนาฮี 56), โซฟียาน อัมราบัต, อับเดลฮามิด ซาบิรี่ (อิเลียส แชร์ 46) – ฮาคิม ซีเย็ค, ยุสเซฟ เอ็น-เนซีรี่, โซฟียาน บูฟาล (อานาสส์ ซารูรี่ 64)

 

• แมนออฟเดอะแมตช์ : ยอสโก้ กวาร์ดิโอล
• ยอสโก้ กวาร์ดิโอล ทำประตูในอายุ 20 ปี 328 วัน น้อยสุดของโครเอเชีย
• อีวาน เปริซิช แอสซิสต์ที่ 5 สูงสุดในบอลโลกของ โครเอเชีย พร้อมกับยิง 6 ลูก สูงสุดเช่นกัน
• มิสลาฟ ออร์ซิช เพิ่งยิงประตูที่ 2 ในการรับใช้ชาติ 27 นัด
• ลูก้า โมดริช ลงสนามครบ 90 นาทีในการเล่นทีมชาตินัดที่ 162 ซึ่งคงจะเป็นเกมฟุตบอลโลกนัดสุดท้ายของชายวัย 37 อย่างเขา
• โมร็อกโก ทำคลีนชีต 4 จาก 5 เกมแรกในฟุตบอลโลก 2022 แต่สองเกมหลังเสียนัดละสองลูก จนเข้าป้ายอันดับ 4

 

ปากคำหลังเกม โครเอเชีย 2-1 โมร็อกโก
ซลัตโก้ ดาลิช : “นี่คือเหรียญทองแดงที่มีประกายสีทอง เราคว้าชัยชนะในเกมที่ยากลำบากมากได้ ดังนั้นนี่คือเหรียญรางวัลสำหรับชาวโครแอตทุกคน มันเป็นอะไรที่ยอดเยี่ยมมากจริงๆ ที่เราได้เหรียญรางวัลทั้งสองครั้งในสองทัวร์นาเมนต์หลังสุด และผมก็ขอแสดงความยินดีกับลูกทีมของผมทุกคนด้วย”

 

วาลิด เรกรากี : “ก่อนหน้าทัวร์นาเมนต์ ทุกคนสงสัยเรา แต่เรามาได้ไกลเกินความคาดหมาย แต่มันก็ยังดีไม่พอ เราจำเป็นต้องสร้างตัวอย่างเพื่ออนาคต”
“มีบางเรื่องที่กินใจผมมาก ตอนที่ผมเห็นภาพเด็กๆ เพราะฟุตบอลทำให้ผู้คนมีฝัน เราปล่อยให้เด็กๆ ฝัน เราต้องรักษาฝันให้มีชีวิต เด็กๆ ในโมร็อกโก และทั่วโลก ฝันที่จะได้แชมป์โลก และมันมีความหมายต่อผมยิ่งกว่าการชนะในเกมฟุตบอลโลกจริงๆ ซะอีก”
“เราประสบความสำเร็จอย่างวิเศษ แต่เราต้องการทำให้ได้อย่างนี้อีก หากเราผ่านเข้ารอบแปดทีม หรือรอบตัดเชือกเป็นประจำ สักวันเราก็จะได้แชมป์โลก”

โครเอเชีย ปราบ โมร็อกโก 2-1 ซิวอันดับ 3 ฟุตบอลโลก 2022

 

สืบเนื่องจากผลสกอร์ โครเอเชีย 2-1 โมร็อกโก
• โครเอเชีย ลงเล่นฟุตบอลโลก 2022 เป็นจำนวน 7 นัด ชนะ 2 เสมอ 4 แพ้ 1 ยิงได้ 8 เสีย 7 คลีนชีต 2 ใบเหลือง 8 ใบแดง 0
• โมร็อกโก ลงเล่นฟุตบอลโลก 2022 เป็นจำนวน 7 นัด ชนะ 3 เสมอ 2 แพ้ 2 ยิงได้ 6 เสีย 5 คลีนชีต 4 ใบเหลือง 9 ใบแดง 1
• โมร็อกโก ทำคลีนชีตสูงสุดในฟุตบอลโลกครั้งนี้ ที่ 4 แมตช์ แต่ ยาสซีน บูนู คลีนชีต 3 นัด เนื่องจากเกมชนะ เบลเยียม 2-0 เป็นมือสอง มูเนียร์ โมฮาเมดี้ ลงเฝ้าเสา
• จบอันดับ 4 แต่ก็ถือเป็นผลงานสุดยอดของ โมร็อกโก อยู่ดี ที่เป็นทีมแอฟริกา/อาหรับ รายแรกที่มาถึงตรงนี้ รวมถึงเป็นผลงานดีสุดของตัวเองด้วย ถัดจากการเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้ายปี 1986

 

• กุนซือสองฝั่ง ซลัตโก้ ดาลิช และ วาลิด เรกรากี จะยังอยู่คุมทีมต่อไปอย่างแน่นอน โดย โครเอเชีย มีภารกิจถัดไปคือ รอบคัดเลือก ยูโร 2024 และรอบชิงแชมป์ยูฟ่า เนชั่นส์ ลีก 2023 ด้าน โมร็อกโก อยู่ในเส้นทางรอบคัดเลือก AFCON 2023 โดยเตะไปแล้ว 2 นัด
• ลูก้า โมดริช ยืนยันแล้วว่าจะยังคงเล่นทีมชาติจนถึงรอบชิงแชมป์ยูฟ่า เนชั่นส์ ลีก 2023 กลางปีหน้า เป็นอย่างน้อย จากนั้นจะดูอีกครั้งว่าอยากไปต่อ ยูโร 2024 หรือไม่
• โครเอเชีย ถ้าไม่ตกรอบแรก ก็มาจนถึงสุดทางในฟุตบอลโลกทุกครั้งที่ผ่านมา (แยกจาก ยูโกสลาเวีย มาเข้าร่วมปี 1998)
1998 อันดับ 3
2002 ตกรอบแรก
2006 ตกรอบแรก
2014 ตกรอบแรก
2018 รองแชมป์
2022 อันดับ 3

 

ไกด์เถื่อน

 

อ้างอิง
wikipedia
FIFA

ภาพประกอบ
FIFA
Twitter

 

เรื่องน่าอ่าน
อาร์เจนติน่า vs ฝรั่งเศส : ใครจะครองบัลลังก์แห่ง ฟุตบอลโลก 2022
โครเอเชีย vs โมร็อกโก : ชิงอันดับ 3 รางวัลปลอบใจ ฟุตบอลโลก 2022
ก้าวเดียวถึงแชมป์โลก! อาร์เจนติน่า ถล่ม โครเอเชีย 3-0 ตัดเชือกฟุตบอลโลก 2022
ไก่สยายปีก! อัดโมร็อกโก 2-0 ลิ่วชิงฟุตบอลโลก 2022 ปะทะฟ้าขาว

โครเอเชีย vs โมร็อกโก : ชิงอันดับ 3 รางวัลปลอบใจ ฟุตบอลโลก 2022

โครเอเชีย vs โมร็อกโก : ชิงอันดับ 3 รางวัลปลอบใจ ฟุตบอลโลก 2022

ฟุตบอลโลก 2022 นัดชิงอันดับ 3 : โครเอเชีย vs โมร็อกโก
เสาร์ 17 ธันวาคม 2565, 22.00 น.
สนาม : คาลิฟา อินเตอร์เนชันแนล สเตเดี้ยม, อัล รายยาน
ถ่ายทอดสด : True4U

 

ผลการพบกัน : 2 นัด
ฮัสซัน II โทรฟี่ 1996 เสมอ 2-2
ฟุตบอลโลก 2022 เสมอ 0-0

 

ผลงานในฟุตบอลโลก 2022
โครเอเชีย
รอบแบ่งกลุ่ม เสมอ โมร็อกโก 0-0
รอบแบ่งกลุ่ม ชนะ แคนาดา 4-1
รอบแบ่งกลุ่ม เสมอ เบลเยียม 0-0
รอบ 16 ทีม เสมอ ญี่ปุ่น 1-1, ชนะจุดโทษ 3-1
รอบ 8 ทีม เสมอ บราซิล 1-1, ชนะจุดโทษ 4-2
รอบตัดเชือก แพ้ อาร์เจนติน่า 0-3

 

โมร็อกโก
รอบแบ่งกลุ่ม เสมอ โครเอเชีย 0-0
รอบแบ่งกลุ่ม ชนะ เบลเยียม 2-0
รอบแบ่งกลุ่ม ชนะ แคนาดา 2-1
รอบ 16 ทีม เสมอ สเปน 0-0, ชนะจุดโทษ 3-0
รอบ 8 ทีม ชนะ โปรตุเกส 1-0
รอบตัดเชือก แพ้ ฝรั่งเศส 0-2

ความพร้อมก่อนเตะ
โครเอเชีย
รอบ 16 ทีมสุดท้าย ได้ โดมินิค ลิวาโควิช เป็นฮีโร่ เซฟจุดโทษ ญี่ปุ่น 3 ครั้ง จนชนะการดวลเป้า 3-1 ภายหลังเสมอ 1-1 ใน 120 นาที ไม่ต่างกันกับรอบ 8 ทีม ที่ลงเอยเสมอ บราซิล 1-1 และต้องดวลจุดโทษตัดสิน ก่อนได้ ลิวาโควิช เซฟลูกยิงของ โรดรีโก้ โกเอส กับ มาร์กินญอส ซัดชนเสาประตู จน โครเอเชีย ชนะ บราซิล 4-2

 

กระนั้นเมื่อมาถึงนัดตัดเชือก ก็ต้านความแข็งแกร่งของ อาร์เจนติน่า ไม่อยู่ แพ้ขาด 0-3 จนต้องมาชิงอันดับ 3 ฟุตบอลโลก 2022 แทน

 

นัดนี้ ซลัตโก้ ดาลิช กุนซือตาหมากรุก ไม่มีปัญหาใหญ่ ยกเว้นต้องเช็กฟิต โยซิป สตานิซิช ดาวรุ่งจากบาเยิร์น มิวนิค ที่เจ็บกล้ามเนื้อ เพียงแต่ก็เป็นสำรองในทีมชุดนี้อยู่แล้ว

 

คาดว่าด้วยการที่เกมนี้ไม่ได้สำคัญมาก ทำให้อาจปรับส่งสำรองลงบางราย เช่นข้างหน้าวาง นิโกล่า วลาซิช กับ ลอฟโร มาเยอร์ เดินเกมรุกขนาบข้าง บรูโน่ เพ็ตโควิช

 

แต่ตัวที่มีสิทธิ์ลงสนามเกมนี้เป็นการอำลาการรับใช้ชาติ อย่าง ลูก้า โมดริช (37), เดยัน ลอฟเรน (33) หรือ โดมากอย วีด้า (33) มีสิทธิ์ได้ลงตัวจริงเป็นการสั่งลา

 

โมร็อกโก
ม้ามืดตัวจริงแห่งฟุตบอลโลก 2022 รอบน็อกเอาต์ 16 ทีมยันเสมอ สเปน 0-0 ใน 120 นาที ก่อนได้ ยาสซีน “โบโน่” บูนู เป็นฮีโร่ เซฟแล้วเซฟอีกจนชนะดวลเป้าแบบคลีนชีต 3-0 เช่นเดียวกับรอบ 8 ทีมสุดท้าย ยังคงหักปากกาเซียนอีกด้ามด้วยการสยบ โปรตุเกส ของ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ 1-0

 

อย่างไรก็ตาม โมร็อกโก ก็ไปไม่ได้ต่อเมื่อต้องเจอแชมป์เก่า ฝรั่งเศส ในรอบตัดเชือก พ่ายไป 0-2 แม้จะสู้ได้ดีก็ตาม

 

สภาพทีมของ วาลิด เรกรากี อ่วมหนักมาตั้งแต่รอบที่แล้ว และเกมนี้จะไม่มีคู่เซนเตอร์แบ็กตัวเลือกแรก กัปตันทีม โรแม็ง ซาอิสส์ กับ นาเยฟ อาแกร์ด ที่ยังเจ็บไม่หาย

 

นูสแซร์ มาซราอุย แบ็กซ้ายจาก บาเยิร์น มิวนิค กับ อับเดลฮามิด ซาบิรี่ มิดฟิลด์จากซามพ์โดเรีย ก็ต้องเช็กสภาพว่าจะพร้อมหรือไม่

 

ข่าวดีมีแค่ วาลิด เชดดิร่า กองหน้าตัวสำรองจาก บารี่ พ้นโทษแบนกลับมาเป็นตัวเลือกแล้ว

 

เชื่อว่าการจัดทีมจะมีหมุนส่งตัวสดๆ บางตำแหน่งลงเช่นกัน ขณะที่การจัดเกมรับ มีสิทธิ์จะเป็น จาวัด เอล ยามิก, อัชราฟ ดารี และ ยาเอีย อัตติยัต อัลลาห์ ลงแทน เหลือตัวจริงแค่แบ็กขวา อัชราฟ ฮาคิมี่

 

ตัวความหวัง
โครเอเชีย : ลูก้า โมดริช
ฟิตเปรี๊ยะจนมีการแซวกันว่า นักเตะชื่อ ลูก้า โมดริช ที่จริงแล้วไม่ใช่แข้งตัวเก๋าวัย 37 แต่คือเด็กอายุ 17 ปลอมตัวมา อย่างเกมกับ บราซิล เล่นครบ 120 นาทีไม่พอ ยังเป็นหนึ่งในมือสังหารจุดโทษ อีกทั้งก็ยังโชว์ฟอร์มเหนือชั้นในแทบทุกเกม สมกับการเป็นเจ้าของรางวัลบัลลง ดอร์ 2018 เป็นหัวใจสำคัญของการกำหนดจังหวะเกมช้าเร็ว การขึ้นบอลในแดนกลาง ไปจนถึงมีประโยชน์ทั้งรุกรับ แม้สถิติพังประตูในทีมชาติจะไม่ได้มากนัก 23 ลูกจาก 161 นัดก็ตาม

 

โมร็อกโก : ยาสซีน “โบโน่” บูนู
โตจาก วีดัด คาซาบลังก้า แล้วย้ายข้ามห้วยมาเข้าแคมป์ แอตเลติโก มาดริด แต่ก็ไม่อาจแทรกขึ้นชุดใหญ่ที่มี ติโบต์ กูร์กตัวส์ ขวางทางอยู่ได้ โดยอันที่จริงถือว่าจอมหนึบเชื้อสายแคนาดาวัย 31 โด่งดังอย่างเงียบๆ อยู่กับ เซบีย่า มาได้พักหนึ่งแล้ว หลังมาเล่นแบบยืมตัวปี 2019 ก่อนย้ายขาดในปีถัดมา แล้วก็สร้างชื่อระดับคว้ารางวัลนายประตูแห่งปี ลา ลีกา Zamora Trophy ติดตัวในซีซั่นก่อน ส่วนในทีมชาติ เริ่มติดธงปี 2013 เป็นต้นมา ก่อนจะเป็นมือหนึ่งในช่วง 4-5 ปีหลัง แล้วก็โครมครามสุดๆ ในฟุตบอลโลก 2022 หนนี้

 

11 ตัวจริงที่คาด
โครเอเชีย (4-3-3, กุนซือ ซลัตโก้ ดาลิช) โดมินิก ลิวาโควิช – บอร์นา บาริซิช, ยอสโก้ กวาร์ดิโอล, เดยัน ลอฟเรน, โดมากอย วีด้า – มาเตโอ โควาซิช, คริสติยัน ยาคิช, ลูก้า โมดริช – นิโกล่า วลาซิช, บรูโน่ เพ็ตโควิช, ลอฟโร มาเยอร์
โมร็อกโก (4-3-3, กุนซือ วาลิด เรกรากี) ยาสซีน บูนู – ยาเอีย อัตติยัต อัลลาห์, จาวัด เอล ยามิก, อัชราฟ ดารี, อัชราฟ ฮาคิมี่ – อัซเซดีน อูนาฮี, โซฟียาน อัมราบัต, ยาห์ย่า จาบราน – ฮาคิม ซีเย็ค, ยุสเซฟ เอ็น-เนซีรี่, อับเด เอซซัลซูลี่

 

สถิติที่เกี่ยวข้อง
• เพิ่งจะเจอกันมาในเกมแรกของรอบแบ่งกลุ่ม ฟุตบอลโลก 2022 จบเจ๊าไร้สกอร์ 0-0
• เท่ากับพบกัน 2 ครั้งในหน้าประวัติศาสตร์ กินกันไม่ลง เสมอกันทั้งหมด
• หลังจากไม่แพ้ใครมา 11 เกมซ้อน เป็นชนะ 6 เสมอ 5 โครเอเชีย ก็พ่าย อาร์เจนติน่า จนอดเข้าชิงสองสมัยซ้อน
• โครเอเชีย มีโอกาสเข้าป้ายอันดับ 3 เป็นครั้งที่สอง ถัดจาก ฟร้องซ์ 98
• หลังจากไม่แพ้ใครมา 10 เกมซ้อน แบ่งเป็นชนะ 7 เสมอ 3 โมร็อกโก ก็มาโดนทีเด็ด ฝรั่งเศส จนแพ้เป็นหนแรก รวมถึงว่า วาลิด เรกรากี ก็แพ้ครั้งแรกจากการทำทีม 9 นัดด้วย (ชนะ 5 เสมอ 3 แพ้1)
• โมร็อกโก สร้างประวัติศาสตร์เป็นทีมแอฟริกัน/อาหรับ รายแรกที่มาถึงรอบรองชนะเลิศ ฟุตบอลโลก
• และไม่ว่าจะเข้าป้ายที่อันดับ 3 หรือ 4 ก็จะเป็นผลงานดีสุดของตัวเองและทีมแอฟริกัน/อาหรับ ถัดจากการเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก 1986
• ถ้าได้ลงสนาม ลูก้า โมดริช จะรับใช้ชาติเป็นนัดที่ 162, อีวาน เปริซิช 123, โดมากอย วีด้า 101, มาเตโอ โควาซิช 91, มาร์เซโล่ โบรโซวิช 84, เดยัน ลอฟเรน 79
• ถ้าได้ลงสนาม ยาสซีน บูนู จะเพิ่มสถิติเล่นทีมชาติเป็นเกมที่ 52, อัชราฟ ฮาคิมี่ 61, โซฟียาน อัมราบัต 46, ฮาคิม ซีเย็ค 50, โซฟียาน บูฟาล 39, ยุสเซฟ เอ็น-เนซิรี่ 57

 

ความน่าจะเป็น
ก็ขนาดว่า วาลิด เรกรากี ยังบอกเองว่าน่าเสียดายที่เกมเจอ ฝรั่งเศส ทีมตนมีปัญหาเรื่องขุมกำลัง การขาดหายของแข้งคนสำคัญที่ทยอยกันล้มเจ็บไป ส่งผลโดยตรงกับฟอร์มในสนามอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเกมนี้ก็ไม่น่าต่างจากเดิม ความนิ่งแน่นอนเป็นของ โครเอเชีย มากกว่า และน่าจะเอาชนะไปได้ในที่สุด

 

ผลที่คาด : โครเอเชีย ชนะ 2-1

ไก่สยายปีก! อัดโมร็อกโก 2-0 ลิ่วชิงฟุตบอลโลก 2022 ปะทะฟ้าขาว

ไก่สยายปีก! อัดโมร็อกโก 2-0 ลิ่วชิงฟุตบอลโลก 2022 ปะทะฟ้าขาว

บทสรุปรอบรองชนะเลิศ ฟุตบอลโลก 2022 : ฝรั่งเศส 2-0 โมร็อกโก

 

เมื่อปาฏิหาริย์ไม่ได้มีขายตามร้านสะดวกซื้อ ม้ามืดอย่าง โมร็อกโก (ที่สู้สุดใจในรอบที่ผ่านๆ มา จนเสียขุนพลเดี้ยงกันไปทีละรายๆ) แม้จะมาแรงแค่ไหน ก็ไม่ไหวเหมือนกันเมื่อต้องเจอ “ของจริง” เข้าในเกมตัดเชือก

 

อันที่จริง โมร็อกโก ก็ทำได้ดีไม่น้อยในการต่อกรเปิดหน้าแลกหมัดต่อหมัดกับแชมป์เก่า

 

แต่เมื่อทีเด็ดทีขาดขึ้นกับฝั่ง ฝรั่งเศส ฝ่ายเดียว

 

“ดรีมแมตช์” อย่าง ฝรั่งเศส v อาร์เจนติน่า จึงเกิดขึ้นในท้ายที่สุด…

 

ไก่สยายปีก! อัดโมร็อกโก 2-0 ลิ่วชิงฟุตบอลโลก 2022 ปะทะฟ้าขาว

 

กับเกมตัดสินอยู่หรือไป จะได้ชิงแชมป์หรือชิงเหรียญทองแดง ฟุตบอลโลก 2022 ที่ อัล เบย์ท สเตเดี้ยม กลางดึกคืนพุธ 14 ธ.ค. การจัดทีมของ ดิดิเย่ร์ เดส์ชองส์ เจอปัญหาอย่างที่มีรายงานปูดมา เมื่อทั้ง ดาโย่ต์ อูปาเมกาโน่ กับ อาเดรียง ราบิโอต์ ป่วยไข้ไม่พร้อมเล่นเกมนี้ ทำให้ต้องปรับส่ง อิบราฮิมา โกนาเต้ กับ ยุสซูฟ โฟฟาน่า เสียบตำแหน่งแทนตามลำดับ

 

แต่นอกนั้นคงเดิม แนวรุกให้ อุสมัน เดมเบเล่, อองตวน กรีซมันน์ และ คีลิยัน เอ็มบัปเป้ สนับสนุนหอกเป้า โอลิวิเย่ร์ ชิรูด์

 

ฟาก วาลิด เรกรากี หายใจโล่งอกเฮือกใหญ่ ได้ทั้ง โรแม็ง ซาอิสส์ กับ นูสแซร์ มาซราอุย ผ่านความฟิตคืนสนามในเกมรับพร้อมกัน พร้อมกับเลือกปรับระบบการเล่นเป็นครั้งแรกของทัวร์นาเมนต์ จาก 4-3-3 ไปใช้ 5-4-1 ตั้งรับเต็มกำลัง ถ่าง ฮาคิม ซีเย็ค กับ โซฟียาน บูฟาล ออกเล่นตัวริมเส้นแดนกลาง ทิ้งหอกเป้า ยุสเซฟ เอ็น-เนซีรี่ ค้ำไว้ข้างหน้ารายเดียว

 

กระนั้นในราย นาเยฟ อาแกร์ด ที่ตอนแรกมีชื่อในไลน์อัพ กลับเจ็บซ้ำตอนวอร์ม ทำให้สุดท้ายต้องเป็น อัชราฟ ดารี ลงไปเล่นแทน

 

เริ่มเกมไปเพียง 5 นาที ฝรั่งเศส ก็ได้เฮทันทีจากการจบหนแรกของเกม อองตวน กรีซมันน์ ถ่ายลูกให้ คีลิยัน เอ็มบัปเป้ ซัดสองจังหวะไปแฉลบกองหลังเด้งขึ้นหน้า กลายเป็นเข้าทางแบ็กซ้าย เตโอ เอร์นันเดซ เติมขึ้นมาลอยตัววอลเลย์ผ่าน ยาสซีน บูนู เข้าไปอย่างยอดเยี่ยม เป็น 1-0 ของตราไก่อย่างรวดเร็ว

ไก่สยายปีก! อัดโมร็อกโก 2-0 ลิ่วชิงฟุตบอลโลก 2022 ปะทะฟ้าขาว

 

ห้านาทีให้หลังเป็นโอกาสของ โมร็อกโก ที่ต้องเปิดเกมสู้บ้าง อัซเซดีน อูนาฮี ซัดเปรี้ยงระยะไกลส่งบอลเข้าหาเสาสอง ไม่ผ่านมือ อูโก้ โยริส ที่กระโดดปัดไว้ได้สวยๆ

 

สกอร์ที่มาเร็วทำให้เกมเปิดแลกกันตั้งแต่ต้น นาที 16 ฮาคิม ซีเย็ค ทะลุเข้าไปส่องทางขวาออกไปเองแบบไร้กดดัน ฝรั่งเศส ตั้งเกมสวนขึ้นมาจบที่ โอลิวิเย่ร์ ชิรูด์ หลุดเข้าส่องเน้นๆ ทางฝั่งซ้าย บอลพุ่งแรงกระแทกเสาแรกอย่างจัง พลาดโอกาสฉีกสกอร์หนีห่างอย่างน่าเสียดาย

 

ข่าวร้ายของ โมร็อกโก ยังมีต่อเนื่อง เมื่อถึงนาที 20 ปรากฏว่ากัปตันทีม โรแม็ง ซาอิสส์ ก็ส่งสัญญาณไปข้างสนามว่าฝืนเล่นต่อไม่ไหวแล้ว ต้องกะเผลกออกให้ เซลิม อมัลลาห์ ลงสำรองไปแทน

ไก่สยายปีก! อัดโมร็อกโก 2-0 ลิ่วชิงฟุตบอลโลก 2022 ปะทะฟ้าขาว

 

เกมลดความเร็วลงไปในช่วงกลางครึ่งแรก แต่ก็ยังคงเป็น ฝรั่งเศส ที่ใกล้เคียงกับการได้เม็ดสองในนาที 36 บอลยัดเข้าจุดอันตรายมาจบที่ ชิรูด์ ตวัดยิงโล่งๆ ไม่เข้าเป้า หลุดเสาแรกไปเอง

 

โมร็อกโก เกือบได้เหมือนกันในนาที 44 จากเตะมุมที่ปลิ้นมาเข้าทาง จาวัด เอล ยามิก โชว์กระโดดโอเวอร์เฮดคิกสุดงาม บอลลอยเข้าติดปลายมือ โยริส ที่เสาประตู

ไก่สยายปีก! อัดโมร็อกโก 2-0 ลิ่วชิงฟุตบอลโลก 2022 ปะทะฟ้าขาว

 

จากนั้นครึ่งแรกสิ้นสุดลงไป ฝรั่งเศส ยังไม่ได้เพิ่มมากไปกว่า 1-0 แต่ก็ถือว่าเล่นด้วยความสบายใจพอสมควร

 

ต่อครึ่งหลัง โมร็อกโก มีเปลี่ยนเพิ่ม ถอด นูสแซร์ มาซราอุย ที่ไม่สมบูรณ์ ออกไปให้ ยาห์ย่า อัตติอัต-อัลลาห์ ลงเล่นแทน

 

สิบนาทีแรกของครึ่งหลังเป็น โมร็อกโก ที่ลุยเข้าใส่อย่างต่อเนื่องแล้ว ฝรั่งเศส ต้องหาโอกาสโต้กลับเป็นระยะ เพียงแต่พายุเกมบุกของทีมสิงโตแอตลาสก็ยังไม่อาจหาโอกาสจะแจ้งที่จะเปลี่ยนสกอร์ได้แต่อย่างใด

 

ถึงนาที 65 ฝรั่งเศส เปลี่ยนเกมเติมความสดแดนหน้าบ้าง ให้ มาร์คุส ตูราม ลงไปแทน ชิรูด์ ที่ไร้บทบาทในครึ่งหลัง

 

เกมเปิดแลกกันต่อเนื่องเมื่อเข้ายี่สิบนาทีท้าย โดยที่ทาง ฝรั่งเศส มีลุ้น 2-3 หนที่จะบวกสกอร์เพิ่ม แต่ไม่เฉียบคมพอ ส่วน โมร็อกโก เกมสะดุดไป และมักเสียบอลในพื้นที่สุดท้าย

 

แต่แล้วเมื่อถึงนาที 79 ฝรั่งเศส ก็ฉีกสกอร์เป็น 2-0 เบ็ดเสร็จเด็ดขาด เอ็มบัปเป้ พยายามยิงฝ่าแนวรับแต่ไม่ผ่าน ทว่าก็กลายเป็นลูกแฉลบขึ้นหน้าไปเสาไกลคล้ายประตูแรก และเสร็จหอกสำรองอีกรายที่เพิ่งลงไปไม่กี่วินาที ร็องดาล โคโล่ มูอานี่ วิ่งเข้าชาร์จนิ่มๆ พาตราไก่สยายปีก 2-0 กำตั๋วเข้าชิงบอลโลกไว้อยู่มือ

ไก่สยายปีก! อัดโมร็อกโก 2-0 ลิ่วชิงฟุตบอลโลก 2022 ปะทะฟ้าขาว

 

ท้ายเกมที่มีทดเจ็บให้ 6 นาที โมร็อกโก เกือบฮึดตีไข่แตกได้เหมือนกันตอน 90+4 จังหวะซัดของ อูนาฮี ที่แฉลบไปติดตัวคุมเส้น ชูลส์ กุนเด้ หวุดหวิด ที่สุดจึงจบที่ ฝรั่งเศส กำชัย 2-0 ลุยเข้าชิงชนะเลิศฟุตบอลโลกเป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกัน โดยจะชิงชัยกับ อาร์เจนติน่า วันอาทิตย์ที่ 18 ธ.ค.

 

ด้าน โมร็อกโก ไปชิงอันดับ 3 ปลอบใจกับ โครเอเชีย ซึ่งจะเตะกันวันเสาร์ 17 ธ.ค.

 

รายชื่อผู้เล่นและสถิติที่สำคัญ
ฝรั่งเศส (4-2-3-1) อูโก้ โยริส – เตโอ เอร์นันเดซ, ราฟาแอล วาราน, อิบราฮิมา โกนาเต้, ชูลส์ กุนเด้ – ยุสซูฟ โฟฟาน่า, ออเรเลียง ชูอาเมนี่ – อุสมัน เดมเบเล่ (ร็องดาล โคโล่ มูอานี่ 78), อองตวน กรีซมันน์, คีลิยัน เอ็มบัปเป้ – โอลิวิเย่ร์ ชิรูด์ (มาร์คุส ตูราม 65)
โมร็อกโก (5-4-1) ยาสซีน บูนู – นูสแซร์ มาซราอุย (ยาห์ย่า อัตติอัต-อัลลาห์ 46), โรแม็ง ซาอิสส์ (เซลิม อมัลลาห์ 20, อับเด เอซซัลซูลี่ 79), อัชราฟ ดารี, จาวัด เอล ยามิก, อัชราฟ ฮาคิมี่ – โซฟียาน บูฟาล (ซากาเรีย อบูคลัล 66), อัซเซดีน อูนาฮี, โซฟียาน อัมราบัต, ฮาคิม ซีเย็ค – ยุสเซฟ เอ็น-เนซีรี่ (อับเดอร์ราซัค ฮัมดัลลาห์ 66)

 

ไก่สยายปีก! อัดโมร็อกโก 2-0 ลิ่วชิงฟุตบอลโลก 2022 ปะทะฟ้าขาว

• แมนออฟเดอะแมตช์ : อองตวน กรีซมันน์
• อองตวน กรีซมันน์ ลงไปช่วยงานเกมรับ (Defensive Pressures Applied) ถึง 69 ครั้งในเกมนี้
• ฝรั่งเศส ยิงตรงกรอบ 2 ครั้งเท่านั้น เป็น 2 ประตู จากโอกาสยิงทั้งหมด 14 ครั้ง ด้าน โมร็อกโก ยิงรวม 13 หน ตรงกรอบครั้งเดียว
• ฝรั่งเศส ไม่โดนใบเหลืองในเกมนี้ เท่ากับโดนไปแค่ 5 ใบตลอดทัวร์นาเมนต์ น้อยสุดในบรรดาทีมที่ยังอยู่ (แฟร์เพลย์ อังกฤษ 1 เหลือง 0 แดง)
• ฝรั่งเศส ไม่แพ้เกมฟุตบอลโลกเป็นนัดที่ 26 (ชนะ 25 เสมอ 1) หากเป็นฝ่ายขึ้นนำเมื่อสิ้นครึ่งแรก

 

• 4 จาก 5 ประตูล่าสุดในรอบตัดเชือกของ ฝรั่งเศส (คิดเป็น 80%) มาจากกองหลัง – 1998 ลิลิยอง ตูราม (2 ลูก), 2018 ซามูแอล อุมติตี้, 2022 เตโอ เอร์นันเดซ
• ประตูของ เตโอ เอร์นันเดซ เกิดขึ้นตอน 4 นาที 39 วินาที เป็นประตูเร็วที่สุดของรอบตัดเชือกฟุตบอลโลก นับตั้งแต่ลูกยิงของ วาว่า เกมบราซิลชนะฝรั่งเศส 5-2 ปี 1958
• เตโอ เอร์นันเดซ ยิงประตูที่ 2 ในการเล่นทีมชาติ 12 นัด
• ร็องดาล โคโล่ มูอานี่ ยิงประตูแรกสุด ในการเล่นทีมชาติเกมที่ 4

 

• ร็องดาล โคโล่ มูอานี่ ใช้เวลา 44 วินาทีในสนาม ยิงลูก 2-0 เป็นสถิติเร็วสุดอันดับ 3 ของฟุตบอลโลก (ตัวสำรองพังประตู) ถัดจาก ริชาร์ด โมราเลส (อุรุกวัย) 2002 และ เอ๊บเบ้ ซานด์ (เดนมาร์ก) 1998
• ร็องดาล โคโล่ มูอานี่ มาเล่นฟุตบอลโลก 2022 ด้วยการเป็นมวยแทน เสียบโควตาของ คริสโตเฟอร์ เอ็นคุนคู ที่เจ็บจนต้องถอนตัวไป
• เตโอ เอร์นันเดซ (25) ก็กลายมาเป็นแบ็กซ้ายตัวเลือกแรก แทนที่พี่ชาย ลูคัส เอร์นันเดซ (26) ที่เจ็บจากเกมกับ ออสเตรเลีย จนต้องถอนตัวไป
• ฝรั่งเศส และ อูโก้ โยริส เพิ่งจะทำคลีนชีตหนแรกในฟุตบอลโลก 2022

 

• โมร็อกโก ยังมีสิทธิ์คว้าอันดับ 3 ได้ถ้าชนะ โครเอเชีย วันเสาร์นี้ แต่ก็จัดเป็นทีมประวัติศาสตร์ของแอฟริกา/อาหรับ อยู่แล้ว หลังมาไกลถึงรอบตัดเชือก
• วาลิด เรกรากี เพิ่งทำทีมแพ้นัดแรกจากการเล่น 9 นัด (ชนะ 5 เสมอ 3 แพ้ 1)
• ถัดจากการยิงตัวเองของ นาเยฟ อาแกร์ด เท่ากับ โมร็อกโก เพิ่งเสีย 2 ประตูแรกจากฝีมือของคู่แข่ง ในเกมนี้

 

ไก่สยายปีก! อัดโมร็อกโก 2-0 ลิ่วชิงฟุตบอลโลก 2022 ปะทะฟ้าขาว

ปากคำหลังเกม ฝรั่งเศส 2-0 โมร็อกโก
ดิดิเย่ร์ เดส์ชองส์ : “มันให้ทั้งอารมณ์ตื้นตันใจและภาคภูมิใจ แน่นอนว่า นี่คืออีกหนึ่งก้าวสำคัญ แต่เราก็ยังเหลืออีกหนึ่งก้าว เราทำงานร่วมกันมานานนับเดือน ซึ่งไม่ง่ายเลย แต่สุดท้ายเราก็มีความสุขกัน และบรรดานักเตะของผมต่างก็ได้รับรางวัลตอบแทนความพยายาม”
“ตั้งแต่ที่ฟุตบอลโลกครั้งนี้เริ่มขึ้น เมสซี่ ก็ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม ผมเชื่อว่าหลังจากผ่านไป 4 ปี พวกเขาเป็นทีมที่แตกต่างออกไปจากเดิม เมื่อ 4 ปีก่อนผมได้คิดไว้ล่วงหน้าแล้วว่าเขา (เมสซี่) จะไปเล่นในตำแหน่งไหน และท้ายที่สุดเขาพัฒนาตัวเองให้ไปเล่นในตำแหน่งกองหน้าตัวกลางในการดวลกับพวกเรา”
“จากจุดนั้น เขาดูต่อเนื่องมากกว่าเดิมในการเล่นร่วมกับกองหน้าอีกราย และเขามีอิสระมาก เขาสัมผัสบอลหลายครั้ง เขาเป็นคนที่แข็งแกร่งอย่างมากจริงๆ
“เราจะทำให้แน่ใจว่าได้จำกัดขอบเขตการเล่นของเขากับการมีอิทธิพลต่อเกมให้ได้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ซึ่งพวกเขาก็คงจะพยายามทำบางอย่างกับนักเตะของพวกเราเช่นกัน”

 

อองตวน กรีซมันน์ : “ในตอนที่ อาร์เจนติน่า มี เลโอ (เมสซี่) อยู่ด้วย มันเป็นสิ่งที่แตกต่างออกไปอย่างชัดเจน เราได้เห็นมาเกือบทุกๆ เกม เรารู้ว่าพวกเขาเป็นอย่างไร นี่คือทีมที่ยากในการต่อกรอย่างมาก พวกเขาอยู่ในทรงที่ดี มันเป็นกลุ่มนักเตะที่เต็มไปด้วยความมีชีวิตชีวา”
“มันจะเป็นเกมที่ไม่ง่าย พวกเขาจะมีกองเชียร์ที่คอยอยู่ข้างๆ แล้วเราจะได้รู้ว่าเราสามารถทำอะไรกันได้บ้าง”

 

เตโอ เอร์นันเดซ : “เมสซี่? เราไม่กลัวหรอก พวกเขามีทีมที่ยอดเยี่ยม แต่เราก็ยังมีเวลาเตรียมตัวอีก 2-3 วัน เกมนี้ถือเป็นเกมที่ยากของเรา โมร็อกโก มีทีมที่ยอดเยี่ยมจริงๆ แต่สุดท้ายเราชนะ และตอนนี้เราจำเป็นต้องคิดถึงนัดชิงฯ เท่านั้น เราทำงานหนักมานานร่วมเดือนเพื่อมาถึงจุดนี้ ผมเหนื่อย แต่มันก็เป็นอะไรที่งดงาม”

 

วาลิด เรกรากี : “เรามีนักเตะบาดเจ็บหลายราย บางคนซ้อมไม่ได้ บางคนต้องพลาดการลงสนาม หรือไม่ก็เจ็บระหว่างเกม แน่นอนว่ามันไม่ได้ช่วยอะไรเราเลย แต่มันไม่ใช่ข้อแก้ตัว”
“เราแสดงให้เห็นถึงความโดดเด่นของฟุตบอลโมร็อกโกแล้ว และเรามีแฟนบอลที่น่าทึ่ง เราคิดว่าเราอยู่ไม่ไกลเลยจากการที่เราสามารถต่อสู้ได้ในเกมระดับท็อป เราเล่นกันอย่างเต็มที่แล้ว มันเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด”
“เราเสีย อาแกร์ด ตอนวอร์มอัพ รวมทั้ง ซาอิสส์ และ มาซราอุย แต่มันไม่ใช่ข้อแก้ตัว เราต้องจ่ายค่าตอบแทนจากการก่อความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ เราทิ้งโอกาสไปในครึ่งแรก และประตูที่สองฆ่าเรา แต่มันไม่อาจพรากทุกอย่างที่เราทำเอาไว้ก่อนหน้านี้ได้”

 

ยาสซีน บูนู : “เกมออกมาไม่ง่ายเลย เราใฝ่ฝันที่จะไปถึงชิงชนะเลิศ และเรามีความมั่นใจในการเอาชนะ แต่มันกลับไม่เป็นเช่นนั้น ทุกๆ คนเล่นเกมที่ยอดเยี่ยม ทุ่มเทความพยายามลงไปอย่างมาก”
“เรายังคงเหลือเกมให้ลงสนามอีกหนึ่งนัด ซึ่งเป็นเกมที่เราต้องเล่นอย่างเอาจริงเอาจังเหมือนกับที่แสดงให้เห็นก่อนหน้านี้”
“เราแสดงให้เห็นถึงศักยภาพระดับสูงที่สามารถต่อกรกับชาติใหญ่ๆ ได้สูสี ประตูแรก (ของฝรั่งเศส) ทำให้เกมของเรายุ่งยากซับซ้อน แต่เราก็แสดงให้เห็นถึงบุคลิกและมีโอกาสหลังจากเสียประตูไป หลังจากนั้น มีประตูที่สองเกิดขึ้นพร้อมกับโชคช่วยพวกเขาเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม เรายังเล่นได้อย่างยอดเยี่ยม”

 

ไก่สยายปีก! อัดโมร็อกโก 2-0 ลิ่วชิงฟุตบอลโลก 2022 ปะทะฟ้าขาว

สืบเนื่องจากผลสกอร์ ฝรั่งเศส 2-0 โมร็อกโก
• ฝรั่งเศส เข้าชิงชนะเลิศฟุตบอลโลก 2022 โดยเตรียมพบ อาร์เจนติน่า ที่เจอกันมาแล้วใน รัสเซีย 2018 ฝรั่งเศสชนะ 4-3 รอบ 16 ทีมสุดท้าย (คีลิยัน เอ็มบัปเป้ 2 ประตู, อองตวน กรีซมันน์ 1)
• ฝรั่งเศส เข้าชิงชนะเลิศฟุตบอลโลก เป็นครั้งที่ 4 ในเพียง 7 ทัวร์นาเมนต์หลังสุด
1998 ชนะ บราซิล 3-0
2006 แพ้ดวลจุดโทษ อิตาลี 3-5
2018 ชนะ โครเอเชีย 4-2
2022 เตรียมพบ อาร์เจนติน่า
• ดิดิเย่ร์ เดส์ชองส์ เป็นกัปตันทีมชุดแชมป์โลก 1998, เป็นกุนซือชุดแชมป์โลก 2018 และยังนำทีมเข้าชิงได้อีกหน ปีนี้
• เริ่มคุมทีมปี 2012 จนถึงวันนี้ เดส์ชองส์ พาทัพตราไก่ลงสนาม 138 นัด ชนะ 89 เสมอ 27 แพ้ 22 เปอร์เซ็นต์ชนะ 64.49%

 

• คีลิยัน เอ็มบัปเป้ ไม่ยิงเพิ่มมา 2 เกมติด คงสถิติไว้ที่ 5 ประตูเท่ากับ ลิโอเนล เมสซี่ และคู่นี้จะเผชิญหน้ากันโดยตรงในนัดชิงชนะเลิศ
• เช่นเดียวกับ โอลิวิเย่ร์ ชิรูด์ และ ฮูเลี่ยน อัลวาเรซ ที่กดไปคนละ 4 ตุงเท่ากัน
• อองตวน กรีซมันน์ ยังทำ 3 แอสซิสต์ เท่ากับ ลิโอเนล เมสซี่
• มีกระแสข่าวว่า เรอัล มาดริด พร้อมเปิดไฟเขียวกรณีพิเศษให้ คาริม เบนเซม่า กลับเข้าสู่แคมป์ทีมชาติฝรั่งเศส มาเป็นตัวเลือกสำรองของกองหน้าตราไก่นัดชิงชนะเลิศ หลังยอดดาวยิงวัย 34 เจ้าของบัลลง ดอร์ 2022 ฟิตกลับมาลงซ้อมกับทีมชุดขาวได้แล้ว

 

• ในการคว้าแชมป์โลกเมื่อปี 2018 ฝรั่งเศส ผ่านทั้ง ออสเตรเลีย (2-1), เดนมาร์ก (0-0) และ อาร์เจนติน่า (4-3) ในทัวร์นาเมนต์ เหมือนครั้งนี้ที่ชนะ ออสเตรเลีย 4-1, เดนมาร์ก 2-1 และเตรียมเจอ อาร์เจนติน่า นัดชิง
• ทีมตัวจริงนัดชิงปี 2018 (4-2 โครเอเชีย) ของ ฝรั่งเศส มีทั้ง อูโก้ โยริส, ราฟาแอล วาราน, คีลิยัน เอ็มบัปเป้, อองตวน กรีซมันน์ และ โอลิวิเย่ร์ ชิรูด์ ที่หากว่าไม่มีอะไรผิดพลาด ทั้ง 5 คนนี้ก็จะได้เล่นนัดชิงฟุตบอลโลก 2 สมัยติดต่อกัน
• ยังมี เบนชาแม็ง ปาวาร์ ลงตัวจริง 2018 แต่เป็นสำรองของทีมชุดนี้ ส่วนทาง สตีฟ ม็องด็องด้า, อัลฟงส์ อเรโอล่า และ อุสมัน เดมเบเล่ เป็นสำรองไม่ได้ใช้ของนัดชิงเมื่อ 4 ปีก่อน
• ฝรั่งเศส เป็นชาติแรกถัดจาก บราซิล 1998 ที่มีโอกาสป้องกันแชมป์โลกได้สำเร็จ
• อย่างไรก็ตาม ฝรั่งเศส ก็ต้องเอาชนะ อาร์เจนติน่า ให้ได้เท่านั้นในวันอาทิตย์นี้ เพื่อยืนยันการเป็นทีมแรกถัดจาก บราซิล 1962 ยุค เปเล่ ที่ป้องกันแชมป์โลกได้จริง

 

ไกด์เถื่อน

 

อ้างอิง
wikipedia
FIFA

ภาพประกอบ
FIFA
Twitter

เรื่องน่าอ่าน
ฝรั่งเศส vs โมร็อกโก : ตัวต่อตัว ตัดเชือก ฟุตบอลโลก 2022
ก้าวเดียวถึงแชมป์โลก! อาร์เจนติน่า ถล่ม โครเอเชีย 3-0 ตัดเชือกฟุตบอลโลก 2022
คาริม เบนเซม่า : บัลลงดอร์แล้วต่อยอดถึงแชมป์ฟุตบอลโลก 2022…?!?
เต็ง ‘แชมป์โลก’ และความน่าจะเป็น

ฝรั่งเศส vs โมร็อกโก : ตัวต่อตัว ตัดเชือก ฟุตบอลโลก 2022

ฝรั่งเศส vs โมร็อกโก : ตัวต่อตัว ตัดเชือก ฟุตบอลโลก 2022

ฟุตบอลโลก 2022 รอบรองชนะเลิศ : ฝรั่งเศส vs โมร็อกโก
พุธ 14 ธันวาคม 2565, 02.00 น.
สนาม : อัล เบย์ท สเตเดี้ยม, อัล คอร์
ถ่ายทอดสด : One31

 

ผลการพบกัน : 11 นัด
A v B 1963 โมร็อกโก ชนะ 2-1
B v A 1966 เสมอ 2-2
เมดิเตอร์เรเนียน เกมส์ 1967 ฝรั่งเศส ชนะ 2-0
เมดิเตอร์เรเนียน เกมส์ 1975 เสมอ 1-1, ฝรั่งเศส ชนะจุดโทษ 3-1
เมดิเตอร์เรเนียน เกมส์ 1987 เสมอ 0-0
โฟร์ เนชั่นส์ 1988 ฝรั่งเศส ชนะ 2-1
Under-21 v A 1996 ฝรั่งเศส ชนะ 1-0
คิง ฮัสซัน คัพ 1998 เสมอ 2-2, ฝรั่งเศส ชนะจุดโทษ 6-5
อุ่นเครื่อง 1999 ฝรั่งเศส ชนะ 1-0
ฮัสซัน II 2000 ฝรั่งเศส ชนะ 5-1
อุ่นเครื่อง 2007 เสมอ 2-2

 

ผลงานในฟุตบอลโลก 2022
ฝรั่งเศส
รอบแบ่งกลุ่ม ชนะ ออสเตรเลีย 4-1
รอบแบ่งกลุ่ม ชนะ เดนมาร์ก 2-1
รอบแบ่งกลุ่ม แพ้ ตูนิเซีย 0-1
รอบ 16 ทีม ชนะ โปแลนด์ 3-1
รอบ 8 ทีม ชนะ อังกฤษ 2-1

โมร็อกโก
รอบแบ่งกลุ่ม เสมอ โครเอเชีย 0-0
รอบแบ่งกลุ่ม ชนะ เบลเยียม 2-0
รอบแบ่งกลุ่ม ชนะ แคนาดา 2-1
รอบ 16 ทีม เสมอ สเปน 0-0, ชนะจุดโทษ 3-0
รอบ 8 ทีม ชนะ โปรตุเกส 1-0

 

ความพร้อมก่อนเตะ
ฝรั่งเศส
เริ่มต้นเส้นทางป้องกันแชมป์โลกได้อย่างสวยงาม ชนะทั้ง ออสเตรเลีย และ เดนมาร์ก จนเป็นทีมแรกของฟุตบอลโลก 2022 ที่ลอยลำเข้าสู่รอบ 16 ทีมสุดท้าย ก่อนเกมปิดกลุ่มจะส่งสำรองลงไปแพ้พลิกล็อกต่อ ตูนิเซีย 0-1 แต่ก็ยังจบที่แชมป์กลุ่มอยู่ดี

 

ส่วนรอบ 16 ทีมสุดท้าย เอาชนะ โปแลนด์ ไม่ยากเย็นนัก 3-1 คีลิยัน เอ็มบัปเป้ ซัดสองตุง ขึ้นนำดาวซัลโวฟุตบอลโลก 2022 ด้วยการยิงไป 5 ประตู ตามด้วยรอบ 8 ทีม บลุ้นระทึกหน่อย แต่ยังอร่อยมากพอจะเบียดชนะ อังกฤษ 2-1 โอลิวิเย่ร์ ชิรูด์ สังหารชัยในเกมที่ แฮร์รี่ เคน พลาดจุดโทษสำคัญท้ายเกม

 

ก่อนหน้านี้ ดิดิเย่ร์ เดส์ชองส์ โดนปัญหาลูกทีมบาดเจ็บต่อเนื่อง ทั้ง โกร็องแต็ง โตลิสโซ่, ไมค์ เมนยอง, ปอล ป๊อกบา, เอ็นโกโล่ ก็องเต้, เพรสแนล คิมเพ็มเบ้, คริสโตเฟอร์ เอ็นคุนคู, คาริม เบนเซม่า, ลูคัส เอร์นันเดซ โดยที่ 4 รายหลังต้องถอนตัวจากฟุตบอลโลก 2022 ไป

 

แต่ว่าการลงเตะ 3 เกมหลังก็ไม่มีตัวเจ็บเพิ่มแล้ว ส่วนที่เป็นประเด็นว่า คาริม เบนเซม่า ยอดดาวยิงเจ้าของรางวัลบัลลงดอร์ 2022 จะสลัดปัญหาบาดเจ็บหวนคืนทีมมาลงเล่นในรอบน็อกเอาต์ แม้ เบนเซม่า จะคืนสนามซ้อมกับ เรอัล มาดริด แล้ว แต่กระแสคืนทีมชาติก็เงียบไปแล้วเช่นกัน

 

แต่แม้จะไม่มีตัวเจ็บเพิ่ม ก็มีรายงานเพิ่มเติมว่า นักเตะตราไก่หลายรายมีอาการป่วยแทรกซ้อน โดยเฉพาะ ดาโยต์ อูปาเมกาโน่ กับ อาเดรียง ราบิโอต์ ที่พลาดซ้อมเมื่อวันอังคาร และมีสิทธิ์จะเรียกฟิตไม่ทันเกมสุดสำคัญนัดนี้ ซึ่งถ้าไม่พร้อมจริงจะเป็น อิบราฮิมา โกนาเต้ กับ ยุสซูฟ โฟฟาน่า เสียบตำแหน่งแทนตามลำดับ

 

ส่วนถ้าพร้อมทั้งหมด เดส์ชองส์ ก็จะยึดทีมเดิมๆ เป็นแกน ด้วยระบบ 4-2-3-1 ออเรเลียง ชูอาเมนี่ กับ อาเดรียง ราบิโอต์ ดูแลเกมตรงกลาง แนวรุกให้ อุสมัน เดมเบเล่, อองตวน กรีซมันน์ และ คีลิยัน เอ็มบัปเป้ สนับสนุนหอกเป้า โอลิวิเย่ร์ ชิรูด์

 

โมร็อกโก
ม้ามืดตัวจริงแห่งฟุตบอลโลก 2022 มีความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ตัวกุนซือ วาฮิด ฮาลิลฮ็อดซิช โดนเด้งไปเมื่อกลางปี หรือก่อนฟุตบอลโลกที่กาตาร์จะมาถึงแค่ไม่กี่เดือน โดยเป็น วาลิด เรกรากี อดีตนายใหญ่ อัล-ดูฮาอิล และ วีดัด คาซาบลังก้า มาเสียบแทน

 

แต่การเปลี่ยนโค้ชเหมือนเลือกหวยถูกใบ โมร็อกโก เกมแรกยันเสมอ โครเอเชีย 0-0 ต่อมาพลิกล็อกชนะ เบลเยียม 2-0 ตามด้วยตบ แคนาดา 2-1 จนเข้ารอบด้วยการเป็นแชมป์กลุ่ม

 

สำคัญคือในรอบน็อกเอาต์ 16 ทีมสุดท้าย ยันเสมอ สเปน 0-0 ใน 120 นาที ก่อนได้ ยาสซีน “โบโน่” บูนู เป็นฮีโร่ เซฟแล้วเซฟอีกจนชนะดวลเป้าแบบคลีนชีต 3-0 เช่นเดียวกับรอบ 8 ทีมสุดท้าย ยังคงหักปากกาเซียนอีกด้ามด้วยการสยบ โปรตุเกส ของ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ 1-0 เท่ากับ 5 เกมของฟุตบอลโลก 2022 พวกเขาเสียแค่ประตูเดียว และยังมาจากการยิงตัวเองของ นาเยฟ อาแกร์ด ในเกมกับ แคนาดา ด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่าสภาพทีมเกมนี้ของ เรกรารี นั้น “อ่วมมากแม่” มีทั้งตัวเจ็บและตัวแบน มีสิทธิ์ขาดได้ถึง 5 คนในเกมนี้

 

เริ่มจากคู่เซนเตอร์แบ็กตัวจริง กัปตันทีม โรแม็ง ซาอิสส์ กับ นาเยฟ อาแกร์ด มีปัญหาบาดเจ็บทั้งคู่ รายแรกจาก เบซิคตัส เดี้ยงจนต้องหามออกจากเกมกับ โปรตุเกส ตอนครึ่งหลัง ส่วนรายหลังจาก เวสต์แฮม ยูไนเต็ด เจ็บจนไม่ได้เล่นตั้งแต่รอบที่แล้ว

 

ถัดมา นูสแซร์ มาซราอุย แบ็กซ้ายจาก บาเยิร์น มิวนิค ก็เจ็บจนพลาดรอบที่แล้วเช่นกัน เพิ่มเติมด้วย อับเดลฮามิด ซาบิรี่ มิดฟิลด์จากซามพ์โดเรีย ต้องเช็กสภาพว่าจะพร้อมหรือไม่

 

นอกจากนั้น วาลิด เชดดิร่า กองหน้าตัวสำรองจาก บารี่ ติดโทษแบนไม่อาจลงเล่นได้แน่นอน หลังโดนสองเหลืองหนึ่งแดงในเกมที่ผ่านมา

 

ประเด็นสำคัญอยู่ที่แนวรับ มีโอกาสสูงที่ เรกรากี จะต้องเปลี่ยนรวดเดียว 3 คน หากว่า ซาอิสส์ – อาแกร์ด – มาซราอุย ไม่พร้อม โดยจะเป็น จาวัด เอล ยามิก, อัชราฟ ดารี และ ยาเอีย อัตติยัต อัลลาห์ ลงแทน เหลือตัวจริงแค่แบ็กขวา อัชราฟ ฮาคิมี่

 

อย่างไรก็ตามแนวรุกไม่เป็นปัญหาแม้จะขาด เชดดิร่า ที่เป็นสำรอง โดยให้ ฮาคิม ซีเย็ค กับ โซฟียาน บูฟาล ขนาบข้างหอกเป้า ยุสเซฟ เอ็น-เนซีรี่ เหมือนเช่นเคย

 

ตัวความหวัง
ฝรั่งเศส : คีลิยัน เอ็มบัปเป้
เป็นผู้นำเกมรุกเบอร์ 1 ของทัพตราไก่ในฟุตบอลโลก 2022 แทนที่เจ้าของบัลลงดอร์อย่าง คาริม เบนเซม่า ที่ถอนตัวไป ซึ่งด้วยวัยวุฒิและคุณวุฒิของ เอ็มบัปเป้ ในวัย 23 ก็ถือว่าพร้อมเต็มที่แล้ว ภายหลังเริ่มเล่นทีมชาติมาตั้งแต่ยังละอ่อน ถึงตรงนี้เล่นไปแล้ว 64 นัด ซัด 33 ประตู และเป็นตัวเก็งเต็งหนึ่งคว้ารางวัลดาวซัลโวบอลโลกงวดนี้ ภายหลังกดไปแล้ว 5 เม็ด ยืนแท่นผู้นำอยู่ขณะเหลือแค่ 4 เกมสุดท้ายของทัวร์นาเมนต์

 

โมร็อกโก : ยาสซีน “โบโน่” บูนู
โตจาก วีดัด คาซาบลังก้า แล้วย้ายข้ามห้วยมาเข้าแคมป์ แอตเลติโก มาดริด แต่ก็ไม่อาจแทรกขึ้นชุดใหญ่ที่มี ติโบต์ กูร์กตัวส์ ขวางทางอยู่ได้ โดยอันที่จริงถือว่าจอมหนึบเชื้อสายแคนาดาวัย 31 โด่งดังอย่างเงียบๆ อยู่กับ เซบีย่า มาได้พักหนึ่งแล้ว หลังมาเล่นแบบยืมตัวปี 2019 ก่อนย้ายขาดในปีถัดมา แล้วก็สร้างชื่อระดับคว้ารางวัลนายประตูแห่งปี ลา ลีกา Zamora Trophy ติดตัวในซีซั่นก่อน ส่วนในทีมชาติ เริ่มติดธงปี 2013 เป็นต้นมา ก่อนจะเป็นมือหนึ่งในช่วง 4-5 ปีหลัง แล้วก็โครมครามสุดๆ ในฟุตบอลโลก 2022 หนนี้

 

11 ตัวจริงที่คาด
ฝรั่งเศส (4-2-3-1, กุนซือ ดิดิเย่ร์ เดส์ชองส์) อูโก้ โยริส – เตโอ เอร์นันเดซ, ราฟาแอล วาราน, ดาโยต์ อูปาเมกาโน่ (อิบราฮิมา โกนาเต้), ชูลส์ กุนเด้ – อาเดรียง ราบิโอต์ (ยุสซูฟ โฟฟาน่า), ออเรเลียง ชูอาเมนี่ – อุสมัน เดมเบเล่, อองตวน กรีซมันน์, คีลิยัน เอ็มบัปเป้ – โอลิวิเย่ร์ ชิรูด์
โมร็อกโก (4-3-3, กุนซือ วาลิด เรกรากี) ยาสซีน บูนู – ยาเอีย อัตติยัต อัลลาห์, จาวัด เอล ยามิก, อัชราฟ ดารี, อัชราฟ ฮาคิมี่ – อัซเซดีน อูนาฮี, โซฟียาน อัมราบัต, เซลิม อมัลลาห์ – ฮาคิม ซีเย็ค, ยุสเซฟ เอ็น-เนซีรี่, โซฟียาน บูฟาล

 

สถิติที่เกี่ยวข้องกับเกม ฝรั่งเศส ปะทะ โมร็อกโก
• โมร็อกโก เคยเป็นประเทศในอาณานิคมของ ฝรั่งเศส ช่วงปี ค.ศ. 1912 – 1956
• ความที่เป็นเมืองขึ้นของกัน ทำให้เจอกันบ่อยพอตัวในยุคโบราณ รวมพบกัน 11 นัด ฝรั่งเศสชนะใน 90 นาที 5 นัด โมร็อกโกชนะเกมเดียว
• แต่ 2 ทศวรรษหลัง พบกันหนเดียวเท่านั้น อุ่นเครื่องปี 2007 ที่ปารีส เสมอกัน 2-2
• คาริม เบนเซม่า อยู่ในเกมวันนั้น แต่ก็โชคร้ายไม่ได้เล่นฟุตบอลโลก 2022 อย่างที่ทราบ

• ฝรั่งเศส เสียประตูทุกนัดในฟุตบอลโลกครั้งนี้ นัดละ 1 ลูก โดยไม่มีเกมที่ทำคลีนชีตได้เลย
• สองนัดหลัง ฝรั่งเศส กดไป 5 ประตู
• แม้ไม่อาจถือได้ว่าชนะรวด แต่เกมแพ้ ตูนิเซีย 0-1 นัดปิดรอบแรก ก็เป็นการปรับส่งทีมสำรองลงสนาม ดังนั้นด้วย 11 คนแรกชุดนี้จึงจัดว่าชนะ 4 เกมซ้อนได้ ในฟุตบอลโลกครั้งนี้
• ทำลายอาถรรพ์ทีมแชมป์เก่าตกรอบแรก 3 ทัวร์นาเมนต์รวดไปแล้ว และอยู่ในเส้นทางสำหรับการจะเป็นทีมแรกที่สามารถป้องกันแชมป์โลกได้ ถัดจาก บราซิล 1962 ยุค เปเล่
• ฝรั่งเศส เพิ่งโดนใบเหลืองไปแค่ 5 ใบ น้อยสุดในจำนวนทีมที่ยังเหลือ (น้อยสุด อังกฤษ 1) รวมถึงว่าก็ยิงได้เยอะสุด (11 ประตู) ในจำนวนทีมที่ยังเหลือ

• โมร็อกโก สร้างประวัติศาสตร์เป็นทีมแอฟริกัน/อาหรับ รายแรกที่มาถึงรอบรองชนะเลิศ ฟุตบอลโลก
• แน่นอนว่ายังเป็นผลงานดีสุดของตัวเอง ถัดจากการเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก 1986
• โมร็อกโก มีลุ้นแชมป์โลกอยู่พอประมาณเมื่อมาถึงตรงนี้ แม้ว่าข้อเท็จจริงจะบอกว่า พวกเขาเคยเป็นแชมป์ทวีป แอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่นส์ แค่สมัยเดียวถ้วน ตั้งแต่ปี 1976 มาแล้ว

• วาลิด เรกรากี เกิดที่ฝรั่งเศส (1975) โตมาเล่นฟุตบอลอาชีพในฝรั่งเศส ตำแหน่งแบ็กขวา สังกัด ราซิ่ง ปารีส, ตูลูส, อชักซิโอ, ราซิ่ง ซานตานเดร์ (สเปน), ดิชง และ เกรอน็อบล์ แต่ติดทีมชาติโมร็อกโก 45 นัด ระหว่างปี 2001-2009
• โซฟียาน บูฟาล เกิดที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส (1993) และเล่นอาชีพในลีกฝรั่งเศสตั้งแต่แรกจนตอนนี้ สังกัด อองเช่ร์
• โรแม็ง ซาอิสส์ เกิดที่ฝรั่งเศส (1990) สร้างชื่อกับ เลอ อาฟร์ ก่อนย้ายไป วูล์ฟแฮมป์ตัน และตอนนี้อยู่ เบซิคตัส
• แข้งโมร็อกโกชุดนี้ เล่นใน ลีก เอิง ฝรั่งเศส จำนวน 5 คน – อัซซาดีน อูนาฮี (อองเช่ร์), โซฟียาน บูฟาล (อองเช่ร์), อัชราฟ ดารี (แบรสต์), อัชราฟ ฮาคิมี่ (เปแอสเช), ซากาเรีย อาบูคลัล (ตูลูส)
• ถ้าได้ลงตามปกติ ยาสซีน บูนู จะเพิ่มสถิติเล่นทีมชาติเป็นเกมที่ 51, อัชราฟ ฮาคิมี่ 60, โซฟียาน อัมราบัต 45, ฮาคิม ซีเย็ค 49, โซฟียาน บูฟาล 38, ยุสเซฟ เอ็น-เนซิรี่ 56

• คีลิยัน เอ็มบัปเป้ ยิงในบอลโลกหนนี้ 5 ลูกแล้ว กำลังนำดาวซัลโว และยังยิงในหนก่อน 4 ประตู รวมสองทัวร์นาเมนต์กดแล้ว 9 ลูก
• คีลิยัน เอ็มบัปเป้ เป็นแมนออฟเดอะแมตช์ 3 จาก 5 นัดที่ลงเล่นที่กาตาร์ สูงสุดเทียบเท่า ลิโอเนล เมสซี่
• โอลิวิเย่ร์ ชิรูด์ กลายเป็นผู้นำดาวซัลโวฝรั่งเศสแล้ว และมีแต่จะเพิ่มระยะห่างจาก เธียร์รี่ อองรี (51) ขึ้นไป หลังยิงแล้ว 53 ลูก รวมถึงในบอลโลกครั้งนี้ที่สอยแล้ว 4 ตุง
• อองตวน กรีซมันน์ ยังไม่มียิงประตูที่กาตาร์ แต่แอสซิสต์แล้ว 3 สูงสุดเทียบเท่า แฮรรี่ เคน และ บรูโน่ แฟร์นันเดส
• อูโก้ โยริส เป็นเจ้าของสถิติเล่นให้ฝรั่งเศสสูงสุดแล้ว 143 นัด มากกว่า ลิลิยอง ตูราม 1 เกม และทุกเกมที่ผ่านไป ก็จะยิ่งเพิ่มสถิติให้นายด่านวัยย่าง 36 ขึ้นอีก
• ถ้าได้ลงตามปกติ อูโก้ โยริส จะเพิ่มสถิติเล่นทีมชาติเป็นเกมที่ 144, ราฟาแอล วาราน 92, อาเดรียง ราบิโอต์ 35, อองตวน กรีซมันน์ 116, โอลิวิเย่ร์ ชิรูด์ 119, คีลิยัน เอ็มบัปเป้ 65

• โมร็อกโก ไม่แพ้ใครมา 10 เกมซ้อน แบ่งเป็นชนะ 7 เสมอ 3
• ในจำนวน 10 เกมที่ไร้พ่าย โมร็อกโก ไม่เสียประตูถึง 8 นัดด้วยกัน และเสียรวมแค่ 2 ลูก (2-1 แอฟริกาใต้, 2-1 แคนาดา)
• วาลิด เรกรากี คุมโมร็อกโกมาแค่ 8 นัด ยังไร้พ่าย ชนะ 5 เสมอ 3
• โมร็อกโก แพ้ครั้งสุดท้ายในยุค วาฮิด ฮาลิลฮ็อดซิช เมื่อ 1 มิ.ย. แพ้ สหรัฐอเมริกา 0-3

• เกมรอบรองชนะเลิศ ฟุตบอลโลก 10 ทัวร์นาเมนต์หลัง หรือ 40 ปีหลังสุด (20 แมตช์) ล้วนแต่ออกผลชนะแพ้แบบเบียดๆ หรือลงเอยด้วยผลเสมอต้องยืดเยื้อ ถึงกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ และมีเพียง “เกมเดียวถ้วน” เท่านั้น ที่ชนะกันเกินกว่า 3 ประตูขึ้นไป
– ยิงกันถล่มทลาย 1 นัดถ้วน คือเกมประวัติศาสตร์ที่ เยอรมนี กำราบ บราซิล 7-1 ในเวิลด์คัพ 2014 บนดินแดนแซมบ้าเอง
– ชนะห่างหน่อย 2-0 มีเกิดขึ้น 3 นัด
โปแลนด์ 0-2 อิตาลี (1982)
ฝรั่งเศส 0-2 เยอรมนีตะวันตก (1986)
อาร์เจนติน่า 2-0 เบลเยียม (1986)
– ชนะประตูเดียว 9 นัด
บัลแกเรีย 1-2 อิตาลี (1994), สวีเดน 0-1 บราซิล (1994), ฝรั่งเศส 2-1 โครเอเชีย (1998), เยอรมนี 1-0 เกาหลีใต้ (2002), บราซิล 1-0 ตุรกี (2002), โปรตุเกส 0-1 ฝรั่งเศส (2006), อุรุกวัย 2-3 เนเธอร์แลนด์ (2010), เยอรมนี 0-1 สเปน (2010), ฝรั่งเศส 1-0 เบลเยียม (2018)
– ชนะช่วงต่อเวลา 2 นัด
เยอรมนี 0-0 อิตาลี / อิตาลี ต่อเวลาชนะ 2-0 (2006)
โครเอเชีย 1-1 อังกฤษ /โครเอเชีย ต่อเวลาชนะ 2-1 (2018)
– ชนะดวลจุดโทษ 5 นัด
เยอรมนีตะวันตก 3-3 ฝรั่งเศส / เยอรมนีฯ ชนะจุดโทษ 5-4 (1982)
อาร์เจนติน่า 1-1 อิตาลี / อาร์เจนฯ ชนะจุดโทษ 4-3 (1990)
เยอรมนีตะวันตก 1-1 อังกฤษ / เยอรมนีฯ ชนะจุดโทษ 4-3 (1990)
บราซิล 1-1 เนเธอร์แลนด์ / บราซิล ชนะจุดโทษ 4-2 (1998)
เนเธอร์แลนด์ 0-0 อาร์เจนติน่า / อาร์เจนฯ ชนะจุดโทษ 4-2 (2014)

 

ทรรศนะกูรู
คริส ซัตตัน, บีบีซี : ฝรั่งเศส ชนะ 2-1
“แผนการของ โมร็อกโก ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน รับลึกแล้วโต้ แต่มันก็ไม่ง่ายต่อการรับมือของทุกคู่แข่ง พวกเขาผ่านเกมกับทีมอย่าง โครเอเชีย, เบลเยียม, สเปน, โปรตุเกส มาแล้ว และไม่เสียประตูเลยสักลูก”
“แต่ปัญหาก็คือความอ่อนล้าที่ต้องเผชิญ โรแม็ง ซาอิสส์ ต้องโดนหามออกจากเกมก่อน และยังมีต้องกังวลเรื่องความฟิตของทั้งกองหลัง นาเยฟ อาแกร์ด และคีย์แมน โซฟียาน อัมราบัต นั่นจะทำให้เกมโต้กลับของพวกเขาอาจไม่เต็มประสิทธิภาพ”
“ด้าน ฝรั่งเศส ไม่ได้เล่นด้วยสุดยอดฟุตบอลอะไร แต่พวกเขาอยู่ในระดับสูงมานาน และแสดงให้เห็นถึงความเฉียบคมที่เหนือกว่า อังกฤษ และคุณภาพเกมรุกของพวกเขาก็จตะสร้างความแตกต่างได้ในเกมนี้ ฝรั่งเศส จะยิงประตูแรกได้ และผ่านเกม 90 นาทีไปด้วยชัยชนะ”
“ที่จริง ผมก็อยากให้ความเห็นของผมผิด เพราะการเดินทางของทีมแอฟริกาอย่าง โมร็อกโก ในครั้งนี้ จะเป็นสุดยอดเรื่องเล่าตลอดกาลของฟุตบอลโลก ทว่าเมื่อมองเรื่องจริง มันก็คงถึงเวลาแล้วที่พวกเขาจะต้องบอกลา”

 

ความน่าจะเป็น
มาได้ตรงนี้ต้องยกย่องและปรบมือดังๆ ให้กับ โมร็อกโก แต่ก็ควรถือว่าพวกเขามาไกลมากพอแล้ว เมื่อปาฏิหาริย์ไม่ได้มีขายตามข้างทาง โมร็อกโก ก็คงต้องเลิกฝันถึงการจะทะลุเข้าชิงแชมป์โลกเสียที โดยเฉพาะเมื่อดันมาเกิดปัญหาในเกมรับขึ้นพอดี ต่อให้ระบบจะดีแค่ไหน เมื่อตัวไม่สมบูรณ์ก็ต้านลำบาก แถมจุดเด่นของ ฝรั่งเศส ชุดนี้ ยังอยู่ที่เกมรุกสุดจัดจ้าน จับตัวนี้ตัวนั้นมา จับตั้วนั้นตัวโน้นมี อีกด้วย

 

ผลที่คาด : ฝรั่งเศส ชนะ 2-1

8 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก 2022 เกมต่อเกม ใครอยู่ใครไป! [2]

8 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก 2022 เกมต่อเกม ใครอยู่ใครไป! [2]

8 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก 2022 เกมต่อเกม ใครอยู่ใครไป! [2]

 

เฮี้ยนไม่เว้นวัน สนุกสนานตื่นเต้นเร้าใจไม่เว้นเกม สร้างเซอร์ไพรส์และเรื่องเล่าขานต่างๆ นานาได้ในทุกเกมที่ผ่านพ้นไป สำหรับ ฟุตบอลโลก 2022 โดยเฉพาะเมื่อยิ่งงวดลง ยิ่งมาถึงน็อกเอาต์วันท้ายๆ ก็ยิ่งมีประเด็นให้โลกลูกหนังต้องตามติด–ชนิดตาห้ามกะพริบ!

 

ประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำ! โมร็อกโกลิ่วตัดเชือกบอลโลก

8 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก 2022 เกมต่อเกม ใครอยู่ใครไป! [2]

 

ไม่เพียงแต่การเป็นม้ามืดประจำทัวร์นาเมนต์ แต่มาถึงตรงนี้ คงพูดได้ว่า โมร็อกโก มีเอี่ยวกับการ “คว้าแชมป์โลก” แล้ว

 

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในอีกหนึ่งเกมประวัติศาสตร์ที่ วาลิด เรกรารี และลูกทีมสิงโตแอตลาส จัดมาเสิร์ฟแฟนๆ

 

รอบ 8 ทีมสุดท้ายฟุตบอลโลก 2022 สองคู่สุดท้าย วันเสาร์ที่ 10 ธ.ค. เริ่มจากแมตช์ โมร็อกโก พบ โปรตุเกส ซึ่งตัวแทนจากแอฟริกาต้องปรับหลังบ้านเล็กน้อยหลัง นาเยฟ อาแกร์ด บาดเจ็บ ส่วนทาง แฟร์นันโด ซานโตส ยังคงดร็อป คริสเตียโน่ โรนัลโด้ นั่งสำรอง เพื่อเปิดทางให้ กอนซาโล่ รามอส เจ้าของแฮตทริกในเกมถล่ม สวิตเซอร์แลนด์ 6-1 รอบที่แล้ว ลงตัวจริงต่อ

 

กระนั้น เกมรุกของทีมฝอยทองไม่อาจเจาะแนวรับโมร็อกโกที่นำโดยกัปตันทีม โรแม็ง ซาอิสส์ และนายด่านจอมหนึบ ยาสซีน “โบโน่” บูนู เข้าไปได้ ไม่ว่าจะใกล้หรือไกล รวมถึงว่าโอกาสจบก็ไม่ได้มีมากครั้งนักด้วย

 

จนในช่วงท้ายครึ่งแรก น.42 โมร็อกโก ก็ทำเซอร์ไพรส์เจาะประตูนำไปก่อนจากลูกครอสเข้าหน้าประตู ของ ยาเอีย อัตติยัต อัลลาห์ เข้าทาง ยุสเซฟ เอ็น-เนซีรี่ ขึ้นโขกตัดหน้านายทวาร ดีโอโก้ คอสต้า เข้าประตูไปพอดิบพอดี

 

ครึ่งหลัง โปรตุเกส โถมเกมรุกขึ้นอีกระดับ โดยมีการส่ง โรนัลโด้ ลงสำรองมาเพิ่ม และ CR7 ก็มีโอกาสดีที่จะพังประตูตีเสมอตอนทดเจ็บ จากการทะลุเข้าไปส่องในเขตโทษทางขวา ทว่าก็ไม่ผ่านมือ ยาสซีน บูนู แต่อย่างใด

 

ทดเวลา 90+3 วาลิด เชดดิร่า โดนใบเหลืองที่สองเป็นใบแดงไล่ออกไป แต่ก็ไม่ส่งผลอะไรกับเกม แค่ว่าหอกสำรองโมร็อกโกจะอดเล่นในรอบตัดเชือกเท่านั้น

 

สุดท้ายเกมจบลง โมร็อกโก ชนะ 1-0 โปรตุเกส ตกรอบ 8 ทีมสุดท้ายบอลโลกอีกครั้ง และ โรนัลโด้ เดินร่ำไห้ออกจากสนาม ด้วยความที่นี่คือเกมฟุตบอลโลกครั้งสุดท้ายของชายวัยย่าง 38 ปีอย่างเขา และความหวังในการผงาดแชมป์โลกครั้งแรก ต้องมีอันสิ้นสุดลงไป

 

สำหรับ โมร็อกโก ของกุนซือ วาลิด เรกรากี เดินหน้าสร้างประวัติศาสตร์ต่อเนื่อง เป็นชาติแอฟริกันและอาหรับที่เข้าถึงรอบตัดเชือกฟุตบอลโลกเป็นรายแรก รวมถึงมีโอกาสขึ้นบัลลังก์แชมป์โลกสมัยแรกด้วยเช่นกัน ทั้งยังเพิ่งเสียไปเพียงประตูเดียวเท่านั้นจากการเล่น 5 นัดในฟุตบอลโลกครั้งนี้

 

รายชื่อผู้เล่นและสถิติที่สำคัญ
โมร็อกโก (4-3-3) ยาสซีน บูนู – อัชราฟ ฮาคิมี่, โรแม็ง ซาอิสส์ (อัชราฟ ดารี 57), จาวัด เอล ยามิก, ยาเอีย อัตติยัต-อัลลาห์ – อัซซาดีน อูนาฮี, โซฟียาน อัมราบัต, เซลิม อมัลลาห์ (วาลิด เชดดิร่า 65) – ฮาคิม ซีเย็ค (ซากาเรีย อาบูคลัล 82), ยุสเซฟ เอ็น-เนซิรี่ (บาเดอร์ เบนูน 65), โซฟียาน บูฟาล (ยาห์ย่า จาบราน 82)
โปรตุเกส (4-3-3) ดีโอโก้ คอสต้า – ดีโอโก้ ดาโล่ต์ (ริคาร์โด้ ออร์ต้า 79), เปเป้, รูเบน ดิอาส, ราฟาแอล เกร์เรยโร่ (ชูเอา กันเซโล่ 51) – โอตาวิโอ (วิตินญ่า 69), รูเบน เนเวส (คริสเตียโน่ โรนัลโด้ 51), แบร์นาร์โด้ ซิลวา – บรูโน่ แฟร์นันเดส, กอนซาโล่ รามอส (ราฟาเอล เลเอา 69), ชูเอา เฟลิกซ์

 

• แมนออฟเดอะแมตช์ : ยาสซีน บูนู
• ยาสซีน บูนู คว้าแมนออฟเดอะแมตช์ในฟุตบอลโลก 2022 แล้ว 3 ครั้ง สูงสุดในกลุ่มนายทวาร เทียบเท่า โดมินิค ลิวาโควิช ของโครเอเชีย
• ตามสถิติฟีฟ่า ยาสซีน บูนู ทำ Goals Prevented เกมนี้ 11 ครั้ง
• ยุสเซฟ เอ็น-เนซิรี่ กระโดดโหม่งทำประตูในเกมนี้สูงถึง 2.78 เมตร เหนือกว่าที่ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ เคยทำไว้ 2.5 เมตร ในเกม ยูเวนตุส พบ ซามพ์โดเรีย

• โมร็อกโก ไม่แพ้ใครมาเป็นเกมที่ 10 แบ่งเป็นชนะ 7 เสมอ 3
• ในจำนวน 10 เกมที่ไร้พ่าย โมร็อกโก ไม่เสียประตูถึง 8 นัดด้วยกัน และเสียรวมแค่ 2 ลูก (2-1 แอฟริกาใต้, 2-1 แคนาดา)
• วาลิด เรกรากี คุมโมร็อกโกมาแค่ 8 นัด ยังไร้พ่าย ชนะ 5 เสมอ 3

• นี่คือการพบกันเพียงครั้งที่ 3 เท่านั้น เป็นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายทั้งหมด หรือก็คือไม่เคยเตะกระชับมิตรกันมาก่อนเลย
• บอลโลก 1986 โมร็อกโก ชนะ โปรตุเกส ยุค เปาโล ฟูเตร้ 3-1
• ให้หลัง 32 ปี พบกันในฟุตบอลโลก 2018 โปรตุเกส ชนะคืน 1-0 คริสเตียโน่ โรนัลโด้ พังประตูโทน
• และล่าสุดกับเกมนี้ ที่ โมร็อกโก กำชัย 1-0
• โปรตุเกส ไปไม่ถึงดวงดาวในฟุตบอลโลกเหมือนเช่นเคย โดยตกทั้งรอบแรก, รอบ 16 ทีม, รอบ 8 ทีม ใน 3 ทัวร์นาเมนต์หลัง ส่วนผลงานดีสุดยังคงเป็นอันดับ 3 ปี 1966

• กอนซาโล่ รามอส มีโอกาสยิง 6 ครั้งในเกมกับ สวิตเซอร์แลนด์ และทำแฮตทริกได้ แต่มาเกมนี้โอกาสลดเหลือ 1 ครั้งถ้วน ไม่มีประตู ก่อนถูกถอดออกในนาที 69
• อันเดร ซิลวา ที่ยิง 19 ประตูในทีมชาติ มีโอกาสสัมผัสฟุตบอลโลก 2022 แค่ราวครึ่งชั่วโมง ด้วยการลงสำรองนาที 65 เกมแพ้ เกาหลีใต้ 1-2
• คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ลงเล่นทีมชาติเกมที่ 196 แต่ถ้าจำกัดเฉพาะ “รอบน็อกเอาต์ฟุตบอลโลก” แล้ว นี่คือนัดที่ 8 รวมเวลา 9 ชั่วโมงครึ่ง โอกาสยิง 27 ครั้ง… ได้มา 0 ประตู

 

สืบเนื่องจากผลสกอร์ โมร็อกโก 1-0 โปรตุเกส
• โมร็อกโก สร้างประวัติศาสตร์เป็นทีมแอฟริกัน/อาหรับ รายแรกที่มาถึงรอบรองชนะเลิศ ฟุตบอลโลก
• แน่นอนว่ายังเป็นผลงานดีสุดของตัวเอง ถัดจากการเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก 1986
• รอบตัดเชือก โมร็อกโก จะพบกับชาติที่เป็นอดีตเจ้าอาณานิคมอย่าง ฝรั่งเศส ที่เคยปกครอง โมร็อกโก ระหว่างปี 1912 – 1956
• โมร็อกโก มีลุ้นแชมป์โลกอยู่พอประมาณเมื่อมาถึงตรงนี้ แม้ว่าข้อเท็จจริงจะบอกว่า พวกเขาเคยเป็นแชมป์ทวีป แอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่นส์ แค่สมัยเดียวถ้วน ตั้งแต่ปี 1976 มาแล้ว

• การตกรอบอย่างสุดช็อกของ โปรตุเกส นำมาซึ่งบทสัมภาษณ์เผ็ดร้อน เต็มไปด้วยความโกรธเคืองของทางฝั่ง เปเป้ และ บรูโน่ แฟร์นันเดส ที่มีต่อผู้ตัดสิน ฟาคุนโด้ เตโย่ จากอาร์เจนติน่า ว่าไม่โปร่งใส ไม่ทันเกมอย่างที่ควรเป็น ทั้งยังเป็นสิงห์เชิ้ตดำเกรดรอง ไม่เคยผ่านการตัดสินเวทีใหญ่ของยุโรปมาก่อน แต่กลับได้มาทำหน้าที่ในเกมสำคัญอย่างรอบ 8 ทีมสุดท้ายฟุตบอลโลกอย่างน่าประหลาดใจ ไปจนถึงว่าก็ไม่ควรได้ทำหน้าที่นี้ ทั้งที่ชาติบ้านเกิดอย่าง อาร์เจนติน่า ยังคงอยู่ในทัวร์นาเมนต์

• แฟร์นันโด ซานโตส ยังไม่ด่วนตัดสินอนาคตตัวเอง โดยขอเจรจากับสมาคมฟุตบอลโปรตุเกสเสียก่อนจึงจะได้ข้อสรุปว่าจะทำทีมต่อหรือสละเก้าอี้ไป หลังคุมยาวมาตั้งแต่ปี 2014 และมีแชมป์ยูโร 1 สมัย กับแชมป์ยูฟ่า เนชั่นส์ ลีก 1 สมัย ติดมือ แต่ตกแค่รอบ 16 ทีมกับ 8 ทีมฟุตบอลโลก เท่านั้น

• แม้ไม่ได้ประกาศชัด แต่ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ที่เดินออกจากสนามแบบน้ำตานองอาบสองแก้ม ก็เผยเป็นนัยว่า เขาอาจจะเลิกเล่นทีมชาติแต่เพียงเท่านี้ ลงรับใช้ชาติไปทั้งสิ้น 196 นัด ยิง 118 ประตู โดยเป็นเจ้าของสถิติทั้งลงสนามมากสุดและยิงประตูสูงสุดตลอดกาลกับทีมชาติ ทว่าก็ยิงได้แค่ลูกเดียวเท่านั้นในฟุตบอลโลก 2022 จากจุดโทษนัดชนะ กาน่า 3-2 เกมแรกของทัวร์นาเมนต์
“การคว้าแชมป์โลกกับ โปรตุเกส คือความฝันและความทะเยอทะยานสูงสุดในอาชีพของผม โชคดีที่ผมได้แชมป์มามากมาย รวมทั้งกับ โปรตุเกส ด้วย แต่การพาประเทศของเราประสบความสำเร็จขั้นที่สูงที่สุดในโลกคือความฝันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของผม”
“ผมต่อสู้เพื่อสิ่งนี้ ผมต่อสู้อย่างหนักเพื่อความฝันนี้ จากการลงเล่นฟุตบอลโลก 5 สมัย รวมเวลาเกินกว่า 16 ปี ผมยิงประตูได้ ผมได้เล่นร่วมกับนักเตะที่ยิ่งใหญ่ และได้รับการสนับสนุนจากชาวโปรตุเกสหลายล้านคน ผมทุ่มเทอย่างเต็มร้อยในสนาม ผมไม่เคยหนีหน้าจากการต่อสู้ และผมไม่เคยยอมแพ้ที่จะสานฝัน”
“น่าเศร้าที่เมื่อวานฝันจบลงอย่างไม่สมควร ผมอยากให้คุณรู้มากกว่าการที่มันจะถูกเขียนถึง ถูกพูดถึง หรือว่าถูกเล่าลือ แต่ความทุ่มเทที่ผมมีต่อ โปรตุเกส ไม่เคยเปลี่ยนไปแม้แต่เสี้ยววินาที ผมต่อสู้เพื่อเป้าหมายเสมอ และผมไม่เคยหันหลังให้กับเพื่อนร่วมทีม และประเทศของผม”
“สำหรับตอนนี้ ผมไม่มีอะไรจะพูดมากไปกว่านี้ ขอบคุณโปรตุเกส ขอบคุณกาตาร์ ความฝันมันงดงามจนกระทั่งมันจบสิ้นลง… ตอนนี้ คงถึงเวลาแล้วสำหรับการเป็นผู้แนะนำที่ดี และเปิดโอกาสให้แต่ละคนได้ทำตามต้องการ”

 

 

เคนขว้างตั๋วทิ้ง-สิงโตสลบพ่ายตราไก่ 1-2

8 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก 2022 เกมต่อเกม ใครอยู่ใครไป! [2]

 

ไม่ต่างจากที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้

 

นี่คือเกมคู่คี่สูสี ที่มีสิทธิ์ตัดสินกันด้วย “รายละเอียดเล็กๆ”

 

รายละเอียดเล็กจิ๋วอย่าง “องศาการเหินของลูกบอล” ขณะออกจากปลายเท้า แฮร์รี่ เคน ในเสี้ยววินาทีนั้น…

 

คู่ดึกของวันเสาร์ เกมสุดท้ายของรอบ 8 ทีมฟุตบอลโลก 2022 บิ๊กแมตช์ของประเทศเพื่อนบ้าน อังกฤษ พบ ฝรั่งเศส เกมนี้ต่างฝ่ายต่างยึด 11 คนแรกชุดเดิมลงสนาม สิงโตคำรามนำมาโดย แฮร์รี่ เคน, ฟิล โฟเด้น, บูกาโย่ ซาก้า, จู๊ด เบลลิงแฮม, แฮร์รี่ แม็กไกวร์ ส่วนตราไก่ให้ โอลิวิเย่ร์ ชิรูด์, คีลิยัน เอ็มบัปเป้, อองตวน กรีซมันน์, อุสมัน เดมเบเล่ รวมพลังเข้าทำ

 

เป็น ฝรั่งเศส ที่ขยับสกอร์นำ 1-0 อย่างรวดเร็ว ออเรเลียง ชูอาเมนี่ ตะบันจากหน้าเขตโทษผ่านมือ จอร์แดน พิคฟอร์ด เข้าไปในนาทีที่ 17

 

แต่จากนั้น อังกฤษ ก็ทวงคืน 1-1 ตอนต้นครึ่งหลัง จากจุดโทษที่ ซาก้า โดน ชูอาเมนี่ ขัดขาล้มลงไป และ แฮร์รี่ เคน ตะบันผ่าน อูโก้ โยริส ไม่พลาด เป็นประตูทำสถิติยิงสูงสุดในทีมชาติ 53 ลูก เทียบเท่า เวย์น รูนี่ย์

 

ทว่าเข้าช่วงท้ายเกม นาที 78 กรีซมันน์ ก็ครอสแม่นๆ จากซ้ายเข้าไปให้ ชิรูด์ ทิ่มโขกตัดหน้า แม็กไกวร์ ตุงตาข่ายให้ ฝรั่งเศส นำ 2-1

 

ท้ายเกมหลังจากนั้นอีก น.82 อังกฤษ มีโอกาสดีในการตามตีเสมอรอบสอง เมื่อมาได้จุดโทษจากวีเออาร์ที่ตัวสำรอง เมสัน เมาท์ โดน เตโอ เอร์นันเดซ กระแทกล้มหน้าทิ่ม อย่างไรก็ตาม แฮร์รี่ เคน กลับสังหารจุดโทษโด่งข้ามคานออกไปอย่างน่าผิดหวัง รวมถึงฟรีคิกหน้าเขตโทษในช่วงทดเวลานาทีสุดท้าย มาร์คัส แรชฟอร์ด ก็กดเสยคานออกไปแค่คืบเท่านั้น จนจบที่ ฝรั่งเศส กำชัยแบบลุ้นเหนื่อย 2-1

 

ฝรั่งเศส ยังอยู่ในเส้นทางป้องกันแชมป์ ส่วนทางฝั่ง อังกฤษ ยังคงไปไม่ถึงดวงดาวนับตั้งแต่แชมป์โลกสมัยแรก 1966 เป็นต้นมา

 

รายชื่อผู้เล่นและสถิติที่สำคัญ
อังกฤษ (4-3-3) จอร์แดน พิคฟอร์ด – ไคล์ วอล์คเกอร์, จอห์น สโตนส์ (แจ๊ค กรีลิช 90+8), แฮร์รี่ แม็กไกวร์, ลุค ชอว์ – จู๊ด เบลลิงแฮม, ดีแคลน ไรซ์, จอร์แดน เฮนเดอร์สัน (เมสัน เมาท์ 79) – บูกาโย่ ซาก้า (ราฮีม สเตอร์ลิ่ง 79), แฮร์รี่ เคน, ฟิล โฟเด้น (มาร์คัส แรชฟอร์ด 85)
ฝรั่งเศส (4-2-3-1) อูโก้ โยริส – ชูลส์ กุนเด้, ราฟาแอล วาราน, ดาโย่ต์ อูปาเมกาโน่, เตโอ เอร์นันเดซ – ออเรเลียง ชูอาเมนี่, อาเดรียง ราบิโอต์ – อุสมัน เดมเบเล่ (คิงส์ลี่ย์ โกม็อง 79), อองตวน กรีซมันน์, คีลิยัน เอ็มบัปเป้ – โอลิวิเย่ร์ ชิรูด์

 

• แมนออฟเดอะแมตช์ : โอลิวิเย่ร์ ชิรูด์
• ชิรูด์ กดไปแล้ว 4 ประตูในฟุตบอลโลก 2022 ตามหลัง คีลิยัน เอ็มบัปเป้ ลูกเดียวถ้วน
• ชิรูด์ ทำเพิ่มเป็น 53 ลูก ฉีกหนีเจ้าของสถิติคนเก่า เธียร์รี่ อองรี (51) เพิ่มเป็นสองเม็ดแล้ว
• อูโก้ โยริส ยังกลายเป็นเจ้าของสถิติลงสนามให้ ฝรั่งเศส สูงสุดแบบเดี่ยวๆ 143 นัด แทนที่ ลิลิยอง ตูราม 142
• อองตวน กรีซมันน์ ยังไร้สกอร์ที่กาตาร์ แต่แอสซิสต์แล้ว 3 ครั้ง สูงสุดเทียบเท่ากับ แฮร์รี่ เคน และ บรูโน่ แฟร์นันเดส
• ยังเป็นแอสซิสต์ที่ 27 จากการเล่นทีมชาติ 115 นัดของ กรีซมันน์ ด้วย

• ฝรั่งเศส ทำไป 11 ประตูในบอลโลกครั้งนี้ โดยที่ 9 ลูกในนั้นมาจาก เอ็มบัปเป้ + ชิรูด์ สองคน ที่เหลืออีกสองเม็ดเป็น อาเดรียง ราบิโอต์ กับ ออเรเลียง ชูอาเมนี่
• ฝรั่งเศส มาถึงตรงนี้โดยไม่มีการทำคลีนชีตแม้แต่เกมเดียว ลงสนาม 5 นัด เสียนัดละ 1 ลูกมาตลอด

• อังกฤษ ตกรอบ 8 ทีมสุดท้ายฟุตบอลโลก เป็นครั้งที่ 7 สูงที่สุดในบรรดาทุกทีมที่ได้เข้ามาเล่น เวิลด์ คัพ
• ฟุตบอลโลก 4 ทัวร์นาเมนต์หลัง อังกฤษ ตกไม่ซ้ำรอบ
2010 ตกรอบ 16 ทีม
2014 ตกรอบแบ่งกลุ่ม
2018 ตกรอบตัดเชือก / ได้อันดับ 4
2022 ตกรอบ 8 ทีม
• การเจอกับ “ชาติยักษ์ใหญ่” ในช่วงหลัง อังกฤษ ยังคงชนะใครไม่เป็น มีผลเสมอ เยอรมนี 1-1 กับ 3-3 และเสมอ อิตาลี 0-0 กับแพ้ 0-1 ในยูฟ่า เนชั่นส์ ลีก เมื่อกลางปี ก่อนแพ้ ฝรั่งเศส นัดนี้
• อังกฤษ เอาชนะ ฝรั่งเศส ได้แค่เกมเดียวจากการพบกัน 7 นัดหลัง (แพ้ 5 เสมอ 1)
• หากตกเป็นฝ่ายตามหลังในครึ่งแรก อังกฤษ ไม่เคยพลิกกลับมาชนะได้ในเกมฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย โดยได้ผลเสมอ 2 แพ้ 7

• จุดโทษที่ แฮร์รี่ เคน ยิงเข้าไปในสกอร์ 1-1 นับเป็นประตูที่ 53 ในนามทีมชาติอังกฤษ เทียบเท่าสถิติดาวยิงสูงสุดตลอดกาลของ เวย์น รูนี่ย์ เป็นที่เรียบร้อย
• ส่วนการพลาดจุดโทษในช่วงท้าย นับเป็นการพลาดครั้งที่ 11 ของเขาในตลอดเส้นทางค้าแข้ง และพลาดหนที่ 4 ในการเล่นทีมชาติ
• สัดส่วนของการยิงจุดโทษเข้ากับยิงพลาดของ แฮร์รี่ เคน คือ 58:11
• เคน ยังทำสถิติสวมปลอกแขนกัปตันทีมชาติอังกฤษ ในเกมฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย มากที่สุดเป็นเกมที่ 11 (6 เกมในฟุตบอลโลก 2018 และอีก 5 เกมในฟุตบอลโลก 2022) แซงหน้าสถิติ 10 เกมของ บิลลี่ ไรท์ (1950-1958), บ๊อบบี้ มัวร์ (1966-1970) และ เดวิด เบ็คแฮม (2002-2006)
• เจมส์ แมดดิสัน กับ คอนเนอร์ กัลลาเกอร์ มีนาทีในฟุตบอลโลกครั้งนี้เป็น 0, เทรนท์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ ลงสำรอง 1, แคลวิน ฟิลลิปส์ ลงสำรอง 2

 

สืบเนื่องจากผลสกอร์ อังกฤษ 1-2 ฝรั่งเศส
• ฝรั่งเศส เข้าไปดวลกับชาติที่เคยอยู่ภายใต้อาณานิคมอย่าง โมร็อกโก ในรอบตัดเชือก
• พบกันก่อนหน้านี้ 11 ครั้ง ฝรั่งเศส ข่มขาดด้วยชนะ 7 เสมอ 3 โมร็อกโกชนะแค่ 1
• ฝรั่งเศส ถูกยกให้เป็นตัวเก็งเต็งหนึ่งรายใหม่ สำหรับการผงาดครองแชมป์โลก 2022 จากการปรับเรตล่าสุดของ สกาย เบท ในอัตรากดต่ำเพียง 1/1 จากนั้นจึงตามด้วย อาร์เจนติน่า 13/8, โครเอเชีย 7/1 และเต็งเบอร์สุดท้าย โมร็อกโก 8/1 รวมถึงมีเรต 10/1 ในบางเจ้า

• เลส์ เบลอส์ กลายเป็นแชมป์เก่าชาติแรกที่สามารถผ่านเข้าถึงรอบรองชนะเลิศได้ในทัวร์นาเมนต์อีก 4 ปีถัดมา เพราะไม่เคยมีแชมป์เก่าชาติไหนเลยที่เคยทำได้ จากครั้งสุดท้ายที่ บราซิล ทำไว้ ด้วยการเป็นแชมป์โลก 1994 และเป็นรองแชมป์ 1998
• มีกระแสข่าวว่า ดิดิเย่ร์ เดส์ชองส์ จะยังคงได้ไฟเขียวให้ดูแลทีมต่อไปจนถึงจบ ยูโร 2024 ที่เยอรมนี เพื่อตอบแทนผลงานที่ดีในบอลโลกหนนี้ แม้สมาคมฯ จะมีตัวเลือกน่าสนใจอย่าง ซีเนอดีน ซีดาน ที่ว่างงานและพร้อมเข้ารับตำแหน่งอยู่ ก็ตาม

• ในส่วนของผู้ตกรอบอย่าง อังกฤษ แม้ ณ ตอนนี้ แกเร็ธ เซาธ์เกต ยังไม่ได้ประกาศลาออก โดยให้สัมภาษณ์หลังเกมแพ้ ฝรั่งเศส 1-2 ว่าขอเวลาอีกนิดเพื่อตัดสินใจอนาคต แต่ก็มีการเปิดราคากุนซือคนใหม่ที่จะเข้ามาแทนที่ เซาธ์เกต ไว้แล้ว โดย เมาริซิโอ โปเช็ตติโน่ อดีตนายใหญ่เปแอสเช ยืนแท่นเต็งหนึ่ง 4/1 จากนั้นตามด้วย โธมัส ทูเคิ่ล อดีตกุนซือเชลซี 5/1, เบรนแดน ร็อดเจอร์ส กุนซือเลสเตอร์ 8/1, เอ๊ดดี้ ฮาว กุนซือนิวคาสเซิ่ล 10/1, แกรห์ม พ็อตเตอร์ กุนซือเชลซี 12/1, สตีเว่น เจอร์ราร์ด 16/1, แฟร้งค์ แลมพาร์ด 16/1, สตีฟ คูเปอร์ 16/1 และ เวย์น รูนี่ย์ 18/1

 

ไกด์เถื่อน

 

อ้างอิง
wikipedia
FIFA

ภาพประกอบ
AP
GettyImages
AFP

 

เรื่องน่าอ่าน
8 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก 2022 เกมต่อเกม ใครอยู่ใครไป! [1]
16 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก 2022 เกมต่อเกม น็อกเอาต์! (2)
16 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก 2022 เกมต่อเกม น็อกเอาต์ !

โมร็อกโก vs โปรตุเกส : ตัวต่อตัว 8 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก 2022

โมร็อกโก vs โปรตุเกส : ตัวต่อตัว 8 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก 2022

ฟุตบอลโลก 2022 รอบน็อกเอาต์ 8 ทีมสุดท้าย : โมร็อกโก vs โปรตุเกส
เสาร์ 10 ธันวาคม 2565, 22.00 น.
สนาม : อัล ธูมาม่า สเตเดี้ยม, โดฮา
ถ่ายทอดสด : True4U

 

ผลการพบกัน : 2 นัด
ฟุตบอลโลก 1986 โมร็อกโก ชนะ 3-1
ฟุตบอลโลก 2018 โปรตุเกส ชนะ 1-0

 

ผลงานในฟุตบอลโลก 2022
โมร็อกโก
รอบแบ่งกลุ่ม เสมอ โครเอเชีย 0-0
รอบแบ่งกลุ่ม ชนะ เบลเยียม 2-0
รอบแบ่งกลุ่ม ชนะ แคนาดา 2-1
รอบ 16 ทีม เสมอ สเปน 0-0, ชนะจุดโทษ 3-0

โปรตุเกส
รอบแบ่งกลุ่ม ชนะ กาน่า 3-2
รอบแบ่งกลุ่ม ชนะ อุรุกวัย 2-0
รอบแบ่งกลุ่ม แพ้ เกาหลีใต้ 1-2
รอบ 16 ทีม ชนะ สวิตเซอร์แลนด์ 6-1

 

ความพร้อมก่อนเตะ
โมร็อกโก
ม้ามืดตัวจริงแห่งฟุตบอลโลก 2022 มีความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ตัวกุนซือ วาฮิด ฮาลิลฮ็อดซิช โดนเด้งไปเมื่อกลางปี หรือก่อนฟุตบอลโลกที่กาตาร์จะมาถึงแค่ไม่กี่เดือน โดยเป็น วาลิด เรกรากี อดีตนายใหญ่ อัล-ดูฮาอิล และ วีดัด คาซาบลังก้า มาเสียบแทน

 

แต่การเปลี่ยนโค้ชเหมือนเลือกหวยถูกใบ โมร็อกโก เกมแรกยันเสมอ โครเอเชีย 0-0 ต่อมาพลิกล็อกชนะ เบลเยียม 2-0 ตามด้วยตบ แคนาดา 2-1 จนเข้ารอบด้วยการเป็นแชมป์กลุ่ม

 

สำคัญคือในรอบน็อกเอาต์ 16 ทีมสุดท้าย ยันเสมอ สเปน 0-0 ใน 120 นาที ก่อนได้ ยาสซีน “โบโน่” บูนู เป็นฮีโร่ เซฟแล้วเซฟอีกจนชนะดวลเป้าแบบคลีนชีต 3-0

 

อย่างไรก็ตาม โมร็อกโก สะบักสะบอมไม่น้อยจากการศึกกับทัพกระทิงดุ จนต้องเสียกองหลังคนสำคัญ นาเยฟ อาแกร์ด เจ็บโคนขาหนีบ เกมนี้หมดสิทธิ์ลงสนาม พร้อมกับต้องเช็กฟิตกัปตันทีม โรแม็ง ซาอิสส์ ที่มีอาการบริเวณแฮมสตริง

 

ยังเชื่อว่า ซาอิสส์ จะกัดฟันลงเล่นแม้ไม่สมบูรณ์เต็มร้อย ไม่เช่นนั้น เรกรากี ต้องปรับคู่เซนเตอร์แบ็กพร้อมกันทั้งสองราย

 

ระบบคงเดิม 4-3-3 อัชราฟ ฮาคิมี่ ประจำการแบ็กขวา แนวรุก ฮาคิม ซีเย็ค กับ โซฟียาน บูฟาล ขนาบข้างหอกเป้า ยุสเซฟ เอ็น-เนซีรี่ เหมือนเช่นเคย

 

โปรตุเกส
แชมป์ยูโร 2016 ยังไม่เคยไปถึงแชมป์โลกมาก่อน รวมถึงว่าก็ยังไม่เคยเข้าชิงชนะเลิศได้ด้วย ดังนั้นจึงมุ่งมั่นเต็มที่ในการคว้าโทรฟี่อำลายุคสมัยของ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ และอีกหลายตัวเก๋าในทีม

 

และแม้เกมแรกของฟุตบอลโลก 2022 จะมีตำหนิพอสมควรกับการทุบ กาน่า 3-2 แต่ก็ยังสร้างความต่อเนื่องด้วยการตบ อุรุกวัย 2-0 จนสุดท้ายแม้จะแพ้ เกาหลีใต้ แต่ไม่ได้มากพอให้หลุดออกจากตำแหน่งแชมป์กลุ่ม ขณะที่รอบ 16 ทีมสุดท้าย ผ่าน สวิตเซอร์แลนด์ แบบยิงไม่ยั้ง 6-1

 

แฟร์นันโด ซานโตส ยังมีปัญหาตัวเจ็บคั่งค้างอยู่ 2 ราย คือ นูโน่ เมนเดส กับ ดานิโล่ เปเรยร่า ซึ่งเป็นกองหลังทั้งคู่ โดยรายแรกเจ็บหนักพักยาวหมดสิทธิ์เล่นฟุตบอลโลก 2022 แล้ว ส่วนรายหลังยังไม่พร้อมสำหรับเกมนี้ ต้องลุ้นให้ทีมไปต่อรอบหน้า

 

ซานโตส มีการปรับทัพสำคัญในรอบที่ผ่านมา ด้วยการดร็อป คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ซึ่งโรยราไปตามวัย ลงสู่ม้านั่งสำรอง เปิดทางให้ กอนซาโล่ รามอส ดาวรุ่งวัย 21 จากเบนฟิก้า ลงตัวจริงแทน และ รามอส ก็ตอบแทนด้วยการทำแฮตทริกในทันที

 

ดังนั้นการจัดทัพจึงจะไม่เปลี่ยน ในระบบ 4-3-3 ข้างหน้าขยับ บรูโน่ แฟร์นันเดส ขึ้นมาเล่นร่วมกับ กอนซาโล่ รามอส และ ชูเอา เฟลิกซ์ ขณะที่แนวรับ ท่านผู้เฒ่า เปเป้ วัยย่าง 40 จะลงยืนเซนเตอร์แบ็กคู่ รูเบน ดิอาส เช่นเดิม

 

ตัวความหวัง
โมร็อกโก : ฮาคิม ซีเย็ค & อัชราฟ ฮาคิมี่
ซีเย็ค เลิกเล่นทีมชาติไปช่วงหนึ่งเนื่องจากความขัดแย้งส่วนตัวกับโค้ชเก่า วาฮิด ฮาลิลฮอดซิช ซึ่งพอมีการเปลี่ยนเป็น วาลิด เรกรากี แล้วก็กลับสู่สารบบทีมชาติดังเดิม โดยแม้จะเจอปัญหาเข้าๆ ออกๆ จากทีมเชลซี แต่ก็คือตัวยืนของทีมชาติ มีผลงานยิง 19 ประตูจาก 47 เกม ด้าน ฮาคิมี่ พัฒนาตัวเองไปจนอยู่ในระดับแบ็กขวาตัวท็อปของวงการแล้ว พร้อมกับบางเสียงยกว่าเป็นเบอร์ 1 โลกยุคปัจจุบันด้วยซ้ำ โดยยิงไปแล้ว 8 ประตูใน 58 เกมทีมชาติ

 

โปรตุเกส : กอนซาโล่ รามอส
แม้จะยิง 1 ลูกในเกมลับแข้งกับ ไนจีเรีย (4-0) ก่อนบอลโลก แต่ก็น้อยคนนักที่จะรู้จักเด็กหนุ่มชื่อ กอนซาโล่ มาติอัส รามอส เมื่อนี่คือหัวหอกดาวรุ่งวัยเพียง 21 ที่ขึ้นชั้นมาเล่นกับ เบนฟิก้า ชุดใหญ่ เมื่อปี 2020 เป็นต้นมา และที่จริงก็เพิ่งระเบิดฟอร์มน่าประทับใจในช่วงครึ่งซีซั่นแรกที่ผ่านมานี้เอง ด้วยการยิง 14 ประตูจาก 21 นัด เป็นใบเบิกทางให้ แฟร์นันโด ซานโตส หิ้วมาฟุตบอลโลก 2022 และเพียงเกมแรกที่ลงตัวจริงก็กระหน่ำแฮตทริกใส่ สวิตเซอร์แลนด์ จนแฟนๆ แทบจะลืมไปแล้วว่ามี คริสเตียโน่ โรนัลโด้ อยู่ที่ม้านั่งสำรอง

 

11 ตัวจริงที่คาด
โมร็อกโก (4-3-3, กุนซือ วาลิด เรกรากี) ยาสซีน บูนู – นูสแซร์ มาซราอุย, จาวัด เอล ยามิก, โรแม็ง ซาอิสส์, อัชราฟ ฮาคิมี่ – อัซเซดีน อูนาฮี, โซฟียาน อัมราบัต, เซลิม อมัลลาห์ – ฮาคิม ซีเย็ค, โซฟียาน บูฟาล, ยุสเซฟ เอ็น-เนซีรี่
โปรตุเกส (4-3-3, กุนซือ แฟร์นันโด ซานโตส) ดีโอโก้ คอสต้า – ราฟาเอล เกร์เรยโร่, เปเป้, รูเบน ดิอาส, ดีโอโก้ ดาโล่ต์ – รูเบน เนเวส, วิลเลี่ยม คาร์วัลโญ่, แบร์นาร์โด้ ซิลวา – บรูโน่ แฟร์นันเดส, กอนซาโล่ รามอส, ชูเอา เฟลิกซ์

 

สถิติที่เกี่ยวข้อง
• แม้จะอยู่ห่างกันแค่ชั่วโมงเศษ (ทางอากาศ) แต่คู่นี้พบกันมาเพียง 2 ครั้งเท่านั้น เป็นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายทั้งสองเกม หรือก็คือไม่เคยเตะกระชับมิตรกันมาก่อนเลย
• บอลโลก 1986 โมร็อกโก ชนะ โปรตุเกส ยุค เปาโล ฟูเตร้ 3-1
• จากนั้นอีก 32 ปี มาพบกันในฟุตบอลโลก 2018 โปรตุเกส ชนะคืน 1-0 คริสเตียโน่ โรนัลโด้ พังประตูโทน

 

• วาลิด เรกรารี เป็นฮีโร่ของชนชาติโมร็อกโกไปแล้ว และจะคุมทีมลงสนามเกมนี้เป็นเพียงนัดที่ 8 เท่านั้น ด้วยสถิติไร้พ่าย ที่ผ่านมาชนะ 4 เสมอ 3
• โมร็อกโก ยังไร้พ่ายมาถึง 9 เกมซ้อน และในจำนวนนี้ทำคลีนชีตได้ถึง 7 เกม
• แม้กระทั่งการดวลจุดโทษ โมร็อกโก ก็ยังจะทำคลีนชีต ชนะ สเปน 3-0

 

• ในการเจอทีมจากแอฟริกาหนล่าสุด โปรตุเกส เฉือนชนะ กาน่า 3-2 ซึ่งก็คือเกมแรกของฟุตบอลโลก 2022 ครั้งนี้
• 5 นัดหลัง โปรตุเกส ยิงรวม 16 ประตู เฉลี่ยนัดละ 3.2 ลูก
• โปรตุเกส อยู่ในเส้นทางของการลุ้นแชมป์โลกสมัยแรก โดยยังไม่เคยเข้าชิงชนะเลิศได้มาก่อน ผลงานดีสุดคืออันดับสาม 1966 และอันดับสี่ 2006

 

• กอนซาโล่ รามอส เป็นเจ้าของแฮตทริกแรกในฟุตบอลโลก 2022 และเป็นคนแรกที่ทำแฮตทริกในรอบน็อกเอาต์บอลโลก นับตั้งแต่ โธมัส สคูราวี่ ปี 1990 นอกจากนั้นยังเป็นคนแรกในรอบ 15 เกมของโปรตุเกส ถัดจากที่ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ซัดสามใส่ ลักเซมเบิร์ก เมื่อ ต.ค. 2021
• กอนซาโล่ รามอส เล่นทีมชาติ 4 นัด ซัด 4 ประตู

 

ความน่าจะเป็น
เป็นอีกเกมที่คาดเดาผลได้ลำบาก ด้วยแม้ว่า โปรตุเกส จะถล่ม สวิตเซอร์แลนด์ มา แต่ระดับคุณภาพของ โมร็อกโก ที่แสดงให้เห็นตลอดในฟุตบอลโลก 2022 ก็ทำให้เชื่อได้ว่าจะไม่ใช่เกมแบบนั้น ดีไม่ดีมีสิทธิ์ซ้ำรอยเกมที่แล้วของ โมร็อกโก ซึ่งกินกันไม่ลงใน 90 นาที จากนั้นก็ค่อยมาดูกันว่าโชคดวงจะเข้าข้างฝั่งไหน

 

ผลที่คาด : เสมอ 1-1 ใน 90 นาที

 

16 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก 2022 เกมต่อเกม น็อกเอาต์! (2)

16 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก 2022 เกมต่อเกม น็อกเอาต์! (2)

ฟุตบอลโลก 2022 กับ 16 ทีมสุดท้าย รอบน็อกเอาต์ !

 

จากที่จบใน 90 นาที แถมยิงกันขาดถึง 3 จาก 4 คู่แรก พอมาถึง 4 คู่หลังของรอบ 16 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก 2022 กลับออกทรงคาดเดาลำบากเหลือใจ ต้องวัดกันถึงดวลจุดโทษ 2 แมตช์ด้วยกัน และนี่คือบทบันทึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลังและสิ่งสืบเอง สำหรับแมตช์ที่เหลืออยู่ของรอบ 2 เวิลด์ คัพ ฉบับกาตาร์…

 

 

สุดทางปาฏิหาริย์! ซามูไรพ่ายดวลเป้าหมากรุก

16 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก 2022 เกมต่อเกม น็อกเอาต์! (2)

 

หากยังพอจำกันได้ ฮาจิเมะ โมริยาสุ กุนซือทัพซามูไรสีน้ำเงิน ประกาศไว้แต่แรกว่าเป้าหมายของเขาคือการเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้าย และนั่นเป็นสิ่งที่ใครก็ปรามาส ไม่คิดว่าจะทำได้–แม้แต่การผ่านรอบแรก แต่เมื่อเกมจริงมาถึง ญี่ปุ่น ก็พลิกสยบ เยอรมนี 2-1 ตั้งแต่แมตช์แรก ต่อมาแม้จะเจอความพลิกล็อกเล่นงานเองบ้างด้วยการแพ้ คอสตาริกา 0-1 แต่ก็ยังมาพลิกยิงแซงชนะ สเปน ในเกมที่บังคับต้องชนะอีก 2-1 จนผงาดคว้าแชมป์กลุ่มอีอย่างหล่อ

 

เพียงแต่คู่แข่งของ ญี่ปุ่น ก็ไม่ใช่ทีมที่ใครจะสามารถมองข้ามได้ เมื่อนี่คือหนึ่งในทีมแข็งของยุโรป ดีกรีรองแชมป์โลกหนก่อนอย่าง โครเอเชีย ที่โชว์ความหลังเหนียวด้วยการไม่เสียประตูทั้งเกมกับ โมร็อกโก และ เบลเยียม โดยเฉพาะนัดหลังที่เป็นเกมชี้ชะตาเข้ารอบหรือตกรอบ ก็ไม่พลาดท่าเสียที แม้ภาพรวมอาจไม่ได้เปรี้ยงปร้างเหมือนครั้งก่อนที่รัสเซีย แต่ยังเข้ารอบมาได้ตามเป้า

 

เกมที่ อัล จานู้บ สเตเดี้ยม โมริยาสุ มีการปรับไลน์อัพเล็กน้อย ริสึ โดอัน ถูกส่งลงตัวจริงบ้าง ประสานเกมรุกร่วมกับ ไดจิ คามาดะ และหน้าเป้า ไดเซน มาเอดะ ส่วนทัพตาหมากรุกของ ซลัตโก้ ดาลิช ก็ปรับเล็กๆ เหมือนกัน แต่ยังนำมาโดย 3 แดนกลางตัวท็อป ลูก้า โมดริช – มาร์เซโล่ โบรโซวิช – มาเตโอ โควาซิช เช่นเดิม

 

ญี่ปุ่น ยังคงรักษามาตรฐานในการทำได้ดี เล่นได้เยี่ยม พังประตูนำก่อน 1-0 จากจังหวะตวัดยิงหน้ากรอบ 6 หลาของ ไดเซน มาเอดะ น.43 ทว่าต้นครึ่งหลัง น.55 ก็โดนตีเสมอ 1-1 จากลูกโขกเน้นๆ ของ อีวาน เปริซิช แล้วหลังจากนั้นต่างฝ่ายต่างไม่สามารถทำอะไรกันได้ ทั้งใน 90 นาทีและต่อเวลาพิเศษ จนครบ 120 นาที ลงเอยที่ 1-1 เท่ากับเป็นคู่แรกที่ต้องตัดสินด้วยการดวลจุดโทษ

 

ญี่ปุ่น เสี่ยงทายได้เป็นฝ่ายยิงก่อน แต่….
ทาคุมิ มินามิโนะ ยิงติดเซฟ โดมินิค ลิวาโควิช 0-0
นิโกล่า วลาซิช ยิงเข้าไม่พลาด 0-1
คาโอรุ มิโตมะ ซัดเต็มข้อ ยังกดติดเซฟ ลิวาโควิช 0-1
มาร์เซโล่ โบรโซวิช ยิงเข้ากลางประตูเข้าอย่างมั่นใจ 0-2
ทาคุมะ อาซาโนะ ยิงเบี่ยงขวาเข้าไป ไล่ตีตื้นมาที่ 1-2
มาร์โก ลิวาย่า กดไปชนเสาเต็มใบ 1-2
ทว่ากัปตันทีม มายะ โยชิดะ ก็ยังซัดไม่ผ่านมือ ลิวาโควิช 1-2
จึงปิดท้ายที่ มาริโอ ปาซาลิช ยิงจมตาข่าย เช็คบิล 1-3

 

โครเอเชีย ชนะดวลเป้า 3-1 ได้ผ่านเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายต่อไป ส่วน ญี่ปุ่น ตกรอบ สิ้นสุดการผจญภัยอันเต็มไปด้วยความทรงจำแสนสวย แต่เพียงเท่านี้

 

(และประโยคของ เอโกะ จินปาจิ แห่ง Blue Lock ก็ดังขึ้น – “พอใจกันมากใช่มั้ย…ทีมที่ไม่เคยผ่านรอบ 16 ทีมได้เนี่ย หึหึหึ”)

 

รายชื่อผู้เล่นและสถิติที่สำคัญ
ญี่ปุ่น (3-4-3) ชูอิจิ กอนดะ – ทาเคฮิโร่ โทมิยาสุ, มายะ โยชิดะ (c), โชโง ทานิงุจิ – จุนยะ อิโตะ, ฮิเดมาสะ โมริตะ (อาโอะ ทานากะ 105), วาตารุ เอ็นโดะ, ยูโตะ นางาโตโมะ (คาโอรุ มิโตมะ 64) – ไดจิ คามาดะ (ฮิโรกิ ซากาอิ 75), ไดเซน มาเอดะ (ทาคุมะ อาซาโนะ 64), ริสึ โดอัน (ทาคุมิ มินามิโนะ 87)
โครเอเชีย (4-3-3) โดมินิค ลิวาโควิช – โยซิป ยูราโนวิช, เดยัน ลอฟเรน, ยอสโก้ กวาร์ดิโอล, บอร์น่า บาริซิช – ลูก้า โมดริช (ลอฟโร มาเยอร์ 99), มาร์เซโล่ โบรโซวิช, มาเตโอ โควาซิช (นิโกล่า วลาซิช 99) – อันเดรจ์ ครามาริช (มาริโอ ปาซาลิช 68), บรูโน่ เพ็ตโควิช (อันเต้ บูดิเมียร์ 62, มาร์โก ลิวาย่า 106), อีวาน เปริซิช (มิสลาฟ ออร์ซิช 105)

 

• แมนออฟเดอะแมตช์ : โดมินิค ลิวาโควิช
• พบกัน 3 ครั้งในบอลโลกรอบสุดท้าย ญี่ปุ่น เอาชนะ โครเอเชีย ไม่ได้ทั้งหมด – แพ้ 0-1 ฟร้องซ์ 98, เสมอ 0-0 เยอรมนี 2006 และเสมอ 1-1 ก่อนแพ้ดวลเป้า ครั้งนี้
• ญี่ปุ่น ตกรอบ 16 ทีมสุดท้ายเหมือนเช่นเคย และยังไม่เคยไปได้ไกลกว่านี้
1998 รอบแรก
2002 รอบ 16 ทีม (แพ้ ตุรกี 0-1)
2006 รอบแรก
2010 รอบ 16 ทีม (แพ้จุดโทษ ปารากวัย 3-5)
2014 รอบแรก
2018 รอบ 16 ทีม (แพ้ เบลเยียม 2-3)
2022 รอบ 16 ทีม (แพ้จุดโทษ โครเอเชีย 1-3)
• ทีมที่เป็นฝ่าย “ยิงจุดโทษก่อน” ในรอบน็อกเอาต์บอลโลก แพ้ติดต่อกันมา 7 เกมแล้ว นับตั้งแต่ คอสตาริกา แพ้ เนเธอร์แลนด์ 3-4 ปี 2014 ที่บราซิล4
• โดมินิค ลิวาโควิช เซฟ 3 จุดโทษในการดวลเป้าเป็นคนที่ 3 ถัดจาก ริคาร์โด้ (โปรตุเกส) 2006 และรุ่นพี่ ดานิเยล ซูบาซิช (โครเอเชีย) 2018

 

สืบเนื่องจากผลสกอร์ ญี่ปุ่น แพ้จุดโทษ โครเอเชีย 1-3
• โครเอเชีย เข้ารอบสุดท้ายไปดวลกับ บราซิล ยักษ์อเมริกาใต้ที่พวกเขาไม่เคยเอาชนะได้มาก่อนเลย จากการพบกัน 4 นัด
• โครเอเชีย ยังอยู่ในเส้นทางความ “สุดโต่ง” ในฟุตบอลโลก เมื่อถ้าไม่ตกรอบแรก ก็เข้ารอบลึกๆ ไปเลย
1998 อันดับ 3 (ชนะ เนเธอร์แลนด์ 2-1)
2002 รอบแรก
2006 รอบแรก
2014 รอบแรก
2018 รองแชมป์ (แพ้ ฝรั่งเศส 2-4)
2022 รอบ 8 ทีมสุดท้าย (เป็นอย่างน้อย)
• โดมินิค ลิวาโควิช นายประตูโลว์โพรไฟล์วัยย่าง 28 จาก ดินาโม ซาเกร็บ ถูกจับตาและคาดหมายว่าจะได้ย้ายสู่ทีมใหญ่ในเร็ววัน หลังขึ้นมาเป็นมือ 1 ในบอลโลกหนแรก และมีผลงานน่าประทับใจ
• อีวาน เปริซิช ยิงในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายเป็นลูกที่ 6 สูงสุดเทียบเท่า ดาวอร์ ซูเคอร์
• ฮาจิเมะ โมริยาสุ ยังจะอยู่ทำงานคุมญี่ปุ่นต่อ แต่ยังไม่แน่ชัดว่าลูกทีมวัยเก๋าจะยังเหลือใครบ้างในชุดถัดไป ซึ่งที่เข้าข่ายต้องจับตามี ยูโตะ นางาโตโมะ (36), เออิจิ คาวาชิมะ (39), มายะ โยชิดะ (34), ชูอิจิ กอนดะ (33) และ ฮิโรกิ ซากาอิ (32)

 

 

 

แซมบ้าฆ่าโสมแดดิ้น 4-1

16 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก 2022 เกมต่อเกม น็อกเอาต์! (2)

 

แม้จะพลาดพลั้งส่งทีมสำรองลงไปแพ้ แคเมอรูน 0-1 ในเกมปิดกลุ่ม แต่ถือว่าไม่ได้เสียหายอะไรกับ บราซิล ที่เกมแรกอัด เซอร์เบีย จนน่าชนะมากกว่า 2-0 เกมสองก็ฮึดเชือด สวิสส์ ด้วยประตูเวิลด์คลาสจาก กาเซมิโร่ จนการันตีการเข้ารอบ (และแชมป์กลุ่ม) ไว้อยู่ก่อนแล้ว

 

ทางด้าน เกาหลีใต้ สร้างเซอร์ไพรส์ได้ไม่แพ้เพื่อนบ้าน ญี่ปุ่น แต่ก็ต้องลุ้นใจหายใจคว่ำมากกว่าเมื่อสองเกมแรกผ่านไปมีแต้มในมือแค่คะแนนเดียว (0-0 อุรุกวัย, 2-3 กาน่า) จนสถานการณ์บังคับให้ต้องชนะ โปรตุเกส สถานเดียวพร้อมลุ้นผลอีกคู่ สุดท้ายทำสำเร็จด้วยการยิงแซง 2-1 และ อุรุกวัย ยิงได้ไม่พอในเกมของตัวเอง

 

เกมที่ สเตเดี้ยม 974 บราซิล ของ ตีเต้ ได้ เนย์มาร์ หายเจ็บข้อเท้ากลับมาเดินเกมรุกเคียงข้าง ริชาร์ลิซอน, ราฟินญ่า และ วินิซิอุส จูเนียร์ เช่นเดียวกับ ดานิโล่ ที่ฟิตลงยืนแบ็กซ้าย (ส่วนแบ็กขวาเป็น เอแดร์ มิลิเตา) เพื่อชิงตั๋วเข้ารอบกับทางด้าน เกาหลีใต้ ที่นำมาโดย ซน ฮึง-มิน, ฮวาง ฮี-ชาน และ คิม มิน-แจ เหมือนเช่นเคย

 

ปรากฏว่า “ลา เซเลเซา” ใช้วิธีจู่โจมเร็วจน “โสมขาว” ตั้งตัวไม่ติด ครึ่งชั่วโมงแรกรัวแล้วสามเม็ด เริ่มจาก วินิซิอุส จูเนียร์ ได้ลูกที่เสาไกลแล้วยิงยัดสวนทางเข้าไป น.7, จุดโทษที่ ริชาร์ลิซอน ไปโดน จอง อู-ยอง เตะใส่จนล้มลง และ เนย์มาร์ สังหารนิ่มๆ น.13, ริชาร์ลิซอน กดเน้นๆ ด้วยอีซ้าย น.29 แถม น.36 ยังฉีกกระจาย 4-0 จาก ลูคัส ปาเกต้า ที่ทะลุขึ้นวอลเลย์ผ่านมือ คิม ซึง-กยู ด้วย

 

ครึ่งแรกถ่างกระจายแล้ว 4-0 นับว่าเกมจบตรงนี้ เกาหลีใต้ หมดสิทธิ์คิดจะไปต่อ เท่ากับตาม ญี่ปุ่น ร่วงตกรอบไป สูญพันธุ์ทีมเอเชีย (เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย) เกลี้ยงแผงในรอบ 16 ทีม

 

สำหรับเกมครึ่งหลัง บราซิล ยังมีโอกาสได้ประตูหลายครั้ง รวมถึง เกาหลีใต้ เองก็เปิดหน้าแลกจน อลิสซอน เบ็คเกอร์ ต้องเซฟช่วยบราซิลไว้ 2-3 หนเช่นกัน จนกระทั่งนาที 76 เพค ซุง-โฮ จึงยิงตีไข่แตก 1-4 จังหวะซัดฮาล์ฟวอลเลย์สวนจากหน้าเขตโทษส่งลูกทะยานเข้าประตูอย่างสวยงาม แต่ก็ทำได้ดีที่สุดเพียงเท่านั้น จบเกมที่ บราซิล ชนะขาด 4-1

 

สิ่งเดียวที่ ตีเต้ อาจทำพลาดในเกมนี้ คือการปล่อยให้ เนย์มาร์ เล่นจนถึงนาทีที่ 80 แล้วค่อยถอดออกให้ โรดรีโก้ โกเอส ลงไปแทน ซึ่งซุปตาร์จากเปแอสเชที่เพิ่งยิงได้ลูกเดียวในทัวร์นาเมนต์นี้ ก็ต้องรีบประคบข้อเท้าทันทีหลังเข้าไปนั่งที่ข้างสนาม แม้คงไม่น่าห่วงสำหรับรอบถัดไปก็ตาม

 

รายชื่อผู้เล่นและสถิติที่สำคัญ
บราซิล (4-2-3-1) อลิสซอน เบ็คเกอร์ (เวแวร์ตอน 80) เอแดร์ มิลิเตา (ดานี่ อัลเวส 63), ติอาโก้ ซิลวา, มาร์กินญอส, ดานิโล่ (เบรแมร์ 72) – กาเซมิโร่, ลูคัส ปาเกต้า – ราฟินญ่า, เนย์มาร์ (โรดรีโก้ โกเอส 80), วินิซิอุส จูเนียร์ (กาเบรียล มาร์ติเนลลี่ 72) – ริชาร์ลิซอน
เกาหลีใต้ (4-2-3-1) คิม ซึง-กยู – คิม มุน-ฮวาน, คิม มิน-แจ, คิม ยอง-กวอน, คิม จิน-ซู (ฮง ชอล น.46) – ฮวาง อิน-บอม (เพค ซึง-โฮ 65), จอง อู-ยอง (ซน จุน-โฮ 46) – ฮวาง ฮี-ชาน, อี แจ-ซอง (อี คัง-อิน 74), ซน ฮึง-มิน – โช คยู-ซอง (ฮวาง อุย-โจ 80)

 

• แมนออฟเดอะแมตช์ : เนย์มาร์
• บราซิล สร้างโอกาสจบได้ถึง 18 ครั้ง ตรงกรอบ 9 ซึ่งหมายถึง คิม ซึง-กยู เซฟไป 5 รอบ ไม่วายโดน 4 เม็ด
• ส่วนสถิติของฟีฟ่า บอกว่า คิม ซึง-กยู มีส่วนป้องกัน หรือ Goals Prevented 18 ครั้งทีเดียว
• อลิสซอน เบ็คเกอร์ เพิ่งเสียประตูลูกแรก (เพค ซึง-โฮ) หลังลงเฝ้าเสา 3 เกม
• ริชาร์ลิซอน ยังอยู่ในเส้นทางช่วงชิงรองเท้าทองคำ ดาวซัลโวฟุตบอลโลก 2022 หลังยิงไป 3 ลูก ตามหลัง คีลิยัน เอ็มบัปเป้ 2 เม็ด
• บราซิล เป็นทีมแรกที่ใช้งานนักเตะครบถ้วน 26 คน หลังมีการส่ง เวแวร์ตอน นายประตูมือสาม ลงสำรองไปแทน อลิสซอน เบ็คเกอร์ ช่วงสิบนาทีท้าย

 

สืบเนื่องจากผลสกอร์ บราซิล 4-1 เกาหลีใต้
• บราซิล ลิ่วเข้าชน โครเอเชีย รองแชมป์เก่า ที่พวกเขาไม่เคยแพ้มาก่อนจากการพบกัน 4 นัดก่อนหน้านี้ (ชนะ 3 เสมอ 1)
• หากเดินหน้าเอาชนะ โครเอเชีย ได้ต่อ บราซิล มีสิทธิ์พบกับคู่รักคู่แค้นร่วมทวีปอย่าง อาร์เจนติน่า ในรอบตัดเชือก (ถ้าฟ้าขาวสามารถผ่าน เนเธอร์แลนด์ ได้)
• เปาโล เบนโต้ กุนซือชาวโปรตุเกส ลาออกจากการคุมทีมเกาหลีใต้เรียบร้อยแล้ว หลังทำทีมมา 4 ปีถ้วน มีสถิติคุมทีม 57 ชนะ 35 เสมอ 13 แพ้ 9 เปอร์เซ็นต์ชนะสูงถึง 61.4%
• บราซิล โดนตำหนิจากบางฝ่าย (เช่น รอย คีน) ถึงการทำท่าดีใจออกสเต็ปแดนซ์ยับหลังยิงประตูได้แต่ละลูก บ้างว่าไม่เหมาะสม บ้างว่าไม่เคารพคู่แข่ง แต่พวกเขาก็ยืนยันว่าจะไม่เปลี่ยนแนวทางนี้เป็นเด็ดขาด เมื่อเป็นการแสดงความดีใจแบบเพียวๆ ไม่มีการดูหมิ่นคู่แข่งสอดแทรกอยู่แต่อย่างใด
• นับจากที่เข้าไปถึงเป็นอันดับ 4 บอลโลกในบ้านตัวเอง (2002) แล้ว เกาหลีใต้ ก็ไม่เคยผ่านรอบ 16 ทีมได้เลย และก่อนหน้านี้ (2010) ก็แพ้ทีมอเมริกาใต้มาเช่นกัน
2006 ตกรอบแรก
2010 ตกรอบ 16 ทีม (แพ้ อุรุกวัย 1-2)
2014 ตกรอบแรก
2018 ตกรอบแรก
2022 ตกรอบ 16 ทีม (แพ้ บราซิล 1-4)

 

 

กระทิงเขาหัก! โมร็อกโกเฮดวลเป้าเข้า 8 ทีม ฟุตบอลโลก 2022

16 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก 2022 เกมต่อเกม น็อกเอาต์! (2)

 

จากที่มองกันว่าอาจจะเป็น เดนมาร์ก, อุรุกวัย, เอกวาดอร์, เซอร์เบีย หรือ ญี่ปุ่น ที่จะเป็น “ม้ามืด” แห่งฟุตบอลโลก 2022

 

ถึงตรงนี้ ชัดเจนแล้วว่าม้ามืดทีมนั้นก็คือ โมร็อกโก

 

เด็กๆ ของ วาลิด เรกรากี (ที่เพิ่งจะเข้าทำทีมต่อจาก วาฮิด ฮาลิลฮ็อดซิช เมื่อกลางปี) เริ่มต้นทัวร์นาเมนต์ด้วยการยันเสมอ โครเอเชีย 0-0 ก่อนสร้างเซอร์ไพรส์ปราบ เบลเยียม 2-0 และฟาดอีกสามแต้มด้วยการสยบ แคนาดา 2-1 จนเข้ารอบด้วยการเป็นแชมป์กลุ่มเสียเฉยๆ

 

ด้าน สเปน ของ หลุยส์ เอ็นริเก้ มาดีเกินคาดอยู่เหมือนกันในนัดแรกที่ไล่โขยก คอสตาริกา 7-0 จากนั้นก็หวิดชนะ เยอรมนี แต่โดนทวงท้ายเกม 1-1 แต่ปรากฏว่านัดสุดท้าย เล่นแบบเอื่อยๆ จนโดน ญี่ปุ่น แซงเชือด 2-1 ท่ามกลางครหาว่าอันที่จริง พวกเขาตั้งใจแพ้เพื่อขวางไม่ให้ เยอรมนี หลุดเข้าไปเป็นเสี้ยนหนาม แถมตัวเองยังจะเลี่ยงทีมแข็งอย่าง โครเอเชีย หรือ บราซิล ในรอบถัดๆ ไปได้ด้วย

 

หากเป็นไปตามที่หลายฝ่ายมอง — สเปน เลือกที่จะมาเจอ โมร็อกโก

 

แล้วเป็นไงล่ะเพื่อน…

 

ที่จริง เกมที่ เอดูเคชั่น ซิตี้ สเตเดี้ยม หลายฝ่ายมองว่า “กระทิงดุ” เหนือกว่าพอตัว ทว่าพวกเขาก็ไม่อาจเจาะแนวรับของ โมร็อกโก เข้าได้เลย ทั้งใน 90 นาทีและ 120 นาที จบแบบไร้สกอร์ 0-0 ซึ่งโอกาสที่ใกล้เคียงสุดเป็นในนาทีสุดท้ายของช่วงต่อเวลา ปาโบล ซาราเบีย เข้าชาร์จลูกย้อนทางสะกิดเสาแรกหลุดออกไป นอกนั้นโอกาสทั้งหมดถ้าไม่หลุดไปเองก็ไม่ผ่านมือ ยาสซีน “โบโน่” บูนู นายประตูโมร็อกโก จากเซบีย่า

 

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อถึงการดวลจุดโทษตัดสิน ก็กลายเป็น “โบโน่” ที่กลายเป็นโคตรพระเอก เซฟ 2 จุดโทษของทั้ง คาร์ลอส โซเลร์ และ เซร์คิโอ บุสเก็ตส์ ถัดจากที่ ปาโบล ซาราเบีย (ซึ่ง เอ็นริเก้ ตั้งใจส่งลงมายิงจุดโทษโดยเฉพาะ) ยิงคนแรกแล้วอัดไปชนเสาดังโครม

 

ส่งผลให้ โมร็อกโก ที่แม่นเป้ากว่า ยิงเข้า 3 จาก 4 คน โดยเฉพาะคนสุดท้าย อัชราฟ ฮาคิมี่ ที่ชิปนิ่มๆ เข้ากลางประตูนั้น เป็นฝ่ายชนะดวลเป้าด้วยสกอร์ประหลาด 3-0 — หมายถึงว่า สเปน ที่ก่อนนี้เผยว่าพวกเขาซ้อมยิงจุดโทษกันมาเป็นพันๆ ครั้ง ยิงไม่เข้าเลยเมื่อเกมจริงมาถึง และ… ตกรอบ…

 

สำหรับ โมร็อกโก สร้างประวัติศาสตร์เข้าสู่รอบ 8 ทีมสุดท้ายเป็นครั้งแรก และเป็นทีมแอฟริการายที่ 3 ถัดจาก แคเมอรูน 1990, เซเนกัล 2002 และ กาน่า 2010 ที่มาได้ถึงตรงนี้

 

รายชื่อผู้เล่นและสถิติที่สำคัญ
โมร็อกโก (4-3-3) ยาสซีน บูนู – อัชราฟ ฮาคิมี่, โรแม็ง ซาอิสส์, นาเยฟ อาแกร์ด (จาวาด เอล ยามิก 84), นูสแซร์ มาซราอุย (ยาเฮีย อัตติยัด-อัลลาห์ 82) – อัซซาดีน อูนาฮี (บาเดอร์ เบนูน 120), โซฟียาน อัมราบัต, เซลิม อมัลลาห์ (วาลิด เชดดิรา 82) – ฮาคิม ซีเย็ค, ยุสเซฟ เอ็น-เนซิรี่ (อับเดลฮามิด ซาบิรี 82), โซฟียาน บูฟาล (อับเด เอซซัลซูลี่ 66)
สเปน (4-3-3) อูไน ซิมอน – มาร์กอส ยอเรนเต้, โรดรี้, อายเมอริก ลาป๊อร์กต์, จอร์ดี้ อัลบา (อเลฆานโดร บัลเด้ 98) – เปดรี้, เซร์คิโอ บุสเก็ตส์, กาบี (คาร์ลอส โซเลร์ น.63) – เฟร์ราน ตอร์เรส (นิโก้ วิลเลี่ยมส์ 75, ปาโบล ซาราเบีย 118), มาร์โก อเซนซิโอ (อัลบาโร่ โมราต้า 63), ดานี่ โอลโม (อันซู ฟาติ 98)

 

• แมนออฟเดอะแมตช์ : ยาสซีน บูนู
• ที่จริงแล้ว ยาสซีน บูนู เกิดที่แคนาดา แต่ย้ายมาโตที่โมร็อกโก ตอน 3 ขวบ และเคยเป็นเด็กฝึกของ แอตเลติโก มาดริด มาก่อน ก่อนจะย้ายจาก คิโรน่า มาเล่นกับ เซบีย่า ตั้งแต่ 2019 เป็นต้นมา พร้อมคว้ารางวัลนายประตูแห่งปี Zamora Trophy ลา ลีกา ซีซั่นที่แล้วด้วย
• ตลอดเกม 120 นาที มียิงตรงกรอบกันแค่ 4 ครั้ง (สเปน 3 โมร็อกโก 1) และ สเปน ไม่ได้เตะมุมเลยสักครั้ง
• อัซซาดีน อูนาฮี วิ่งรวมระยะ 14.71 กม.
• ด้วยที่ตั้ง จึงสามารถนิยาม โมร็อกโก ว่าเป็นได้ทั้ง “ชาติอาหรับ” และ “แอฟริกาเหนือ” โดยนอกจากเป็นแอฟริกันรายที่ 4 ที่เข้ารอบ 8 ทีมบอลโลกแล้ว ก็นับเป็นชาติอาหรับรายแรกที่มาถึงตรงนี้
• สเปน ร่วงรอบ 16 ทีมสุดท้ายอีกครั้ง ซ้ำรอยเดิมจากฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซีย
• สเปน ยังแพ้จุดโทษจนตกรอบทัวร์นาเมนต์ใหญ่ 3 หนซ้อน
ฟุตบอลโลก 2018 แพ้จุดโทษ รัสเซีย 3-4
ยูโร 2020 แพ้จุดโทษ อิตาลี 2-4
ฟุตบอลโลก 2022 แพ้จุดโทษ โมร็อกโก 0-3

 

สืบเนื่องจากผลสกอร์ โมร็อกโก ชนะจุดโทษ สเปน 3-0
• โมร็อกโก เข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายไปชน โปรตุเกส อีกหนึ่งเพื่อนบ้านต่างทวีป ที่อยู่ห่างกันแค่ข้ามทะเลชั่วโมงเศษ (เที่ยวบิน)
• อย่าว่าแต่เข้ารอบ 8 ทีม ก่อนนี้ โมร็อกโก เคยได้เข้าน็อกเอาต์ 16 ทีมบอลโลกมาแค่หนเดียวถ้วน คือปี 1986 นอกนั้นตกรอบแรก 4 ครั้ง
• วาลิด เรกรากี โค้ชเชื้อสายฝรั่งเศสวัย 47 กลายเป็นฮีโร่ของประเทศไปแล้ว และยังนับเป็นโค้ชแอฟริกันคนแรกที่เข้าถึง 8 ทีมสุดท้ายบอลโลก
• หลุยส์ เอ็นริเก้ ลาออกจากการทำทีม สเปน ในที่สุด หลังอยู่บนเก้าอี้มาตั้งแต่ปี 2018 (มีเว้นช่วงไปพักหนึ่ง) ลงสนาม 47 ชนะ 26 เสมอ 14 แพ้ 7

 

 

แฮตทริกแรกมา! ฝอยทองกระหน่ำสวิสส์ 6-1

16 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก 2022 เกมต่อเกม น็อกเอาต์! (2)

 

นี่คือการพบกันครั้งที่ 26 เข้าไปแล้วของ โปรตุเกส กับ สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งรายแรก ชนะ 2 เกมซ้อนเหนือทั้ง กาน่า และ อุรุกวัย จนการันตีการเข้ารอบน็อกเอาต์ได้ตั้งแต่จบสองเกมแรก ส่วนรายหลัง ชนะ แคเมอรูน 1-0 และยัน บราซิล 0-0 จนถึงนาที 83 (โดน กาเซมิโร่ สอย 1-0) ก่อนจะเจอเกมแลกหมัดกับ เซอร์เบีย ซึ่งทัพนาฬิกาก็ยังมีดีพอจะเบียดชนะ 3-2 และเข้ารอบตามหลัง บราซิล มา

 

ที่จริง การเจอกันระหว่าง โปรตุเกส กับ สวิตเซอร์แลนด์ ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานตั้งแต่ 1938 แม้จะยิงกันเยอะในช่วงหลัง แต่ก็ผลัดกันแพ้ชนะมาเรื่อยๆ

 

คัดบอลโลก 2016 สวิตเซอร์แลนด์ ชนะ 2-0
คัดบอลโลก 2017 โปรตุเกส ชนะ 2-0
เนชั่นส์ลีก 2019 โปรตุเกส ชนะ 3-1
เนชั่นส์ลีก 2022 โปรตุเกส ชนะ 4-0
เนชั่นส์ลีก 2022 สวิตเซอร์แลนด์ ชนะ 1-0

 

นั่นแสดงให้เห็นถึงความคู่คี่สูสีที่ โปรตุเกส กับ สวิตเซอร์แลนด์ มี และหลายฝ่ายก็คาดว่า การพบกันอีกครั้งในรอบ 16 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก 2022 น่าจะออกทรงกินกันยาก เผลอๆ อาจยิงยาวถึงดวลจุดโทษอีกเกม

 

ที่ไหนได้…

 

การเปลี่ยนทีมอย่างเซอร์ไพรส์ของ แฟร์นันโด ซานโตส เล่นงาน สวิตเซอร์แลนด์ ได้อย่างหนักหน่วง–ช่างทำรุนแรงเหลือเกิน โดยเฉพาะการดร็อป คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ลงนั่งสำรอง เปิดทางให้หัวหอกหน้าใหม่จากเบนฟิก้า กอนซาโล่ รามอส ลงตัวจริงหนแรกในทัวร์นาเมนต์ หลังจากที่ก่อนนี้ ดาวรุ่งวัย 21 ได้สัมผัสเกมในฐานะตัวสำรองท้ายเกมมาแค่ 2 นัด ลงนาที 88 กับกาน่า และนาที 82 กับอุรุกวัย (ส่วนกับ เกาหลีใต้ ไม่ได้เล่น)

 

1-0 ชูเอา เฟลิกซ์ ไหลให้ กอนซาโล่ รามอส พลิกยิงด้วยซ้ายเสียบเสาแรก น.17
2-0 เปเป้ ทิ่มโขกลูกเตะมุมของ บรูโน่ แฟร์นันเดส ไม่เหลือ น.33
3-0 ดีโอโก้ ดาโล่ต์ แทงขึ้นหน้าให้ กอนซาโล่ รามอส จิ้มลอดขา ยานน์ ซอมเมอร์ น.51
4-0 รามอส จ่ายให้ ราฟาเอล เกร์เรยโร่ สอดขึ้นกดด้วยซ้ายปะทะตาข่าย น.55
4-1 มานูเอล อคานจี เก็บตกชาร์จเตะมุมเสาสอง น.58
5-1 กอนซาโล่ รามอส ทะลุเข้ายกลูกข้ามตัว ซอมเมอร์ อย่างเหนือชั้น เป็นแฮตทริก น.67
6-1 หอกสำรอง ราฟาเอล เลเอา ปั่นด้วยขวาเข้าเสาสอง น.90+2

 

ผ่าน 48 เกมของรอบแรก และอีกหลายนัดของรอบ 16 ทีม “แฮตทริกแรก” ก็มาจนได้ และมาอย่างเซอร์ไพรส์กับราย กอนซาโล่ รามอส ที่แทบไม่มีใครรู้จักมักจี่มาก่อน

 

สำคัญคือ โปรตุเกส กรีธาทัพผ่าน สวิตเซอร์แลนด์ อย่างสบาย ง่ายดายเกินคาด

 

เพื่อไปไล่ล่าแชมป์โลกสมัยแรก…ไม่ว่าจะมี คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ในทีมตัวจริงหรือไม่ ก็ตาม

 

รายชื่อผู้เล่นและสถิติที่สำคัญ
โปรตุเกส (4-3-3) ดีโอโก้ คอสต้า – ดีโอโก้ ดาโล่ต์, เปเป้, รูเบน ดิอาส, ราฟาเอล เกร์เรยโร่ – โอตาวิโอ (วิตินญ่า 74), วิลเลี่ยม คาร์วัลโญ่, แบร์นาร์โด้ ซิลวา (รูเบน เนเวส 81) – บรูโน แฟร์นันเดส (ราฟาเอล เลเอา 87), กอนซาโล่ รามอส (ริคาร์โด้ ออร์ต้า 74), ชูเอา เฟลิกซ์ (คริสเตียโน่ โรนัลโด้ 73)
สวิตเซอร์แลนด์ (4-2-3-1) ยานน์ ซอมเมอร์ – เอดิมิลซอน แฟร์นันเดส, ฟาเบียน ชาร์ (เอราย โคเมิร์ต 46), มานูเอล อคานจี, ริคาร์โด้ โรดริเกซ – เรโม่ ฟรอยเลอร์ (เดนิส ซากาเรีย 54), กรานิต ชาก้า – เซอร์ดาน ชากิรี่, ชิบริล โซว์ (ฮาริส เซเฟโรวิช 54), รูเบน วาร์กัส (โนอาห์ โอคาฟอร์ 66) – บรีล เอ็มโบโล่ (อาร์ดอน ยาชารี 89)

 

• แมนออฟเดอะแมตช์ : กอนซาโล่ รามอส
• กอนซาโล่ รามอส ซัด 3 ประตูในนัดเดียว แม้เพิ่งได้ลงเล่นฟุตบอลโลกไปเพียง 85 นาทีเท่านั้น และเป็นแฮตทริกแรกในฟุตบอลโลก 2022
• กอนซาโล่ รามอส เป็นนักเตะคนแรกที่ทำแฮตทริกในรอบน็อกเอาต์ฟุตบอลโลก นับตั้งแต่ โธมัส สคูราวี่ ในเกมกับคอสตาริกา ปี 1990
• กอนซาโล่ รามอส ยิงประตูรอบน็อกเอาต์บอลโลก เกมเดียวได้ 3 ลูก มากกว่าที่ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ เล่นมาทั้งชีวิต และไม่เคยยิงได้เลย
• เปเป้ กลายเป็นนักเตะสูงวัยสุดที่ยิงได้ในรอบน็อกเอาต์ฟุตบอลโลก ด้วยอายุ 39 ปี 283 วัน
• สวิตเซอร์แลนด์ ตกรอบ 16 ทีมสุดท้ายบอลโลกเป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกัน และ 4 จาก 5 หนหลัง (อีกหน ตกรอบแรก 2010)

 

สืบเนื่องจากผลสกอร์ โปรตุเกส 6-1 สวิตเซอร์แลนด์
• โปรตุเกส ทะลุเข้าไปดวล โมร็อกโก ในรอบ 8 ทีมสุดท้าย
• โปรตุเกส อยู่ในเส้นทางของการลุ้นแชมป์โลกสมัยแรก โดยยังไม่เคยเข้าชิงชนะเลิศได้มาก่อน ผลงานดีสุดคืออันดับสาม 1966 และอันดับสี่ 2006
• กอนซาโล่ รามอส เล่นทีมชาติ 4 นัด ซัด 4 ประตู
• คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ไม่วายเป็นข่าวว่าออกลูกงอแง จะปลีกตัวทิ้งแคมป์ทีมชาติไปกลางคันด้วยความไม่พอใจที่ต้องตกเป็นตัวสำรองเกมสำคัญนัดล่าสุดนี้ แต่สมาคมบอลโปรตุเกสยืนกรานชัดว่าข่าวนี้เป็น fake news และ โรนัลโด้ ไม่ได้ออกอาการอะไรใดๆ

 

ไกด์เถื่อน

 

อ้างอิง
wikipedia
FIFA

ภาพประกอบ
amNewYork
SPORT
Bloomberg
AFP

 

เรื่องน่าอ่าน
16 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก 2022 เกมต่อเกม น็อกเอาต์ !
บอลโลกบันทึก #2 : สำรวจสถิติรอบแรก ฟุตบอลโลก 2022
บอลโลกบันทึก #1 : สุดทางรอบแรก ฟุตบอลโลก 2022

 

โมร็อกโก vs สเปน : ตัวต่อตัว 16 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก 2022

โมร็อกโก vs สเปน : ตัวต่อตัว 16 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก 2022

ฟุตบอลโลก 2022 รอบน็อกเอาต์ 16 ทีมสุดท้าย : โมร็อกโก vs สเปน

อังคาร 6 ธันวาคม 2565, 22.00 น.
สนาม : เอดูเคชัน ซิตี้ สเตเดี้ยม, อัล รายยาน
ถ่ายทอดสด : True4U

 

ผลการพบกัน : 3 นัด
คัดบอลโลก 1961 สเปน ชนะ 1-0
คัดบอลโลก 1961 สเปน ชนะ 3-2
ฟุตบอลโลก 2018 เสมอ 2-2

 

ฟอร์ม 5 เกมหลังสุด
โมร็อกโก
อุ่นเครื่อง เสมอ ปารากวัย 0-0
อุ่นเครื่อง ชนะ จอร์เจีย 3-0
ฟุตบอลโลก 2022 เสมอ โครเอเชีย 0-0
ฟุตบอลโลก 2022 ชนะ เบลเยียม 2-0
ฟุตบอลโลก 2022 ชนะ แคนาดา 2-1

สเปน
เนชั่นส์ ลีก ชนะ โปรตุเกส 1-0
อุ่นเครื่อง ชนะ จอร์แดน 3-1
ฟุตบอลโลก 2022 ชนะ คอสตาริกา 7-0
ฟุตบอลโลก 2022 เสมอ เยอรมนี 1-1
ฟุตบอลโลก 2022 แพ้ ญี่ปุ่น 1-2

 

ผลงานรอบแบ่งกลุ่ม โมร็อกโก และ สเปน

โมร็อกโก : ม้ามืดตัวจริงของฟุตบอลโลก 2022 เริ่มต้นด้วยการยันเสมอ โครเอเชีย 0-0 ก่อนสร้างเซอร์ไพรส์ปราบ เบลเยียม 2-0 และฟาดอีกสามแต้มด้วยการสยบ แคนาดา 2-1 จนเข้ารอบด้วยการเป็นแชมป์กลุ่ม แบบที่ยิง 4 เสียแค่ 1
สเปน : เริ่มต้นดีเกินคาด ขยี้ คอสตาริกา 7-0 จากนั้นก็หวิดชนะ เยอรมนี แต่โดนทวงท้ายเกม 1-1 แต่ปรากฏว่านัดสุดท้าย เล่นแบบเอื่อยๆ จนโดน ญี่ปุ่น แซงเชือด 2-1 ท่ามกลางครหาว่าอันที่จริง พวกเขาตั้งใจแพ้เพื่อขวางไม่ให้ เยอรมนี หลุดเข้าไปเป็นเสี้ยนหนาม แถมตัวเองยังจะเลี่ยง โครเอเชีย หรือ บราซิล ในรอบถัดๆ ไปได้ด้วย

 

ความพร้อมก่อนเตะ โมร็อกโก และ สเปน

โมร็อกโก
มีความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ตัวกุนซือ วาฮิด ฮาลิลฮ็อดซิช โดนเด้งไปเมื่อกลางปี หรือก่อนฟุตบอลโลก 2022 จะมาถึงแค่ไม่กี่เดือน โดยเป็น วาลิด เรกรากี อดีตนายใหญ่ อัล-ดูฮาอิล และ วีดัด คาซาบลังก้า มาเสียบแทน

 

แต่การเปลี่ยนโค้ชเหมือนเลือกหวยถูกใบ โมร็อกโก เกมแรกยันเสมอ โครเอเชีย 0-0 ต่อมาพลิกล็อกชนะ เบลเยียม 2-0 ตามด้วยตบ แคนาดา 2-1 จนเข้ารอบด้วยการเป็นแชมป์กลุ่ม

 

เรกรากี มีตัวเจ็บเหลือในราย อับเดสซาหมัด เอซซาลซูลี่ กองหน้าโอซาซูน่า ในขณะที่ นูสแซร์ มาซราอุย แบ็กจากบาเยิร์น มิวนิค กับ อับเดลฮามิด ซาบิรี่ กองกลางจากซามพ์โดเรีย ฟื้นฟิตพร้อมกลับมาเล่นตั้งแต่นัดก่อนแล้ว จนถือว่าค่อนข้างพร้อมรบดีทีเดียว

 

ระบบใช้ 4-3-3 อัชราฟ ฮาคิมี่ ประจำการแบ็กขวา แนวรุก ฮาคิม ซีเย็ค กับ โซฟียาน บูฟาล ขนาบข้างหอกเป้า ยุสเซฟ เอ็น-เนซีรี่

 

สเปน
หลุยส์ เอ็นริเก้ พากระทิงดุเจ้าของแชมป์โลก 1 สมัยเข้ามาเล่นรอบสุดท้ายฟุตบอลโลก 2022 ด้วยผลงานค่อนข้างดี รวมถึงในยูฟ่า เนชั่นส์ ลีก ก็ครองแชมป์กลุ่ม ได้ไปต่อในรอบชิงแชมป์ ปีหน้า

 

จากนั้นเมื่อเริ่มเกมแรก ทำได้ดีเกินความคาดหมาย กราดยิง คอสตาริกา ดับอนาถ 7-0 เฟร์ราน ตอร์เรส ซัดสอง ที่เหลือช่วยกันยิงอีก 5 คน ต่อมา แบ่งแต้มด้วยผลเสมอ เยอรมนี 1-1 และนัดสุดท้าย พลิกพ่าย ญี่ปุ่น 1-2 ทำให้เข้าด้วยการเป็นที่สองของกลุ่ม

 

เอ็นริเก้ ไม่มีปัญหาตัวเจ็บเพิ่มเติม และด้วยทีมที่เล่นกันดีอยู่แล้ว ทำให้คงแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลง 11 ตัวจริง ระบบ 4-3-3 ประตูเป็น อูไน ซิมอน แดนกลางบาร์ซ่าเหมาทั้ง เปดรี้, บุสเก็ตส์, กาบี ส่วนแนวรุก ดานี่ โอลโม่ จะเล่นร่วมกับ เฟร์ราน ตอร์เรส และ อัลบาโร่ โมราต้า

 

ตัวความหวัง
โมร็อกโก : ฮาคิม ซีเย็ค & อัชราฟ ฮาคิมี่
ซีเย็ค เลิกเล่นทีมชาติไปช่วงหนึ่งเนื่องจากความขัดแย้งส่วนตัวกับโค้ชเก่า วาฮิด ฮาลิลฮอดซิช ซึ่งพอมีการเปลี่ยนเป็น วาลิด เรกรากี แล้วก็กลับสู่สารบบทีมชาติดังเดิม โดยแม้จะเจอปัญหาเข้าๆ ออกๆ จากทีมเชลซี แต่ก็คือตัวยืนของทีมชาติ มีผลงานยิง 19 ประตูจาก 46 เกม ด้าน ฮาคิมี่ พัฒนาตัวเองไปจนอยู่ในระดับแบ็กขวาตัวท็อปของวงการแล้ว พร้อมกับบางเสียงยกว่าเป็นเบอร์ 1 โลกยุคปัจจุบันด้วยซ้ำ โดยยิงไปแล้ว 8 ประตูใน 57 เกมทีมชาติ

 

สเปน : อัลบาโร่ โมราต้า
แมว 9 ชีวิตแห่งทัพกระทิงดุ เมื่อต่อให้ฟอร์มในระดับสโมสรจะออกทะเลขนาดไหน ก็ยังมีที่ยืนในทีมชาติอยู่ตลอดเวลา รวมถึงกับชุดปัจจุบันทั้งที่ผลงานกับ แอตเลติโก มาดริด ไม่ได้สวยหรูนัก (5 ประตูซีซั่นนี้) กระนั้นก็ต้องให้เครดิตกับหัวหอกวัย 30 ด้วยเหมือนกันว่าก็ทำผลงานได้ดีจริงในทีมชาติ สองปีหลังกดไป 12 ประตู รวมแล้วมี 30 ลูกจาก 60 นัด รวมถึงเป็นหนึ่งในสองคนที่ยิงตลอด 3 เกมรอบแรกฟุตบอลโลก 2022

 

11 ตัวจริงที่คาด
โมร็อกโก (4-3-3, กุนซือ วาลิด เรกรากี) ยาสซีน บูนู – นูสแซร์ มาซราอุย, นาเยฟ อาแกร์ด, โรแม็ง ซาอิสส์, อัชราฟ ฮาคิมี่ – อัซเซดีน อูนาฮี, โซฟียาน อัมราบัต, อับเดลฮามิด ซาบิรี่ – ฮาคิม ซีเย็ค, โซฟียาน บูฟาล, ยุสเซฟ เอ็น-เนซีรี่
สเปน (4-3-3, กุนซือ หลุยส์ เอ็นริเก้) อูไน ซิมอน – จอร์ดี้ อัลบา, อายเมอริก ลาป๊อร์กต์, โรดรี้, ดานี่ การ์บาฆัล – เปดรี้, เซร์คิโอ บุสเก็ตส์, กาบี – ดานี่ โอลโม่, อัลบาโร่ โมราต้า, เฟร์ราน ตอร์เรส

 

สถิติที่เกี่ยวข้อง
• พบกันมา 3 เกม สเปน ไม่เคยแพ้
• ล่าสุดในฟุตบอลโลก 2018 รอบแบ่งกลุ่ม เสมอ 2-2 ยาโก้ อัสปาส ยิงตีเสมอให้สเปนนาทีสุดท้าย
• โมร็อกโก อยู่ในทรงที่ดีเยี่ยม ชนะ 6 จาก 8 เกมหลังสุด และแพ้เกมเดียวเท่านั้นจาก 11 แมตช์หลัง
• สเปน ทำคลีนชีตได้แค่นัดเดียวจาก 4 เกมหลังสุด
• สเปน ชุดนี้ มีแค่ 2 คนที่ยิงประตูในทีมชาติได้เกิน 10 ลูก คือ อัลบาโร่ โมราต้า (30) กับ เฟร์ราน ตอร์เรส (15)

 

ความน่าจะเป็น
แม้จะแพ้ ญี่ปุ่น มา แต่ทั้งปรับทัพเยอะ ทั้งดูเล่นไม่ค่อยเต็มที่ ทำให้เมื่อกลับมาใช้ชุดใหญ่และเน้นทุกเม็ดแล้ว สเปน คือทีมที่ใครก็ประมาทไม่ได้ทั้งนั้น และแม้ โมร็อกโก จะมาดี แข็งทั้งรุกรับ แต่ยังพอมีช่องให้เจาะเข้า และเกมรุกที่จัดจ้านของ สเปน ก็น่าจะทำให้พวกเขาได้ไปต่อ

 

ผลที่คาด : สเปน ชนะ 2-1

แคนาดา vs โมร็อกโก : วิเคราะห์นัดปิดกลุ่ม ฟุตบอลโลก 2022

แคนาดา vs โมร็อกโก : วิเคราะห์นัดปิดกลุ่ม ฟุตบอลโลก 2022

ฟุตบอลโลก 2022 รอบแบ่งกลุ่ม กลุ่มเอฟ นัดสุดท้าย : แคนาดา vs โมร็อกโก
พฤหัสบดี 1 ธันวาคม 2565, 22.00 น.
สนาม : อัล ธูมาม่า สเตเดี้ยม, โดฮา
ถ่ายทอดสด : Thai PBS

 

ผลงานรอบคัดเลือก
แคนาดา
แชมป์รอบ 3 โซนคอนคาเคฟ
เตะ 14 ชนะ 8 เสมอ 4 แพ้ 2 ยิงได้ 23 เสีย 7

โมร็อกโก
ชนะ ดีอาร์ คองโก รอบ 3 โซนแอฟริกา
นัดแรกเสมอ 1-1, นัดสองชนะ 4-1

 

ฟอร์ม 5 เกมหลังสุด
แคนาดา
อุ่นเครื่อง แพ้ อุรุกวัย 0-2
อุ่นเครื่อง เสมอ บาห์เรน 2-2
อุ่นเครื่อง ชนะ ญี่ปุ่น 2-1
ฟุตบอลโลก 2022 แพ้ เบลเยียม 0-1
ฟุตบอลโลก 2022 แพ้ โครเอเชีย 1-4

โมร็อกโก
อุ่นเครื่อง ชนะ ชิลี 2-0
อุ่นเครื่อง เสมอ ปารากวัย 0-0
อุ่นเครื่อง ชนะ จอร์เจีย 3-0
ฟุตบอลโลก 2022 เสมอ โครเอเชีย 0-0
ฟุตบอลโลก 2022 ชนะ เบลเยียม 2-0

 

ผลการพบกัน : 3 นัด
อุ่นเครื่อง 1984 โมร็อกโก ชนะ 3-2
อุ่นเครื่อง 1994 เสมอ 1-1
อุ่นเครื่อง 2016 โมร็อกโก ชนะ 4-0

ตารางคะแนนกลุ่มเอฟ หลังผ่าน 2 นัด
1. โครเอเชีย คะแนน 4 ผลต่างประตู +3
2. โมร็อกโก คะแนน 4 ผลต่างประตู +2
3. เบลเยียม คะแนน 3 ผลต่างประตู -1
4. แคนาดา คะแนน 0 ผลต่างประตู -4 (ตกรอบแล้ว)

 

สภาพทีม
แคนาดา
ทัพเมเปิ้ลได้กลับมาโชว์ตัวในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายอีกครั้ง หลังหายหน้าไปตั้งแต่ได้เล่นหนแรกเมื่อปี 1986 แต่เริ่มต้นฟุตบอลโลก 2022 ด้วยการแพ้ เบลเยียม 0-1 ก่อนตามด้วยแพ้ โครเอเชีย 1-4

 

สองนัดไม่มีแต้ม แคนาดา จึงการันตีการไม่ได้ไปต่อ ตกรอบแรกเป็นที่เรียบร้อย แถมผลต่างประตู -4 ยังทำให้ขยับขึ้นจากอันดับบ๊วยลำบากด้วย

 

แคนาดา คุมทีมโดย จอห์น เฮิร์ดแมน โค้ชชาวอังกฤษ ที่ขยับจากทีมชาติฝ่ายหญิง (2011-2018) มารับงานนี้ และในทีมมีดาวเด่นอย่าง อัลฟอนโซ่ เดวิส (บาเยิร์น), โจนาธาน เดวิด (ลีลล์), ไคล์ ลาริน (คลับ บรูช), สตีเฟ่น ยุสตากิโต้ (ปอร์โต้) เป็นแกนนำ

 

เฮิร์ดแมน ไม่มีปัญหาในการจัดทีมเกมนี้ แต่ระบบจะเปลี่ยนกลับไปใช้แบ็กทรี 3-4-3 เหมือนเกมแรก ภายหลังใช้แบ็กโฟร์แล้วโดน โครเอเชีย ยิงไม่ยั้ง

 

โมร็อกโก
มีความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ตัวกุนซือ วาฮิด ฮาลิลฮ็อดซิช โดนเด้งไปเมื่อกลางปี หรือก่อนฟุตบอลโลก 2022 จะมาถึงแค่ไม่กี่เดือน โดยเป็น วาลิด เรกรากี อดีตนายใหญ่ อัล-ดูฮาอิล และ วีดัด คาซาบลังก้า มาเสียบแทน

 

แต่การเปลี่ยนโค้ชเหมือนเลือกหวยถูกใบ โมร็อกโก เกมแรกยันเสมอ โครเอเชีย 0-0 ต่อมาพลิกล็อกชนะ เบลเยียม 2-0 ส่งผลให้มี 4 แต้มในมือ เกมนี้ต่อให้แพ้ก็ยังมีสิทธิ์เข้ารอบ หากว่าอีกคู่ เบลเยียม ไม่อาจเอาชนะ โครเอเชีย ได้

 

เรกรากี มีตัวเจ็บเหลือในราย อับเดสซาหมัด เอซซาลซูลี่ กองหน้าโอซาซูน่า ในขณะที่ นูสแซร์ มาซราอุย แบ็กจากบาเยิร์น มิวนิค กับ อับเดลฮามิด ซาบิรี่ กองกลางจากซามพ์โดเรีย ฟื้นฟิตพร้อมกลับมาเล่นแล้ว

 

ระบบยึด 4-1-4-1 ขุนพลตัวหลักอย่าง ฮาคิม ซีเย็ค, โซฟียาน บูฟาล, ยุสเซฟ เอ็น-เนซีรี่ หรือ อัชราฟ ฮาคิมี่ พร้อมรบตามปกติทั้งหมด

 

ตัวความหวัง
แคนาดา : อัลฟอนโซ่ เดวิส
นักเตะที่ดีที่สุดในยุคนี้ของ แคนาดา หรือกระทั่งอาจจะดีที่สุดตลอดกาล โตมากับ แวนคูเวอร์ ไวท์แคปส์ ก่อนที่ บาเยิร์น มิวนิค จะทุ่มเงินเป็นสถิติ 22 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (รวมโบนัสเสริม) คว้าตัวไปตอนที่ เดวิส อายุได้แค่ 17-18 เท่านั้น ซึ่งก็ไม่มีคำว่าผิดหวังเมื่อเจ้าหนูเชื้อสายกาน่าพัฒนาตัวเองได้อย่างก้าวกระโดด บางกระแสยกย่องว่าเป็น “แบ็กซ้ายเบอร์ 1 โลก” ที่สำคัญ ยังสารพัดประโยชน์ เล่นได้หมดทางกราบซ้าย และในฟุตบอลโลกครั้งนี้ก็โขกพังประตูประวัติศาสตร์ใส่ โครเอเชีย มาแล้ว

 

โมร็อกโก : ฮาคิม ซีเย็ค & อัชราฟ ฮาคิมี่
ฮาคิม ซีเย็ค เลิกเล่นทีมชาติไปช่วงหนึ่งเนื่องจากความขัดแย้งส่วนตัวกับโค้ชเก่า วาฮิด ฮาลิลฮอดซิช ซึ่งพอมีการเปลี่ยนเป็น วาลิด เรกรากี แล้วก็กลับสู่สารบบทีมชาติดังเดิม โดยแม้จะเจอปัญหาเข้าๆ ออกๆ จากทีมเชลซี แต่ก็คือตัวยืนของทีมชาติ มีผลงานยิง 18 ประตูจาก 45 เกม ด้าน ฮาคิมี่ พัฒนาตัวเองไปจนอยู่ในระดับแบ็กขวาตัวท็อปของวงการแล้ว พร้อมกับบางเสียงยกว่าเป็นเบอร์ 1 โลกยุคปัจจุบันด้วยซ้ำ โดยยิงไปแล้ว 8 ประตูใน 56 เกมทีมชาติ

 

11 ตัวจริงที่คาด
แคนาดา (3-4-3, กุนซือ จอห์น เฮิร์ดแมน) มิลาน บอร์ยาน – คามาล มิลเลอร์, สตีเว่น วิตอเรีย, อลิสแตร์ จอห์นสตัน – อัลฟอนโซ่ เดวิส, สตีเฟ่น ยุสตาคิโอ, อติบา ฮัทชินสัน, ริชี่ ลาร์เยีย – จูเนียร์ ฮอยเล็ตต์, โจนาธาน เดวิด, ทาจอน บัคคาแนน
โมร็อกโก (4-1-4-1, กุนซือ วาลิด เรกรากี) ยาสซีน บูนู – นูสแซร์ มาซราอุย, นาเยฟ อาแกร์ด, โรแม็ง ซาอิสส์, อัชราฟ ฮาคิมี่ – โซฟียาน อัมราบัต – ฮาคิม ซีเย็ค, อัซเซดีน อูนาฮี, โซฟียาน บูฟาล, เซลิม อมัลลาห์ – ยุสเซฟ เอ็น-เนซีรี่

 

สถิติที่เกี่ยวข้อง
• พบกันมา 3 ครั้ง ล่าสุดอุ่นเครื่องปี 2016 โมร็อกโก ต้อนขาด 4-0 ฮาคิม ซีเย็ค ซัดสองประตู
• โมร็อกโก ได้ลุ้นเต็มตัวในการเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้าย หนแรกนับแต่ปี 1986
• อติบา ฮัทชินสัน กัปตันแคนาดา อ่อนกว่ากุนซือ จอห์น เฮิร์ดแมน แค่ 7-8 ปี
• ไคล์ ลาริน ยิงในทีมชาติ 25 ประตู ส่วน โจนาธาน เดวิด 22 ลูก
• โมร็อกโก ก็อยู่ในทรงที่ดีทีเดียว ชนะ 5 จาก 7 เกมหลังสุด และแพ้เกมเดียวเท่านั้นจาก 10 แมตช์หลัง
• แคนาดา ตกรอบแรกแล้ว แต่จะได้ไปฟุตบอลโลกครั้งหน้า 2026 แน่นอน เนื่องจากได้เป็นเจ้าภาพร่วมกับ สหรัฐอเมริกา และ เม็กซิโก

 

ความน่าจะเป็น
อยู่ในสถานการณ์สบายๆ มีโอกาสดีสำหรับการเข้ารอบ แถมเกมนี้ยังได้เจอทีมที่ตกรอบไปแล้วอีกต่างหาก ทำให้ โมร็อกโก จะไม่กดดันเลยในการเตะแมตช์นี้ สามารถเล่นไปตามเกมได้อย่างไม่ซีเรียสเร่งเร้า และด้วยคุณภาพที่เหนือกว่า ทำให้เชื่อว่าน่าจะยังคงเบียดเอาชนะไปได้ในที่สุด

 

ผลที่คาด : โมร็อกโก ชนะ 1-0

เบลเยียม vs โมร็อกโก : ตรวจความพร้อมรอบแรก ฟุตบอลโลก 2022

เบลเยียม vs โมร็อกโก : ตรวจความพร้อมรอบแรก ฟุตบอลโลก 2022

ฟุตบอลโลก 2022 รอบแบ่งกลุ่ม กลุ่มเอฟ : เบลเยียม vs โมร็อกโก
อาทิตย์ 27 พฤศจิกายน 2565, 20.00 น.
สนาม : อัล ธูมาม่า สเตเดี้ยม, โดฮา
ถ่ายทอดสด : 9MCOT

 

ผลงานรอบคัดเลือก
เบลเยียม
แชมป์กลุ่มอี โซนยุโรป
เตะ 8 ชนะ 6 เสมอ 2 แพ้ 0 ยิงได้ 25 เสีย 6

โมร็อกโก
ชนะ ดีอาร์ คองโก รอบ 3 โซนแอฟริกา
นัดแรกเสมอ 1-1, นัดสองชนะ 4-1

 

ฟอร์ม 5 เกมหลังสุด
เบลเยียม
เนชั่นส์ ลีก ชนะ โปแลนด์ 1-0
เนชั่นส์ ลีก ชนะ เวลส์ 2-1
เนชั่นส์ ลีก แพ้ เนเธอร์แลนด์ 0-1
อุ่นเครื่อง แพ้ อียิปต์ 1-2
ฟุตบอลโลก 2022 ชนะ แคนาดา 1-0

โมร็อกโก
คัด AFCON ชนะ ไลบีเรีย 2-0
อุ่นเครื่อง ชนะ ชิลี 2-0
อุ่นเครื่อง เสมอ ปารากวัย 0-0
อุ่นเครื่อง ชนะ จอร์เจีย 3-0
ฟุตบอลโลก 2022 เสมอ โครเอเชีย 0-0

 

ผลการพบกัน (3 นัด)
ฟุตบอลโลก 1994 เบลเยียม ชนะ 1-0
อุ่นเครื่อง 1999 เบลเยียม ชนะ 4-0
อุ่นเครื่อง 2008 โมร็อกโก ชนะ 4-1

 

สภาพทีม
เบลเยียม
ผ่านเข้ารอบแบบไร้พ่ายจากรอบคัดเลือกโซนยุโรป และเกมแรกก็เบียดชนะ แคนาดา 1-0 จากประตูโทนของ มิชี่ บัตชูอายี่

 

โรเบร์โต้ มาร์ติเนซ กุนซือชาวสแปนิชของทัพปีศาจแดงแห่งยุโรป ถูกคาดหมายว่าจะคุมทีมในฟุตบอลโลก 2022 ครั้งนี้เป็นทัวร์นาเมนต์สุดท้าย ภายหลังอยู่บนเก้าอี้มาพักใหญ่ตั้งแต่ปี 2016 และร่วมสร้างยุคทองให้ เบลเยียม เต็มไปด้วยนักเตะระดับคุณภาพ แต่กลับมีร่องรอยตำหนิตรงที่ไม่มีแชมป์รายการใดติดมือเป็นชิ้นเป็นอัน ดีที่สุดคือเป็นอันดับ 3 ฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซีย

 

สำหรับความพร้อมของ เบลเยียม ในเกมนี้ มาร์ติเนซ ยังคงไม่สามารถใช้งาน โรเมลู ลูกากู ดาวยิงเบอร์หนึ่งเจ้าของสถิติ 68 ประตูในนามทีมชาติ ได้ หลังจากหัวหอกอินเตอร์ มิลาน เจ็บต้นขาจนไม่ได้เล่นมาตั้งแต่สิ้นเดือน ต.ค.

 

การขาด ลูกากู ทำให้หน้าเป้าจะเป็นโอกาสต่อเนื่องของ มิชี่ บัตซูอายี่ โดยมี เควิน เดอ บรอยน์ กับ เอแด็น อาซาร์ เป็นตัวปั้นเกมสนับสนุน

 

โมร็อกโก
มีความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ตัวกุนซือ วาฮิด ฮาลิลฮ็อดซิช โดนเด้งไปเมื่อกลางปี หรือก่อนฟุตบอลโลก 2022 จะมาถึงแค่ไม่กี่เดือน โดยเป็น วาลิด เรกรากี อดีตนายใหญ่ อัล-ดูฮาอิล และ วีดัด คาซาบลังก้า มาเสียบแทน

 

แต่ โมร็อกโก ก็อยู่ในทรงที่ดีทีเดียว ชนะ 4 จาก 6 เกมหลังสุด และแพ้เกมเดียวเท่านั้นจาก 9 แมตช์หลัง รวมเกมแรกที่ยันเสมอ โครเอเชีย 0-0

 

อย่างไรก็ตาม เรกรากี มีตัวเจ็บเยอะทีเดียว ทั้ง นูสแซร์ มาซราอุย แบ็กจากบาเยิร์น มิวนิค, อับเดลฮามิด ซาบิรี่ กองกลางจากซามพ์โดเรีย และ อับเดสซาหมัด เอซซาลซูลี่ กองหน้าโอซาซูน่า ไม่พร้อมเล่น

 

แต่ขุนพลตัวหลักอย่าง ฮาคิม ซีเย็ค, โซฟียาน บูฟาล, ยุสเซฟ เอ็น-เนซีรี่ หรือ อัชราฟ ฮาคิมี่ พร้อมรบตามปกติทั้งหมด

 

ตัวความหวัง
เบลเยียม : เควิน เดอ บรอยน์
สร้างชื่อขึ้นเป็นหนึ่งในเพลย์เมกเกอร์ที่ดีที่สุดในโลก และมาตรฐานสูงๆ ก็ยังคงอยู่เช่นเดิมในซีซั่นนี้ ที่ยิง 3 ประตู แอสซิสต์อีกถึง 13 กับการเล่นให้ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ 19 นัด สำหรับในทีมชาติ (94 นัด 25 ประตู) เดอ บรอยน์ ก็ถือเป็นทีเด็ดทีขาดที่ทุกคู่แข่งต้องระวังอยู่เสมอ ไม่ว่าจะลูกจ่ายคมๆ หรือการชงเองกินเองที่มิดฟิลด์วัย 31 พร้อมจัดให้ได้หมด

 

โมร็อกโก : ฮาคิม ซีเย็ค & อัชราฟ ฮาคิมี่
ฮาคิม ซีเย็ค เลิกเล่นทีมชาติไปช่วงหนึ่งเนื่องจากความขัดแย้งส่วนตัวกับโค้ชเก่า วาฮิด ฮาลิลฮอดซิช ซึ่งพอมีการเปลี่ยนเป็น วาลิด เรกรากี แล้วก็กลับสู่สารบบทีมชาติดังเดิม โดยแม้จะเจอปัญหาเข้าๆ ออกๆ จากทีมเชลซี แต่ก็คือตัวยืนของทีมชาติ มีผลงานยิง 18 ประตูจาก 44 เกม ด้าน ฮาคิมี่ พัฒนาตัวเองไปจนอยู่ในระดับแบ็กขวาตัวท็อปของวงการแล้ว พร้อมกับบางเสียงยกว่าเป็นเบอร์ 1 โลกยุคปัจจุบันด้วยซ้ำ โดยยิงไปแล้ว 8 ประตูใน 54 เกมทีมชาติ

 

11 ตัวจริงที่คาด
เบลเยียม (3-4-2-1, กุนซือ โรเบร์โต้ มาร์ติเนซ) ติโบต์ กูร์กตัวส์ – ยาน แฟร์ตองเก้น, โทบี้ อัลเดอร์ไวเรลด์, เลอันเดร์ เดนดองเคอร์ – ยานนิค การ์รัสโก้, อักเซล วิตเซล, ยูรี่ ตีเลมันส์, ทิโมธี คาสตันเย่ – เควิน เดอ บรอยน์, เอแด็น อาซาร์ – มิชี่ บัตชูอายี่
โมร็อกโก (4-2-3-1, กุนซือ วาลิด เรกรากี) ยาสซีน บูนู – นยาห์ย่า อัตติอัต-อัลลาห์, นาเยฟ อาแกร์ด, โรแม็ง ไซส์, อัชราฟ ฮาคิมี่ – อัซเซดีน อูนาฮี, โซฟียาน อัมราบัต – ฮาคิม ซีเย็ค, โซฟียาน บูฟาล, เซลิม อมัลลาห์ – ยุสเซฟ เอ็น-เนซีรี่

 

สถิติที่เกี่ยวข้อง
• พบกันมาแค่ 3 ครั้ง หนึ่งในนั้นเป็นเกมฟุตบอลโลก 1994 ที่สหรัฐฯ เบลเยียม เฉือนชนะ 1-0
• เจอกันล่าสุดปี 2008 โมร็อกโก ถลุง 4-1 ซึ่งบางคนอย่าง ยาน แฟร์ตองเก้น หรือ อักเซล วิตเซล อยู่ในทีมวันนั้นด้วย
• เบลเยียม ชนะเกมฟุตบอลโลก 7 จาก 8 นัดหลัง
• โมร็อกโก ไม่ชนะเกมฟุตบอลโลกถึง 10 จาก 11 แมตช์ล่าสุด
• โมร็อกโกชุดนี้มีเด็กอายุ 18 ด้วย อย่าง บิลาล เอล คานนุส กองกลางดาวรุ่งเชื้อสายเบลเยียมจาก เกงค์ ซึ่งไม่เคยเล่นชุดใหญ่มาก่อน

 

ความน่าจะเป็น
ห้ามประมาทเป็นเด็ดขาดสำหรับ เบลเยียม เมื่อนอกจากฟอร์มของพวกเขาเองจะไม่ได้อยู่ในจุดที่ดีที่สุดแล้ว ยังมีปัญหาสภาพทีม อีกทั้ง โมร็อกโก เองก็มีทีเด็ดทีขาดสร้างอันตรายได้อยู่ แม้ความเป็นไปได้อาจมีโอกาสที่ เบลเยียม จะชนะมากกว่า แต่จะไม่ยิงขาด และมีมุมที่ โมร็อกโก จะดึงแต้มได้ด้วย

 

ผลที่คาด : เบลเยียม ชนะ 1-0, เสมอ 1-1

 

โปรแกรมถัดไป
พฤหัสบดี 1 ธันวาคม 2565
22.00 — โครเอเชีย vs เบลเยียม
22.00 — แคนาดา vs โมร็อกโก