16 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก 2022 เกมต่อเกม น็อกเอาต์! (2)

16 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก 2022 เกมต่อเกม น็อกเอาต์! (2)

16 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก 2022 เกมต่อเกม น็อกเอาต์! (2)

ฟุตบอลโลก 2022 กับ 16 ทีมสุดท้าย รอบน็อกเอาต์ !

 

จากที่จบใน 90 นาที แถมยิงกันขาดถึง 3 จาก 4 คู่แรก พอมาถึง 4 คู่หลังของรอบ 16 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก 2022 กลับออกทรงคาดเดาลำบากเหลือใจ ต้องวัดกันถึงดวลจุดโทษ 2 แมตช์ด้วยกัน และนี่คือบทบันทึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลังและสิ่งสืบเอง สำหรับแมตช์ที่เหลืออยู่ของรอบ 2 เวิลด์ คัพ ฉบับกาตาร์…

 

 

สุดทางปาฏิหาริย์! ซามูไรพ่ายดวลเป้าหมากรุก

16 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก 2022 เกมต่อเกม น็อกเอาต์! (2)

 

หากยังพอจำกันได้ ฮาจิเมะ โมริยาสุ กุนซือทัพซามูไรสีน้ำเงิน ประกาศไว้แต่แรกว่าเป้าหมายของเขาคือการเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้าย และนั่นเป็นสิ่งที่ใครก็ปรามาส ไม่คิดว่าจะทำได้–แม้แต่การผ่านรอบแรก แต่เมื่อเกมจริงมาถึง ญี่ปุ่น ก็พลิกสยบ เยอรมนี 2-1 ตั้งแต่แมตช์แรก ต่อมาแม้จะเจอความพลิกล็อกเล่นงานเองบ้างด้วยการแพ้ คอสตาริกา 0-1 แต่ก็ยังมาพลิกยิงแซงชนะ สเปน ในเกมที่บังคับต้องชนะอีก 2-1 จนผงาดคว้าแชมป์กลุ่มอีอย่างหล่อ

 

เพียงแต่คู่แข่งของ ญี่ปุ่น ก็ไม่ใช่ทีมที่ใครจะสามารถมองข้ามได้ เมื่อนี่คือหนึ่งในทีมแข็งของยุโรป ดีกรีรองแชมป์โลกหนก่อนอย่าง โครเอเชีย ที่โชว์ความหลังเหนียวด้วยการไม่เสียประตูทั้งเกมกับ โมร็อกโก และ เบลเยียม โดยเฉพาะนัดหลังที่เป็นเกมชี้ชะตาเข้ารอบหรือตกรอบ ก็ไม่พลาดท่าเสียที แม้ภาพรวมอาจไม่ได้เปรี้ยงปร้างเหมือนครั้งก่อนที่รัสเซีย แต่ยังเข้ารอบมาได้ตามเป้า

 

เกมที่ อัล จานู้บ สเตเดี้ยม โมริยาสุ มีการปรับไลน์อัพเล็กน้อย ริสึ โดอัน ถูกส่งลงตัวจริงบ้าง ประสานเกมรุกร่วมกับ ไดจิ คามาดะ และหน้าเป้า ไดเซน มาเอดะ ส่วนทัพตาหมากรุกของ ซลัตโก้ ดาลิช ก็ปรับเล็กๆ เหมือนกัน แต่ยังนำมาโดย 3 แดนกลางตัวท็อป ลูก้า โมดริช – มาร์เซโล่ โบรโซวิช – มาเตโอ โควาซิช เช่นเดิม

 

ญี่ปุ่น ยังคงรักษามาตรฐานในการทำได้ดี เล่นได้เยี่ยม พังประตูนำก่อน 1-0 จากจังหวะตวัดยิงหน้ากรอบ 6 หลาของ ไดเซน มาเอดะ น.43 ทว่าต้นครึ่งหลัง น.55 ก็โดนตีเสมอ 1-1 จากลูกโขกเน้นๆ ของ อีวาน เปริซิช แล้วหลังจากนั้นต่างฝ่ายต่างไม่สามารถทำอะไรกันได้ ทั้งใน 90 นาทีและต่อเวลาพิเศษ จนครบ 120 นาที ลงเอยที่ 1-1 เท่ากับเป็นคู่แรกที่ต้องตัดสินด้วยการดวลจุดโทษ

 

ญี่ปุ่น เสี่ยงทายได้เป็นฝ่ายยิงก่อน แต่….
ทาคุมิ มินามิโนะ ยิงติดเซฟ โดมินิค ลิวาโควิช 0-0
นิโกล่า วลาซิช ยิงเข้าไม่พลาด 0-1
คาโอรุ มิโตมะ ซัดเต็มข้อ ยังกดติดเซฟ ลิวาโควิช 0-1
มาร์เซโล่ โบรโซวิช ยิงเข้ากลางประตูเข้าอย่างมั่นใจ 0-2
ทาคุมะ อาซาโนะ ยิงเบี่ยงขวาเข้าไป ไล่ตีตื้นมาที่ 1-2
มาร์โก ลิวาย่า กดไปชนเสาเต็มใบ 1-2
ทว่ากัปตันทีม มายะ โยชิดะ ก็ยังซัดไม่ผ่านมือ ลิวาโควิช 1-2
จึงปิดท้ายที่ มาริโอ ปาซาลิช ยิงจมตาข่าย เช็คบิล 1-3

 

โครเอเชีย ชนะดวลเป้า 3-1 ได้ผ่านเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายต่อไป ส่วน ญี่ปุ่น ตกรอบ สิ้นสุดการผจญภัยอันเต็มไปด้วยความทรงจำแสนสวย แต่เพียงเท่านี้

 

(และประโยคของ เอโกะ จินปาจิ แห่ง Blue Lock ก็ดังขึ้น – “พอใจกันมากใช่มั้ย…ทีมที่ไม่เคยผ่านรอบ 16 ทีมได้เนี่ย หึหึหึ”)

 

รายชื่อผู้เล่นและสถิติที่สำคัญ
ญี่ปุ่น (3-4-3) ชูอิจิ กอนดะ – ทาเคฮิโร่ โทมิยาสุ, มายะ โยชิดะ (c), โชโง ทานิงุจิ – จุนยะ อิโตะ, ฮิเดมาสะ โมริตะ (อาโอะ ทานากะ 105), วาตารุ เอ็นโดะ, ยูโตะ นางาโตโมะ (คาโอรุ มิโตมะ 64) – ไดจิ คามาดะ (ฮิโรกิ ซากาอิ 75), ไดเซน มาเอดะ (ทาคุมะ อาซาโนะ 64), ริสึ โดอัน (ทาคุมิ มินามิโนะ 87)
โครเอเชีย (4-3-3) โดมินิค ลิวาโควิช – โยซิป ยูราโนวิช, เดยัน ลอฟเรน, ยอสโก้ กวาร์ดิโอล, บอร์น่า บาริซิช – ลูก้า โมดริช (ลอฟโร มาเยอร์ 99), มาร์เซโล่ โบรโซวิช, มาเตโอ โควาซิช (นิโกล่า วลาซิช 99) – อันเดรจ์ ครามาริช (มาริโอ ปาซาลิช 68), บรูโน่ เพ็ตโควิช (อันเต้ บูดิเมียร์ 62, มาร์โก ลิวาย่า 106), อีวาน เปริซิช (มิสลาฟ ออร์ซิช 105)

 

• แมนออฟเดอะแมตช์ : โดมินิค ลิวาโควิช
• พบกัน 3 ครั้งในบอลโลกรอบสุดท้าย ญี่ปุ่น เอาชนะ โครเอเชีย ไม่ได้ทั้งหมด – แพ้ 0-1 ฟร้องซ์ 98, เสมอ 0-0 เยอรมนี 2006 และเสมอ 1-1 ก่อนแพ้ดวลเป้า ครั้งนี้
• ญี่ปุ่น ตกรอบ 16 ทีมสุดท้ายเหมือนเช่นเคย และยังไม่เคยไปได้ไกลกว่านี้
1998 รอบแรก
2002 รอบ 16 ทีม (แพ้ ตุรกี 0-1)
2006 รอบแรก
2010 รอบ 16 ทีม (แพ้จุดโทษ ปารากวัย 3-5)
2014 รอบแรก
2018 รอบ 16 ทีม (แพ้ เบลเยียม 2-3)
2022 รอบ 16 ทีม (แพ้จุดโทษ โครเอเชีย 1-3)
• ทีมที่เป็นฝ่าย “ยิงจุดโทษก่อน” ในรอบน็อกเอาต์บอลโลก แพ้ติดต่อกันมา 7 เกมแล้ว นับตั้งแต่ คอสตาริกา แพ้ เนเธอร์แลนด์ 3-4 ปี 2014 ที่บราซิล4
• โดมินิค ลิวาโควิช เซฟ 3 จุดโทษในการดวลเป้าเป็นคนที่ 3 ถัดจาก ริคาร์โด้ (โปรตุเกส) 2006 และรุ่นพี่ ดานิเยล ซูบาซิช (โครเอเชีย) 2018

 

สืบเนื่องจากผลสกอร์ ญี่ปุ่น แพ้จุดโทษ โครเอเชีย 1-3
• โครเอเชีย เข้ารอบสุดท้ายไปดวลกับ บราซิล ยักษ์อเมริกาใต้ที่พวกเขาไม่เคยเอาชนะได้มาก่อนเลย จากการพบกัน 4 นัด
• โครเอเชีย ยังอยู่ในเส้นทางความ “สุดโต่ง” ในฟุตบอลโลก เมื่อถ้าไม่ตกรอบแรก ก็เข้ารอบลึกๆ ไปเลย
1998 อันดับ 3 (ชนะ เนเธอร์แลนด์ 2-1)
2002 รอบแรก
2006 รอบแรก
2014 รอบแรก
2018 รองแชมป์ (แพ้ ฝรั่งเศส 2-4)
2022 รอบ 8 ทีมสุดท้าย (เป็นอย่างน้อย)
• โดมินิค ลิวาโควิช นายประตูโลว์โพรไฟล์วัยย่าง 28 จาก ดินาโม ซาเกร็บ ถูกจับตาและคาดหมายว่าจะได้ย้ายสู่ทีมใหญ่ในเร็ววัน หลังขึ้นมาเป็นมือ 1 ในบอลโลกหนแรก และมีผลงานน่าประทับใจ
• อีวาน เปริซิช ยิงในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายเป็นลูกที่ 6 สูงสุดเทียบเท่า ดาวอร์ ซูเคอร์
• ฮาจิเมะ โมริยาสุ ยังจะอยู่ทำงานคุมญี่ปุ่นต่อ แต่ยังไม่แน่ชัดว่าลูกทีมวัยเก๋าจะยังเหลือใครบ้างในชุดถัดไป ซึ่งที่เข้าข่ายต้องจับตามี ยูโตะ นางาโตโมะ (36), เออิจิ คาวาชิมะ (39), มายะ โยชิดะ (34), ชูอิจิ กอนดะ (33) และ ฮิโรกิ ซากาอิ (32)

 

 

 

แซมบ้าฆ่าโสมแดดิ้น 4-1

16 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก 2022 เกมต่อเกม น็อกเอาต์! (2)

 

แม้จะพลาดพลั้งส่งทีมสำรองลงไปแพ้ แคเมอรูน 0-1 ในเกมปิดกลุ่ม แต่ถือว่าไม่ได้เสียหายอะไรกับ บราซิล ที่เกมแรกอัด เซอร์เบีย จนน่าชนะมากกว่า 2-0 เกมสองก็ฮึดเชือด สวิสส์ ด้วยประตูเวิลด์คลาสจาก กาเซมิโร่ จนการันตีการเข้ารอบ (และแชมป์กลุ่ม) ไว้อยู่ก่อนแล้ว

 

ทางด้าน เกาหลีใต้ สร้างเซอร์ไพรส์ได้ไม่แพ้เพื่อนบ้าน ญี่ปุ่น แต่ก็ต้องลุ้นใจหายใจคว่ำมากกว่าเมื่อสองเกมแรกผ่านไปมีแต้มในมือแค่คะแนนเดียว (0-0 อุรุกวัย, 2-3 กาน่า) จนสถานการณ์บังคับให้ต้องชนะ โปรตุเกส สถานเดียวพร้อมลุ้นผลอีกคู่ สุดท้ายทำสำเร็จด้วยการยิงแซง 2-1 และ อุรุกวัย ยิงได้ไม่พอในเกมของตัวเอง

 

เกมที่ สเตเดี้ยม 974 บราซิล ของ ตีเต้ ได้ เนย์มาร์ หายเจ็บข้อเท้ากลับมาเดินเกมรุกเคียงข้าง ริชาร์ลิซอน, ราฟินญ่า และ วินิซิอุส จูเนียร์ เช่นเดียวกับ ดานิโล่ ที่ฟิตลงยืนแบ็กซ้าย (ส่วนแบ็กขวาเป็น เอแดร์ มิลิเตา) เพื่อชิงตั๋วเข้ารอบกับทางด้าน เกาหลีใต้ ที่นำมาโดย ซน ฮึง-มิน, ฮวาง ฮี-ชาน และ คิม มิน-แจ เหมือนเช่นเคย

 

ปรากฏว่า “ลา เซเลเซา” ใช้วิธีจู่โจมเร็วจน “โสมขาว” ตั้งตัวไม่ติด ครึ่งชั่วโมงแรกรัวแล้วสามเม็ด เริ่มจาก วินิซิอุส จูเนียร์ ได้ลูกที่เสาไกลแล้วยิงยัดสวนทางเข้าไป น.7, จุดโทษที่ ริชาร์ลิซอน ไปโดน จอง อู-ยอง เตะใส่จนล้มลง และ เนย์มาร์ สังหารนิ่มๆ น.13, ริชาร์ลิซอน กดเน้นๆ ด้วยอีซ้าย น.29 แถม น.36 ยังฉีกกระจาย 4-0 จาก ลูคัส ปาเกต้า ที่ทะลุขึ้นวอลเลย์ผ่านมือ คิม ซึง-กยู ด้วย

 

ครึ่งแรกถ่างกระจายแล้ว 4-0 นับว่าเกมจบตรงนี้ เกาหลีใต้ หมดสิทธิ์คิดจะไปต่อ เท่ากับตาม ญี่ปุ่น ร่วงตกรอบไป สูญพันธุ์ทีมเอเชีย (เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย) เกลี้ยงแผงในรอบ 16 ทีม

 

สำหรับเกมครึ่งหลัง บราซิล ยังมีโอกาสได้ประตูหลายครั้ง รวมถึง เกาหลีใต้ เองก็เปิดหน้าแลกจน อลิสซอน เบ็คเกอร์ ต้องเซฟช่วยบราซิลไว้ 2-3 หนเช่นกัน จนกระทั่งนาที 76 เพค ซุง-โฮ จึงยิงตีไข่แตก 1-4 จังหวะซัดฮาล์ฟวอลเลย์สวนจากหน้าเขตโทษส่งลูกทะยานเข้าประตูอย่างสวยงาม แต่ก็ทำได้ดีที่สุดเพียงเท่านั้น จบเกมที่ บราซิล ชนะขาด 4-1

 

สิ่งเดียวที่ ตีเต้ อาจทำพลาดในเกมนี้ คือการปล่อยให้ เนย์มาร์ เล่นจนถึงนาทีที่ 80 แล้วค่อยถอดออกให้ โรดรีโก้ โกเอส ลงไปแทน ซึ่งซุปตาร์จากเปแอสเชที่เพิ่งยิงได้ลูกเดียวในทัวร์นาเมนต์นี้ ก็ต้องรีบประคบข้อเท้าทันทีหลังเข้าไปนั่งที่ข้างสนาม แม้คงไม่น่าห่วงสำหรับรอบถัดไปก็ตาม

 

รายชื่อผู้เล่นและสถิติที่สำคัญ
บราซิล (4-2-3-1) อลิสซอน เบ็คเกอร์ (เวแวร์ตอน 80) เอแดร์ มิลิเตา (ดานี่ อัลเวส 63), ติอาโก้ ซิลวา, มาร์กินญอส, ดานิโล่ (เบรแมร์ 72) – กาเซมิโร่, ลูคัส ปาเกต้า – ราฟินญ่า, เนย์มาร์ (โรดรีโก้ โกเอส 80), วินิซิอุส จูเนียร์ (กาเบรียล มาร์ติเนลลี่ 72) – ริชาร์ลิซอน
เกาหลีใต้ (4-2-3-1) คิม ซึง-กยู – คิม มุน-ฮวาน, คิม มิน-แจ, คิม ยอง-กวอน, คิม จิน-ซู (ฮง ชอล น.46) – ฮวาง อิน-บอม (เพค ซึง-โฮ 65), จอง อู-ยอง (ซน จุน-โฮ 46) – ฮวาง ฮี-ชาน, อี แจ-ซอง (อี คัง-อิน 74), ซน ฮึง-มิน – โช คยู-ซอง (ฮวาง อุย-โจ 80)

 

• แมนออฟเดอะแมตช์ : เนย์มาร์
• บราซิล สร้างโอกาสจบได้ถึง 18 ครั้ง ตรงกรอบ 9 ซึ่งหมายถึง คิม ซึง-กยู เซฟไป 5 รอบ ไม่วายโดน 4 เม็ด
• ส่วนสถิติของฟีฟ่า บอกว่า คิม ซึง-กยู มีส่วนป้องกัน หรือ Goals Prevented 18 ครั้งทีเดียว
• อลิสซอน เบ็คเกอร์ เพิ่งเสียประตูลูกแรก (เพค ซึง-โฮ) หลังลงเฝ้าเสา 3 เกม
• ริชาร์ลิซอน ยังอยู่ในเส้นทางช่วงชิงรองเท้าทองคำ ดาวซัลโวฟุตบอลโลก 2022 หลังยิงไป 3 ลูก ตามหลัง คีลิยัน เอ็มบัปเป้ 2 เม็ด
• บราซิล เป็นทีมแรกที่ใช้งานนักเตะครบถ้วน 26 คน หลังมีการส่ง เวแวร์ตอน นายประตูมือสาม ลงสำรองไปแทน อลิสซอน เบ็คเกอร์ ช่วงสิบนาทีท้าย

 

สืบเนื่องจากผลสกอร์ บราซิล 4-1 เกาหลีใต้
• บราซิล ลิ่วเข้าชน โครเอเชีย รองแชมป์เก่า ที่พวกเขาไม่เคยแพ้มาก่อนจากการพบกัน 4 นัดก่อนหน้านี้ (ชนะ 3 เสมอ 1)
• หากเดินหน้าเอาชนะ โครเอเชีย ได้ต่อ บราซิล มีสิทธิ์พบกับคู่รักคู่แค้นร่วมทวีปอย่าง อาร์เจนติน่า ในรอบตัดเชือก (ถ้าฟ้าขาวสามารถผ่าน เนเธอร์แลนด์ ได้)
• เปาโล เบนโต้ กุนซือชาวโปรตุเกส ลาออกจากการคุมทีมเกาหลีใต้เรียบร้อยแล้ว หลังทำทีมมา 4 ปีถ้วน มีสถิติคุมทีม 57 ชนะ 35 เสมอ 13 แพ้ 9 เปอร์เซ็นต์ชนะสูงถึง 61.4%
• บราซิล โดนตำหนิจากบางฝ่าย (เช่น รอย คีน) ถึงการทำท่าดีใจออกสเต็ปแดนซ์ยับหลังยิงประตูได้แต่ละลูก บ้างว่าไม่เหมาะสม บ้างว่าไม่เคารพคู่แข่ง แต่พวกเขาก็ยืนยันว่าจะไม่เปลี่ยนแนวทางนี้เป็นเด็ดขาด เมื่อเป็นการแสดงความดีใจแบบเพียวๆ ไม่มีการดูหมิ่นคู่แข่งสอดแทรกอยู่แต่อย่างใด
• นับจากที่เข้าไปถึงเป็นอันดับ 4 บอลโลกในบ้านตัวเอง (2002) แล้ว เกาหลีใต้ ก็ไม่เคยผ่านรอบ 16 ทีมได้เลย และก่อนหน้านี้ (2010) ก็แพ้ทีมอเมริกาใต้มาเช่นกัน
2006 ตกรอบแรก
2010 ตกรอบ 16 ทีม (แพ้ อุรุกวัย 1-2)
2014 ตกรอบแรก
2018 ตกรอบแรก
2022 ตกรอบ 16 ทีม (แพ้ บราซิล 1-4)

 

 

กระทิงเขาหัก! โมร็อกโกเฮดวลเป้าเข้า 8 ทีม ฟุตบอลโลก 2022

16 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก 2022 เกมต่อเกม น็อกเอาต์! (2)

 

จากที่มองกันว่าอาจจะเป็น เดนมาร์ก, อุรุกวัย, เอกวาดอร์, เซอร์เบีย หรือ ญี่ปุ่น ที่จะเป็น “ม้ามืด” แห่งฟุตบอลโลก 2022

 

ถึงตรงนี้ ชัดเจนแล้วว่าม้ามืดทีมนั้นก็คือ โมร็อกโก

 

เด็กๆ ของ วาลิด เรกรากี (ที่เพิ่งจะเข้าทำทีมต่อจาก วาฮิด ฮาลิลฮ็อดซิช เมื่อกลางปี) เริ่มต้นทัวร์นาเมนต์ด้วยการยันเสมอ โครเอเชีย 0-0 ก่อนสร้างเซอร์ไพรส์ปราบ เบลเยียม 2-0 และฟาดอีกสามแต้มด้วยการสยบ แคนาดา 2-1 จนเข้ารอบด้วยการเป็นแชมป์กลุ่มเสียเฉยๆ

 

ด้าน สเปน ของ หลุยส์ เอ็นริเก้ มาดีเกินคาดอยู่เหมือนกันในนัดแรกที่ไล่โขยก คอสตาริกา 7-0 จากนั้นก็หวิดชนะ เยอรมนี แต่โดนทวงท้ายเกม 1-1 แต่ปรากฏว่านัดสุดท้าย เล่นแบบเอื่อยๆ จนโดน ญี่ปุ่น แซงเชือด 2-1 ท่ามกลางครหาว่าอันที่จริง พวกเขาตั้งใจแพ้เพื่อขวางไม่ให้ เยอรมนี หลุดเข้าไปเป็นเสี้ยนหนาม แถมตัวเองยังจะเลี่ยงทีมแข็งอย่าง โครเอเชีย หรือ บราซิล ในรอบถัดๆ ไปได้ด้วย

 

หากเป็นไปตามที่หลายฝ่ายมอง — สเปน เลือกที่จะมาเจอ โมร็อกโก

 

แล้วเป็นไงล่ะเพื่อน…

 

ที่จริง เกมที่ เอดูเคชั่น ซิตี้ สเตเดี้ยม หลายฝ่ายมองว่า “กระทิงดุ” เหนือกว่าพอตัว ทว่าพวกเขาก็ไม่อาจเจาะแนวรับของ โมร็อกโก เข้าได้เลย ทั้งใน 90 นาทีและ 120 นาที จบแบบไร้สกอร์ 0-0 ซึ่งโอกาสที่ใกล้เคียงสุดเป็นในนาทีสุดท้ายของช่วงต่อเวลา ปาโบล ซาราเบีย เข้าชาร์จลูกย้อนทางสะกิดเสาแรกหลุดออกไป นอกนั้นโอกาสทั้งหมดถ้าไม่หลุดไปเองก็ไม่ผ่านมือ ยาสซีน “โบโน่” บูนู นายประตูโมร็อกโก จากเซบีย่า

 

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อถึงการดวลจุดโทษตัดสิน ก็กลายเป็น “โบโน่” ที่กลายเป็นโคตรพระเอก เซฟ 2 จุดโทษของทั้ง คาร์ลอส โซเลร์ และ เซร์คิโอ บุสเก็ตส์ ถัดจากที่ ปาโบล ซาราเบีย (ซึ่ง เอ็นริเก้ ตั้งใจส่งลงมายิงจุดโทษโดยเฉพาะ) ยิงคนแรกแล้วอัดไปชนเสาดังโครม

 

ส่งผลให้ โมร็อกโก ที่แม่นเป้ากว่า ยิงเข้า 3 จาก 4 คน โดยเฉพาะคนสุดท้าย อัชราฟ ฮาคิมี่ ที่ชิปนิ่มๆ เข้ากลางประตูนั้น เป็นฝ่ายชนะดวลเป้าด้วยสกอร์ประหลาด 3-0 — หมายถึงว่า สเปน ที่ก่อนนี้เผยว่าพวกเขาซ้อมยิงจุดโทษกันมาเป็นพันๆ ครั้ง ยิงไม่เข้าเลยเมื่อเกมจริงมาถึง และ… ตกรอบ…

 

สำหรับ โมร็อกโก สร้างประวัติศาสตร์เข้าสู่รอบ 8 ทีมสุดท้ายเป็นครั้งแรก และเป็นทีมแอฟริการายที่ 3 ถัดจาก แคเมอรูน 1990, เซเนกัล 2002 และ กาน่า 2010 ที่มาได้ถึงตรงนี้

 

รายชื่อผู้เล่นและสถิติที่สำคัญ
โมร็อกโก (4-3-3) ยาสซีน บูนู – อัชราฟ ฮาคิมี่, โรแม็ง ซาอิสส์, นาเยฟ อาแกร์ด (จาวาด เอล ยามิก 84), นูสแซร์ มาซราอุย (ยาเฮีย อัตติยัด-อัลลาห์ 82) – อัซซาดีน อูนาฮี (บาเดอร์ เบนูน 120), โซฟียาน อัมราบัต, เซลิม อมัลลาห์ (วาลิด เชดดิรา 82) – ฮาคิม ซีเย็ค, ยุสเซฟ เอ็น-เนซิรี่ (อับเดลฮามิด ซาบิรี 82), โซฟียาน บูฟาล (อับเด เอซซัลซูลี่ 66)
สเปน (4-3-3) อูไน ซิมอน – มาร์กอส ยอเรนเต้, โรดรี้, อายเมอริก ลาป๊อร์กต์, จอร์ดี้ อัลบา (อเลฆานโดร บัลเด้ 98) – เปดรี้, เซร์คิโอ บุสเก็ตส์, กาบี (คาร์ลอส โซเลร์ น.63) – เฟร์ราน ตอร์เรส (นิโก้ วิลเลี่ยมส์ 75, ปาโบล ซาราเบีย 118), มาร์โก อเซนซิโอ (อัลบาโร่ โมราต้า 63), ดานี่ โอลโม (อันซู ฟาติ 98)

 

• แมนออฟเดอะแมตช์ : ยาสซีน บูนู
• ที่จริงแล้ว ยาสซีน บูนู เกิดที่แคนาดา แต่ย้ายมาโตที่โมร็อกโก ตอน 3 ขวบ และเคยเป็นเด็กฝึกของ แอตเลติโก มาดริด มาก่อน ก่อนจะย้ายจาก คิโรน่า มาเล่นกับ เซบีย่า ตั้งแต่ 2019 เป็นต้นมา พร้อมคว้ารางวัลนายประตูแห่งปี Zamora Trophy ลา ลีกา ซีซั่นที่แล้วด้วย
• ตลอดเกม 120 นาที มียิงตรงกรอบกันแค่ 4 ครั้ง (สเปน 3 โมร็อกโก 1) และ สเปน ไม่ได้เตะมุมเลยสักครั้ง
• อัซซาดีน อูนาฮี วิ่งรวมระยะ 14.71 กม.
• ด้วยที่ตั้ง จึงสามารถนิยาม โมร็อกโก ว่าเป็นได้ทั้ง “ชาติอาหรับ” และ “แอฟริกาเหนือ” โดยนอกจากเป็นแอฟริกันรายที่ 4 ที่เข้ารอบ 8 ทีมบอลโลกแล้ว ก็นับเป็นชาติอาหรับรายแรกที่มาถึงตรงนี้
• สเปน ร่วงรอบ 16 ทีมสุดท้ายอีกครั้ง ซ้ำรอยเดิมจากฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซีย
• สเปน ยังแพ้จุดโทษจนตกรอบทัวร์นาเมนต์ใหญ่ 3 หนซ้อน
ฟุตบอลโลก 2018 แพ้จุดโทษ รัสเซีย 3-4
ยูโร 2020 แพ้จุดโทษ อิตาลี 2-4
ฟุตบอลโลก 2022 แพ้จุดโทษ โมร็อกโก 0-3

 

สืบเนื่องจากผลสกอร์ โมร็อกโก ชนะจุดโทษ สเปน 3-0
• โมร็อกโก เข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายไปชน โปรตุเกส อีกหนึ่งเพื่อนบ้านต่างทวีป ที่อยู่ห่างกันแค่ข้ามทะเลชั่วโมงเศษ (เที่ยวบิน)
• อย่าว่าแต่เข้ารอบ 8 ทีม ก่อนนี้ โมร็อกโก เคยได้เข้าน็อกเอาต์ 16 ทีมบอลโลกมาแค่หนเดียวถ้วน คือปี 1986 นอกนั้นตกรอบแรก 4 ครั้ง
• วาลิด เรกรากี โค้ชเชื้อสายฝรั่งเศสวัย 47 กลายเป็นฮีโร่ของประเทศไปแล้ว และยังนับเป็นโค้ชแอฟริกันคนแรกที่เข้าถึง 8 ทีมสุดท้ายบอลโลก
• หลุยส์ เอ็นริเก้ ลาออกจากการทำทีม สเปน ในที่สุด หลังอยู่บนเก้าอี้มาตั้งแต่ปี 2018 (มีเว้นช่วงไปพักหนึ่ง) ลงสนาม 47 ชนะ 26 เสมอ 14 แพ้ 7

 

 

แฮตทริกแรกมา! ฝอยทองกระหน่ำสวิสส์ 6-1

16 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก 2022 เกมต่อเกม น็อกเอาต์! (2)

 

นี่คือการพบกันครั้งที่ 26 เข้าไปแล้วของ โปรตุเกส กับ สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งรายแรก ชนะ 2 เกมซ้อนเหนือทั้ง กาน่า และ อุรุกวัย จนการันตีการเข้ารอบน็อกเอาต์ได้ตั้งแต่จบสองเกมแรก ส่วนรายหลัง ชนะ แคเมอรูน 1-0 และยัน บราซิล 0-0 จนถึงนาที 83 (โดน กาเซมิโร่ สอย 1-0) ก่อนจะเจอเกมแลกหมัดกับ เซอร์เบีย ซึ่งทัพนาฬิกาก็ยังมีดีพอจะเบียดชนะ 3-2 และเข้ารอบตามหลัง บราซิล มา

 

ที่จริง การเจอกันระหว่าง โปรตุเกส กับ สวิตเซอร์แลนด์ ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานตั้งแต่ 1938 แม้จะยิงกันเยอะในช่วงหลัง แต่ก็ผลัดกันแพ้ชนะมาเรื่อยๆ

 

คัดบอลโลก 2016 สวิตเซอร์แลนด์ ชนะ 2-0
คัดบอลโลก 2017 โปรตุเกส ชนะ 2-0
เนชั่นส์ลีก 2019 โปรตุเกส ชนะ 3-1
เนชั่นส์ลีก 2022 โปรตุเกส ชนะ 4-0
เนชั่นส์ลีก 2022 สวิตเซอร์แลนด์ ชนะ 1-0

 

นั่นแสดงให้เห็นถึงความคู่คี่สูสีที่ โปรตุเกส กับ สวิตเซอร์แลนด์ มี และหลายฝ่ายก็คาดว่า การพบกันอีกครั้งในรอบ 16 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก 2022 น่าจะออกทรงกินกันยาก เผลอๆ อาจยิงยาวถึงดวลจุดโทษอีกเกม

 

ที่ไหนได้…

 

การเปลี่ยนทีมอย่างเซอร์ไพรส์ของ แฟร์นันโด ซานโตส เล่นงาน สวิตเซอร์แลนด์ ได้อย่างหนักหน่วง–ช่างทำรุนแรงเหลือเกิน โดยเฉพาะการดร็อป คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ลงนั่งสำรอง เปิดทางให้หัวหอกหน้าใหม่จากเบนฟิก้า กอนซาโล่ รามอส ลงตัวจริงหนแรกในทัวร์นาเมนต์ หลังจากที่ก่อนนี้ ดาวรุ่งวัย 21 ได้สัมผัสเกมในฐานะตัวสำรองท้ายเกมมาแค่ 2 นัด ลงนาที 88 กับกาน่า และนาที 82 กับอุรุกวัย (ส่วนกับ เกาหลีใต้ ไม่ได้เล่น)

 

1-0 ชูเอา เฟลิกซ์ ไหลให้ กอนซาโล่ รามอส พลิกยิงด้วยซ้ายเสียบเสาแรก น.17
2-0 เปเป้ ทิ่มโขกลูกเตะมุมของ บรูโน่ แฟร์นันเดส ไม่เหลือ น.33
3-0 ดีโอโก้ ดาโล่ต์ แทงขึ้นหน้าให้ กอนซาโล่ รามอส จิ้มลอดขา ยานน์ ซอมเมอร์ น.51
4-0 รามอส จ่ายให้ ราฟาเอล เกร์เรยโร่ สอดขึ้นกดด้วยซ้ายปะทะตาข่าย น.55
4-1 มานูเอล อคานจี เก็บตกชาร์จเตะมุมเสาสอง น.58
5-1 กอนซาโล่ รามอส ทะลุเข้ายกลูกข้ามตัว ซอมเมอร์ อย่างเหนือชั้น เป็นแฮตทริก น.67
6-1 หอกสำรอง ราฟาเอล เลเอา ปั่นด้วยขวาเข้าเสาสอง น.90+2

 

ผ่าน 48 เกมของรอบแรก และอีกหลายนัดของรอบ 16 ทีม “แฮตทริกแรก” ก็มาจนได้ และมาอย่างเซอร์ไพรส์กับราย กอนซาโล่ รามอส ที่แทบไม่มีใครรู้จักมักจี่มาก่อน

 

สำคัญคือ โปรตุเกส กรีธาทัพผ่าน สวิตเซอร์แลนด์ อย่างสบาย ง่ายดายเกินคาด

 

เพื่อไปไล่ล่าแชมป์โลกสมัยแรก…ไม่ว่าจะมี คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ในทีมตัวจริงหรือไม่ ก็ตาม

 

รายชื่อผู้เล่นและสถิติที่สำคัญ
โปรตุเกส (4-3-3) ดีโอโก้ คอสต้า – ดีโอโก้ ดาโล่ต์, เปเป้, รูเบน ดิอาส, ราฟาเอล เกร์เรยโร่ – โอตาวิโอ (วิตินญ่า 74), วิลเลี่ยม คาร์วัลโญ่, แบร์นาร์โด้ ซิลวา (รูเบน เนเวส 81) – บรูโน แฟร์นันเดส (ราฟาเอล เลเอา 87), กอนซาโล่ รามอส (ริคาร์โด้ ออร์ต้า 74), ชูเอา เฟลิกซ์ (คริสเตียโน่ โรนัลโด้ 73)
สวิตเซอร์แลนด์ (4-2-3-1) ยานน์ ซอมเมอร์ – เอดิมิลซอน แฟร์นันเดส, ฟาเบียน ชาร์ (เอราย โคเมิร์ต 46), มานูเอล อคานจี, ริคาร์โด้ โรดริเกซ – เรโม่ ฟรอยเลอร์ (เดนิส ซากาเรีย 54), กรานิต ชาก้า – เซอร์ดาน ชากิรี่, ชิบริล โซว์ (ฮาริส เซเฟโรวิช 54), รูเบน วาร์กัส (โนอาห์ โอคาฟอร์ 66) – บรีล เอ็มโบโล่ (อาร์ดอน ยาชารี 89)

 

• แมนออฟเดอะแมตช์ : กอนซาโล่ รามอส
• กอนซาโล่ รามอส ซัด 3 ประตูในนัดเดียว แม้เพิ่งได้ลงเล่นฟุตบอลโลกไปเพียง 85 นาทีเท่านั้น และเป็นแฮตทริกแรกในฟุตบอลโลก 2022
• กอนซาโล่ รามอส เป็นนักเตะคนแรกที่ทำแฮตทริกในรอบน็อกเอาต์ฟุตบอลโลก นับตั้งแต่ โธมัส สคูราวี่ ในเกมกับคอสตาริกา ปี 1990
• กอนซาโล่ รามอส ยิงประตูรอบน็อกเอาต์บอลโลก เกมเดียวได้ 3 ลูก มากกว่าที่ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ เล่นมาทั้งชีวิต และไม่เคยยิงได้เลย
• เปเป้ กลายเป็นนักเตะสูงวัยสุดที่ยิงได้ในรอบน็อกเอาต์ฟุตบอลโลก ด้วยอายุ 39 ปี 283 วัน
• สวิตเซอร์แลนด์ ตกรอบ 16 ทีมสุดท้ายบอลโลกเป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกัน และ 4 จาก 5 หนหลัง (อีกหน ตกรอบแรก 2010)

 

สืบเนื่องจากผลสกอร์ โปรตุเกส 6-1 สวิตเซอร์แลนด์
• โปรตุเกส ทะลุเข้าไปดวล โมร็อกโก ในรอบ 8 ทีมสุดท้าย
• โปรตุเกส อยู่ในเส้นทางของการลุ้นแชมป์โลกสมัยแรก โดยยังไม่เคยเข้าชิงชนะเลิศได้มาก่อน ผลงานดีสุดคืออันดับสาม 1966 และอันดับสี่ 2006
• กอนซาโล่ รามอส เล่นทีมชาติ 4 นัด ซัด 4 ประตู
• คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ไม่วายเป็นข่าวว่าออกลูกงอแง จะปลีกตัวทิ้งแคมป์ทีมชาติไปกลางคันด้วยความไม่พอใจที่ต้องตกเป็นตัวสำรองเกมสำคัญนัดล่าสุดนี้ แต่สมาคมบอลโปรตุเกสยืนกรานชัดว่าข่าวนี้เป็น fake news และ โรนัลโด้ ไม่ได้ออกอาการอะไรใดๆ

 

ไกด์เถื่อน

 

อ้างอิง
wikipedia
FIFA

ภาพประกอบ
amNewYork
SPORT
Bloomberg
AFP

 

เรื่องน่าอ่าน
16 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก 2022 เกมต่อเกม น็อกเอาต์ !
บอลโลกบันทึก #2 : สำรวจสถิติรอบแรก ฟุตบอลโลก 2022
บอลโลกบันทึก #1 : สุดทางรอบแรก ฟุตบอลโลก 2022

 

16 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก 2022 เกมต่อเกม น็อกเอาต์! (2)
0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น