โครเอเชีย vs เบลเยียม : วิเคราะห์นัดปิดกลุ่ม ฟุตบอลโลก 2022

โครเอเชีย vs เบลเยียม : วิเคราะห์นัดปิดกลุ่ม ฟุตบอลโลก 2022

ฟุตบอลโลก 2022 รอบแบ่งกลุ่ม กลุ่มเอฟ นัดสุดท้าย : โครเอเชีย vs เบลเยียม
พฤหัสบดี 1 ธันวาคม 2565, 22.00 น.
สนาม : อาหมัด บิน อาลี สเตเดี้ยม, อัล รายยาน
ถ่ายทอดสด : True4U

 

ผลงานรอบคัดเลือก
โครเอเชีย
แชมป์กลุ่มเอช โซนยุโรป
เตะ 10 ชนะ 7 เสมอ 2 แพ้ 1 ยิงได้ 21 เสีย 4

เบลเยียม
แชมป์กลุ่มอี โซนยุโรป
เตะ 8 ชนะ 6 เสมอ 2 แพ้ 0 ยิงได้ 25 เสีย 6

 

ฟอร์ม 5 เกมหลังสุด
โครเอเชีย
เนชั่นส์ ลีก ชนะ เดนมาร์ก 2-1
เนชั่นส์ ลีก ชนะ ออสเตรีย 3-1
อุ่นเครื่อง ชนะ ซาอุดีอาระเบีย 1-0
ฟุตบอลโลก 2022 เสมอ โมร็อกโก 0-0
ฟุตบอลโลก 2022 ชนะ แคนาดา 4-1

เบลเยียม
เนชั่นส์ ลีก ชนะ เวลส์ 2-1
เนชั่นส์ ลีก แพ้ เนเธอร์แลนด์ 0-1
อุ่นเครื่อง แพ้ อียิปต์ 1-2
ฟุตบอลโลก 2022 ชนะ แคนาดา 1-0
ฟุตบอลโลก 2022 แพ้ โมร็อกโก 0-2

 

ผลการพบกัน : 8 นัด
โครเอเชีย ชนะ 3
เสมอ 2
เบลเยียม ชนะ 3

 

ตารางคะแนนกลุ่มเอฟ หลังผ่าน 2 นัด
1. โครเอเชีย คะแนน 4 ผลต่างประตู +3
2. โมร็อกโก คะแนน 4 ผลต่างประตู +2
3. เบลเยียม คะแนน 3 ผลต่างประตู -1
4. แคนาดา คะแนน 0 ผลต่างประตู -4 (ตกรอบแล้ว)

 

สภาพทีม
โครเอเชีย
ชนะมาติดต่อกัน 5 เกมซ้อนในช่วงเตรียมทีม ก่อนจะเปิดฟุตบอลโลก 2022 แบบหนืดเล็กๆ ได้ผลเสมอจาก โมร็อกโก 0-0 ก่อนเร่งเครื่องกราดยิง แคนาดา 4-1

 

สองนัด 4 แต้มนำจ่าฝูงของกลุ่ม หมายถึงว่า โครเอเชีย ขอแค่เสมอเกมนี้เป็นพอ หรือกระทั่งแพ้ก็ยังมีสิทธิ์เข้า หากว่าอีกคู่ โมร็อกโก พลิกแพ้ แคนาดา ขึ้นมา

 

ซลัตโก้ ดาลิช มีปัญหาสภาพทีมเพิ่มเติมเล็กๆ กับราย อีวาน เปริซิช จอมเก๋าจากสเปอร์ส เจ็บจนต้องเปลี่ยนออกนัดก่อน เกมนี้ถ้าไม่ไหวจะเป็น มิสลาฟ ออร์ซิช เล่นแทนในตำแหน่งปีกซ้าย

 

คาดว่าระบบจะยึด 4-3-3 ตามเดิม แดนกลางอัดแน่นด้วยตัวเก่งอย่าง มาเตโอ โควาซิช, มาร์เซโล่ โบรโซวิช และ ลูก้า โมดริช ส่วนข้างหน้าใช้ มิสลาฟ ออร์ซิช เดินเกมรุกร่วมกับ อันเดรจ์ ครามาริช และ นิโกล่า วลาซิช

 

เบลเยียม
ผ่านเข้ารอบแบบไร้พ่ายจากรอบคัดเลือกโซนยุโรป และเกมแรกก็เบียดชนะ แคนาดา 1-0 แต่ถัดมาเล่นผิดฟอร์มจนแพ้ โมร็อกโก 0-2

 

ชนะ 1 แพ้ 1 มี 3 แต้ม ปีศาจแดงแห่งยุโรปจึงตกที่นั่งลำบากทันที ผลเสมอเกมนี้อาจไม่เพียงพอ เมื่อ โมร็อกโก (4 แต้ม) จะเจอกับทีมตกรอบไปแล้วอย่าง แคนาดา ดังนั้น เบลเยียม ต้องเอาชนะเกมของตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อจะไม่ต้องสนผลอีกคู่

 

ประเด็นสำคัญคือ ภายในแคมป์เบลเยียมดูเหมือนจะมีรอยร้าว ต่อกรณีที่ เควิน เดอ บรอยน์ ไปให้สัมภาษณ์ว่าทีมตนไม่มีลุ้นแชมป์โลกเนื่องจากนักเตะแก่ๆ กันแล้ว ต่อมา ยาน แฟร์ตองเก้น ก็เอ่ยหลังเกมแพ้ โมร็อกโก แบบเหน็บแนมว่าที่ทีมยิงไม่ได้ เพราะเกมรุกแก่เกินไป ก่อนจะมีรายงานว่า เดอ บรอยน์, แฟร์ตองเก้น จนถึง เอแด็น อาซาร์ ทะเลาะกันในแคมป์ หวิดจะจ้วงปากกันทีเดียว

 

ในส่วนความพร้อม โรเบร์โต้ มาร์ติเนซ ไม่อาจใช้งาน อมาดู โอนาน่า ที่สะสมครบ 2 ใบเหลือง ติดแบน 1 นัด แต่มีลุ้นจะได้ โรเมลู ลูกากู ดาวยิงเบอร์หนึ่งเจ้าของสถิติ 68 ประตูในนามทีมชาติ คืนตัวจริง หลังลงสำรองได้แล้วในเกมก่อน

 

หากว่า ลูกากู พร้อมรบ จะลงค้ำหน้าเป้าในระบบ 3-4-2-1 โดยมี เควิน เดอ บรอยน์ กับ เอแด็น อาซาร์ เป็นตัวปั้นเกมสนับสนุน

 

ตัวความหวัง
โครเอเชีย : อันเดรจ์ ครามาริช
เคยเป็นหัวหอกผู้แพ้ ส่วนเกินของ เลสเตอร์ ซิตี้ ชุดแชมป์พรีเมียร์ลีก แต่หลังจากนั้นก็ค่อยๆ สร้างชื่อกับ ฮอฟเฟ่นไฮม์ รวมถึงในทีมชาติ โดยถึงตรงนี้เล่นกับ ฮอฟเฟ่นไฮม์ มาเป็นซีซั่นที่ 8 แล้ว ยิงทะลุหลักร้อยประตูแล้วเช่นกัน (106) ขณะที่ก็ยิง 22 ประตูให้กับทัพตาหมากรุก รวมถึง 2 เม็ดในเกมปราบ แคนาดา ด้วย โดยแม้จะไม่ดุดันครบเครื่องเหมือน ดาวอร์ ซูเคอร์ แต่ก็เป็นคนที่กองหลังไม่อาจประมาทได้เหมือนกัน

 

เบลเยียม : เควิน เดอ บรอยน์
สร้างชื่อขึ้นเป็นหนึ่งในเพลย์เมกเกอร์ที่ดีที่สุดในโลก และมาตรฐานสูงๆ ก็ยังคงอยู่เช่นเดิมในซีซั่นนี้ ที่ยิง 3 ประตู แอสซิสต์อีกถึง 13 กับการเล่นให้ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ 19 นัด สำหรับในทีมชาติ (96 นัด 25 ประตู) เดอ บรอยน์ ก็ถือเป็นทีเด็ดทีขาดที่ทุกคู่แข่งต้องระวังอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม การที่ เดอ บรอยน์ ให้สัมภาษณ์สื่อว่า เบลเยียม ชุดนี้ไม่ดีพอจะคว้าแชมป์โลก เนื่องจากสูงวัยกันเกินไป ก็น่าหวาดเสียวว่าจะเป็นจุดที่ทำให้กลุ่มนักเตะมองหน้ากันไม่ค่อยติด อย่างที่มีข่าวว่าเริ่มทะเลาะกันในแคมป์แล้ว

 

11 ตัวจริงที่คาด
โครเอเชีย (4-3-3, กุนซือ ซลัตโก้ ดาลิช) โดมินิก ลิวาโควิช – บอร์นา โซซ่า, ยอสโก้ กวาร์ดิโอล, เดยัน ลอฟเรน, โยซิป ยูราโนวิช – มาเตโอ โควาซิช, มาร์เซโล่ โบรโซวิช, ลูก้า โมดริช – มิสลาฟ ออร์ซิช, อันเดรจ์ ครามาริช, นิโกล่า วลาซิช
เบลเยียม (3-4-2-1, กุนซือ โรเบร์โต้ มาร์ติเนซ) ติโบต์ กูร์กตัวส์ – ยาน แฟร์ตองเก้น, โทบี้ อัลเดอร์ไวเรลด์, ทิโมธี คาสตันเย่ – เลอันโดร ทรอสซาร์, อักเซล วิตเซล, ยูรี่ ตีเลมันส์, โธมัส มูนิเยร์ – เควิน เดอ บรอยน์, เอแด็น อาซาร์ – โรเมลู ลูกากู

 

สถิติที่เกี่ยวข้อง
• พบกันมาทั้งหมด 8 ครั้ง ต่างฝ่ายต่างชนะได้ 3 หน
• แต่ เบลเยียม ไม่แพ้ โครเอเชีย มา 3 หนซ้อนแล้ว รวมเกมอุ่นเครื่องล่าสุดปีที่แล้ว ที่เฉือนชนะ 1-0 จากการยิงของ โรเมลู ลูกากู
• โครเอเชีย มีนักเตะอายุ 30 ขึ้นไป 8 คน ส่วน เบลเยียม มีอยู่ถึง 11 คน
• จากกลุ่มนักเตะทั้งสองทีม ลูก้า โมดริช อาวุโสสุดที่ 37 ปี
• โรเมลู ลูกากู เล่นให้ อินเตอร์ แค่ 5 นัดในครึ่งซีซั่นแรกที่่ผ่านมา และเล่นทีมชาติแค่ 2 เกมในรอบปี 2022

 

ความน่าจะเป็น
ถ้าวัดกันในหน้ากระดาษ เบลเยียม ไม่เป็นรอง หรือออกจะเหลื่อมๆ กว่าด้วยซ้ำ เพียงแต่รูปทรงที่เป็นในฟุตบอลโลก 2022 และการที่เกิดคำถามเรื่องความเหนียวแน่นในทีมแล้ว ก็ทำให้นาทีนี้ เอียงข้าง โครเอเชีย เอาไว้สบายใจกว่า ว่าอย่างน้อยที่สุดก็คงไม่แพ้ ซึ่ง 1 แต้มก็เป็นสิ่งที่ โครเอเชีย พึงพอใจแล้วด้วย

 

ผลที่คาด : เสมอ 1-1

เบลเยียม vs โมร็อกโก : ตรวจความพร้อมรอบแรก ฟุตบอลโลก 2022

เบลเยียม vs โมร็อกโก : ตรวจความพร้อมรอบแรก ฟุตบอลโลก 2022

ฟุตบอลโลก 2022 รอบแบ่งกลุ่ม กลุ่มเอฟ : เบลเยียม vs โมร็อกโก
อาทิตย์ 27 พฤศจิกายน 2565, 20.00 น.
สนาม : อัล ธูมาม่า สเตเดี้ยม, โดฮา
ถ่ายทอดสด : 9MCOT

 

ผลงานรอบคัดเลือก
เบลเยียม
แชมป์กลุ่มอี โซนยุโรป
เตะ 8 ชนะ 6 เสมอ 2 แพ้ 0 ยิงได้ 25 เสีย 6

โมร็อกโก
ชนะ ดีอาร์ คองโก รอบ 3 โซนแอฟริกา
นัดแรกเสมอ 1-1, นัดสองชนะ 4-1

 

ฟอร์ม 5 เกมหลังสุด
เบลเยียม
เนชั่นส์ ลีก ชนะ โปแลนด์ 1-0
เนชั่นส์ ลีก ชนะ เวลส์ 2-1
เนชั่นส์ ลีก แพ้ เนเธอร์แลนด์ 0-1
อุ่นเครื่อง แพ้ อียิปต์ 1-2
ฟุตบอลโลก 2022 ชนะ แคนาดา 1-0

โมร็อกโก
คัด AFCON ชนะ ไลบีเรีย 2-0
อุ่นเครื่อง ชนะ ชิลี 2-0
อุ่นเครื่อง เสมอ ปารากวัย 0-0
อุ่นเครื่อง ชนะ จอร์เจีย 3-0
ฟุตบอลโลก 2022 เสมอ โครเอเชีย 0-0

 

ผลการพบกัน (3 นัด)
ฟุตบอลโลก 1994 เบลเยียม ชนะ 1-0
อุ่นเครื่อง 1999 เบลเยียม ชนะ 4-0
อุ่นเครื่อง 2008 โมร็อกโก ชนะ 4-1

 

สภาพทีม
เบลเยียม
ผ่านเข้ารอบแบบไร้พ่ายจากรอบคัดเลือกโซนยุโรป และเกมแรกก็เบียดชนะ แคนาดา 1-0 จากประตูโทนของ มิชี่ บัตชูอายี่

 

โรเบร์โต้ มาร์ติเนซ กุนซือชาวสแปนิชของทัพปีศาจแดงแห่งยุโรป ถูกคาดหมายว่าจะคุมทีมในฟุตบอลโลก 2022 ครั้งนี้เป็นทัวร์นาเมนต์สุดท้าย ภายหลังอยู่บนเก้าอี้มาพักใหญ่ตั้งแต่ปี 2016 และร่วมสร้างยุคทองให้ เบลเยียม เต็มไปด้วยนักเตะระดับคุณภาพ แต่กลับมีร่องรอยตำหนิตรงที่ไม่มีแชมป์รายการใดติดมือเป็นชิ้นเป็นอัน ดีที่สุดคือเป็นอันดับ 3 ฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซีย

 

สำหรับความพร้อมของ เบลเยียม ในเกมนี้ มาร์ติเนซ ยังคงไม่สามารถใช้งาน โรเมลู ลูกากู ดาวยิงเบอร์หนึ่งเจ้าของสถิติ 68 ประตูในนามทีมชาติ ได้ หลังจากหัวหอกอินเตอร์ มิลาน เจ็บต้นขาจนไม่ได้เล่นมาตั้งแต่สิ้นเดือน ต.ค.

 

การขาด ลูกากู ทำให้หน้าเป้าจะเป็นโอกาสต่อเนื่องของ มิชี่ บัตซูอายี่ โดยมี เควิน เดอ บรอยน์ กับ เอแด็น อาซาร์ เป็นตัวปั้นเกมสนับสนุน

 

โมร็อกโก
มีความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ตัวกุนซือ วาฮิด ฮาลิลฮ็อดซิช โดนเด้งไปเมื่อกลางปี หรือก่อนฟุตบอลโลก 2022 จะมาถึงแค่ไม่กี่เดือน โดยเป็น วาลิด เรกรากี อดีตนายใหญ่ อัล-ดูฮาอิล และ วีดัด คาซาบลังก้า มาเสียบแทน

 

แต่ โมร็อกโก ก็อยู่ในทรงที่ดีทีเดียว ชนะ 4 จาก 6 เกมหลังสุด และแพ้เกมเดียวเท่านั้นจาก 9 แมตช์หลัง รวมเกมแรกที่ยันเสมอ โครเอเชีย 0-0

 

อย่างไรก็ตาม เรกรากี มีตัวเจ็บเยอะทีเดียว ทั้ง นูสแซร์ มาซราอุย แบ็กจากบาเยิร์น มิวนิค, อับเดลฮามิด ซาบิรี่ กองกลางจากซามพ์โดเรีย และ อับเดสซาหมัด เอซซาลซูลี่ กองหน้าโอซาซูน่า ไม่พร้อมเล่น

 

แต่ขุนพลตัวหลักอย่าง ฮาคิม ซีเย็ค, โซฟียาน บูฟาล, ยุสเซฟ เอ็น-เนซีรี่ หรือ อัชราฟ ฮาคิมี่ พร้อมรบตามปกติทั้งหมด

 

ตัวความหวัง
เบลเยียม : เควิน เดอ บรอยน์
สร้างชื่อขึ้นเป็นหนึ่งในเพลย์เมกเกอร์ที่ดีที่สุดในโลก และมาตรฐานสูงๆ ก็ยังคงอยู่เช่นเดิมในซีซั่นนี้ ที่ยิง 3 ประตู แอสซิสต์อีกถึง 13 กับการเล่นให้ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ 19 นัด สำหรับในทีมชาติ (94 นัด 25 ประตู) เดอ บรอยน์ ก็ถือเป็นทีเด็ดทีขาดที่ทุกคู่แข่งต้องระวังอยู่เสมอ ไม่ว่าจะลูกจ่ายคมๆ หรือการชงเองกินเองที่มิดฟิลด์วัย 31 พร้อมจัดให้ได้หมด

 

โมร็อกโก : ฮาคิม ซีเย็ค & อัชราฟ ฮาคิมี่
ฮาคิม ซีเย็ค เลิกเล่นทีมชาติไปช่วงหนึ่งเนื่องจากความขัดแย้งส่วนตัวกับโค้ชเก่า วาฮิด ฮาลิลฮอดซิช ซึ่งพอมีการเปลี่ยนเป็น วาลิด เรกรากี แล้วก็กลับสู่สารบบทีมชาติดังเดิม โดยแม้จะเจอปัญหาเข้าๆ ออกๆ จากทีมเชลซี แต่ก็คือตัวยืนของทีมชาติ มีผลงานยิง 18 ประตูจาก 44 เกม ด้าน ฮาคิมี่ พัฒนาตัวเองไปจนอยู่ในระดับแบ็กขวาตัวท็อปของวงการแล้ว พร้อมกับบางเสียงยกว่าเป็นเบอร์ 1 โลกยุคปัจจุบันด้วยซ้ำ โดยยิงไปแล้ว 8 ประตูใน 54 เกมทีมชาติ

 

11 ตัวจริงที่คาด
เบลเยียม (3-4-2-1, กุนซือ โรเบร์โต้ มาร์ติเนซ) ติโบต์ กูร์กตัวส์ – ยาน แฟร์ตองเก้น, โทบี้ อัลเดอร์ไวเรลด์, เลอันเดร์ เดนดองเคอร์ – ยานนิค การ์รัสโก้, อักเซล วิตเซล, ยูรี่ ตีเลมันส์, ทิโมธี คาสตันเย่ – เควิน เดอ บรอยน์, เอแด็น อาซาร์ – มิชี่ บัตชูอายี่
โมร็อกโก (4-2-3-1, กุนซือ วาลิด เรกรากี) ยาสซีน บูนู – นยาห์ย่า อัตติอัต-อัลลาห์, นาเยฟ อาแกร์ด, โรแม็ง ไซส์, อัชราฟ ฮาคิมี่ – อัซเซดีน อูนาฮี, โซฟียาน อัมราบัต – ฮาคิม ซีเย็ค, โซฟียาน บูฟาล, เซลิม อมัลลาห์ – ยุสเซฟ เอ็น-เนซีรี่

 

สถิติที่เกี่ยวข้อง
• พบกันมาแค่ 3 ครั้ง หนึ่งในนั้นเป็นเกมฟุตบอลโลก 1994 ที่สหรัฐฯ เบลเยียม เฉือนชนะ 1-0
• เจอกันล่าสุดปี 2008 โมร็อกโก ถลุง 4-1 ซึ่งบางคนอย่าง ยาน แฟร์ตองเก้น หรือ อักเซล วิตเซล อยู่ในทีมวันนั้นด้วย
• เบลเยียม ชนะเกมฟุตบอลโลก 7 จาก 8 นัดหลัง
• โมร็อกโก ไม่ชนะเกมฟุตบอลโลกถึง 10 จาก 11 แมตช์ล่าสุด
• โมร็อกโกชุดนี้มีเด็กอายุ 18 ด้วย อย่าง บิลาล เอล คานนุส กองกลางดาวรุ่งเชื้อสายเบลเยียมจาก เกงค์ ซึ่งไม่เคยเล่นชุดใหญ่มาก่อน

 

ความน่าจะเป็น
ห้ามประมาทเป็นเด็ดขาดสำหรับ เบลเยียม เมื่อนอกจากฟอร์มของพวกเขาเองจะไม่ได้อยู่ในจุดที่ดีที่สุดแล้ว ยังมีปัญหาสภาพทีม อีกทั้ง โมร็อกโก เองก็มีทีเด็ดทีขาดสร้างอันตรายได้อยู่ แม้ความเป็นไปได้อาจมีโอกาสที่ เบลเยียม จะชนะมากกว่า แต่จะไม่ยิงขาด และมีมุมที่ โมร็อกโก จะดึงแต้มได้ด้วย

 

ผลที่คาด : เบลเยียม ชนะ 1-0, เสมอ 1-1

 

โปรแกรมถัดไป
พฤหัสบดี 1 ธันวาคม 2565
22.00 — โครเอเชีย vs เบลเยียม
22.00 — แคนาดา vs โมร็อกโก

 

เบลเยียม vs แคนาดา : ตรวจความพร้อมรอบแรก ฟุตบอลโลก 2022

เบลเยียม vs แคนาดา : ตรวจความพร้อมรอบแรก ฟุตบอลโลก 2022

ฟุตบอลโลก 2022 รอบแบ่งกลุ่ม กลุ่มเอฟ : เบลเยียม vs แคนาดา
พุธ 23 พฤศจิกายน 2565, 02.00 น. (เช้าตรู่วันพฤหัสบดี 24)
สนาม : อาหมัด บิน อาลี สเตเดี้ยม, อัล รายยาน
ถ่ายทอดสด : ไทยรัฐทีวี

 

ผลงานรอบคัดเลือก
เบลเยียม
แชมป์กลุ่มอี โซนยุโรป
เตะ 8 ชนะ 6 เสมอ 2 แพ้ 0 ยิงได้ 25 เสีย 6

แคนาดา
แชมป์รอบ 3 โซนคอนคาเคฟ
เตะ 14 ชนะ 8 เสมอ 4 แพ้ 2 ยิงได้ 23 เสีย 7

 

ฟอร์ม 5 เกมหลังสุด
เบลเยียม
เนชั่นส์ ลีก เสมอ เวลส์ 1-1
เนชั่นส์ ลีก ชนะ โปแลนด์ 1-0
เนชั่นส์ ลีก ชนะ เวลส์ 2-1
เนชั่นส์ ลีก แพ้ เนเธอร์แลนด์ 0-1
อุ่นเครื่อง แพ้ อียิปต์ 1-2

แคนาดา
เนชั่นส์ ลีก แพ้ ฮอนดูรัส 1-2
อุ่นเครื่อง ชนะ กาตาร์ 2-0
อุ่นเครื่อง แพ้ อุรุกวัย 0-2
อุ่นเครื่อง เสมอ บาห์เรน 2-2
อุ่นเครื่อง ชนะ ญี่ปุ่น 2-1

 

ผลการพบกัน (1 นัด)
อุ่นเครื่อง 1989 แคนาดา 0-2 เบลเยียม

 

สภาพทีม
เบลเยียม
ผ่านเข้ารอบแบบไร้พ่ายจากรอบคัดเลือกโซนยุโรป กระนั้นช่วงหลังฟอร์มก็ออกแกว่งพอสมควร แพ้มารวด 2 นัดหลัง อันเป็นเกมสุดท้ายของ ยูฟ่า เนชั่นส์ ลีก ที่พ่าย เนเธอร์แลนด์ 0-1 และอุ่นเครื่องเมื่อไม่กี่วันก่อน แพ้ อียิปต์ 1-2 ที่คูเวต

 

โรเบร์โต้ มาร์ติเนซ กุนซือชาวสแปนิชของทัพปีศาจแดงแห่งยุโรป ยังถูกคาดหมายว่าจะคุมทีมในฟุตบอลโลก 2022 ครั้งนี้เป็นทัวร์นาเมนต์สุดท้าย ภายหลังอยู่บนเก้าอี้มาพักใหญ่ตั้งแต่ปี 2016 และร่วมสร้างยุคทองให้ เบลเยียม เต็มไปด้วยนักเตะระดับคุณภาพ แต่กลับมีร่องรอยตำหนิตรงที่ไม่มีแชมป์รายการใดติดมือเป็นชิ้นเป็นอัน ดีที่สุดคือเป็นอันดับ 3 ฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซีย

 

สำหรับความพร้อมของ เบลเยียม ในเกมนี้ มาร์ติเนซ ไม่สามารถใช้งาน โรเมลู ลูกากู ดาวยิงเบอร์หนึ่งเจ้าของสถิติ 68 ประตูในนามทีมชาติ ได้ หลังจากหัวหอกอินเตอร์ มิลาน เจ็บต้นขาจนไม่ได้เล่นมาตั้งแต่สิ้นเดือน ต.ค.

 

ที่ต้องเช็กฟิตยังมี เลอันโดร ทรอสซาร์ ตัวปั้นเกมฟอร์มแรงจากไบรท์ตัน และ โธมัส มูนิเยร์ แบ็กขวาดอร์ทมุนด์ แต่ก็เชื่อว่าทั้งสองจะพร้อมเป็นตัวเลือกในที่สุด

 

การขาด ลูกากู ทำให้หน้าเป้าจะเป็นโอกาสของ มิชี่ บัตซูอายี่ โดยมี เควิน เดอ บรอยน์ กับ เอแด็น อาซาร์ เป็นตัวปั้นเกมสนับสนุน

 

แคนาดา
ทัพเมเปิ้ลได้กลับมาโชว์ตัวในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายอีกครั้ง หลังหายหน้าไปตั้งแต่ได้เล่นหนแรกเมื่อปี 1986 หรือช่วงที่นักเตะแทบทั้งหมดในทีมชุดนี้ยังไม่ทันลืมตาดูโลกด้วยซ้ำ (ยกเว้นแค่กัปตันทีม อติบา ฮัทชินสัน เกิดปี 1983)

 

แต่มาคราวนี้ถือว่า แคนาดา น่าเกรงขามทีเดียว ด้วยการผงาดแชมป์ของรอบ 3 โซนคอนคาเคฟ เหนือขั้วอำนาจเก่าทั้ง เม็กซิโก และ สหรัฐอเมริกา แถม แคนาดา ยังเอาชนะทั้งสองชาติ รวมไปถึง คอสตาริกา โดยตรงในรอบคัดเลือกครั้งนี้ด้วย

 

แคนาดา คุมทีมโดย จอห์น เฮิร์ดแมน โค้ชชาวอังกฤษ ที่ขยับจากทีมชาติฝ่ายหญิง (2011-2018) มารับงานนี้ และในทีมมีดาวเด่นอย่าง อัลฟอนโซ่ เดวิส (บาเยิร์น), โจนาธาน เดวิด (ลีลล์), ไคล์ ลาริน (คลับ บรูช), สตีเฟ่น ยุสตากิโต้ (ปอร์โต้) เป็นแกนนำ

 

เฮิร์ดแมน ไม่มีปัญหาในการจัดทีมเกมนี้ โดยจะวางระบบเปิดหน้าแลก 4-3-3 อัลฟอนโซ่ เดวิส ขึ้นเกมทางฝั่งซ้าย ส่วนสามกองหน้าเป็น โจนาธาน เดวิด, ไคล์ ลาริน และ ทาจอน บัคคาแนน

 

ตัวความหวัง
เบลเยียม : เควิน เดอ บรอยน์
สร้างชื่อขึ้นเป็นหนึ่งในเพลย์เมกเกอร์ที่ดีที่สุดในโลก และมาตรฐานสูงๆ ก็ยังคงอยู่เช่นเดิมในซีซั่นนี้ ที่ยิง 3 ประตู แอสซิสต์อีกถึง 13 กับการเล่นให้ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ 19 นัด จนตัวจบสกอร์อย่าง เออร์ลิ่ง เบราท์ ฮาแลนด์ แทบจะควักเงินจ้าง เดอ บรอยน์ ไปเป็นผู้ช่วยส่วนตัวนอกสนามอยู่แล้ว สำหรับในทีมชาติ (94 นัด 25 ประตู) เดอ บรอยน์ ก็ถือเป็นทีเด็ดทีขาดที่ทุกคู่แข่งต้องระวังอยู่เสมอ ไม่ว่าจะลูกจ่ายคมๆ หรือการชงเองกินเองที่มิดฟิลด์วัย 31 พร้อมจัดให้ได้หมด

 

แคนาดา : อัลฟอนโซ่ เดวิส
นักเตะที่ดีที่สุดในยุคนี้ของ แคนาดา หรือกระทั่งอาจจะดีที่สุดตลอดกาล โตมากับ แวนคูเวอร์ ไวท์แคปส์ ก่อนที่มหาอำนาจฟุตบอลเยอรมันอย่าง บาเยิร์น มิวนิค จะทุ่มเงินเป็นสถิติ 22 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (รวมโบนัสเสริมในอนาคต) คว้าตัวไปปั้นต่อ ตอนที่ เดวิส อายุได้แค่ 17-18 เท่านั้น ซึ่งก็ไม่มีคำว่าผิดหวัง เมื่อเจ้าหนูเชื้อสายกาน่าพัฒนาตัวเองได้อย่างก้าวกระโดด เป็นตัวหลักให้กับทัพเสือใต้มาแล้วเป็นปีที่ 4 พร้อมกระแสยกย่องว่าเป็น “แบ็กซ้ายเบอร์ 1 โลก” จากบางฝ่าย ที่สำคัญ ยังสารพัดประโยชน์ทางกราบซ้าย จนการใส่ชื่อไปลุยฟุตบอลโลก 2022 ครั้งนี้ เดวิส ไปในฐานะตัวเลือก “กองหน้า” ด้วยซ้ำ

 

11 ตัวจริงที่คาด
เบลเยียม (3-4-2-1, กุนซือ โรเบร์โต้ มาร์ติเนซ) ติโบต์ กูร์กตัวส์ – ยาน แฟร์ตองเก้น, โทบี้ อัลเดอร์ไวเรลด์, เลอันเดร์ เดนดองเคอร์ – ยานนิค การ์รัสโก้, อักเซล วิตเซล, ยูรี่ ตีเลมันส์, โธมัส มูนิเยร์ – เควิน เดอ บรอยน์, เอแด็น อาซาร์ – มิชี่ บัตชูอายี่
แคนาดา (3-4-3, กุนซือ จอห์น เฮิร์ดแมน) มิลาน บอร์ยาน – คามาล มิลเลอร์, สตีเว่น วิตอเรีย, อลิสแตร์ จอห์นสตัน – อัลฟอนโซ่ เดวิส, สตีเฟ่น ยุสตาคิโอ, อติบา ฮัทชินสัน, ริชี่ ลาร์เยีย – ไคล์ ลาริน, โจนาธาน เดวิด, ทาจอน บัคคาแนน

 

สถิติที่เกี่ยวข้อง
• พบกันมาครั้งเดียวเมื่อปี 1989 เบลเยียม ชนะไม่ลำบาก 2-0
• เบลเยียม มีนักเตะที่เล่นทีมชาติเกิน 100 นัดถึง 6 รายในทีมชุดนี้ (แฟร์ตองเก้น 142, วิตเซล 127, อัลเดอร์ไวเรลด์ 124, อาซาร์ 123, เมอร์เทนส์ 107, ลูกากู 102)
• อติบา ฮัทชินสัน กัปตันแคนาดา อ่อนกว่ากุนซือ จอห์น เฮิร์ดแมน แค่ 7-8 ปี
• ไคล์ ลาริน ยิงในทีมชาติ 25 ประตู ส่วน โจนาธาน ดาวิด 22 ลูก

 

ความน่าจะเป็น
เบลเยียม ไม่ได้อยู่ในจุดที่ดีที่สุดหรือพีคๆ เหมือนเมื่อ 3-4 ปีก่อน และจะเจองานไม่ง่ายจาก แคนาดา ที่แม้จะเป็นการเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายสมัยแรกถัดจาก 1986 ก็ตาม เพียงแต่อย่างไรเสีย อย่างน้อยที่สุดหนึ่งเม็ดก็น่าเจาะเข้า แล้วค่อยลุ้นต่อกับเม็ดสองเพิ่มเติม

 

ผลที่คาด : เบลเยียม ชนะ 1-0

 

โปรแกรมถัดไป
เบลเยียม
อาทิตย์ 27 พฤศจิกายน 2565 — 20.00 — เบลเยียม vs โมร็อกโก
พฤหัสบดี 1 ธันวาคม 2565 — 22.00 — โครเอเชีย vs เบลเยียม

แคนาดา
อาทิตย์ 27 พฤศจิกายน 2565 — 23.00 — โครเอเชีย vs แคนาดา
พฤหัสบดี 1 ธันวาคม 2565 — 22.00 — แคนาดา vs โมร็อกโก

8 ชาติแถวหน้ากับโผนักเตะชุดลุยฟุตบอลโลก 2022

8 ชาติแถวหน้ากับโผนักเตะชุดลุยฟุตบอลโลก 2022

กังหัน, สิงโต, ฟ้าขาว, ตราไก่, กระทิง, อินทรีเหล็ก, ปีศาจแดง, ฝอยทอง ใครกัน จะเข้าใกล้ความสำเร็จแห่งฟุตบอลโลก 2022 มากที่สุด…เมื่อพิจารณาจากขุมกำลังนักเตะที่เผยออกมา

 

นับถอยหลังแค่ไม่กี่คืน ทัวร์นาเมนต์ที่โลกรอคอยอย่าง ฟุตบอลโลก 2022 ก็จะมาถึง และเกือบทุกทีมก็เผยชื่อนักเตะ 26 คนสุดท้ายที่จะไปแอ่วกาตาร์ ออกมาแล้ว

 

ด้านล่างนี้คือ 26 รายชื่อชุดสุดท้ายของบรรดาชาติยักษ์ใหญ่ มีเอี่ยวลุ้นแชมป์โลก ที่ทยอยประกาศออกมาก่อนที่ เวิลด์ คัพ จะเริ่มโรมรันประชันแข้งกันราว 1 สัปดาห์

 

ใครเป็นใคร ใครไปบอลโลก ใครหลุดโผ ใครจัดให้ครบถ้วนกว่านี้ มาบอก!

 

 

กังหันลม เนเธอร์แลนด์ กับความหวังถึง ‘ครั้งแรก’
แม้จะผลิตยอดดาวเตะขึ้นสู่วงการได้แบบนับไม่ถ้วน ไม่ว่าอดีตหรือปัจจุบัน แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ เนเธอร์แลนด์ ก็ไม่เคยไปถึงแชมป์โลกได้มาก่อน โดยต้องเจ็บปวดกับการเป็น “พระรอง” ถึง 3 ครั้ง คือฟุตบอลโลก 1974, 1978 และ 2010 ที่ถึงชิงชนะเลิศแล้วแต่กลับแพ้ทั้งสามครั้ง

 

ยิ่งน่าสนใจมากขึ้นตรงที่ฟุตบอลโลกครั้งก่อน รัสเซีย 2018 เนเธอร์แลนด์ ตกต่ำสุดถึงขั้นตกรอบคัดเลือกมาแล้ว ดังนั้น มาคราวนี้ในการทำทีมของคนคุ้นเคยอย่าง หลุยส์ ฟาน กัล พวกเขาจึงพกความมุ่งมั่นมาอย่างเต็มพิกัด โดยเฉพาะการได้อยู่ในกลุ่มที่ไม่แข็งนัก ร่วมกับเจ้าภาพ กาตาร์, เอกวาดอร์ และ เซเนกัล แม้อาจเป็นบอลต่างสไตล์ไม่ค่อยได้เจอนัก แต่หลายฝ่ายก็เชื่อว่าจะผ่านไปได้ จากนั้นในรอบน็อกเอาต์ก็ต้องมาตามลุ้นกันว่าจะได้คู่แข่งเป็นใครในแต่ละรอบ ดูกันแต่ละแมตช์ แล้วถึงเวลาจะเห็นเองว่า “แชมป์โลกสมัยแรก” มีความเป็นไปได้มากขนาดไหน

 

สำหรับขุมกำลังที่ ฟาน กัล หิ้วไปกาตาร์ ส่วนใหญ่ก็เป็นชุดเดิมๆ ที่ใช้มาตลอดปีหลังๆ แต่ก็น่าเสียดายแทนตัวที่หลุดออกไป ทั้ง สเวน บ็อตมัน, ฮานส์ ฮาเตบัวร์, ดอนเยลล์ มาเลน, อาร์โนต์ ดันยูม่า หรือ ดอนนี่ ฟาน เดอ เบ็ค (ส่วน จอร์จินโญ่ ไวจ์นัลดุม ปกติต้องได้ไป แต่ดันเจ็บหนักพักยาวเสียก่อน) ซึ่งมองว่า ถ้าบางคนได้ไป น่าจะมีประโยชน์กับทัพกังหันอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะ บ็อตมัน เซนเตอร์แบ็กวัย 22 ที่เล่นดีมากกับ นิวคาสเซิ่ล ยูไนเต็ด ซีซั่นนี้

 

โผ 26 แข้งเนเธอร์แลนด์ ชุดลุยฟุตบอลโลก 2022
ผู้รักษาประตู
ยุสติน ไบจ์โลว์ / อายุ 24 / เฟเยนูร์ด / เล่นทีมชาติ 6 นัด
เรมโก้ พาสเฟียร์ / 39 / อาแจ็กซ์ / 2
อันเดรียส น็อพเพิร์ต / 28 / ฮีเรนวีน / 0

กองหลัง
ดาลี่ย์ บลินด์ / 32 / อาแจ็กซ์ / 94 – 2
สเตฟาน เดอ ฟราย / 30 / อินเตอร์ / 59 – 3
เฟอร์จิล ฟาน ไดค์ (กัปตันทีม) / 31 / ลิเวอร์พูล / 49 – 6
มัทไธส์ เดอ ลิกท์ / 23 / บาเยิร์น / 38 – 2
เดนเซล ดุมฟรีส์ / 26 / อินเตอร์ / 37 – 5
นาธาน อาเก้ / 27 / แมนฯ ซิตี้ / 29 – 3
ยูร์เรียน ทิมเบอร์ / 21 / อาแจ็กซ์ / 10 – 0
ไทเรลล์ มาลาเซีย / 23 / แมนฯ ยูไนเต็ด / 6 – 0
เยเรมี่ ฟริมปง / 21 / เลเวอร์คูเซ่น / 0 – 0

กองกลาง
เฟรงกี้ เดอ ยอง / 25 / บาร์เซโลน่า / 45 – 1
สตีเฟ่น แบร์กฮุยส์ / 30 / อาแจ็กซ์ / 39 – 2
ดาวี่ คลาสเซ่น / 29 / อาแจ็กซ์ / 35 – 9
มาร์เท่น เดอ รอน / 31 / อตาลันต้า / 30 – 0
เทน โคปไมเนอร์ส / 24 / อตาลันต้า / 10 – 1
เคนเน็ธ เทย์เลอร์ / 20 / อาแจ็กซ์ / 2 – 0
ชาบี ซิมอนส์ / 19 / พีเอสวี / 0-0

กองหน้า
เมมฟิส เดอปาย / 28 / บาร์เซโลน่า / 81 – 42
ลุค เดอ ยอง / 32 / พีเอสวี / 38 – 8
สตีเฟ่น เบิร์กไวน์ / 25 / อาแจ็กซ์ / 24 – 7
วินเซนต์ ยานส์เซ่น / 28 / อันท์เวิร์ป / 20 – 7
วู้ท เวกอร์ทส์ / 30 / เบซิคตัส / 15 – 3
โคดี้ กัคโป / 23 / พีเอสวี / 9 – 3
โนอา ลัง / 23 / คลับ บรูช / 5 – 1

หลุดโผ
ยาสเปอร์ ชิลเลสเซ่น (เอ็นอีซี), ทิม ครูล (นอริช), สเวน บ็อตมัน (นิวคาสเซิ่ล), ปาสกาล สเตราค์ (ลีดส์), บรูโน่ มาร์ตินส์ อินดี้ (อาแซด), ฮานส์ ฮาเตบัวร์ (อตาลันต้า), ริค คาร์สดอร์ป (โรม่า), ยอร์ดี้ คลาซี่ (อาแซด), ดอนนี่ ฟาน เดอ เบ็ค (แมนฯ ยูไนเต็ด), ไรอัน กราเฟนเบิร์ค (บาเยิร์น), จอร์จินโญ่ ไวจ์นัลดุม (โรม่า), ดอนเยลล์ มาเลน (ดอร์ทมุนด์), อาร์โนต์ ดันยูม่า (บียาร์เรอัล), ไบรอัน บร๊อบบี้ย์ (อาแจ็กซ์)

 

 

 

สิงโตคำราม อังกฤษ กับฟุตบอลโลก 2022 และคำปรามาส
ท่ามกลางคำปรามาสที่ แกเร็ธ เซาธ์เกต ต้องเผชิญ อันที่จริง อดีตนายใหญ่มิดเดิ้ลโบรช์ ก็พา อังกฤษ เข้ารอบลึกมาแล้ว 2 รายการติดต่อกัน ทั้งฟุตบอลโลก 2018 ที่ตกตัดเชือก (และเป็นอันดับ 4) ต่อด้วยยูโร 2020 ที่ถึงชิงมาแล้ว ก่อนแพ้อย่างหวุดหวิดมากๆ เพียงการดวลจุดโทษต่อ อิตาลี เท่านั้นเอง

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แฟนบอลค่อนข้างเป็นกังวล คือฟอร์มช่วงหลังที่สิงโตออกทรงฟุบอย่างชัดเจน เอาชนะใครไม่เป็นเลยใน 6 เกมของ ยูฟ่า เนชั่นส์ ลีก จนตกชั้น และน่าหวั่นเกรงว่าจะเร่งเครื่องฮึดขึ้นทันไหมเมื่อฟุตบอลโลก 2022 มาถึง

 

และกับขุมกำลัง 26 สิงโตคำราม ที่ เซาธ์เกต เลือกไป ก็ก่อให้เกิดคำถามในหลายจุดเหมือนกัน ตั้งแต่หลังสุดไปหน้าสุด ทั้งการที่ยังคงเชื่อใจในจอมรั่วอย่าง แฮร์รี่ แม็กไกวร์ ถึงขั้นที่น่าจะยังคงยัดลงตัวจริงไม่เปลี่ยน, แดนกลางที่หิ้ว แคลวิน ฟิลลิปส์ ผู้ซึ่งเจ็บออดๆ แอดๆ มาทั้งซีซั่น ติดไปด้วย หรือข้างหน้าที่ไม่แคล้วคงต้องพึ่งพา แฮร์รี่ เคน เป็นสำคัญ

 

คำถามทั้งหมด จะปรากฏคำตอบในเกมกับ อิหร่าน, สหรัฐอเมริกา, เวลส์ และรอบถัดๆ ไป หากไม่เกิดข้อผิดพลาดหนักหนาจนร่วงรอบแรกแบบช็อกโลกไปเสียก่อน

 

โผ 26 แข้งอังกฤษ ชุดลุยฟุตบอลโลก 2022
ผู้รักษาประตู
1. จอร์แดน พิคฟอร์ด / 28 / เอฟเวอร์ตัน / 45
13. นิค โป๊ป / 10 / นิวคาสเซิ่ล / 10
23. อารอน แรมส์เดล / 24 / อาร์เซน่อล / 3

กองหลัง
2. ไคล์ วอล์คเกอร์ / 32 / แมนฯ ซิตี้ / 70 – 0
3. ลุค ชอว์ / 27 / แมนฯ ยูไนเต็ด / 23 – 3
5. จอห์น สโตนส์ / 28 / แมนฯ ซิตี้ / 59 – 3
6. แฮร์รี่ แม็กไกวร์ / 29 / แมนฯ ยูไนเต็ด / 48 – 7
12. คีแรน ทริปเปียร์ / 32 / นิวคาสเซิ่ล / 37 – 1
15. เอริก ไดเออร์ / 28 / สเปอร์ส / 47 – 3
16. โคเนอร์ คอดี้ / 29 / เอฟเวอร์ตัน / 10 – 1
18. เทรนท์ อล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ / 24 / ลิเวอร์พูล / 17 – 1
21. เบน ไวท์ / 25 / อาร์เซน่อล / 4 – 0

กองกลาง
4. ดีแคลน ไรซ์ / 23 / เวสต์แฮม / 34 – 2
8. จอร์แดน เฮนเดอร์สัน / 32 / ลิเวอร์พูล / 70 – 2
14. แคลวิน ฟิลลิปส์ / 26 / แมนฯ ซิตี้ / 23 – 0
19. เมสัน เมาท์ / 23 / เชลซี / 32 – 5
22. จู๊ด เบลลิงแฮม / 19 / ดอร์ทมุนด์ / 17 – 0
26. โคเนอร์ กัลลาเกอร์ / 22 / เชลซี / 4 – 0

กองหน้า
7. แจ๊ค กรีลิช / 27 / แมนฯ ซิตี้ / 24 – 1
9. แฮร์รี่ เคน (กัปตันทีม) / 29 / สเปอร์ส / 75 – 51
10. ราฮีม สเตอร์ลิ่ง / 27 / เชลซี / 79 – 19
11. มาร์คัส แรชฟอร์ด / 25 / แมนฯ ยูไนเต็ด / 46 – 12
17. บูกาโย่ ซาก้า / 21 / อาร์เซน่อล / 20 – 4
20. ฟิล โฟเด้น / 22 / แมนฯ ซิตี้ / 18 – 2
24. คัลลั่ม วิลสัน / 30 / นิวคาสเซิ่ล / 4 – 1
25. เจมส์ แมดดิสัน / 26 / เลสเตอร์ / 1 – 0

หลุดโผ
ดีน เฮนเดอร์สัน (ฟอเรสต์), เบน ชิลเวลล์ (เชลซี), รีซ เจมส์ (เชลซี), ฟิคาโย่ โทโมรี่ (มิลาน), เจมส์ จัสติน (เลสเตอร์), ไทโรน มิงส์ (วิลล่า), ไคล์ วอล์คเกอร์-ปีเตอร์ส (เซาธ์แฮมป์ตัน), แอชลี่ย์ ยัง (วิลล่า), ไรอัน แซสเซยง (สเปอร์ส), ติโน่ ลอฟราเมนโต้ (เซาธ์แฮมป์ตัน), ทาริค แลมป์ตี้ย์ (ไบรท์ตัน), เคอร์ติส โจนส์ (ลิเวอร์พูล), เจมส์ วอร์ด-เพราส์ (เซาธ์แฮมป์ตัน), เอมิล สมิธ โรว์ (อาร์เซน่อล), โอลิเวอร์ สคิปป์ (สเปอร์ส), แฮร์รี่ วิงค์ส (ซามพ์โดเรีย), ฮาร์วี่ย์ เอลเลียตต์ (ลิเวอร์พูล), แอนโธนี่ กอร์ดอน (เอฟเวอร์ตัน), แทมมี่ อบราแฮม (โรม่า), จาร์ร็อด โบเว่น (เวสต์แฮม), ไอแวน โทนี่ย์ (เบรนท์ฟอร์ด), โอลลี่ วัตกิ้นส์ (วิลล่า), แดนนี่ เวลเบ็ค (ไบรท์ตัน), เมสัน กรีนวู้ด (แมนฯ ยูไนเต็ด)

 

 

 

ฟ้าขาว อาร์เจนติน่า ชุดนี้…ถึงแชมป์โลก???
ทั้งเอไอ ซูเปอร์คอมพิวเตอร์, โปรแกรมซิมูเลชั่นของเกมฟีฟ่า หรือการคาดหมายของหลากหลายกูรู ต่างก็ได้บทสรุปเดียวกันคือ แชมป์โลกประจำปีนี้ ได้แก่ ทีมชาติเมสซี่-เอ๊ย-ทีมชาติอาร์เจนติน่า ในการดูแลของ ลิโอเนล สคาโลนี่

 

ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเมื่อมีความคาดหวังสูงขนาดนี้ เมสซี่ และพลพรรคฟ้าขาว จะสามารถนำโทรฟี่แชมป์โลกมาเสิร์ฟได้หรือไม่ เมื่ออย่างที่เราเห็นกันมาตลอดหลายสิบปี (จากแชมป์โลกหนสุดท้าย 1986) ว่าพวกเขามักไม่ “ขาด” ก็ “ล้นเกิน” ในบางอย่างหรือบางจุด จนไม่ประสบความสำเร็จซ้ำรอยยุค ดีเอโก้ มาราโดน่า ได้อีกเลย

 

แต่กระนั้น อาร์เจนติน่า ชุดนี้ ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าพวกเขาเป็น “ของจริง” กำลังอยู่ในการต่อยอดสถิติไร้พ่ายให้มากขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งขุมกำลังที่ สคาโลนี่ เลือกมา ก็ดูจะไม่ได้ขาดอะไรไปนัก มีแค่ โจวานี่ โล เซลโซ่ มิดฟิลด์บียาร์เรอัล ที่เป็นแกนหลักแดนกลางในรอบคัดเลือก ซึ่งต้องถอนตัวไปเนื่องจากบาดเจ็บ กับเด็กใหม่มาแรงอย่าง อเลฮานโดร การ์นาโช่ ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ยังไม่ถูกเรียกตัว ทว่าอันที่จริงก็ไม่เคยติดธงมาก่อนแต่อย่างใด

 

โผ 26 แข้งอาร์เจนติน่า ชุดลุยฟุตบอลโลก
ผู้รักษาประตู
เอมิเลียโน่ มาร์ติเนซ / 30 / วิลล่า / 18
ฟรังโก้ อาร์มานี่ / 36 / ริเวอร์เพลท / 18
เคโรนิโม่ รุลลี่ / 30 / บียาร์เรอัล / 4

กองหลัง
นิโกลัส โอตาเมนดี้ / 34 / เบนฟิก้า / 92 – 4
มาร์กอส อคุนย่า / 31 / เซบีย่า / 42 – 0
นิโกลัส ตายาฟิโก้ / 30 / ลียง / 42 – 0
เคร์มัน เปซเซลล่า / 31 / เรอัล เบติส / 31 – 2
นาอูเอล โมลิน่า / 24 / แอตฯ มาดริด / 19 – 0
กอนซาโล่ มอนเทียล / 25 / เซบีย่า / 17 – 0
ฮวน ฟอยธ์ / 24 / บียาร์เรอัล / 15 – 0
คริสเตียน โรเมโร่ / 24 / สเปอร์ส / 12 – 1
ลิซานโดร มาร์ติเนซ / 24 / แมนฯ ยูไนเต็ด / 9 – 0

กองกลาง
เลอันโดร ปาเรเดส / 28 / ยูเวนตุส / 45 – 4
โรดริโก้ เด ปอล / 28 / แอตฯ มาดริด / 43 – 2
กีโด้ โรดริเกซ / 28 / เรอัล เบติส / 25 – 1
เอเซเกล ปาลาซิออส / 24 / เลเวอร์คูเซ่น / 20 – 0
อเลฮานโดร โกเมซ / 34 / เซบีย่า / 15 – 3
อเล็กซิส แม็ค อัลลิสเตอร์ / 23 / ไบรท์ตัน / 7 – 0
เอ็นโซ่ เฟร์นันเดซ / 21 / เบนฟิก้า / 2 – 0

กองหน้า
ลิโอเนล เมสซี่ (กัปตันทีม) / 35 / เปแอสเช / 164 – 90
อังเคล ดิ มาเรีย / 34 / ยูเวนตุส / 123 – 25
เลาตาโร่ มาร์ติเนซ / 25 / อินเตอร์ / 40 – 21
เปาโล ดีบาล่า / 29 / โรม่า / 34 – 3
นิโกลัส กอนซาเลซ / 24 / ฟิออเรนติน่า / 21 – 3
ฮัวกิน กอร์เรอา / 28 / อินเตอร์ / 18 – 3
ฮูเลี่ยน อัลวาเรซ / 22 / แมนฯ ซิตี้ / 11 – 2

หลุดโผ
ฮวน มุสโซ่ (อตาลันต้า), ลูคัส มาร์ติเนซ (ฟิออเรนติน่า), มาร์กอส เซเนซี่ (บอร์นมัธ), โจวานี่ โล เซลโซ่ (บียาร์เรอัล), โรแบร์โต้ เปเรยร่า (อูดิเนเซ่), มักซิมิเลียโน่ เมซ่า (มอนเตอร์เรย์), ลูคัส โอคัมโปส (อาแจ็กซ์), เอมิเลียโน่ บูเอนเดีย (วิลล่า), มานูเอล ลันซินี่ (เวสต์แฮม), อังเคล กอร์เรอา (แอตฯ มาดริด), โจวานนี่ ซิเมโอเน่ (นาโปลี), อเลฮานโดร การ์นาโช่ (แมนฯ ยูไนเต็ด)

 

 

 

ตราไก่ ฝรั่งเศส กับหลายคำถามซึ่งต้องพิสูจน์
น่าสนใจ…น่าสนใจมากกับก้าวเดินของ ฝรั่งเศส ในฟุตบอลโลก 2022 งวดนี้ เมื่อมีอย่างน้อย 4-5 คำถามที่ ดิดิเย่ร์ เดส์ชองส์ และบรรดาแข้งตราไก่ จะต้องตอบให้ได้ เช่นว่า

 

1. อาถรรพ์แชมป์เก่า ทั้ง อิตาลี, สเปน, เยอรมนี ต่างเอาตัวไม่รอด เป็นแชมป์โลกมาแล้วก็ร่วงเพียงรอบแรกของทัวร์นาเมนต์ถัดมาทั้งหมด ฝรั่งเศสล่ะ จะเข้าทรงเดียวกันหรือเปล่า

 

2. ขุมกำลัง พร้อมจริงๆ ไหม เมื่อตัวเจ็บสำคัญ อดไปบอลโลกมีทั้ง เอ็นโกโล่ ก็องเต้, ปอล ป๊อกบา, โกร็องแต็ง โตลิสโซ่ และล่าสุดกับ เพรสแนล คิมเพ็มเบ้ เซนเตอร์แบ็กเปแอสเช ที่ต้องถอนตัวจากการศึกครั้งนี้ไป แถม คาริม เบนเซม่า กับ ราฟาแอล วาราน ที่่ต่างก็เป็นคีย์แมนในเกมรุกและรับ ยังบาดเจ็บติดพัน ไม่ได้ช่วย เรอัล มาดริด ตลอดสี่ซ้าห้าเกมหลังอีกต่างหาก

 

3. ความเปลี่ยนแปลง ที่มีค่อนข้างเยอะจากชุดแชมป์โลก จะส่งผลดีหรือเสีย อย่างน้อยแผงกลางทั้งแผง เปลี่ยนหมด หรือจากชุดลุยยูโร 2020 ก็มีแค่ อาเดรียง ราบิโอต์ คนเดียวที่หลงเหลือมาอยู่ในทีมชุดนี้

 

4. การต้องเจอทีมของแสลงอย่าง เดนมาร์ก อีกแล้ว หลังแพ้มาทั้งเหย้าเยือนใน ยูฟ่า เนชั่นส์ ลีก (1-2, 0-2) รอบปีที่ผ่านมา หากยังคงซ้ำแผลเก่า แพ้ทีมโคนมเป็นครั้งที่ 3 ติดกันขึ้นมา ก็มีสิทธิ์เป็นไปได้ทั้งร่วงรอบแรก หรือเข้ารอบด้วยการเป็นอันดับ 2 ไปเจอกระดูกชิ้นโตตั้งแต่รอบ 16 ทีม

 

5. ฟอร์มช่วงหลัง น่าเป็นห่วงใช่ย่อย ชนะเกม เนชั่นส์ ลีก แค่นัดเดียวเหนือ ออสเตรีย 2-0 นอกนั้นเสมอ 2 แพ้ 3 แม้ข้อดีคือการได้อยู่ในกลุ่มที่ไม่แข็งนัก อย่างน้อยน่าผ่าน ออสเตรเลีย กับ ตูนิเซีย ได้ แต่ก็อย่างที่ว่า ถ้าไปเจอของแข็งในรอบน็อกเอาต์แล้ว ก็เสียวว่า เอ็มบัปเป้ และชาวคณะ จะไปไม่เป็น

 

โผ 26 แข้งฝรั่งเศส ชุดลุยฟุตบอลโลก
ผู้รักษาประตู
อูโก้ โยริส / 35 / สเปอร์ส / 139
สตีฟ ม็องด็องด้า / 37 / แรนส์ / 34
อัลฟงส์ อเรโอล่า / 29 / เวสต์แฮม / 5

กองหลัง
ราฟาแอล วาราน / 29 / แมนฯ ยูไนเต็ด / 87 – 5
เบนชาแม็ง ปาวาร์ / 26 / บาเยิร์น / 46 – 2
ลูคัส เอร์นันเดซ / 26 / บาเยิร์น / 32 – 0
อักเซล ดิซาซี่ / 24 / โมนาโก / 0 – 0
ชูลส์ กุนเด้ / 24 / บาร์เซโลน่า / 12 – 0
เตโอ เอร์นันเดซ / 25 / มิลาน / 7 – 1
วิลเลี่ยม ซาลิบา / 21 / อาร์เซน่อล / 7 – 0
ดาโยต์ อูปาเมกาโน่ / 24 / บาเยิร์น / 7 – 1
อิบราฮิมา โกนาเต้ / 23 / ลิเวอร์พูล / 2 – 0

กองกลาง
อาเดรียง ราบิโอต์ / 27 / ยูเวนตุส / 29 – 2
ออเรเลียง ชูอาเมนี่ / 22 / เรอัล มาดริด / 14 – 1
มัตเตโอ เก็นดูซี่ / 23 / มาร์กเซย / 6 – 1
จอร์แดน เวเรตูต์ / 29 / มาร์กเซย / 5 – 0
เอดูอาร์โด้ กามาวินก้า / 20 / เรอัล มาดริด / 4 – 1
ยุสซูฟ โฟฟาน่า / 23 / โมนาโก / 2 – 0

กองหน้า
โอลิวิเย่ร์ ชิรูด์ / 36 / มิลาน / 114 – 49
อองตวน กรีซมันน์ / 31 / แอตฯ มาดริด / 110 – 42
คาริม เบนเซม่า / 34 / เรอัล มาดริด / 97 – 37
คีลิยัน เอ็มบัปเป้ / 23 / เปแอสเช / 59 – 28
คิงสลี่ย์ โกม็อง / 26 / บาเยิร์น / 40 – 5
อุสมัน เดมเบเล่ / 25 / บาร์เซโลน่า / 28 – 4
คริสตอฟเฟอร์ เอ็นคุนคู / 25 / แอร์เบ ไลป์ซิก / 8 – 0
มาร์คัส ตูราม / 25 / กลัดบัค / 4 – 0

หลุดโผ
ไมค์ เมนยอง (มิลาน), เบอนัวต์ คอสติล (โอแซร์), เพรสแนล คิมเพ็มเบ้ (เปแอสเช), แฟร์กล็องด์ เมนดี้ (เรอัล มาดริด), เบนชาแม็ง เมนดี้ (แมนฯ ซิตี้), โชนาต็อง เคลาส์ (มาร์กเซย), ลูก้าส์ ดีญ (วิลล่า), เกลม็องต์ ล็องเล่ต์ (สเปอร์ส), เคิร์ต ซูม่า (เวสต์แฮม), บูบาการ์ กามาร่า (วิลล่า), เอ็นโกโล่ ก็องเต้ (เชลซี), ปอล ป๊อกบา (ยูเวนตุส), สตีเว่น เอ็นซอนซี่ (อัล-รายยาน), โกร็องแต็ง โตลิสโซ่ (ลียง), แบลส มาตุยดี้ (อินเตอร์ ไมอามี่), นาบิล เฟคีร์ (เบติส), โตมัส เลอมาร์ (แอตฯ มาดริด), วิสซาม เบน เยแดร์ (โมนาโก), มุสซ่า ดิยาบี้ (เลเวอร์คูเซ่น)

 

 

 

อินทรีเหล็ก เยอรมนี จากแชมป์โลกสู่รอบแรก, จากรอบแรกสู่…
ภายหลังเข้ามาสานต่องานของ โยอัคคิม เลิฟ หลังจบยูโร 2020 แล้วนั้น ฮันซี่ ฟลิค ก็สร้างปรากฏการณ์ให้กับทัพอินทรีเหล็ก ด้วยการพาทีมชนะรวดถึง 7 นัดในรอบคัดเลือกฟุตบอลโลกหนนี้ จนเป็นทีมแรกของยุโรปที่การันตีเข้ารอบสุดท้าย

 

อย่างไรก็ตาม กับ ยูฟ่า เนชั่นส์ ลีก ในรอบปีที่ผ่านมา เยอรมนี ก็ถือว่าเสียรังวัดไปพอสมควร เมื่อกลับเอาชนะคู่แข่งได้แค่เกมเดียว (5-2 อิตาลี) นอกนั้นเสมอรัวๆ 4 เกม และแพ้พลิกล็อกคาบ้านต่อ ฮังการี หนึ่งนัด เรียกว่าพวกเขามุ่งหน้าสู่กาตาร์แบบที่ระดับความมั่นใจไม่ได้สูงมาก ทั้งยังต้องเสีย 2 คีย์แมนเกมรุกอย่าง มาร์โก รอยส์ จอมทัพดอร์ทมุนด์ กับ ติโม แวร์เนอร์ ดาวยิงแอร์เบ ไลป์ซิก ที่ล้มเจ็บอดไปบอลโลกทั้งคู่ด้วย

 

จึงเป็นสิ่งที่ต้องจับตา, เริ่มต้นตั้งแต่รอบแรกที่ต้องอยู่ในสายแข็งร่วมกับ สเปน-ญี่ปุ่น-คอสตาริกา, ว่าถัดจากการร่วงรอบแรกในทัวร์นาเมนต์ครั้งก่อนแล้ว อินทรีเหล็ก 2022 จะไปได้ไกลถึงไหน

 

โผ 26 แข้งเยอรมนี ชุดลุยฟุตบอลโลก 2022
ผู้รักษาประตู
1. มานูเอล นอยเออร์ / 36 / บาเยิร์น / 113
12. เควิน ทรัปป์ / 32 / แฟร้งค์เฟิร์ต / 6
22. มาร์ก-อันเดร แทร์ สเตเก้น / 30 / บาร์เซโลน่า / 30

กองหลัง
2. อันโตนิโอ รูดิเกอร์ / 29 / เรอัล มาดริด / 54 -2
3. ดาวิด เราม์ / 24 / แอร์เบ ไลป์ซิก / 11 – 0
4. มัทธีอัส กินเทอร์ / 28 / ไฟรบวร์ก / 46 – 2
5. ติโล เคห์เรอร์ / 26 / เวสต์แฮม / 22 – 0
15. นิคลาส ซูเล่ / 27 / ดอร์ทมุนด์ / 42 – 1
16. ลูคัส คลอสเตอร์มันน์ / 26 / แอร์เบ ไลป์ซิก / 18 – 0
20. คริสเตียน กุนเทอร์ / 29 / ไฟรบวร์ก / 6 – 0
23. นิโก้ ชล็อตเตอร์เบ็ค / 22 / ดอร์ทมุนด์ / 5 – 0
25. อาร์เมล เบลล่า-ค็อตชัป / 20 / เซาธ์แฮมป์ตัน / 1 – 0

กองกลาง
6. โยชัว คิมมิช / 27 / บาเยิร์น / 70 – 5
7. ไค ฮาแวร์ตซ์ / 23 / เชลซี / 30 – 10
8. เลออน โกเร็ตซ์ก้า / 27 / บาเยิร์น / 44 – 14
11. มาริโอ เกิทเซ่ / 30 / แฟร้งค์เฟิร์ต / 63 – 17
14. จามาล มูเซียล่า / 19 / บาเยิร์น / 17 – 1
17. ยูเลี่ยน บรันท์ / 26 / ดอร์ทมุนด์ / 38 – 3
18. โยนาส ฮอฟมันน์ / 30 / กลัดบัค / 16 – 4
21. อิลคาย กุนโดกัน / 32 / แมนฯ ซิตี้ / 62 – 16

กองหน้า
9. นิคลาส ฟุลล์ครุก / 29 / เบรเมน / 0 – 0
10. แซร์จ นาบรี้ / 27 / บาเยิร์น / 36 – 20
13. โธมัส มุลเลอร์ / 33 / บาเยิร์น / 118 – 44
19. เลรอย ซาเน่ / 26 / บาเยิร์น / 47 – 11
24. คาริม อเดเยมี่ / 20 / ดอร์ทมุนด์ / 4 – 1
26. ยุสซูฟา มูโกโก้ / 18 / ดอร์ทมุนด์ / 0 – 0

หลุดโผ
แบร์นด์ เลโน่ (ฟูแล่ม), มัตส์ ฮุมเมิลส์ (ดอร์ทมุนด์), เยโรม บัวเต็ง (ลียง), โรบิน โกเซนส์ (อินเตอร์), เบนจามิน เฮนริกส์ (แอร์เบ ไลป์ซิก), โยนาธาน ทาห์ (เลเวอร์คูเซ่น), โรบิน ค็อก (ลีดส์), มาร์โก รอยส์ (ดอร์ทมุนด์), ยูเลี่ยน ดรักซ์เลอร์ (เบนฟิก้า), ฟลอเรียน นอยเฮาส์ (กลัดบัค), ยูเลี่ยน ไวเกิ้ล (กลัดบัค), ติโม แวร์เนอร์ (แอร์เบ ไลป์ซิก), ลูคัส เอ็นเมช่า (โวล์ฟสบวร์ก)

 

 

 

กระทิงดุ สเปน ในระบบเผด็จการของ หลุยส์ เอ็นริเก้
หนึ่งคือทรัพยากรนักเตะดีๆ ของ สเปน มีเยอะมาก และอีกหนึ่งก็คือ หลุยส์ เอ็นริเก้ มีแนวทางและการตัดสินใจที่เข้มแข็งเด็ดเดี่ยวมาก ไม่สนกระแสสังคมใดๆ ทั้งสิ้น เราจึงได้เห็นแข้งสแปนิชตกขบวนอดไปฟุตบอลโลก 2022 อื้อซ่าตามรายชื่อด้านล่าง ชนิดไปรวมตัวเป็นอีกทีมได้ง่ายๆ

 

แต่ก็แน่นอนว่า การเลือกตัวแบบไม่ฟังเสียงใครของ เอ็นริเก้ ย่อมจะนำมาซึ่งความเสี่ยง ถ้าผลงานที่กาตาร์ไปได้สวย ก็รับเสียงปรบมือไป แต่ถ้าล้มเหลวขึ้นมา ไม่ต้องสงสัย… เละ

 

น่าสนใจมากเสียด้วยกับการที่ต้องอยู่ในกลุ่มแห่งความตาย เจองานหนักทุกนัดในรอบแรก ไล่ตั้งแต่กับ คอสตาริกา ไปต่อกับ เยอรมนี ปิดท้ายด้วยเกมกับ ญี่ปุ่น

 

กระทิงดุในระบบเผด็จการของ เอ็นริเก้ จะออกหัวออกก้อย เดี๋ยวรู้กัน — เริ่มตั้งแต่รอบแรกนี่เลย!

 

โผ 26 แข้งสเปน ชุดลุยฟุตบอลโลก 2022
ผู้รักษาประตู
อูไน ซิมอน / 25 / บิลเบา / 27
โรเบิร์ต ซานเชซ / 25 / ไบรท์ตัน / 1
ดาบิด ราย่า / 27 / เบรนท์ฟอร์ด / 1

กองหลัง
จอร์ดี้ อัลบา / 33 / บาร์เซโลน่า / 86 – 9
เซซ่าร์ อัซปิลิกวยต้า / 33 / เชลซี / 41 – 1
ดานี่ การ์บาฆัล / 30 / เรอัล มาดริด / 30 – 0
เปา ตอร์เรส / 25 / บียาร์เรอัล / 21 – 1
โฆเซ่ กาย่า / 27 / บาเลนเซีย / 18 – 3
เอริก การ์เซีย / 21 / บาร์เซโลน่า / 18 – 0
อายเมอริก ลาป๊อร์กต์ / 28 / แมนฯ ซิตี้ / 15 – 1
อูโก้ กียามอน / 22 / บาเลนเซีย / 3 – 1

กองกลาง
เซร์คิโอ บุสเก็ตส์ / 34 / บาร์เซโลน่า / 139 – 2
โกเก้ / 30 / แอตฯ มาดริด / 67 – 0
โรดรี้ / 26 / แมนฯ ซิตี้ / 34 – 1
มาร์กอส ยอเรนเต้ / 27 / แอตฯ มาดริด / 17 – 0
เปดรี้ / 19 / บาร์เซโลน่า / 14 – 0
กาบี / 18 / บาร์เซโลน่า / 12 – 1
คาร์ลอส โซเลร์ / 25 / เปแอสเช / 11 – 3

กองหน้า
อัลบาโร่ โมราต้า / 30 / แอตฯ มาดริด / 57 – 27
เฟร์ราน ตอร์เรส / 22 / บาร์เซโลน่า / 30 – 13
มาร์โก อเซนซิโอ / 26 / เรอัล มาดริด / 29 – 1
ปาโบล ซาราเบีย / 30 / เปแอสเช / 24 – 9
ดานี่ โอลโม่ / 24 / แอร์เบ ไลป์ซิก / 24 – 4
เยเรมี่ ปิโน่ / 20 / บียาร์เรอัล / 6 – 1
อันซู ฟาติ / 20 / บาร์เซโลน่า / 4 – 1
นิโก้ วิลเลี่ยมส์ / 20 / บิลเบา / 2 – 0

หลุดโผ
ดาบิด เด เคอา (แมนฯ ยูไนเต็ด), เกป้า อาร์ริซาบาลาก้า (เชลซี), เซร์คิโอ รามอส (เปแอสเช), อินยิโก้ มาร์ติเนซ (บิลเบา), ดีเอโก้ ยอเรนเต้ (ลีดส์), มาร์กอส อลอนโซ่ (บาร์เซโลน่า), อเลฆานโดร บัลเด้ (บาร์เซโลน่า), ติอาโก้ อัลกันตาร่า (ลิเวอร์พูล), เซร์จี้ โรเบร์โต้ (บาร์เซโลน่า), ซาอูล ญีเกซ (แอตฯ มาดริด), อิสโก้ (เซบีย่า), มิเกล เมริโน่ (โซเซียดัด), เซร์คิโอ กานาเลส (เบติส), แบรส เมนเดซ (โซเซียดัด), ปาโบล ฟอร์นัลส์ (เวสต์แฮม), บราฮิม ดิอาซ (มิลาน), โรดริโก้ โมเรโน่ (ลีดส์), มิเกล โอยาร์ซาบัล (โซเซียดัด), ยาโก้ อัสปาส (เซลต้า), เคราร์ด โมเรโน่ (บียาร์เรอัล), ราอูล เด โตมัส (ราโย บาเยกาโน่)

 

 

 

ปีศาจแดง เบลเยียม กับยุคทองหนสุดท้าย
อย่างที่ได้เอ่ยถึงไปแล้วใน คำให้การของ โรเบร์โต้ มาร์ติเนซ ว่า เบลเยียม ไปลุยฟุตบอลโลก 2022 ครั้งนี้ด้วยเดิมพันครั้งยิ่งใหญ่ กับการเป็น เวิลด์ คัพ หนสุดท้ายของยุคทอง เบลเจี้ยน โกลเด้น เจเนอเรชั่น เนื่องจากอีก 4 ปีข้างหน้า ยังไม่รู้ว่าพวก เควิน เดอ บรอยน์, เอแด็น อาซาร์, ติโบต์ กูร์กตัวส์, โรเมลู ลูกากู จะยังพร้อมรับใช้ชาติอยู่หรือไม่

 

รอบแรก ไม่น่าใช่ปัญหา แข็งหน่อยมี โครเอเชีย แต่ก็ยังแข็งไม่เท่าพวกเขา ส่วนอีกสองคู่แข่งอย่าง แคนาดา กับ โมร็อกโก ทิศทางออกไปในทางว่า จะชนะมากหรือชนะน้อย ดังนั้น คงต้องจับตาดูต่อในรอบน็อกเอาต์ ทีละแมตช์ ทีละก้าว

 

สำหรับขุมกำลังที่ มาร์ติเนซ เลือกมา ไม่ได้มีเซอร์ไพรส์อะไร แค่น่าเป็นห่วงที่ความฟิตของ โรเมลู ลูกากู ซึ่งได้เล่นให้ อินเตอร์ มิลาน ไปแค่ 5 นัดในซีซั่นนี้ รวมถึงการเรื้อสนามของ เอแด็น อาซาร์ ที่ช่วงหลังกลายเป็นตัวเลือกลำดับท้ายๆ ในแนวรุกเรอัล มาดริด ไปแล้ว จะส่งผลเสียมากน้อยประการใด

 

โผ 26 แข้งเบลเยียม ชุดลุยฟุตบอลโลก
ผู้รักษาประตู
ติโบต์ กูร์กตัวส์ / 30 / เรอัล มาดริด / 96
ซิมง มินโยเล่ต์ / 34 / คลับ บรูช / 35
โคเอน คาสตีลส์ / 30 / โวล์ฟสบวร์ก / 4

กองหลัง
ยาน แฟร์ตองเก้น / 35 / อันเดอร์เลทช์ / 141 – 9
โทบี้ อัลเดอร์ไวเรลด์ / 33 / อันท์เวิร์ป / 123 – 5
โธมัส มูนิเยร์ / 31 / ดอร์ทมุนด์ / 58 – 8
ทิโมธี คาสตันเย่ / 26 / เลสเตอร์ / 25 – 2
อาร์เธอร์ เธียเต้ / 22 / แรนส์ / 3 – 0
เซโน่ เดบาสต์ / 19 / อันเดอร์เลทช์ / 2 – 0
วู้ท ฟาเอส / 24 / เลสเตอร์ / 1 – 0

กองกลาง
อักเซล วิตเซล / 33 / แอตฯ มาดริด / 126 – 12
เควิน เดอ บรอยน์ / 31 / แมนฯ ซิตี้ / 93 – 25
ยานนิค การ์รัสโก้ / 29 / แอตฯ มาดริด / 59 – 8
ยูรี่ ตีเลอมันส์ / 25 / เลสเตอร์ / 54 – 5
เลอันเดอร์ เดนดองเคอร์ / 27 / วิลล่า / 29 – 1
ฮานส์ ฟานาเก้น / 30 / คลับ บรูช / 22 – 5
เลอันโดร ทรอสซาร์ / 27 / ไบรท์ตัน / 21 – 5
ชาร์ลส์ เด คาตาแลร์ / 21 / มิลาน / 10 – 1
อมาดู โอนาน่า / 21 / เอฟเวอร์ตัน / 2 – 0

กองหน้า
เอแด็น อาซาร์ / 31 / เรอัล มาดริด / 122 – 33
ดรีส เมอร์เท่นส์ / 35 / กาลาตาซาราย / 106 – 21
โรเมลู ลูกากู / 29 / อินเตอร์ / 102 – 68
มิชี่ บัตชูอายี่ / 29 / เฟเนร์บาห์เช่ / 47 – 26
ธอร์แกน อาซาร์ / 29 / ดอร์ทมุนด์ / 45 – 9
เยเรมี่ โดกู / 20 / แรนส์ / 10 – 2
โลอิส โอเพ็นด้า / 22 / ล็องส์ / 4 – 1

หลุดโผ
มัตซ์ เซลส์ (สตราส์บูร์ก), เจสัน เดนาเยอร์ (ชาบับ อัล-อาห์ลี), เดดริค โบยาต้า (คลับ บรูช), โธมัส โฟเก็ต (แร็งส์), อเล็กซิส แซเลแมเกอร์ส (มิลาน), เดนนิส ปราเอ้ต์ (เลสเตอร์), อัลแบร์ แซมบี้ โลกอนก้า (อาร์เซน่อล), นาเซอร์ ชาดลี่ (เวสเตอร์โล), คริสเตียน เบนเตเก้ (ดีซี ยูไนเต็ด), ดิว็อค โอริกี้ (มิลาน), อัดนาน ยานาไซ (เซบีย่า)

 

 

 

โปรตุเกส กับบอลโลกครั้งสั่งลา CR7
สั่นสะเทือนวงการดีเหลือเกินกับการทิ้งระเบิดลูกนาปาล์มเดธของ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ใส่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ผ่านการให้สัมภาษณ์กับช่องทีวีของอังกฤษ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

แต่ประเด็นสำคัญที่ต้องเน้นตอนนี้ คือเรื่อง ฟุตบอลโลก 2022 การช่วยชาติไปให้ถึงฝั่งฝัน — ที่น่าจะเป็นฟุตบอลโลกหนสุดท้ายของชายวัยย่าง 38 อย่าง โรนัลโด้ ด้วย

 

ว่ากันตามตรง ชื่อนักเตะชุดลุยกาตาร์ของ แฟร์นันโด ซานโตส แข็งแกร่งน่าเกรงขามไม่เบา ดูหนั่นแน่นตั้งแต่หลังสุดมาหน้าสุด โดยเฉพาะเกมรุกที่เลือกลำบากเลย เมื่อคงต้องกันโควตาหนึ่งที่ไว้ให้ โรนัลโด้ ส่วนที่เหลือ อันเดร ซิลวา (แอร์เบ ไลป์ซิก), ชูเอา เฟลิกซ์ (แอตเลติโก มาดริด), ราฟาแอล เลเอา (เอซี มิลาน) ไปแย่งกันเอา

 

แต่ก็ต้องว่ากันตามตรงเพิ่มอีกว่า โปรตุเกส มีสิทธิ์จะแข็งขึ้นกว่านี้อีก ถ้าบรรดาตัวที่หลุดไปอย่าง มาริโอ รุย, เซดริก โซอาเรส, เนลซอน เซเมโด้, ชูเอา มูตินโญ่, เรนาโต้ ซานเชส, เปโดร เนโต้, กอนซาโล่ เกเดส ไม่นับ ดีโอโก้ โชต้า (บาดเจ็บ) ถูกหอบหิ้วไปกาตาร์ด้วย

 

แน่นอน ก็คงต้องตามดูกันว่า การตัดสินใจของ แฟร์นันโด ซานโตส ในการเลือกจิ้มขุมกำลังมาแบบนี้ จะปรากฏผลในท้ายที่สุดว่าอย่างไร

 

โผ 26 แข้งโปรตุเกส ชุดลุยฟุตบอลโลก 2022
ผู้รักษาประตู
รุย ปาตริซิโอ / 34 / โรม่า / 104
ดีโอโก้ คอสต้า / 23 / ปอร์โต้ / 7
โชเซ่ ซา / 29 / วูล์ฟส์ / 0

กองหลัง
เปเป้ / 39 / ปอร์โต้ / 128 – 7
ดานิโล เปเรยร่า / 31 / เปแอสเช / 63 – 2
ราฟาแอล เกร์เรยโร่ / 28 / ดอร์ทมุนด์ / 56 – 3
รูเบน ดิอาส / 25 / แมนฯ ซิตี้ / 39 – 2
ชูเอา กันเซโล่ / 28 / แมนฯ ซิตี้ / 37 -7
นูโน่ เมนเดส / 20 / เปแอสเช / 16 – 0
ดีโอโก้ ดาโล่ต์ / 23 / แมนฯ ยูไนเต็ด / 6 – 2
อันโตนิโอ ซิลวา / 19 / เบนฟิก้า / 0 – 0

กองกลาง
วิลเลี่ยม คาร์วัลโญ่ / 30 / เบติส / 75 – 5
แบร์นาร์โด้ ซิลวา / 28 / แมนฯ ซิตี้ / 72 – 8
ชูเอา มาริโอ / 29 / เบนฟิก้า / 52 – 2
บรูโน่ แฟร์นันเดส / 28 / แมนฯ ยูไนเต็ด / 48 – 9
รูเบน เนเวส / 25 / วูล์ฟส์ / 32 – 0
ชูเอา ปาลินญ่า / 27 / ฟูแล่ม / 15 – 2
มาเตอุส นูเนส / 24 / วูล์ฟส์ / 9 – 1
โอตาวิโอ / 27 / ปอร์โต้ / 7 – 2
วิตินญ่า / 22 / เปแอสเช / 4 – 0

กองหน้า
คริสเตียโน่ โรนัลโด้ / 37 / แมนฯ ยูไนเต็ด / 191 – 117
อันเดร ซิลวา / 27 / แอร์เบ ไลป์ซิก / 51 – 19
ชูเอา เฟลิกซ์ / 23 / แอตฯ มาดริด / 23 – 3
ราฟาแอล เลเอา / 23 / มิลาน / 11 – 0
ริคาร์โด้ ออร์ต้า / 28 / บราก้า / 5 – 1
กอนซาโล่ รามอส / 21 / เบนฟิก้า / 0 – 0

หลุดโผ
อันโธนี่ โลเปส (ลียง), รุย ซิลวา (เบติส), มาริโอ รุย (นาโปลี), โดมิงกอส ดูอาร์เต้ (เคตาเฟ่), โชเซ่ ฟอนเต้ (ลีลล์), เซดริก โซอาเรส (อาร์เซน่อล), เนลซอน เซเมโด้ (วูล์ฟส์), ชูเอา มูตินโญ่ (วูล์ฟส์), เรนาโต้ ซานเชส (เปแอสเช), ดีโอโก้ โชต้า (ลิเวอร์พูล), เปโดร เนโต้ (วูล์ฟส์), กอนซาโล่ เกเดส (วูล์ฟส์), ฟรานซิสโก้ ตรินเกา (สปอร์ติ้ง)

 

 

 

ไกด์เถื่อน

 

 

 

อ้างอิง
WIKIPEDIA

ภาพประกอบ
Olympics

 

 

เรื่องน่าอ่าน
• บราซิลลิ่วแชมป์โลก…? : โผ 26 แข้งลุยฟุตบอลโลก 2022
• และแชมป์ฟุตบอลโลก 2022 ก็ได้แก่… ทำนายผลบอลโลกด้วย AI
• เจ็บขนาดนี้…คงจะไม่ไหว : สตาร์รายใดอดไปฟุตบอลโลก 2022 บ้างแล้ว?

บอลโลก เบลเยี่ยม ปลายทางของยุคทอง ในฟุตบอลโลก 2022

บอลโลก เบลเยี่ยม ปลายทางของยุคทอง ในฟุตบอลโลก 2022

ฟุตบอลโลก 2022 วิเคราะห์ทีมชาติเบลเยี่ยม

 

ยืนระยะยึดเบอร์ 1 โลก FIFA Ranking ยาวนานกว่า 4 ปี กระนั้น เบลเยียม ในยุคทองของพวกเขา กลับไปไกลสุดเพียงอันดับ 3 รัสเซีย 2018 ดังนั้น มันจึงเป็นความท้าทายและการเดิมพันครั้งใหญ่ของ “ปีศาจแดงแห่งยุโรป” ในการเข้าสู้ศึกฟุตบอลโลก 2022 

 

ต่างไปจากระดับสโมสร ที่มี เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน หรือ อาร์แซน เวนเกอร์ อยู่โยงคุมทีมหนึ่งทีมใด “ยันลูกบวช” นับสิบๆ ปี แล้วประสบความสำเร็จด้วยดี

 

ในระดับนานาชาติ มักไม่มีโค้ชรายไหนอยู่ยั้งยืนยงได้ขนาดนั้น — หรือถ้ามี ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ด้วยแนวทางและวิธีการอันแตกต่างออกไป บางที ค่าเฉลี่ยการนั่งเก้าอี้ 4-5 ปีสำหรับกุนซือทีมชาติ อาจเป็นจังหวะ “พอดีๆ” มากกว่าอย่างอื่น 

 

สำหรับ โรเบร์โต้ มาร์ติเนซ การพา เบลเยียม ไปฟุตบอลโลก 2022 ก็อาจเป็น “ทัวร์นาเมนต์สุดท้าย” ของเขากับงานนี้ ด้วยสัญญาที่คงอยู่ถึงแค่จบทัวร์นาเมนต์ และการอยู่ยาวมาตั้งแต่ปี 2016 (เข้ามาแทน มาร์ก วิลม็อตส์) หรือการที่นั่งเก้าอี้มา 6 ปีแล้วจนถึงตอนนี้ 

 

ไม่ต้องรอจนครบ 8 ปีแล้วยังทู่ซี้จะไปต่อ แม้ยังไม่ได้พูดอะไรชัด โค้ชหนุ่มสแปนิชรายนี้ ก็ได้รับการคาดหมายว่าจะปิดฉากอำลาไปเมื่อจบบอลโลกที่กาตาร์ — หรืออาจมีต่อเวลาสักนิดสักหน่อย เต็มที่ไม่เกิน 2 ปี เพื่อพาทีมลุยต่อในรอบชิงแชมป์ ยูฟ่า เนชั่นส์ ลีก กลางปีหน้า และ/หรือท้าชิง ยูโร 2024 โดยไม่ลากยาวไปถึงฟุตบอลโลกครั้งหน้า 2026 (แคนาดา-สหรัฐอเมริกา-เม็กซิโก) แต่อย่างใด

 

หนึ่งคือการพาทีมลุยบอลโลกหนสุดท้ายของตัวเขาเอง และอีกหนึ่งคือการพา “ยุคทอง” ของ เบลเยียม มาจนถึงปลายทางของกลุ่มนักเตะกลุ่มนี้ ที่แทบทั้งหมดเข้าสู่ “หลัก 3” กันแล้ว และคงหลงเหลือแค่ไม่กี่คนจะได้ไปต่อ เวิลด์ คัพ ครั้งหน้าโน้น

 

สำคัญมาก… ทั้งการเป็นยุคทอง ทั้งการยึดอันดับ 1 โลกเอาไว้หลายปีดีดัก — แต่กลับไม่มีแชมป์รายการใดติดไม้ติดมือ จบอันดับ 3 ฟุตบอลโลก 2018 (ชนะ อังกฤษ 2-0) ส่วน ยูโร ทั้งสองรอบที่คั่นกลาง (2016 และ 2020) ล้วนแต่หยุดเส้นทางแค่รอบ 8 ทีมสุดท้าย

 

ฉะนั้น คงพูดได้ว่า ฟุตบอลโลก 2022 คือการเดิมพันครั้งใหญ่ของ โรเบร์โต้ มาร์ติเนซ และชาวคณะปีศาจแดงฯ เบลเยียม

 

ซึ่งก่อนจะยกพลลุยกาตาร์ (อยู่ร่วมกลุ่มกับ แคนาดา, โมร็อกโก, โครเอเชีย) ในฐานะกึ่งๆ “ม้านอกสายตา” เป็นเพียงตัวเต็งแชมป์ลำดับที่ 7-8

 

มาร์ติเนซ ได้ให้การถึงสิ่งต่างๆ ไว้ ดังนี้…

ฟังสัมภาษณ์ โรเบร์โต้ มาร์ติเนซ โค้ชที่มีจำนวนเกมชนะสูงที่สุด ในเบลเยี่ยม

 

บอลโลก เบลเยี่ยม ปลายทางของยุคทอง ในฟุตบอลโลก 2022

 

คุณทำผลงานในรอบคัดเลือกฟุตบอลโลก 2022 ได้อย่างยอดเยี่ยม และกลายเป็นโค้ชที่มีจำนวนเกมชนะสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอลเบลเยียม มันทำให้คุณภาคภูมิใจกับมันขนาดไหน?
โรเบร์โต้ มาร์ติเนซ : ใช่ ผมภูมิใจกับมันมาก แต่ผมควรชี้ให้เห็นว่าตัวผมเองเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของความพยายามอย่างมากของสมาคมฟุตบอลเบลเยียม ซึ่งส่งผลให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกใหม่ๆ และผู้เล่นใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย นั่นคือสิ่งที่ผมภาคภูมิใจอย่างแท้จริง มากกว่าการชนะเกมใดเกมหนึ่ง ชัยชนะเป็นผลมาจากการทำงานหนักที่ดำเนินการโดยคนเบื้องหลังร่วมๆ 100 คน ซึ่งได้พยายามกันมาอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยทีม และสังคมฟุตบอลเบลเยียม ให้ก้าวหน้าขึ้นไปอีก

 

 

ย้อนไปในฟุตบอลโลก 2018 คุณมีความทรงจำอะไรจากทัวร์นาเมนต์นั้น? การพลาดเข้าถึงนัดชิงชนะเลิศในเพียงเอื้อมมือ มันทำให้รู้สึกเจ็บปวดมากรึเปล่า?
ไม่รู้สินะ ความรู้สึกนั้นไม่ใช่สิ่งที่ผมยึดถือเมื่อมองสิ่งต่างๆ ย้อนกลับไป ตอนนั้นผมรู้สึกเหมือนว่าได้ทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างไปหมดแล้ว และเมื่อความพ่ายแพ้เกิดขึ้น คุณก็ต้องยอมรับว่าคุณได้เผชิญหน้ากับทีมที่พยายามจะบรรลุเป้าหมายเดียวกันกับคุณ

 

ความพ่ายแพ้ในรอบตัดเชือกเป็นหนึ่งในความพ่ายแพ้ที่คุณต้องหาวิธีรับมือ มันยากมาก แต่คุณสามารถข้ามผ่านความรู้สึกผิดหวังนั้นได้ด้วยการเล่นอีกเกมหนึ่งอย่างรวดเร็ว นั่นคือสิ่งที่เราทำเมื่อเราจบอันดับสามในฟุตบอลโลกเป็นครั้งแรก เรามีความรู้สึกว่าเราได้ทำงานของเราออกมาดีแล้ว มากกว่าที่จะรู้สึกว่ามันคือการพลาดโอกาสครั้งใหญ่ และผู้เล่นของเรากลุ่มนี้ก็กลายเจเนอเรชั่นที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเล่นฟุตบอลโลกของเบลเยียม

 

 

รอบ 16 ทีมสุดท้ายฟุตบอลโลกครั้งนั้น เกมที่ เบลเยียม พบกับ ญี่ปุ่น ถูกนับว่าเป็นหนึ่งในเกมที่ยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาล ด้วยการที่ เบลเยียม พลิกชนะ 3-2 หลังตกเป็นฝ่ายตามหลัง 0-2 คุณพอจะอธิบายความรู้สึกของคุณในระหว่างเกมนั้นได้ไหม?
ผมค่อนข้างสงบในระหว่างเกมนะ ส่วน ณ ตอนนี้เมื่อคิดย้อนไปถึงมัน ใจผมก็เต้นแรงขึ้นนิดหน่อย เพราะมันเป็นแมตช์ที่เหลือเชื่อจริงๆ สำหรับคนกลาง เมื่อทีมหนึ่งนำหน้าสองประตูเหนืออีกทีม โดยที่ในหน้าประวัติศาสตร์ แทบไม่มีทีมไหนที่สามารถพลิกกลับมาชนะได้ใน 90 นาที ถ้าจำไม่ผิด รู้สึกว่าครั้งสุดท้ายที่เกิดอะไรแบบนี้ขึ้นน่าจะเป็นปี 1966 ดังนั้นมันจึงเป็นตอนจบที่ค่อนข้างหายาก และการที่เราเล่นสวนกลับในช่วง 10 วินาทีสุดท้ายของแมตช์นั้นจนได้ชัยชนะ ก็โดดเด่นเอามากๆ

 

ที่จริง ตรงข้างสนาม เรากำลังง่วนอยู่กับการค้นหาวิธีการที่เราจะทำกันในช่วงต่อเวลาพิเศษ เมื่อมันจบแบบนั้น ผมรู้สึกลึกๆ ว่าเราออกจะดีใจกันเกินหน้าเกินตาไปสักหน่อย แต่เมื่อมองย้อนกลับไป มันก็อาจเป็นแมตช์ที่น่าจดจำที่สุดที่ผมเคยมีส่วนร่วม

 

 

ลูกทีมของคุณ 6 คนลงสนามรับใช้ทีมชาติเบลเยียมมาแล้วมากกว่า 100 นัด – ยาน แฟร์ตองเก้น, อักเซล วิตเซล, โทบี้ อัลเดอร์ไวเรลด์, เอแด็น อาซาร์, ดรีส เมอร์เทนส์ และ โรเมลู ลูกากู คำถามคือ อะไรคือข้อดีของการมีนักเตะประสบการณ์สูงเหล่านี้อยู่หลายคนในทีม?
สำคัญมากๆ ตอนที่ผมเข้ามาคุมทีมชาติเมื่อ 6 ปีที่แล้ว เป้าหมายคือเพื่อพัฒนากลุ่มผู้เล่นที่แข็งแกร่ง ซึ่งสามารถทิ้งมรดกตกทอดไว้กับฟุตบอลเบลเยียมได้ ซึ่งนอกจาก 6 คนที่คุณพูดถึง เรายังมีอีกสองคนที่ใกล้จะถึงหลักเดียวกันนั้น ทั้ง ติโบต์ กูร์กตัวส์ และ เควิน เดอ บรอยน์

 

เรากำลังพูดถึงผู้เล่นที่มีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการเล่นทีมชาติ คนที่ลงเล่นในระดับสูงสุด และสามารถส่งทอดบางอย่างไปสู่นักเตะเยาวชนของเราได้ และนั่นคือสิ่งสำคัญสุด เราต้องปลาบปลื้มไปกับเจเนอเรชั่นนี้ เรียนรู้จากพวกเขา และใช้พวกเขาเป็นแบบอย่างสำหรับคนรุ่นหลัง พวกเขามีข้อความสำคัญที่จะส่งต่อไปสู่เจเนอเรชั่นถัดไป

 

 

 

โรเมลู ลูกากู กำลังเป็นคนทำประตูได้สูงสุดตลอดกาลของเบลเยียม (68 ประตู) เขาสำคัญกับทีมของคุณขนาดไหน?
ผมมีโอกาสได้ร่วมงานกับ โรเมลู ในระดับสโมสร (เอฟเวอร์ตัน) มาก่อนแล้ว และผมรู้ว่าเขาจดจ่ออยู่กับการเล่นของตัวเอง และพยายามพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง และเขาเป็นนักเตะที่รักการยิงประตู โรเมลูเป็นผู้เล่นประเภทที่สามารถเปลี่ยนฟอร์มการเล่นที่ดีให้กลายเป็นผลสกอร์ที่ดีได้เสมอ ผ่านการจบสกอร์ที่เฉียบคมของเขา เขามีอิทธิพลกับทีมอย่างมหาศาล และเขาก็ได้รับความเคารพจากทุกคนในทีม เนื่องด้วยความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่เสมอมาของเขา

 

 

เอแด็น อาซาร์ เป็นคนสำคัญของเบลเยียมมาตลอด รวมถึงเป็นกัปตันของคุณด้วย แต่เขาไม่ได้โอกาสเล่นมากนักกับ เรอัล มาดริด แล้วคุณจะจัดการกับเขาอย่างไรที่กาตาร์?
ถ้าคุณยังจำได้ ฟุตบอลโลกครั้งล่าสุดเมื่อปี 2018 คุณอาจจำสิ่งที่ อาซาร์ ทำเอาไว้ รวมถึงความแตกต่างที่เขาสร้างได้ในเกม เขาไม่ได้มีช่วงเวลาที่ดีนักในช่วงสองปีครึ่งที่ผ่านมา กับการเข้าร่วมทีมใหม่แล้วได้รับบาดเจ็บหลายครั้ง แต่สิ่งเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ และเรามีความมั่นใจในตัวเขาอย่างเต็มที่ อะไรที่เขาจะนำมาสู่ทีมของเราในฐานะกัปตันทีมชาติ เราแทบรอไม่ไหวที่ฟุตบอลโลกจะเริ่มต้นขึ้น เพื่อที่เขาจะได้แสดงออกอีกครั้งว่าเขาสามารถทำอะไรได้บ้าง

 

 

บอลโลก เบลเยี่ยม ปลายทางของยุคทอง ในฟุตบอลโลก 2022

 

เควิน เดอ บรอยน์ ก้าวขึ้นไปเป็นหนึ่งในนักเตะที่ดีที่สุดในโลกมาหลายปีแล้ว อะไรที่ทำให้เขาเป็นผู้เล่นที่พิเศษเช่นนี้?
เขาเป็นคนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เขาสามารถสร้างการจ่ายบอลและโอกาสในการทำประตูทั้งๆ ที่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เราเห็นเขาทำแบบนี้ได้มาหลายปีแล้ว แน่นอนว่ามีเพลย์เมกเกอร์จำนวนมากที่สามารถกำหนดเกมได้ มองเห็นสิ่งที่คนอื่นไม่เห็น

 

ความแตกต่างระหว่างคนอื่นๆ กับ เควิน เดอ บรอยน์ คือในขณะเดียวกัน เขายังเพิ่มจังหวะความเร็วของเกมขึ้นด้วย เขายกระดับการเล่นเพลย์เมกเกอร์ขึ้นไปอีกขั้น และนำเอาความเข้มข้นและคุณภาพที่แท้จริงมาสู่พื้นที่สุดท้ายของสนาม ทั้งเวลาที่มีและไม่มีบอล นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเขาถึงเป็นหนึ่งเดียวทั้งในเบลเยียมและในภาพรวมของวงการฟุตบอลสมัยใหม่

 

 

ถือได้ว่า เบลเยียม มีผู้เล่นที่มีคุณภาพสูงอยู่ทั่วสนาม แต่อะไรคือคุณลักษณะที่ยอดเยี่ยมที่สุดของทีมคุณ?
จุดแข็งที่สำคัญสุดของทีม ไม่ต้องสงสัยเลยว่าคือความเข้าใจที่ผู้เล่นทั้งหมดของเราสร้างขึ้นร่วมกัน และความสุขที่พวกเขาดูเหมือนจะได้รับจากการเป็นส่วนหนึ่งของทีม อย่าลืมว่าทีมนี้มีความคาดหวังสูง และอาจกลายเป็นภาระได้ ดูเหมือนว่านักเตะ, โดยเฉพาะคนที่เล่นในต่างแดน, ต่างยินดีรับความจริงที่ว่าพวกเขาเป็นทูตของฟุตบอลเบลเยียม เป็นกลุ่มผู้เล่นที่ท้าทายต่อแรงกดดัน และพร้อมอยู่ภายใต้สปอตไลท์เพื่อให้พวกเขาสามารถบรรลุสิ่งที่ยิ่งใหญ่กับประเทศของพวกเขาได้ มันน่าทึ่งจริงๆ

 

 

มักมีการพูดถึง “ยุคทอง” ของเบลเยียม อยู่เสมอ มันเป็นการเพิ่มความกดดันให้กับทีมคุณขึ้นอีกหรือไม่?
แรกเริ่ม การใช้นิยามว่า “ยุคทอง” เป็นของทีมในปี 1986 ส่วนมาวันนี้ มันเป็นเรื่องที่ต่างออกไป คำว่า “โกลเด้น เจเนอเรชั่น” อาจเหมาะสมมากกว่าในกรณีนี้ เมื่อกลุ่มนักเตะของเราเติบโตเบ่งบานขึ้นมาได้อย่างน่าประทับใจ

 

แต่นักเตะของเราก็ไม่ได้ตะขิดตะขวงใจอะไรที่จะถูกเรียกแบบนี้ และพวกเขาคุ้นเคยกับการได้ยินมันดี เพราะสิ่งนี้ถูกใช้มาตั้งแต่ก่อนฟุตบอลโลก 2018 แล้ว แน่นอนว่ามันมีความกดดันและความคาดหวังแฝงอยู่สูง และสิ่งเหล่านั้นก็ไม่ได้เป็นในเชิงบวกเสมอไป แต่ตอนนี้มันเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเบลเยียมของเรา

 

 

ตอนนี้ เบลเยียม ตกลงมาอยู่อันดับ 2 ฟีฟ่า แรงกิ้ง ไปแล้ว ไม่ใช่เบอร์ 1 โลกเหมือนที่เคยเป็นมานาน มันทำให้คุณและทีมต้องเปลี่ยนแปลงบางอย่างรึเปล่า?
ไม่เลย คุณต้องบอกตัวเองว่าอะไรเหล่านั้นมันเป็นอดีตไปแล้ว ในฐานะประเทศที่มีประชากรแค่ 11 ล้านคน การอยู่ในอันดับ 1 ของโลกเป็นเวลา 4 ปี ถือเป็นความสำเร็จที่น่าเหลือเชื่อแล้ว มีเพียง บราซิล และ สเปน เท่านั้นที่ครอบครองตำแหน่งนั้นเป็นเวลานาน แต่เมื่อคุณตกลงสู่อันดับ 2 คุณก็แค่ต้องจดจ่ออยู่กับการทวงตำแหน่งกลับคืนมา เพื่อนำหน้าทีมอย่าง บราซิล, ฝรั่งเศส, อาร์เจนติน่า หรือ อังกฤษ นั่นกระตุ้นให้เราต้องปรับปรุงคุณภาพให้ดียิ่งขึ้นไปอีก และฟุตบอลโลก 2022 ก็ช่วยให้เรามีโอกาสทำเช่นนั้นได้.

 

 

 

ไกด์เถื่อน เรียบเรียง

 

บอลโลก เบลเยี่ยม ปลายทางของยุคทอง ในฟุตบอลโลก 2022

 

ทีมชาติเบลเยี่ยม กับปลายทาง ‘ยุคทอง’ บอลโลก วิเคราะห์บอลโลกวันนี้

อย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้นเรื่อง ว่า ฟุตบอลโลก 2022 ครั้งนี้ สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของ โรเบร์โต้ มาร์ติเนซ คือการพา “ยุคทอง” ของ เบลเยียม มาจนถึงปลายทางของกลุ่มนักเตะกลุ่มนี้ ที่แทบทั้งหมดเข้าสู่หลัก 3 กันแล้ว และคงหลงเหลือแค่ไม่กี่คนจะได้ไปต่อ เวิลด์ คัพ ครั้งหน้าโน้น

 

นี่คือข้อเท็จจริงของ “อายุอานาม” ในขุมกำลังชุดปัจจุบัน
ยาน แฟร์ตองเก้น …… 35
ดรีส เมอร์เทนส์ …… 35
ซิมง มินโยเล่ต์ …… 34
โคเอน คาสตีลส์ …… 34
โทบี้ อัลเดอร์ไวเรลด์ …… 33
อักเซล วิตเซล …… 33
โธมัส มูนิเยร์ …… 31
เดดริค โบยาต้า …… 31
เควิน เดอ บรอยน์ …… 31
เอแด็น อาซาร์ …… 31
ติโบต์ กูร์กตัวส์ …… 30
ธอร์แกน อาซาร์ …… 29
ยานนิค การ์รัสโก้ …… 29
โรเมลู ลูกากู …… 29
มิชี่ บัตชูอายี่ …… 29

 

นั่นล่ะฮะท่านผู้ชม หลังจบฟุตบอลโลก จะยังเหลือสักกี่รายที่ได้ไปต่อกับรอบชิงแชมป์ ยูฟ่า เนชั่นส์ ลีก 2023 รวมถึง ยูโร 2024 ที่ประเทศเยอรมนี

 

คงไม่ต้องพูดถึง ฟุตบอลโลก 2026 (แคนาดา-สหรัฐอเมริกา-เม็กซิโก) ที่ 15 รายชื่อข้างต้น อาจเหลือไม่เกินหนึ่งหยิบมือ

 

ฉะนั้น นอกจากเฮดโค้ชอย่าง มาร์ติเนซ แล้ว กาตาร์ 2022 ก็จะเป็น “ฟุตบอลโลกหนสุดท้าย” ของหลายนักเตะเบลเยียม ด้วยเช่นกัน

 

และนั่นยิ่งทำให้น่าจับตาเป็นสักขีพยานมากขึ้นไปอีก ว่าพวกเขาจะออกแบบตอนจบของ Golden Generation ชุดนี้ที่ร่วมสร้างกันมานานปี ว่าอย่างไร…

 

(ทั้งนี้ทั้งนั้น แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์สำหรับ เบลเยียม ก็ยังพอมีอยู่ เมื่อใช่ว่ากลุ่มแข้งคุณภาพสูงๆ ใกล้จะถูกตัดตอนหมดวาระแบบเกลี้ยงแผง อย่างน้อย เควิน เดอ บรอยน์ ยังน่าไปต่อได้อีกพักใหญ่ รวมถึงเจนใหม่อย่าง ยูรี่ ตีเลมันส์ 25, เลอันโดร ทรอสซาร์ 27, อมาดู โอนาน่า 21, อเล็กซิส แซเลแมเกอร์ส 23, ชาร์ลส์ เด เคเตแลร์ 21, อัลแบร์ แซมบี้ โลกอนก้า 22, เชเรมี่ โดกู 20 ฯลฯ ก็ไปได้อีกยาวๆ)

 

 

อ้างอิง
FIFA
WIKIPEDIA

 

ภาพประกอบ
BeSoccer
Goal
The Times