16 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก 2022 เกมต่อเกม น็อกเอาต์! (2)

16 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก 2022 เกมต่อเกม น็อกเอาต์! (2)

ฟุตบอลโลก 2022 กับ 16 ทีมสุดท้าย รอบน็อกเอาต์ !

 

จากที่จบใน 90 นาที แถมยิงกันขาดถึง 3 จาก 4 คู่แรก พอมาถึง 4 คู่หลังของรอบ 16 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก 2022 กลับออกทรงคาดเดาลำบากเหลือใจ ต้องวัดกันถึงดวลจุดโทษ 2 แมตช์ด้วยกัน และนี่คือบทบันทึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลังและสิ่งสืบเอง สำหรับแมตช์ที่เหลืออยู่ของรอบ 2 เวิลด์ คัพ ฉบับกาตาร์…

 

 

สุดทางปาฏิหาริย์! ซามูไรพ่ายดวลเป้าหมากรุก

16 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก 2022 เกมต่อเกม น็อกเอาต์! (2)

 

หากยังพอจำกันได้ ฮาจิเมะ โมริยาสุ กุนซือทัพซามูไรสีน้ำเงิน ประกาศไว้แต่แรกว่าเป้าหมายของเขาคือการเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้าย และนั่นเป็นสิ่งที่ใครก็ปรามาส ไม่คิดว่าจะทำได้–แม้แต่การผ่านรอบแรก แต่เมื่อเกมจริงมาถึง ญี่ปุ่น ก็พลิกสยบ เยอรมนี 2-1 ตั้งแต่แมตช์แรก ต่อมาแม้จะเจอความพลิกล็อกเล่นงานเองบ้างด้วยการแพ้ คอสตาริกา 0-1 แต่ก็ยังมาพลิกยิงแซงชนะ สเปน ในเกมที่บังคับต้องชนะอีก 2-1 จนผงาดคว้าแชมป์กลุ่มอีอย่างหล่อ

 

เพียงแต่คู่แข่งของ ญี่ปุ่น ก็ไม่ใช่ทีมที่ใครจะสามารถมองข้ามได้ เมื่อนี่คือหนึ่งในทีมแข็งของยุโรป ดีกรีรองแชมป์โลกหนก่อนอย่าง โครเอเชีย ที่โชว์ความหลังเหนียวด้วยการไม่เสียประตูทั้งเกมกับ โมร็อกโก และ เบลเยียม โดยเฉพาะนัดหลังที่เป็นเกมชี้ชะตาเข้ารอบหรือตกรอบ ก็ไม่พลาดท่าเสียที แม้ภาพรวมอาจไม่ได้เปรี้ยงปร้างเหมือนครั้งก่อนที่รัสเซีย แต่ยังเข้ารอบมาได้ตามเป้า

 

เกมที่ อัล จานู้บ สเตเดี้ยม โมริยาสุ มีการปรับไลน์อัพเล็กน้อย ริสึ โดอัน ถูกส่งลงตัวจริงบ้าง ประสานเกมรุกร่วมกับ ไดจิ คามาดะ และหน้าเป้า ไดเซน มาเอดะ ส่วนทัพตาหมากรุกของ ซลัตโก้ ดาลิช ก็ปรับเล็กๆ เหมือนกัน แต่ยังนำมาโดย 3 แดนกลางตัวท็อป ลูก้า โมดริช – มาร์เซโล่ โบรโซวิช – มาเตโอ โควาซิช เช่นเดิม

 

ญี่ปุ่น ยังคงรักษามาตรฐานในการทำได้ดี เล่นได้เยี่ยม พังประตูนำก่อน 1-0 จากจังหวะตวัดยิงหน้ากรอบ 6 หลาของ ไดเซน มาเอดะ น.43 ทว่าต้นครึ่งหลัง น.55 ก็โดนตีเสมอ 1-1 จากลูกโขกเน้นๆ ของ อีวาน เปริซิช แล้วหลังจากนั้นต่างฝ่ายต่างไม่สามารถทำอะไรกันได้ ทั้งใน 90 นาทีและต่อเวลาพิเศษ จนครบ 120 นาที ลงเอยที่ 1-1 เท่ากับเป็นคู่แรกที่ต้องตัดสินด้วยการดวลจุดโทษ

 

ญี่ปุ่น เสี่ยงทายได้เป็นฝ่ายยิงก่อน แต่….
ทาคุมิ มินามิโนะ ยิงติดเซฟ โดมินิค ลิวาโควิช 0-0
นิโกล่า วลาซิช ยิงเข้าไม่พลาด 0-1
คาโอรุ มิโตมะ ซัดเต็มข้อ ยังกดติดเซฟ ลิวาโควิช 0-1
มาร์เซโล่ โบรโซวิช ยิงเข้ากลางประตูเข้าอย่างมั่นใจ 0-2
ทาคุมะ อาซาโนะ ยิงเบี่ยงขวาเข้าไป ไล่ตีตื้นมาที่ 1-2
มาร์โก ลิวาย่า กดไปชนเสาเต็มใบ 1-2
ทว่ากัปตันทีม มายะ โยชิดะ ก็ยังซัดไม่ผ่านมือ ลิวาโควิช 1-2
จึงปิดท้ายที่ มาริโอ ปาซาลิช ยิงจมตาข่าย เช็คบิล 1-3

 

โครเอเชีย ชนะดวลเป้า 3-1 ได้ผ่านเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายต่อไป ส่วน ญี่ปุ่น ตกรอบ สิ้นสุดการผจญภัยอันเต็มไปด้วยความทรงจำแสนสวย แต่เพียงเท่านี้

 

(และประโยคของ เอโกะ จินปาจิ แห่ง Blue Lock ก็ดังขึ้น – “พอใจกันมากใช่มั้ย…ทีมที่ไม่เคยผ่านรอบ 16 ทีมได้เนี่ย หึหึหึ”)

 

รายชื่อผู้เล่นและสถิติที่สำคัญ
ญี่ปุ่น (3-4-3) ชูอิจิ กอนดะ – ทาเคฮิโร่ โทมิยาสุ, มายะ โยชิดะ (c), โชโง ทานิงุจิ – จุนยะ อิโตะ, ฮิเดมาสะ โมริตะ (อาโอะ ทานากะ 105), วาตารุ เอ็นโดะ, ยูโตะ นางาโตโมะ (คาโอรุ มิโตมะ 64) – ไดจิ คามาดะ (ฮิโรกิ ซากาอิ 75), ไดเซน มาเอดะ (ทาคุมะ อาซาโนะ 64), ริสึ โดอัน (ทาคุมิ มินามิโนะ 87)
โครเอเชีย (4-3-3) โดมินิค ลิวาโควิช – โยซิป ยูราโนวิช, เดยัน ลอฟเรน, ยอสโก้ กวาร์ดิโอล, บอร์น่า บาริซิช – ลูก้า โมดริช (ลอฟโร มาเยอร์ 99), มาร์เซโล่ โบรโซวิช, มาเตโอ โควาซิช (นิโกล่า วลาซิช 99) – อันเดรจ์ ครามาริช (มาริโอ ปาซาลิช 68), บรูโน่ เพ็ตโควิช (อันเต้ บูดิเมียร์ 62, มาร์โก ลิวาย่า 106), อีวาน เปริซิช (มิสลาฟ ออร์ซิช 105)

 

• แมนออฟเดอะแมตช์ : โดมินิค ลิวาโควิช
• พบกัน 3 ครั้งในบอลโลกรอบสุดท้าย ญี่ปุ่น เอาชนะ โครเอเชีย ไม่ได้ทั้งหมด – แพ้ 0-1 ฟร้องซ์ 98, เสมอ 0-0 เยอรมนี 2006 และเสมอ 1-1 ก่อนแพ้ดวลเป้า ครั้งนี้
• ญี่ปุ่น ตกรอบ 16 ทีมสุดท้ายเหมือนเช่นเคย และยังไม่เคยไปได้ไกลกว่านี้
1998 รอบแรก
2002 รอบ 16 ทีม (แพ้ ตุรกี 0-1)
2006 รอบแรก
2010 รอบ 16 ทีม (แพ้จุดโทษ ปารากวัย 3-5)
2014 รอบแรก
2018 รอบ 16 ทีม (แพ้ เบลเยียม 2-3)
2022 รอบ 16 ทีม (แพ้จุดโทษ โครเอเชีย 1-3)
• ทีมที่เป็นฝ่าย “ยิงจุดโทษก่อน” ในรอบน็อกเอาต์บอลโลก แพ้ติดต่อกันมา 7 เกมแล้ว นับตั้งแต่ คอสตาริกา แพ้ เนเธอร์แลนด์ 3-4 ปี 2014 ที่บราซิล4
• โดมินิค ลิวาโควิช เซฟ 3 จุดโทษในการดวลเป้าเป็นคนที่ 3 ถัดจาก ริคาร์โด้ (โปรตุเกส) 2006 และรุ่นพี่ ดานิเยล ซูบาซิช (โครเอเชีย) 2018

 

สืบเนื่องจากผลสกอร์ ญี่ปุ่น แพ้จุดโทษ โครเอเชีย 1-3
• โครเอเชีย เข้ารอบสุดท้ายไปดวลกับ บราซิล ยักษ์อเมริกาใต้ที่พวกเขาไม่เคยเอาชนะได้มาก่อนเลย จากการพบกัน 4 นัด
• โครเอเชีย ยังอยู่ในเส้นทางความ “สุดโต่ง” ในฟุตบอลโลก เมื่อถ้าไม่ตกรอบแรก ก็เข้ารอบลึกๆ ไปเลย
1998 อันดับ 3 (ชนะ เนเธอร์แลนด์ 2-1)
2002 รอบแรก
2006 รอบแรก
2014 รอบแรก
2018 รองแชมป์ (แพ้ ฝรั่งเศส 2-4)
2022 รอบ 8 ทีมสุดท้าย (เป็นอย่างน้อย)
• โดมินิค ลิวาโควิช นายประตูโลว์โพรไฟล์วัยย่าง 28 จาก ดินาโม ซาเกร็บ ถูกจับตาและคาดหมายว่าจะได้ย้ายสู่ทีมใหญ่ในเร็ววัน หลังขึ้นมาเป็นมือ 1 ในบอลโลกหนแรก และมีผลงานน่าประทับใจ
• อีวาน เปริซิช ยิงในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายเป็นลูกที่ 6 สูงสุดเทียบเท่า ดาวอร์ ซูเคอร์
• ฮาจิเมะ โมริยาสุ ยังจะอยู่ทำงานคุมญี่ปุ่นต่อ แต่ยังไม่แน่ชัดว่าลูกทีมวัยเก๋าจะยังเหลือใครบ้างในชุดถัดไป ซึ่งที่เข้าข่ายต้องจับตามี ยูโตะ นางาโตโมะ (36), เออิจิ คาวาชิมะ (39), มายะ โยชิดะ (34), ชูอิจิ กอนดะ (33) และ ฮิโรกิ ซากาอิ (32)

 

 

 

แซมบ้าฆ่าโสมแดดิ้น 4-1

16 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก 2022 เกมต่อเกม น็อกเอาต์! (2)

 

แม้จะพลาดพลั้งส่งทีมสำรองลงไปแพ้ แคเมอรูน 0-1 ในเกมปิดกลุ่ม แต่ถือว่าไม่ได้เสียหายอะไรกับ บราซิล ที่เกมแรกอัด เซอร์เบีย จนน่าชนะมากกว่า 2-0 เกมสองก็ฮึดเชือด สวิสส์ ด้วยประตูเวิลด์คลาสจาก กาเซมิโร่ จนการันตีการเข้ารอบ (และแชมป์กลุ่ม) ไว้อยู่ก่อนแล้ว

 

ทางด้าน เกาหลีใต้ สร้างเซอร์ไพรส์ได้ไม่แพ้เพื่อนบ้าน ญี่ปุ่น แต่ก็ต้องลุ้นใจหายใจคว่ำมากกว่าเมื่อสองเกมแรกผ่านไปมีแต้มในมือแค่คะแนนเดียว (0-0 อุรุกวัย, 2-3 กาน่า) จนสถานการณ์บังคับให้ต้องชนะ โปรตุเกส สถานเดียวพร้อมลุ้นผลอีกคู่ สุดท้ายทำสำเร็จด้วยการยิงแซง 2-1 และ อุรุกวัย ยิงได้ไม่พอในเกมของตัวเอง

 

เกมที่ สเตเดี้ยม 974 บราซิล ของ ตีเต้ ได้ เนย์มาร์ หายเจ็บข้อเท้ากลับมาเดินเกมรุกเคียงข้าง ริชาร์ลิซอน, ราฟินญ่า และ วินิซิอุส จูเนียร์ เช่นเดียวกับ ดานิโล่ ที่ฟิตลงยืนแบ็กซ้าย (ส่วนแบ็กขวาเป็น เอแดร์ มิลิเตา) เพื่อชิงตั๋วเข้ารอบกับทางด้าน เกาหลีใต้ ที่นำมาโดย ซน ฮึง-มิน, ฮวาง ฮี-ชาน และ คิม มิน-แจ เหมือนเช่นเคย

 

ปรากฏว่า “ลา เซเลเซา” ใช้วิธีจู่โจมเร็วจน “โสมขาว” ตั้งตัวไม่ติด ครึ่งชั่วโมงแรกรัวแล้วสามเม็ด เริ่มจาก วินิซิอุส จูเนียร์ ได้ลูกที่เสาไกลแล้วยิงยัดสวนทางเข้าไป น.7, จุดโทษที่ ริชาร์ลิซอน ไปโดน จอง อู-ยอง เตะใส่จนล้มลง และ เนย์มาร์ สังหารนิ่มๆ น.13, ริชาร์ลิซอน กดเน้นๆ ด้วยอีซ้าย น.29 แถม น.36 ยังฉีกกระจาย 4-0 จาก ลูคัส ปาเกต้า ที่ทะลุขึ้นวอลเลย์ผ่านมือ คิม ซึง-กยู ด้วย

 

ครึ่งแรกถ่างกระจายแล้ว 4-0 นับว่าเกมจบตรงนี้ เกาหลีใต้ หมดสิทธิ์คิดจะไปต่อ เท่ากับตาม ญี่ปุ่น ร่วงตกรอบไป สูญพันธุ์ทีมเอเชีย (เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย) เกลี้ยงแผงในรอบ 16 ทีม

 

สำหรับเกมครึ่งหลัง บราซิล ยังมีโอกาสได้ประตูหลายครั้ง รวมถึง เกาหลีใต้ เองก็เปิดหน้าแลกจน อลิสซอน เบ็คเกอร์ ต้องเซฟช่วยบราซิลไว้ 2-3 หนเช่นกัน จนกระทั่งนาที 76 เพค ซุง-โฮ จึงยิงตีไข่แตก 1-4 จังหวะซัดฮาล์ฟวอลเลย์สวนจากหน้าเขตโทษส่งลูกทะยานเข้าประตูอย่างสวยงาม แต่ก็ทำได้ดีที่สุดเพียงเท่านั้น จบเกมที่ บราซิล ชนะขาด 4-1

 

สิ่งเดียวที่ ตีเต้ อาจทำพลาดในเกมนี้ คือการปล่อยให้ เนย์มาร์ เล่นจนถึงนาทีที่ 80 แล้วค่อยถอดออกให้ โรดรีโก้ โกเอส ลงไปแทน ซึ่งซุปตาร์จากเปแอสเชที่เพิ่งยิงได้ลูกเดียวในทัวร์นาเมนต์นี้ ก็ต้องรีบประคบข้อเท้าทันทีหลังเข้าไปนั่งที่ข้างสนาม แม้คงไม่น่าห่วงสำหรับรอบถัดไปก็ตาม

 

รายชื่อผู้เล่นและสถิติที่สำคัญ
บราซิล (4-2-3-1) อลิสซอน เบ็คเกอร์ (เวแวร์ตอน 80) เอแดร์ มิลิเตา (ดานี่ อัลเวส 63), ติอาโก้ ซิลวา, มาร์กินญอส, ดานิโล่ (เบรแมร์ 72) – กาเซมิโร่, ลูคัส ปาเกต้า – ราฟินญ่า, เนย์มาร์ (โรดรีโก้ โกเอส 80), วินิซิอุส จูเนียร์ (กาเบรียล มาร์ติเนลลี่ 72) – ริชาร์ลิซอน
เกาหลีใต้ (4-2-3-1) คิม ซึง-กยู – คิม มุน-ฮวาน, คิม มิน-แจ, คิม ยอง-กวอน, คิม จิน-ซู (ฮง ชอล น.46) – ฮวาง อิน-บอม (เพค ซึง-โฮ 65), จอง อู-ยอง (ซน จุน-โฮ 46) – ฮวาง ฮี-ชาน, อี แจ-ซอง (อี คัง-อิน 74), ซน ฮึง-มิน – โช คยู-ซอง (ฮวาง อุย-โจ 80)

 

• แมนออฟเดอะแมตช์ : เนย์มาร์
• บราซิล สร้างโอกาสจบได้ถึง 18 ครั้ง ตรงกรอบ 9 ซึ่งหมายถึง คิม ซึง-กยู เซฟไป 5 รอบ ไม่วายโดน 4 เม็ด
• ส่วนสถิติของฟีฟ่า บอกว่า คิม ซึง-กยู มีส่วนป้องกัน หรือ Goals Prevented 18 ครั้งทีเดียว
• อลิสซอน เบ็คเกอร์ เพิ่งเสียประตูลูกแรก (เพค ซึง-โฮ) หลังลงเฝ้าเสา 3 เกม
• ริชาร์ลิซอน ยังอยู่ในเส้นทางช่วงชิงรองเท้าทองคำ ดาวซัลโวฟุตบอลโลก 2022 หลังยิงไป 3 ลูก ตามหลัง คีลิยัน เอ็มบัปเป้ 2 เม็ด
• บราซิล เป็นทีมแรกที่ใช้งานนักเตะครบถ้วน 26 คน หลังมีการส่ง เวแวร์ตอน นายประตูมือสาม ลงสำรองไปแทน อลิสซอน เบ็คเกอร์ ช่วงสิบนาทีท้าย

 

สืบเนื่องจากผลสกอร์ บราซิล 4-1 เกาหลีใต้
• บราซิล ลิ่วเข้าชน โครเอเชีย รองแชมป์เก่า ที่พวกเขาไม่เคยแพ้มาก่อนจากการพบกัน 4 นัดก่อนหน้านี้ (ชนะ 3 เสมอ 1)
• หากเดินหน้าเอาชนะ โครเอเชีย ได้ต่อ บราซิล มีสิทธิ์พบกับคู่รักคู่แค้นร่วมทวีปอย่าง อาร์เจนติน่า ในรอบตัดเชือก (ถ้าฟ้าขาวสามารถผ่าน เนเธอร์แลนด์ ได้)
• เปาโล เบนโต้ กุนซือชาวโปรตุเกส ลาออกจากการคุมทีมเกาหลีใต้เรียบร้อยแล้ว หลังทำทีมมา 4 ปีถ้วน มีสถิติคุมทีม 57 ชนะ 35 เสมอ 13 แพ้ 9 เปอร์เซ็นต์ชนะสูงถึง 61.4%
• บราซิล โดนตำหนิจากบางฝ่าย (เช่น รอย คีน) ถึงการทำท่าดีใจออกสเต็ปแดนซ์ยับหลังยิงประตูได้แต่ละลูก บ้างว่าไม่เหมาะสม บ้างว่าไม่เคารพคู่แข่ง แต่พวกเขาก็ยืนยันว่าจะไม่เปลี่ยนแนวทางนี้เป็นเด็ดขาด เมื่อเป็นการแสดงความดีใจแบบเพียวๆ ไม่มีการดูหมิ่นคู่แข่งสอดแทรกอยู่แต่อย่างใด
• นับจากที่เข้าไปถึงเป็นอันดับ 4 บอลโลกในบ้านตัวเอง (2002) แล้ว เกาหลีใต้ ก็ไม่เคยผ่านรอบ 16 ทีมได้เลย และก่อนหน้านี้ (2010) ก็แพ้ทีมอเมริกาใต้มาเช่นกัน
2006 ตกรอบแรก
2010 ตกรอบ 16 ทีม (แพ้ อุรุกวัย 1-2)
2014 ตกรอบแรก
2018 ตกรอบแรก
2022 ตกรอบ 16 ทีม (แพ้ บราซิล 1-4)

 

 

กระทิงเขาหัก! โมร็อกโกเฮดวลเป้าเข้า 8 ทีม ฟุตบอลโลก 2022

16 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก 2022 เกมต่อเกม น็อกเอาต์! (2)

 

จากที่มองกันว่าอาจจะเป็น เดนมาร์ก, อุรุกวัย, เอกวาดอร์, เซอร์เบีย หรือ ญี่ปุ่น ที่จะเป็น “ม้ามืด” แห่งฟุตบอลโลก 2022

 

ถึงตรงนี้ ชัดเจนแล้วว่าม้ามืดทีมนั้นก็คือ โมร็อกโก

 

เด็กๆ ของ วาลิด เรกรากี (ที่เพิ่งจะเข้าทำทีมต่อจาก วาฮิด ฮาลิลฮ็อดซิช เมื่อกลางปี) เริ่มต้นทัวร์นาเมนต์ด้วยการยันเสมอ โครเอเชีย 0-0 ก่อนสร้างเซอร์ไพรส์ปราบ เบลเยียม 2-0 และฟาดอีกสามแต้มด้วยการสยบ แคนาดา 2-1 จนเข้ารอบด้วยการเป็นแชมป์กลุ่มเสียเฉยๆ

 

ด้าน สเปน ของ หลุยส์ เอ็นริเก้ มาดีเกินคาดอยู่เหมือนกันในนัดแรกที่ไล่โขยก คอสตาริกา 7-0 จากนั้นก็หวิดชนะ เยอรมนี แต่โดนทวงท้ายเกม 1-1 แต่ปรากฏว่านัดสุดท้าย เล่นแบบเอื่อยๆ จนโดน ญี่ปุ่น แซงเชือด 2-1 ท่ามกลางครหาว่าอันที่จริง พวกเขาตั้งใจแพ้เพื่อขวางไม่ให้ เยอรมนี หลุดเข้าไปเป็นเสี้ยนหนาม แถมตัวเองยังจะเลี่ยงทีมแข็งอย่าง โครเอเชีย หรือ บราซิล ในรอบถัดๆ ไปได้ด้วย

 

หากเป็นไปตามที่หลายฝ่ายมอง — สเปน เลือกที่จะมาเจอ โมร็อกโก

 

แล้วเป็นไงล่ะเพื่อน…

 

ที่จริง เกมที่ เอดูเคชั่น ซิตี้ สเตเดี้ยม หลายฝ่ายมองว่า “กระทิงดุ” เหนือกว่าพอตัว ทว่าพวกเขาก็ไม่อาจเจาะแนวรับของ โมร็อกโก เข้าได้เลย ทั้งใน 90 นาทีและ 120 นาที จบแบบไร้สกอร์ 0-0 ซึ่งโอกาสที่ใกล้เคียงสุดเป็นในนาทีสุดท้ายของช่วงต่อเวลา ปาโบล ซาราเบีย เข้าชาร์จลูกย้อนทางสะกิดเสาแรกหลุดออกไป นอกนั้นโอกาสทั้งหมดถ้าไม่หลุดไปเองก็ไม่ผ่านมือ ยาสซีน “โบโน่” บูนู นายประตูโมร็อกโก จากเซบีย่า

 

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อถึงการดวลจุดโทษตัดสิน ก็กลายเป็น “โบโน่” ที่กลายเป็นโคตรพระเอก เซฟ 2 จุดโทษของทั้ง คาร์ลอส โซเลร์ และ เซร์คิโอ บุสเก็ตส์ ถัดจากที่ ปาโบล ซาราเบีย (ซึ่ง เอ็นริเก้ ตั้งใจส่งลงมายิงจุดโทษโดยเฉพาะ) ยิงคนแรกแล้วอัดไปชนเสาดังโครม

 

ส่งผลให้ โมร็อกโก ที่แม่นเป้ากว่า ยิงเข้า 3 จาก 4 คน โดยเฉพาะคนสุดท้าย อัชราฟ ฮาคิมี่ ที่ชิปนิ่มๆ เข้ากลางประตูนั้น เป็นฝ่ายชนะดวลเป้าด้วยสกอร์ประหลาด 3-0 — หมายถึงว่า สเปน ที่ก่อนนี้เผยว่าพวกเขาซ้อมยิงจุดโทษกันมาเป็นพันๆ ครั้ง ยิงไม่เข้าเลยเมื่อเกมจริงมาถึง และ… ตกรอบ…

 

สำหรับ โมร็อกโก สร้างประวัติศาสตร์เข้าสู่รอบ 8 ทีมสุดท้ายเป็นครั้งแรก และเป็นทีมแอฟริการายที่ 3 ถัดจาก แคเมอรูน 1990, เซเนกัล 2002 และ กาน่า 2010 ที่มาได้ถึงตรงนี้

 

รายชื่อผู้เล่นและสถิติที่สำคัญ
โมร็อกโก (4-3-3) ยาสซีน บูนู – อัชราฟ ฮาคิมี่, โรแม็ง ซาอิสส์, นาเยฟ อาแกร์ด (จาวาด เอล ยามิก 84), นูสแซร์ มาซราอุย (ยาเฮีย อัตติยัด-อัลลาห์ 82) – อัซซาดีน อูนาฮี (บาเดอร์ เบนูน 120), โซฟียาน อัมราบัต, เซลิม อมัลลาห์ (วาลิด เชดดิรา 82) – ฮาคิม ซีเย็ค, ยุสเซฟ เอ็น-เนซิรี่ (อับเดลฮามิด ซาบิรี 82), โซฟียาน บูฟาล (อับเด เอซซัลซูลี่ 66)
สเปน (4-3-3) อูไน ซิมอน – มาร์กอส ยอเรนเต้, โรดรี้, อายเมอริก ลาป๊อร์กต์, จอร์ดี้ อัลบา (อเลฆานโดร บัลเด้ 98) – เปดรี้, เซร์คิโอ บุสเก็ตส์, กาบี (คาร์ลอส โซเลร์ น.63) – เฟร์ราน ตอร์เรส (นิโก้ วิลเลี่ยมส์ 75, ปาโบล ซาราเบีย 118), มาร์โก อเซนซิโอ (อัลบาโร่ โมราต้า 63), ดานี่ โอลโม (อันซู ฟาติ 98)

 

• แมนออฟเดอะแมตช์ : ยาสซีน บูนู
• ที่จริงแล้ว ยาสซีน บูนู เกิดที่แคนาดา แต่ย้ายมาโตที่โมร็อกโก ตอน 3 ขวบ และเคยเป็นเด็กฝึกของ แอตเลติโก มาดริด มาก่อน ก่อนจะย้ายจาก คิโรน่า มาเล่นกับ เซบีย่า ตั้งแต่ 2019 เป็นต้นมา พร้อมคว้ารางวัลนายประตูแห่งปี Zamora Trophy ลา ลีกา ซีซั่นที่แล้วด้วย
• ตลอดเกม 120 นาที มียิงตรงกรอบกันแค่ 4 ครั้ง (สเปน 3 โมร็อกโก 1) และ สเปน ไม่ได้เตะมุมเลยสักครั้ง
• อัซซาดีน อูนาฮี วิ่งรวมระยะ 14.71 กม.
• ด้วยที่ตั้ง จึงสามารถนิยาม โมร็อกโก ว่าเป็นได้ทั้ง “ชาติอาหรับ” และ “แอฟริกาเหนือ” โดยนอกจากเป็นแอฟริกันรายที่ 4 ที่เข้ารอบ 8 ทีมบอลโลกแล้ว ก็นับเป็นชาติอาหรับรายแรกที่มาถึงตรงนี้
• สเปน ร่วงรอบ 16 ทีมสุดท้ายอีกครั้ง ซ้ำรอยเดิมจากฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซีย
• สเปน ยังแพ้จุดโทษจนตกรอบทัวร์นาเมนต์ใหญ่ 3 หนซ้อน
ฟุตบอลโลก 2018 แพ้จุดโทษ รัสเซีย 3-4
ยูโร 2020 แพ้จุดโทษ อิตาลี 2-4
ฟุตบอลโลก 2022 แพ้จุดโทษ โมร็อกโก 0-3

 

สืบเนื่องจากผลสกอร์ โมร็อกโก ชนะจุดโทษ สเปน 3-0
• โมร็อกโก เข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายไปชน โปรตุเกส อีกหนึ่งเพื่อนบ้านต่างทวีป ที่อยู่ห่างกันแค่ข้ามทะเลชั่วโมงเศษ (เที่ยวบิน)
• อย่าว่าแต่เข้ารอบ 8 ทีม ก่อนนี้ โมร็อกโก เคยได้เข้าน็อกเอาต์ 16 ทีมบอลโลกมาแค่หนเดียวถ้วน คือปี 1986 นอกนั้นตกรอบแรก 4 ครั้ง
• วาลิด เรกรากี โค้ชเชื้อสายฝรั่งเศสวัย 47 กลายเป็นฮีโร่ของประเทศไปแล้ว และยังนับเป็นโค้ชแอฟริกันคนแรกที่เข้าถึง 8 ทีมสุดท้ายบอลโลก
• หลุยส์ เอ็นริเก้ ลาออกจากการทำทีม สเปน ในที่สุด หลังอยู่บนเก้าอี้มาตั้งแต่ปี 2018 (มีเว้นช่วงไปพักหนึ่ง) ลงสนาม 47 ชนะ 26 เสมอ 14 แพ้ 7

 

 

แฮตทริกแรกมา! ฝอยทองกระหน่ำสวิสส์ 6-1

16 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก 2022 เกมต่อเกม น็อกเอาต์! (2)

 

นี่คือการพบกันครั้งที่ 26 เข้าไปแล้วของ โปรตุเกส กับ สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งรายแรก ชนะ 2 เกมซ้อนเหนือทั้ง กาน่า และ อุรุกวัย จนการันตีการเข้ารอบน็อกเอาต์ได้ตั้งแต่จบสองเกมแรก ส่วนรายหลัง ชนะ แคเมอรูน 1-0 และยัน บราซิล 0-0 จนถึงนาที 83 (โดน กาเซมิโร่ สอย 1-0) ก่อนจะเจอเกมแลกหมัดกับ เซอร์เบีย ซึ่งทัพนาฬิกาก็ยังมีดีพอจะเบียดชนะ 3-2 และเข้ารอบตามหลัง บราซิล มา

 

ที่จริง การเจอกันระหว่าง โปรตุเกส กับ สวิตเซอร์แลนด์ ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานตั้งแต่ 1938 แม้จะยิงกันเยอะในช่วงหลัง แต่ก็ผลัดกันแพ้ชนะมาเรื่อยๆ

 

คัดบอลโลก 2016 สวิตเซอร์แลนด์ ชนะ 2-0
คัดบอลโลก 2017 โปรตุเกส ชนะ 2-0
เนชั่นส์ลีก 2019 โปรตุเกส ชนะ 3-1
เนชั่นส์ลีก 2022 โปรตุเกส ชนะ 4-0
เนชั่นส์ลีก 2022 สวิตเซอร์แลนด์ ชนะ 1-0

 

นั่นแสดงให้เห็นถึงความคู่คี่สูสีที่ โปรตุเกส กับ สวิตเซอร์แลนด์ มี และหลายฝ่ายก็คาดว่า การพบกันอีกครั้งในรอบ 16 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก 2022 น่าจะออกทรงกินกันยาก เผลอๆ อาจยิงยาวถึงดวลจุดโทษอีกเกม

 

ที่ไหนได้…

 

การเปลี่ยนทีมอย่างเซอร์ไพรส์ของ แฟร์นันโด ซานโตส เล่นงาน สวิตเซอร์แลนด์ ได้อย่างหนักหน่วง–ช่างทำรุนแรงเหลือเกิน โดยเฉพาะการดร็อป คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ลงนั่งสำรอง เปิดทางให้หัวหอกหน้าใหม่จากเบนฟิก้า กอนซาโล่ รามอส ลงตัวจริงหนแรกในทัวร์นาเมนต์ หลังจากที่ก่อนนี้ ดาวรุ่งวัย 21 ได้สัมผัสเกมในฐานะตัวสำรองท้ายเกมมาแค่ 2 นัด ลงนาที 88 กับกาน่า และนาที 82 กับอุรุกวัย (ส่วนกับ เกาหลีใต้ ไม่ได้เล่น)

 

1-0 ชูเอา เฟลิกซ์ ไหลให้ กอนซาโล่ รามอส พลิกยิงด้วยซ้ายเสียบเสาแรก น.17
2-0 เปเป้ ทิ่มโขกลูกเตะมุมของ บรูโน่ แฟร์นันเดส ไม่เหลือ น.33
3-0 ดีโอโก้ ดาโล่ต์ แทงขึ้นหน้าให้ กอนซาโล่ รามอส จิ้มลอดขา ยานน์ ซอมเมอร์ น.51
4-0 รามอส จ่ายให้ ราฟาเอล เกร์เรยโร่ สอดขึ้นกดด้วยซ้ายปะทะตาข่าย น.55
4-1 มานูเอล อคานจี เก็บตกชาร์จเตะมุมเสาสอง น.58
5-1 กอนซาโล่ รามอส ทะลุเข้ายกลูกข้ามตัว ซอมเมอร์ อย่างเหนือชั้น เป็นแฮตทริก น.67
6-1 หอกสำรอง ราฟาเอล เลเอา ปั่นด้วยขวาเข้าเสาสอง น.90+2

 

ผ่าน 48 เกมของรอบแรก และอีกหลายนัดของรอบ 16 ทีม “แฮตทริกแรก” ก็มาจนได้ และมาอย่างเซอร์ไพรส์กับราย กอนซาโล่ รามอส ที่แทบไม่มีใครรู้จักมักจี่มาก่อน

 

สำคัญคือ โปรตุเกส กรีธาทัพผ่าน สวิตเซอร์แลนด์ อย่างสบาย ง่ายดายเกินคาด

 

เพื่อไปไล่ล่าแชมป์โลกสมัยแรก…ไม่ว่าจะมี คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ในทีมตัวจริงหรือไม่ ก็ตาม

 

รายชื่อผู้เล่นและสถิติที่สำคัญ
โปรตุเกส (4-3-3) ดีโอโก้ คอสต้า – ดีโอโก้ ดาโล่ต์, เปเป้, รูเบน ดิอาส, ราฟาเอล เกร์เรยโร่ – โอตาวิโอ (วิตินญ่า 74), วิลเลี่ยม คาร์วัลโญ่, แบร์นาร์โด้ ซิลวา (รูเบน เนเวส 81) – บรูโน แฟร์นันเดส (ราฟาเอล เลเอา 87), กอนซาโล่ รามอส (ริคาร์โด้ ออร์ต้า 74), ชูเอา เฟลิกซ์ (คริสเตียโน่ โรนัลโด้ 73)
สวิตเซอร์แลนด์ (4-2-3-1) ยานน์ ซอมเมอร์ – เอดิมิลซอน แฟร์นันเดส, ฟาเบียน ชาร์ (เอราย โคเมิร์ต 46), มานูเอล อคานจี, ริคาร์โด้ โรดริเกซ – เรโม่ ฟรอยเลอร์ (เดนิส ซากาเรีย 54), กรานิต ชาก้า – เซอร์ดาน ชากิรี่, ชิบริล โซว์ (ฮาริส เซเฟโรวิช 54), รูเบน วาร์กัส (โนอาห์ โอคาฟอร์ 66) – บรีล เอ็มโบโล่ (อาร์ดอน ยาชารี 89)

 

• แมนออฟเดอะแมตช์ : กอนซาโล่ รามอส
• กอนซาโล่ รามอส ซัด 3 ประตูในนัดเดียว แม้เพิ่งได้ลงเล่นฟุตบอลโลกไปเพียง 85 นาทีเท่านั้น และเป็นแฮตทริกแรกในฟุตบอลโลก 2022
• กอนซาโล่ รามอส เป็นนักเตะคนแรกที่ทำแฮตทริกในรอบน็อกเอาต์ฟุตบอลโลก นับตั้งแต่ โธมัส สคูราวี่ ในเกมกับคอสตาริกา ปี 1990
• กอนซาโล่ รามอส ยิงประตูรอบน็อกเอาต์บอลโลก เกมเดียวได้ 3 ลูก มากกว่าที่ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ เล่นมาทั้งชีวิต และไม่เคยยิงได้เลย
• เปเป้ กลายเป็นนักเตะสูงวัยสุดที่ยิงได้ในรอบน็อกเอาต์ฟุตบอลโลก ด้วยอายุ 39 ปี 283 วัน
• สวิตเซอร์แลนด์ ตกรอบ 16 ทีมสุดท้ายบอลโลกเป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกัน และ 4 จาก 5 หนหลัง (อีกหน ตกรอบแรก 2010)

 

สืบเนื่องจากผลสกอร์ โปรตุเกส 6-1 สวิตเซอร์แลนด์
• โปรตุเกส ทะลุเข้าไปดวล โมร็อกโก ในรอบ 8 ทีมสุดท้าย
• โปรตุเกส อยู่ในเส้นทางของการลุ้นแชมป์โลกสมัยแรก โดยยังไม่เคยเข้าชิงชนะเลิศได้มาก่อน ผลงานดีสุดคืออันดับสาม 1966 และอันดับสี่ 2006
• กอนซาโล่ รามอส เล่นทีมชาติ 4 นัด ซัด 4 ประตู
• คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ไม่วายเป็นข่าวว่าออกลูกงอแง จะปลีกตัวทิ้งแคมป์ทีมชาติไปกลางคันด้วยความไม่พอใจที่ต้องตกเป็นตัวสำรองเกมสำคัญนัดล่าสุดนี้ แต่สมาคมบอลโปรตุเกสยืนกรานชัดว่าข่าวนี้เป็น fake news และ โรนัลโด้ ไม่ได้ออกอาการอะไรใดๆ

 

ไกด์เถื่อน

 

อ้างอิง
wikipedia
FIFA

ภาพประกอบ
amNewYork
SPORT
Bloomberg
AFP

 

เรื่องน่าอ่าน
16 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก 2022 เกมต่อเกม น็อกเอาต์ !
บอลโลกบันทึก #2 : สำรวจสถิติรอบแรก ฟุตบอลโลก 2022
บอลโลกบันทึก #1 : สุดทางรอบแรก ฟุตบอลโลก 2022

 

ญี่ปุ่น vs โครเอเชีย : ตัวต่อตัว 16 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก 2022

ญี่ปุ่น vs โครเอเชีย : ตัวต่อตัว 16 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก 2022

ฟุตบอลโลก 2022 รอบน็อกเอาต์ 16 ทีมสุดท้าย : ญี่ปุ่น vs โครเอเชีย
จันทร์ 5 ธันวาคม 2565, 22.00 น.
สนาม : อัล จานู้บ สเตเดี้ยม, อัล วัครา
ถ่ายทอดสด : True4U

 

ผลการพบกัน : 3 นัด
กิริน คัพ 1997 ญี่ปุ่น ชนะ 4-3
ฟุตบอลโลก 1998 โครเอเชีย ชนะ 1-0
ฟุตบอลโลก 2006 เสมอ 0-0

 

ฟอร์ม 5 เกมหลังสุด
ญี่ปุ่น
กิริน คัพ เสมอ เอกวาดอร์ 0-0
อุ่นเครื่อง แพ้ แคนาดา 1-2
ฟุตบอลโลก 2022 ชนะ เยอรมนี 2-1
ฟุตบอลโลก 2022 แพ้ คอสตาริกา 0-1
ฟุตบอลโลก 2022 ชนะ สเปน 2-1

โครเอเชีย
เนชั่นส์ ลีก ชนะ ออสเตรีย 3-1
อุ่นเครื่อง ชนะ ซาอุดีอาระเบีย 1-0
ฟุตบอลโลก 2022 เสมอ โมร็อกโก 0-0
ฟุตบอลโลก 2022 ชนะ แคนาดา 4-1
ฟุตบอลโลก 2022 เสมอ เบลเยียม 0-0

 

ผลงานรอบแบ่งกลุ่ม
ญี่ปุ่น : มหาเซอร์ไพรส์ประจำฟุตบอลโลก 2022 พลิกสยบ เยอรมนี 2-1 ตั้งแต่เกมแรก ต่อมาแม้จะเจอความพลิกล็อกเล่นงานเองบ้างด้วยการแพ้ คอสตาริกา 0-1 แต่ก็ยังมาพลิกยิงแซงชนะ สเปน ในเกมที่บังคับต้องชนะอีก 2-1 จนผงาดคว้าแชมป์กลุ่มอีอย่างงดงาม
โครเอเชีย : โชว์ความหลังเหนียวด้วยการไม่เสียประตูทั้งเกมกับ โมร็อกโก และ เบลเยียม โดยเฉพาะนัดหลังที่เป็นเกมชี้ชะตาเข้ารอบหรือตกรอบ ก็ไม่พลาดท่าเสียที แม้ส่วนหนึ่งอาจต้องชี้ว่า เบลเยียม ไม่คมเองด้วยก็ตาม จน โครเอเชีย เข้ารอบมาด้วยการเป็นที่ 2 ของกลุ่มเอฟ

 

ความพร้อมก่อนเตะ
ญี่ปุ่น
ทัพซามูไรสีน้ำเงินผ่านเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลกเป็นครั้งที่ 7 ติดต่อกัน และสร้างผลงานโลกตะลึงเอาไว้ตั้งแต่เกมแรก ด้วยการยิงแซงชนะทีมระดับโลกอย่าง เยอรมนี เจ้าของแชมป์โลก 4 สมัย 2-1

 

จากนั้นเกมถัดมา แม้จะบุกใส่แทบพับสนาม แต่กลับพลิกแพ้ คอสตาริกา 0-1 ส่งผลให้บังคับชนะ สเปน เพื่อเข้ารอบ ซึ่งพวกเขาก็ทำได้จริงๆ แซงชนะ 2-1 จนผงาดยึดแชมป์กลุ่มทันที

 

ฮาจิเมะ โมริยาสุ กุนซือญี่ปุ่น ตั้งเป้าหมายเข้าถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายเอาไว้ตั้งแต่แรก และขอชนะอีกนัดก็จะไปได้ถึงที่วางไว้ ซึ่งที่ผ่านมา ญี่ปุ่น ก็ไม่เคยไปไกลกว่ารอบ 16 ทีมแต่อย่างใด

 

สภาพทีมของ โมริยาสุ เกมนี้ มีปัญหาที่ โค อิตาคุระ เซนเตอร์แบ็กตัวจริง ติดโทษแบนหลังสะสมใบเหลืองครบ ทำให้ต้องปรับส่งตัวเลือกอื่นลงแทน

 

ยังเชื่อว่า โมริยาสุ จะปรับระบบไปด้วยเลย ใช้เป็น 3-4-3 เน้นเกมรับเหนียวแน่นไว้ก่อน อัด 3 เซนเตอร์ลงไปอย่าง มายะ โยชิดะ, ทาเคฮิโร่ โทมิยาสุ และ โชโง ทานิงูจิ ขณะที่เกมรุกให้ ไดอิจิ คามาดะ กับ ทาเคฟุสะ คุโบะ คอยช่วยงานหอกเป้า ไดเซน มาเอดะ

 

โครเอเชีย
ชนะติดต่อกัน 5 เกมซ้อนในช่วงเตรียมทีม ก่อนจะเปิดฟุตบอลโลก 2022 แบบหนืดเล็กๆ ได้ผลเสมอจาก โมร็อกโก 0-0 ก่อนเร่งเครื่องกราดยิง แคนาดา 4-1 แล้วก็กลับไปหนืดอีกครั้ง เสมอ เบลเยียม 0-0

 

เพียงแต่ผลเสมอ เบลเยียม ก็เป็นสิ่งที่พวกเขาคาดหวังมาจากบ้าน เมื่อเป็นแต้มที่ทำให้ได้เข้ารอบน็อกเอาต์ฟุตบอลโลกอีกครั้ง ถัดจากหนก่อนที่ไปไกลถึงรองแชมป์โลกทีเดียว

 

ซลัตโก้ ดาลิช กุนซือตาหมากรุก ไม่มีปัญหาสภาพทีม สามารถจัดชุดที่ดีที่สุดได้ เมื่อ อีวาน เปริซิช จอมเก๋าจากสเปอร์ส ฟิตพร้อมลงสนามได้ตามปกติ

 

ระบบจะยึด 4-3-3 ตามเดิม แดนกลางอัดแน่นด้วยตัวเก่งอย่าง มาเตโอ โควาซิช, มาร์เซโล่ โบรโซวิช และ ลูก้า โมดริช ส่วนข้างหน้าใช้ อีวาน เปริซิช เดินเกมรุกร่วมกับ อันเดรจ์ ครามาริช และ มาร์โก ลิวาย่า

 

ตัวความหวัง
ญี่ปุ่น : ริตสึ โดอัน
ไม่ธรรมดา…ไม่ธรรมดาเลยจริงๆ กับฟอร์มของ ริตสึ โดอัน มิดฟิลด์ตัวโจ๊กเกอร์วัย 24 จาก ไฟรบวร์ก ที่ลงสำรองไปพังประตูใส่ทั้ง เยอรมนี และ สเปน ได้ แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการจบสกอร์และการหาตำแหน่งชั้นยอด โดยสองเม็ดล่าสุดทำให้ โดอัน สะสมสกอร์ในนามทีมชาติไปแล้ว 5 ลูกจาก 32 เกม ขณะที่ในสโมสร ก็ยิงให้ ไฟรบวร์ก ไปแล้ว 4 ประตูจาก 22 นัดซีซั่นนี้

 

โครเอเชีย : อันเดรจ์ ครามาริช
เคยเป็นหัวหอกผู้แพ้ ส่วนเกินของ เลสเตอร์ ซิตี้ ชุดแชมป์พรีเมียร์ลีก แต่หลังจากนั้นก็ค่อยๆ สร้างชื่อกับ ฮอฟเฟ่นไฮม์ รวมถึงในทีมชาติ โดยถึงตรงนี้เล่นกับ ฮอฟเฟ่นไฮม์ มาเป็นซีซั่นที่ 8 แล้ว ยิงทะลุหลักร้อยประตูแล้วเช่นกัน (106) ขณะที่ก็ยิง 22 ประตูให้กับทัพตาหมากรุก รวมถึง 2 เม็ดในเกมปราบ แคนาดา ด้วย โดยแม้จะไม่โหดดุครบเครื่องเหมือน ดาวอร์ ซูเคอร์ แต่ก็เป็นคนที่กองหลังไม่อาจประมาทได้เหมือนกัน

 

11 ตัวจริงที่คาด
ญี่ปุ่น (3-4-3, กุนซือ ฮาจิเมะ โมริยาสุ) ชูอิจิ กอนดะ – มายะ โยชิดะ, ทาเคฮิโร่ โทมิยาสุ, โชโง ทานิงูจิ – ยูโตะ นางาโตโมะ, วาตารุ เอ็นโดะ, ฮิเดมาสะ โมริตะ, จุนยะ อิโตะ – ทาเคฟุสะ คุโบะ, ไดอิจิ คามาดะ, ไดเซน มาเอดะ
โครเอเชีย (4-3-3, กุนซือ ซลัตโก้ ดาลิช) โดมินิก ลิวาโควิช – บอร์นา โซซ่า, ยอสโก้ กวาร์ดิโอล, เดยัน ลอฟเรน, โยซิป ยูราโนวิช – มาเตโอ โควาซิช, มาร์เซโล่ โบรโซวิช, ลูก้า โมดริช – อีวาน เปริซิช, อันเดรจ์ ครามาริช, มาร์โก ลิวาย่า

 

สถิติที่เกี่ยวข้อง
• พบกันมา 3 ครั้ง เป็นอุ่นเครื่อง 1 และฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 2
• บอลโลก 1998 พบกันในรอบแรก โครเอเชีย เบียด 1-0 ดาวอร์ ซูเคอร์ ซัดโทน
• บอลโลก 2006 เจอรอบแรกเช่นกัน คราวนี้ไข่ไม่แตก เสมอ 0-0
• ญี่ปุ่น เข้ารอบ 16 ทีมสลับกับตกรอบแรกมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 1998 แต่ไม่เคยไปไกลกว่านี้
• ทาคุมิ มินามิโนะ เป็นดาวซัลโวของญี่ปุ่นในชุดนี้ ด้วยการยิงไปแล้ว 17 ประตู ส่วน ทาคุมะ อาซาโนะ 8 ลูก, ไดเซน มาเดะ 1, ทาเคฟุสะ คุโบะ 1, อายาเสะ อุเอดะ 0
• อีวาน เปริซิช กดแล้ว 32 ประตูในทีมชาติ ส่วน ลูก้า โมดริช 23 และ อันเดรจ์ ครามาริช 22

 

ความน่าจะเป็น
ไม่อาจมองข้ามได้แล้วสำหรับ ญี่ปุ่น ที่ชนะ 2 ทีมหัวแถวยุโรปมาได้ทั้ง เยอรมนี และ สเปน และพวกเขาก็ไม่ต้องเกรงกลัวใครทั้งนั้นแล้วด้วย แค่ต้องเล่นอย่างมีวินัย รัดกุม และใช้โอกาสไม่เปลือง ซึ่งการเจอ โครเอเชีย ที่เกมรุกไม่ได้ดุดัน แต่มีดีตรงแดนกลางนั้นทำให้เกมอาจออกรูปอึดอัด จนมีโอกาสสูงที่จะยืดเยื้อถึงต่อเวลา ถึงตอนนั้นก็ต้องพึ่งโชคดวงกันแล้วว่าใครจะเป็นฝ่ายได้ไปต่อ

 

ผลที่คาด : เสมอ 1-1 ใน 90 นาที

ญี่ปุ่น vs สเปน : วิเคราะห์นัดปิดกลุ่ม ฟุตบอลโลก 2022

ญี่ปุ่น vs สเปน : วิเคราะห์นัดปิดกลุ่ม ฟุตบอลโลก 2022

ฟุตบอลโลก 2022 รอบแบ่งกลุ่ม กลุ่มอี นัดสุดท้าย : ญี่ปุ่น vs สเปน
พฤหัสบดี 1 ธันวาคม 2565, 02.00 น.
สนาม : คาลิฟา อินเตอร์เนชันแนล สเตเดี้ยม, อัล รายยาน
ถ่ายทอดสด : True4U

 

ผลงานรอบคัดเลือก
ญี่ปุ่น
อันดับ 2 กลุ่มบี รอบ 3 โซนเอเชีย
เตะ 10 ชนะ 7 เสมอ 1 แพ้ 2 ยิงได้ 12 เสีย 4

สเปน
แชมป์กลุ่มบี โซนยุโรป
เตะ 8 ชนะ 6 เสมอ 1 แพ้ 1 ยิงได้ 15 เสีย 5

 

ฟอร์ม 5 เกมหลังสุด
ญี่ปุ่น
กิริน คัพ ชนะ สหรัฐอเมริกา 2-0
กิริน คัพ เสมอ เอกวาดอร์ 0-0
อุ่นเครื่อง แพ้ แคนาดา 1-2
ฟุตบอลโลก 2022 ชนะ เยอรมนี 2-1
ฟุตบอลโลก 2022 แพ้ คอสตาริกา 0-1

สเปน
เนชั่นส์ ลีก แพ้ สวิตเซอร์แลนด์ 1-2
เนชั่นส์ ลีก ชนะ โปรตุเกส 1-0
อุ่นเครื่อง ชนะ จอร์แดน 3-1
ฟุตบอลโลก 2022 ชนะ คอสตาริกา 7-0
ฟุตบอลโลก 2022 เสมอ เยอรมนี 1-1

 

ผลการพบกัน : 1 นัด
อุ่นเครื่อง 2001 สเปน ชนะ 1-0

 

ตารางคะแนนกลุ่มอี หลังผ่าน 2 นัด
1. สเปน คะแนน 4 ผลต่างประตู +7
2. ญี่ปุ่น คะแนน 3 ผลต่างประตู 0
3. คอสตาริกา คะแนน 3 ผลต่างประตู -6
4. เยอรมนี คะแนน 1 ผลต่างประตู -1

 

สภาพทีม
ญี่ปุ่น
ทัพซามูไรสีน้ำเงินผ่านเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลกเป็นครั้งที่ 7 ติดต่อกัน และสร้างผลงานโลกตะลึงเอาไว้ตั้งแต่เกมแรก ด้วยการยิงแซงชนะทีมระดับโลกอย่าง เยอรมนี เจ้าของแชมป์โลก 4 สมัย 2-1

 

กระนั้นเกมถัดมา แม้จะบุกใส่แทบพับสนาม แต่กลับพลิกแพ้ คอสตาริกา 0-1 ส่งผลให้ตกที่นั่งลำบากทันที เกมนี้ถ้าแพ้อีกจะตกรอบทันทีเลย ไม่ต้องดูผลอีกคู่แต่อย่างใด

 

เวลาเดียวกัน ถ้าชนะ ญี่ปุ่น ก็จะเข้ารอบเลย แบบเป็นแชมป์กลุ่มด้วย

 

แต่หากว่าออกเสมอ ก็จะต้องดูผลของอีกคู่ว่าออกหน้าไหน ซึ่ง ญี่ปุ่น จะตกรอบถ้า คอสตาริกา เป็นฝ่ายชนะ หรือถ้า เยอรมนี ชนะได้แบบถล่มทลายใส่ไม่ยั้ง

 

สภาพทีมของ ฮาจิเมะ โมริยาสุ มีปัญหาเล็กน้อยที่ความฟิตของ ฮิโรกิ ซากาอิ ซึ่งเจ็บจากเกมแรก แต่หากเล่นไม่ไหวก็มีตัวแทนตำแหน่งอยู่แล้วอย่าง ทาเคฮิโร่ โทมิยาสุ หรือ มิกิ ยามาเนะ

 

ยังคาดว่า ไลน์อัพจะถูกเปลี่ยนกลับไปใช้เหมือนนัดแรกที่ชนะ เยอรมนี มาได้ มากกว่านัดก่อนที่แพ้ คอสตาริกา โดยจะเป็นระบบ 4-2-3-1 หน้าเป้าทิ้ง ไดเซน มาเอดะ ไว้รายเดียว

 

สเปน
หลุยส์ เอ็นริเก้ พากระทิงดุเจ้าของแชมป์โลก 1 สมัยเข้ามาเล่นรอบสุดท้ายฟุตบอลโลก 2022 ด้วยผลงานค่อนข้างดี รวมถึงในยูฟ่า เนชั่นส์ ลีก ก็ครองแชมป์กลุ่ม ได้ไปต่อในรอบชิงแชมป์ ปีหน้า

 

จากนั้นเมื่อเริ่มเกมแรก ทำได้ดีเกินความคาดหมาย กราดยิง คอสตาริกา ดับอนาถ 7-0 เฟร์ราน ตอร์เรส ซัดสอง ที่เหลือช่วยกันยิงอีก 5 คน ต่อมา แบ่งแต้มด้วยผลเสมอ เยอรมนี 1-1

 

สองนัด 4 แต้ม สเปน จึงกำลังนำจ่าฝูงกลุ่มอี และขอแค่ผลเสมอเกมนี้ เป็นอันลอยลำ โดยจะไม่หลุดจากการเป็นแชมป์กลุ่มด้วย นอกเสียจากว่า คอสตาริกา จะพลิกล็อกชนะ เยอรมนี ได้

 

เอ็นริเก้ ไม่มีปัญหาตัวเจ็บเพิ่มเติม และด้วยทีมที่เล่นกันดีอยู่แล้ว ทำให้คงแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลง 11 ตัวจริง ระบบ 4-3-3 ประตูเป็น อูไน ซิมอน แดนกลางบาร์ซ่าเหมาทั้ง เปดรี้, บุสเก็ตส์, กาบี ส่วนแนวรุก ดานี่ โอลโม่ จะเล่นร่วมกับ เฟร์ราน ตอร์เรส และ อัลบาโร่ โมราต้า

 

ตัวความหวัง
ญี่ปุ่น : ทาคุมะ อาซาโนะ
กลายเป็นประเด็นว่า อาร์เซน่อล ทำเพชรเม็ดงามชิ้นนี้หลุดมือไปได้อย่างไร ภายหลัง อาซาโนะ สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการลงสำรองไปพังประตูชัยปลิดชีพ เยอรมนี 2-1 กระนั้นก็เป็นเรื่องเข้าใจได้ว่า อาซาโนะ ย้ายมากรุงลอนดอนตั้งแต่อายุแค่ 22 และโดนปฏิเสธเวิร์คเพอร์มิตด้วย จนที่สุดแล้วหลังจากส่งยืมหลายรอบก็ต้องปล่อยขาดไปอย่างเสียมิได้ ตอนนี้อยู่กับ โบคุ่ม ในเยอรมนี และลงเล่นทีมชาติ 38 นัด ซัด 8 ประตู

 

สเปน : อัลบาโร่ โมราต้า
แมว 9 ชีวิตแห่งทัพกระทิงดุ เมื่อต่อให้ฟอร์มในระดับสโมสรจะออกทะเลขนาดไหน ก็ยังมีที่ยืนในทีมชาติอยู่ตลอดเวลา รวมถึงกับชุดปัจจุบัน ทั้งที่ผลงานกับ แอตเลติโก มาดริด ไม่ได้สวยหรูนัก (5 ประตูซีซั่นนี้) ซึ่งปัจจัยอย่างหนึ่งอาจเพราะ สเปน ขาดแคลนหน้าเป้าแท้ๆ ลักษณะเดียวกับ โมราต้า ด้วย กระนั้นก็ต้องให้เครดิตกับหัวหอกวัย 30 ด้วยเหมือนกันว่าก็ทำผลงานได้ดีจริงในทีมชาติ สองปีหลังกดไป 11 ประตู รวมแล้วมี 29 ลูกจาก 59 นัด รวมถึง 2 เม็ดใน 2 เกมฟุตบอลโลก 2022 ด้วย

 

11 ตัวจริงที่คาด
ญี่ปุ่น (4-2-3-1, กุนซือ ฮาจิเมะ โมริยาสุ) ชูอิจิ กอนดะ – ยูโตะ นางาโตโมะ, มายะ โยชิดะ, โค อิตาคุระ, มิกิ ยามาเนะ – วาตารุ เอ็นโดะ, ฮิเดมาสะ โมริตะ – ทาเคฟุสะ คุโบะ, ไดอิจิ คามาดะ, จุนยะ อิโตะ – ไดเซน มาเอดะ
สเปน (4-3-3, กุนซือ หลุยส์ เอ็นริเก้) อูไน ซิมอน – จอร์ดี้ อัลบา, อายเมอริก ลาป๊อร์กต์, โรดรี้, ดานี่ การ์บาฆัล – เปดรี้, เซร์คิโอ บุสเก็ตส์, กาบี – ดานี่ โอลโม่, อัลบาโร่ โมราต้า, เฟร์ราน ตอร์เรส

 

สถิติที่เกี่ยวข้อง
• พบกันมาแค่หนเดียวเท่านั้น เมื่อปี 2001 ยุคที่ยังมีทั้ง เป๊ป กวาร์ดิโอล่า, ราอูล กอนซาเลซ, มิเกล นาดาล ในสนาม และกระทิงดุขวิด 1-0 จากประตูนาทีสุดท้ายของ รูเบน บาราฆา
• สเปน แพ้แค่นัดเดียวจากการเล่น 11 เกมของปีนี้ (ชนะ 7 เสมอ 3 แพ้ 1)
• ญี่ปุ่น เข้ารอบ 16 ทีมสลับกับตกรอบแรกมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 1998 และถ้ายึดตามวงรอบ ปีนี้ พวกเขาจะตกรอบแรก
• ทาคุมิ มินามิโนะ เป็นดาวซัลโวของญี่ปุ่นในชุดนี้ ด้วยการยิงไปแล้ว 17 ประตู ส่วน ทาคุมะ อาซาโนะ 8 ลูก, ไดเซน มาเดะ 1, ทาเคฟุสะ คุโบะ 1, อายาเสะ อุเอดะ 0
• สเปน ชุดนี้ มีแค่ 2 คนที่ยิงประตูในทีมชาติได้เกิน 10 ลูก คือ อัลบาโร่ โมราต้า (29) กับ เฟร์ราน ตอร์เรส (15)

 

ความน่าจะเป็น
ความผิดพลาดหนักสุดของ ญี่ปุ่น คือเกมที่แล้ว เมื่อแทนที่จะชนะ 2 เกมซ้อน ลอยลำเข้ารอบใสๆ แต่กลับออกหน้าแพ้ และกลายเป็นมีโอกาสสูงเลยในการตกรอบแรก ซึ่งเมื่อเทียบคุณภาพกันแล้ว สเปน ดุดันและไปไกลเกินกว่าที่ ญี่ปุ่น จะสู้ไหว คงมีแค่โดนมากโดนน้อยเท่านั้น

 

ผลที่คาด : สเปน ชนะ 2-0

ญี่ปุ่น vs คอสตาริกา : ตรวจความพร้อมรอบแรก นัดสอง ฟุตบอลโลก 2022

ญี่ปุ่น vs คอสตาริกา : ตรวจความพร้อมรอบแรก นัดสอง ฟุตบอลโลก 2022

ฟุตบอลโลก 2022 รอบแบ่งกลุ่ม กลุ่มอี : ญี่ปุ่น vs คอสตาริกา
อาทิตย์ 27 พฤศจิกายน 2565, 17.00 น.
สนาม : อาหมัด บิน อาลี สเตเดี้ยม, อัล รายยาน
ถ่ายทอดสด : GMM25

 

ผลงานรอบคัดเลือก
ญี่ปุ่น
อันดับ 2 กลุ่มบี รอบ 3 โซนเอเชีย
เตะ 10 ชนะ 7 เสมอ 1 แพ้ 2 ยิงได้ 12 เสีย 4

คอสตาริกา
อันดับ 4 รอบ 3 โซนคอนคาเคฟ
เพลย์ออฟต่างโซน ชนะ นิวซีแลนด์ 1-0

 

ฟอร์ม 5 เกมหลังสุด
ญี่ปุ่น
EAFF E-1 ชนะ เกาหลีใต้ 3-0
กิริน คัพ ชนะ สหรัฐอเมริกา 2-0
กิริน คัพ เสมอ เอกวาดอร์ 0-0
อุ่นเครื่อง แพ้ แคนาดา 1-2
ฟุตบอลโลก 2022 ชนะ เยอรมนี 2-1

คอสตาริกา
เพลย์ออฟบอลโลก ชนะ นิวซีแลนด์ 1-0
อุ่นเครื่อง เสมอ เกาหลีใต้ 2-2
อุ่นเครื่อง ชนะ อุซเบกิสถาน 2-1
อุ่นเครื่อง ชนะ ไนจีเรีย 2-0
ฟุตบอลโลก 2022 แพ้ สเปน 0-7

 

ผลการพบกัน : 5 นัด
ญี่ปุ่น ชนะ 4
เสมอ 1

 

สภาพทีม
ญี่ปุ่น
ทัพซามูไรสีน้ำเงินผ่านเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลกเป็นครั้งที่ 7 ติดต่อกันแล้ว และสร้างผลงานโลกตะลึงเอาไว้ตั้งแต่เกมแรก ด้วยการยิงแซงชนะทีมระดับโลกอย่าง เยอรมนี เจ้าของแชมป์โลก 4 สมัย 2-1

 

ชัยชนะในเกมแรกยังหมายถึงว่า ถ้า ญี่ปุ่น เดินหน้าชนะได้ต่อเนื่องในเกมนี้ พวกเขาจะจ่อเข้ารอบน็อกเอาต์เต็มที โดยเฉพาะถ้าในคู่ดึก สเปน-เยอรมนี จบด้วยผลเสมอ หรือ สเปน ชนะได้ ญี่ปุ่น ก็จะเข้ารอบทันทีด้วย และเหลือแค่ชิงแชมป์กลุ่มกับ สเปน เท่านั้น

 

สภาพทีมของ ฮาจิเมะ โมริยาสุ มีปัญหาเล็กน้อยที่ความฟิตของ ฮิโรกิ ซากาอิ ซึ่งเจ็บจากเกมแรก แต่หากเล่นไม่ไหวก็มีตัวแทนตำแหน่งอยู่แล้วอย่าง ทาเคฮิโร่ โทมิยาสุ จากอาร์เซน่อล

 

ในราย ทาคุมะ อาซาโนะ โดยปกติเป็นสำรองอยู่แล้ว แต่ด้วยผลงานการลงสำรองไปพังประตูดับ เยอรมนี ก็ทำให้อาจได้รางวัลพิเศษ ได้ลงตัวจริงบ้าง เขี่ย ทาคุมิ มินามิโนะ ไปนั่งสำรอง

 

คอสตาริกา
ทีมกล้วยหอมจากคอนคาเคฟ ผ่านเข้ามาเล่นรอบสุดท้ายเป็นครั้งที่ 6 และหนที่ 3 ติดต่อกัน แต่ต้องออกแรงใช่ย่อยในการผ่านรอบเพลย์ออฟต่างทวีปกับ นิวซีแลนด์ และเบียดชนะสุดหวิว 1-0

 

มาในฐานะม้านอกสายตา แต่ ณ ตอนนี้ดูจะเป็นม้าป่วยกระเสาะกระแสะไปเสีย กับการที่ลงเล่นเกมแรกแพ้ สเปน แบบไร้ทางสู้ 0-7 ดังนั้นถ้าแพ้เกมนี้อีก ตกรอบแรกทันที

 

ในการทำทีมของ หลุยส์ แฟร์นันโด ซัวเรซ คอสตาริกายังมาด้วยสมาชิกหน้าเดิมๆ อย่าง เคย์เลอร์ นาวาส, ไบรอัน โอเวียโด้, เซลโซ่ บอร์เกส, เยลท์ซิน เตเฮด้า, กัปตันทีม ไบรอัน รุยซ์ และ โจเอล แคมป์เบลล์ ที่รวมตัวกันมาตั้งแต่บอลโลก 2014 แล้ว

 

ตัวความหวัง
ญี่ปุ่น : ทาคุมะ อาซาโนะ
กลายเป็นประเด็นว่า อาร์เซน่อล ทำเพชรเม็ดงามชิ้นนี้หลุดมือไปได้อย่างไร ภายหลัง อาซาโนะ สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการลงสำรองไปพังประตูชัยปลิดชีพ เยอรมนี 2-1 เมื่อวันก่อน กระนั้นก็เป็นเรื่องเข้าใจได้ว่า อาซาโนะ ย้ายมากรุงลอนดอนตั้งแต่อายุแค่ 22 และโดนปฏิเสธเวิร์คเพอร์มิตด้วย จนที่สุดแล้วหลังจากส่งยืมหลายรอบก็ต้องปล่อยขาดไปอย่างเสียมิได้ ตอนนี้อยู่กับ โบคุ่ม ในเยอรมนี และลงเล่นทีมชาติ 38 นัด ซัด 8 ประตู

 

คอสตาริกา : โจเอล แคมป์เบลล์
ดังมานาน สร้างชื่อมาจนถึงจุดพีคแล้วก็ดร็อปลงไปจนแฟนบอลแทบจะลืมหน้ากันแล้ว แต่แท้ที่จริง อดีตกองหน้าอาร์เซน่อลรายนี้เพิ่งจะอายุ 30 ถ้วนเท่านั้นเอง โดยตอนที่เป็นแข้งปืนโต เขาอายุแค่ 22-23 เท่านั้น จากนั้นก็ย้ายออกไปยังหลายประเทศ ปัจจุบันอยู่กับ คลับ เลออน ในเม็กซิโก และยังคงเฝ้ารับใช้ชาติอยู่ต่อไป เล่นแล้ว 120 นัด ซัด 25 ประตู หนึ่งในนั้นก็คือประตูสำคัญดับ นิวซีแลนด์ จนพาให้ คอสตาริกา มาเล่นฟุตบอลโลก 2022

 

11 ตัวจริงที่คาด
ญี่ปุ่น (4-2-3-1, กุนซือ ฮาจิเมะ โมริยาสุ) ชูอิจิ กอนดะ – ยูโตะ นางาโตโมะ, มายะ โยชิดะ, โค อิตาคุระ, ทาเคฮิโระ โทมิยาสุ – กาคุ ชิบาซากิ, ฮิเดมาสะ โมริตะ – ทาเคฟุสะ คุโบะ, ไดอิจิ คามาดะ, จุนยะ อิโตะ – ทาคุมะ อาซาโนะ
คอสตาริกา (4-4-2, กุนซือ หลุยส์ แฟร์นันโด ซัวเรซ) เคย์เลอร์ นาวาส – ไบรอัน โอเวียโด้, ออสการ์ ดูอาร์เต้, ฟรานซิสโก้ กัลโว, คาร์ลอส มาร์ติเนซ – เคย์เชอร์ ฟูลเลอร์, เซลโซ่ บอร์เกส, เยลท์ซิน เตเฮด้า, เยวิสัน เบนเน็ตเต้ – โจเอล แคมป์เบลล์, อันโธนี่ คอนเตรราส

 

สถิติที่เกี่ยวข้อง
• พบกันมา 5 ครั้ง ญี่ปุ่น ไม่เคยแพ้ โดยชนะแบบยิงได้ 3 ประตูโดยตลอด ล่าสุดอุ่นเครื่องปี 2018 ญี่ปุ่นชนะ 3-0
• ฮาจิเมะ โมริยาสุ จะคุมทีมชาติญี่ปุ่นเป็นนัดที่ 60 ในเกมนี้ โดยที่ผ่านมา ชนะ 40 เสมอ 8 แพ้ 11
• ทาคุมิ มินามิโนะ เป็นดาวซัลโวของญี่ปุ่นในชุดนี้ ด้วยการยิงไปแล้ว 17 ประตู
• คอสตาริกา แพ้แค่ 2 นัดจากการเล่น 14 เกมหลังสุดในทุกรายการ (ชนะ 10 เสมอ 2 แพ้ 2) แต่หนึ่งในนั้นก็คือการโดน สเปน กราดยิง 7-0
• คอสตาริกาชุดนี้ มีนักเตะอายุ 30 ขึ้นไปมากถึง 11 คน สูงวัยสุดคือ ไบรอัน รุยซ์ กัปตันทีมวัย 37

 

ความน่าจะเป็น
คอสตาริกา อยู่ในสภาพที่ไม่พร้อมต่อกรกับใครทั้งสิ้นจากฟอร์มที่เป็นในนัดแรกกับ สเปน ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าพวกเขาจะตื่นหรือยังกับเกม 2 นัดนี้ ที่จะเจอคู่แข่งคุณภาพดร็อปลงมาเล็กน้อย กระนั้นถ้ายังสะลึมสะลือ ก็คงไม่รอดเงื้อมมือซามูไรแต่อย่างใด

 

ผลที่คาด : ญี่ปุ่น ชนะ 1-0, 2-0

 

โปรแกรมถัดไป
พฤหัสบดี 1 ธันวาคม 2565
02.00 — ญี่ปุ่น vs สเปน
02.00 — คอสตาริกา vs เยอรมนี

เยอรมนี vs ญี่ปุ่น : ตรวจความพร้อมรอบแรก ฟุตบอลโลก 2022

เยอรมนี vs ญี่ปุ่น : ตรวจความพร้อมรอบแรก ฟุตบอลโลก 2022

ฟุตบอลโลก 2022 รอบแบ่งกลุ่ม กลุ่มอี : เยอรมนี vs ญี่ปุ่น

พุธ 23 พฤศจิกายน 2565, 20.00 น.
สนาม : คาลิฟา อินเตอร์เนชันแนล สเตเดี้ยม, อัล รายยาน
ถ่ายทอดสด : ช่อง 7 สี ทีวีเพื่อคุณ

 

ผลงานรอบคัดเลือก
เยอรมนี
แชมป์กลุ่มเจ โซนยุโรป
เตะ 10 ชนะ 9 แพ้ 1 ยิงได้ 36 เสีย 4

ญี่ปุ่น
อันดับ 2 กลุ่มบี รอบ 3 โซนเอเชีย
เตะ 10 ชนะ 7 เสมอ 1 แพ้ 2 ยิงได้ 12 เสีย 4

 

ฟอร์ม 5 เกมหลังสุด
เยอรมนี
เนชั่นส์ ลีก เสมอ ฮังการี 1-1
เนชั่นส์ ลีก ชนะ อิตาลี 5-2
เนชั่นส์ ลีก แพ้ ฮังการี 0-1
เนชั่นส์ ลีก เสมอ อังกฤษ 3-3
อุ่นเครื่อง ชนะ โอมาน 1-0

ญี่ปุ่น
EAFF E-1 เสมอ จีน 0-0
EAFF E-1 ชนะ เกาหลีใต้ 3-0
กิริน คัพ ชนะ สหรัฐอเมริกา 2-0
กิริน คัพ เสมอ เอกวาดอร์ 0-0
อุ่นเครื่อง แพ้ แคนาดา 1-2

 

ผลการพบกัน
4 นัด เกมอุ่นเครื่องทั้งสิ้น เยอรมนีชนะ 2 เสมอ 2

 

สภาพทีม ฟุตบอลโลก 2022

เยอรมนี
ตัวแทนยุโรปรายแรกที่่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายบอลโลกหนนี้ หมายมั่นปั้นมือเต็มที่จะมาแก้ตัวจากการตกรอบแรกอย่างสุดช็อคในครั้งก่อน ซึ่งเป็นผลให้ โยอัคคิม เลิฟ สละเก้าอี้ไป และ ฮันส์ ดีเตอร์ ฟลิค เข้ามาแทน

 

ผลงานของอินทรีเหล็กในรอบคัดเลือกเป็นไปอย่างร้ายกาจ แต่ก็ออกแผ่วเล็กๆ ในยูฟ่า เนชั่นส์ ลีก เมื่อกลางปี ที่ชนะได้แค่เกมเดียวจาก 6 แมตช์

 

สำหรับความพร้อม ฟลิค ไม่มี มาร์โก รอยส์ ตัวรุกจากดอร์ทมุนด์ และ ติโม แวร์เนอร์ ดาวยิงเบอร์แรกจาก แอร์เบ ไลป์ซิก ตั้งแต่แรก หลังทั้งคู่บาดเจ็บจนไม่พร้อมเล่นบอลโลก นอกนั้น ยูเลี่ยน ดรักซ์เลอร์, ฟลอเรียน นอยเฮาส์, โรบิน โกเซนส์ โดนมองข้ามไปไม่เรียกมาติดธง

 

จาก 26 แข้งที่มี ฟลิค สามารถเลือกใช้ได้ครบถ้วนทุกคนในเกมนี้ ซึ่งด้วยการที่หัวหอกเบอร์ 1 อย่าง แวร์เนอร์ ไม่มา ทำให้คาดว่าจะเป็น โธมัส มุลเลอร์ ขยับขึ้นยืนแทนโดยมี จามาล มูเซียล่า เป็นตัวต่ำคอยสนับสนุน และอาจมีการสลับตำแหน่งกันได้ในระหว่างเกม

 

ญี่ปุ่น
ทัพซามูไรสีน้ำเงินผ่านเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลกเป็นครั้งที่ 7 ติดต่อกันแล้ว ภายหลังเปิดประเดิมไว้เมื่อปี 1998 ก่อนจะได้เป็นเจ้าภาพร่วมในสี่ปีให้หลัง

 

การมาบอลโลกครั้งนี้ ญี่ปุ่นของ ฮาจิเมะ โมริยาสุ เจอปัญหาพอสมควรกับรอบคัดเลือก ที่ฟอร์มหลุดแพ้ 2 จาก 3 เกมแรก แต่หลังจากนั้นก็กระเตื้องขึ้นได้ จนสุดท้ายเข้าป้ายเป็นรองแชมป์กลุ่ม ซึ่งยังคงได้ตั๋วมารอบสุดท้ายแบบอัตโนมัติ

 

ความพร้อมเกมนี้ โมริยาสุ ต้องเช็กแค่ ทาคุมะ อาซาโนะ ซึ่งโดยปกติเป็นสำรองอยู่แล้ว โดยคาดว่าเกมรุกจะวาง ทาเคฟุสะ คุโบะ, ไดอิจิ คามาดะ และ จุนยะ อิโตะ ปั้นเกมสนับสนุนหอกเป้า ทาคุมิ มินามิโนะ

 

ตัวความหวัง
เยอรมนี : จามาล มูเซียล่า
ถูกคาดหมายตั้งแต่ 2-3 ปีก่อนว่าจะกลายมาเป็นดาวรุ่งดวงใหม่ของฟุตบอลเยอรมัน ซึ่งที่สุดแล้วเจ้าหนูเชื้อสายอังกฤษวัย 19 ก็ทำได้อย่างที่หลายฝ่ายมอง โดยแม้จะเพิ่งยิงไปได้แค่ลูกเดียว แต่ก็ได้สัมผัสเกมระดับชาติมาแล้วถึง 19 นัด และดูจะมีตำแหน่งตัวจริงในการทำทีมของ ฮันซี่ ฟลิค ด้วย โดยเฉพาะเมื่อซีซั่นนี้กำลังเข้าฝัก กดไปแล้ว 12 ประตูจากการเล่นให้ บาเยิร์น มิวนิค 22 เกม

 

ญี่ปุ่น : ไดอิจิ คามาดะ
อันที่จริง ตัวรุกวัย 26 เพิ่งได้โอกาสเล่นทีมชาติไปเพียง 22 นัดเท่านั้น และมียิง 6 ประตู โดยยังไม่เคยผ่านทัวร์นาเมนต์ใหญ่รายการไหนมาก่อนเลย แต่ที่ทำให้ คามาดะ น่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง ก็คือการคุ้นชินกับฟุตบอลสไตล์เยอรมันๆ เป็นอย่างดี ภายหลังปักหลักเล่นกับ ไอน์ทรัคท์ แฟร้งค์เฟิร์ต มาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2017 และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยังร่ายฟอร์มอย่างโดดเด่นในตลอด 2-3 ปีหลัง ซีซั่นก่อนยิง 9 ลูก ต่อด้วยยิงเยอะถึง 12 ประตูในครึ่งซีซั่นแรกที่ผ่านมา

 

11 ตัวจริงที่คาด
เยอรมนี (4-2-3-1, กุนซือ ฮันซี่ ฟลิค) มานูเอล นอยเออร์ – ดาวิด เราม์, อันโตนิโอ รูดิเกอร์, นิคลาส ซูเล่, ติโล เคห์เรอร์ – เลออน โกเร็ตซ์ก้า, โยชัว คิมมิช – เลรอย ซาเน่, จามาล มูเซียล่า, แซร์จ นาบรี้ – โธมัส มุลเลอร์
ญี่ปุ่น (4-2-3-1, กุนซือ ฮาจิเมะ โมริยาสุ) ชูอิจิ กอนดะ – ยูโตะ นางาโตโมะ, มายะ โยชิดะ, ทาเคฮิโระ โทมิยาสุ, ฮิโรกิ ซากาอิ – กาคุ ชิบาซากิ, ฮิเดมาสะ โมริตะ – ทาเคฟุสะ คุโบะ, ไดอิจิ คามาดะ, จุนยะ อิโตะ – ทาคุมิ มินามิโนะ

 

สถิติที่เกี่ยวข้อง
• พบกันล่าสุดปี 2006 เสมอกัน 2-2 ที่เลเวอร์คูเซ่น
• ไม่นับเจ้าภาพกาตาร์ เยอรมนี คือทีมแรกสุดที่ตีตั๋วเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลก 2022 ภายหลังชนะ 9 จาก 10 นัดของรอบคัดเลือก
• ฟุตบอลโลกครั้งก่อน เยอรมนี โดนตัวแทนเอเชียอย่าง เกาหลีใต้ ยัดเยียดความปราชัย 2-0 จนตกรอบแรกอย่างสุดช็อก
• นักเตะญี่ปุ่นชุดนี้ เล่นในลีกเยอรมันถึง 8 คน
• นิคลาส ฟุลครุก หัวหอกหน้าใหม่ของเยอรมนี จากเบรเมน ยิงประตูได้ทันทีในเกมประเดิมทีมชาติ นัดชนะ โอมาน 1-0 เมื่อ 16 พ.ย.

 

ความน่าจะเป็น
คงไม่ใช่งานง่ายนักของ เยอรมนี ในการเจอกับทีมวิ่งสู้ฟัดและเทคนิคดีอย่าง ญี่ปุ่น แต่การจะคาดหวังถึงผลเซอร์ไพรส์อย่างที่ ซาอุฯ ทำกับ อาร์เจนติน่า อาจเป็นเรื่องยากไปนิด อย่างไรเสีย ระดับชั้นของอินทรีเหล็กก็ยังเหนือกว่า น่าเอาชนะได้ 1 เม็ดเป็นอย่างน้อย

 

ผลที่คาด : เยอรมนี ชนะ 1-0, 2-0

 

โปรแกรมถัดไป
เยอรมนี
อาทิตย์ 27 พฤศจิกายน 2565 — 02.00 — สเปน vs เยอรมนี
พฤหัสบดี 1 ธันวาคม 2565 — 02.00 — คอสตาริกา vs เยอรมนี

ญี่ปุ่น
อาทิตย์ 27 พฤศจิกายน 2565 — 17.00 — ญี่ปุ่น vs คอสตาริกา
พฤหัสบดี 1 ธันวาคม 2565 — 02.00 — ญี่ปุ่น vs สเปน

ทีมชาติญี่ปุ่น รายชื่อ 26 นักเตะไปแข่งศึก ฟุตบอลโลก 2022 ล่าสุด

ทีมชาติญี่ปุ่น รายชื่อ 26 นักเตะไปแข่งศึก ฟุตบอลโลก 2022 ล่าสุด

ราบชื่อ 26 นักเตะของทีมชาติญี่ปุ่น เพื่อลุยฟุตบอลโลก 2022 

เพราะแม้ช้าๆ อาจได้พร้าเล่มงาม แต่ดูเหมือนว่า “ซามูไรสีน้ำเงิน” ทีมชาติญี่ปุ่นในการดูแลของ ฮาจิเมะ โมริยาสุ จะไม่อยากเสียเวลารอใครอะไรทั้งสิ้น ประกาศตัว 26 แข้งชุดสุดท้ายสำหรัยลุยฟุตบอลโลก 2022 ออกมาเปรี้ยงเดียว ก่อนใครเพื่อน

 

ก่อนจะไปลงลึกถึงรายละเอียดและประเด็นที่เกี่ยวข้อง ก็ไปสำรวจกันเลยกับโผ 26 นักเตะ final squad ทีมชาติญี่ปุ่น ชุดลุยฟุตบอลโลก 2022 ซึ่งพวกเขานับเป็นชาติแรกสุดที่ยืนยันทีมชุดสุดท้ายออกมาแล้ว มาเร็วกว่าทุกชาติ เร็วกว่าแม้กระทั่งเจ้าภาพ กาตาร์ ด้วย

 

รายชื่อนักเตะญี่ปุ่น ล่าสุด ชุดลุยฟุตบอลโลก 2022

ผู้รักษาประตู
เออิจิ คาวาชิมะ / อายุ 39 / สตราส์บูร์ก / เล่นทีมชาติ 95 นัด
ชูอิจิ กอนดะ / 33 / ชิมิสุ เอสพัลส์ / 33
ดาเนี่ยล ชมิดท์ / 30 / แซงต์-ทรุยดอง / 11

 

กองหลัง
ยูโตะ นางาโตโมะ / 36 / เอฟซี โตเกียว / 137 นัด 4 ประตู
มายะ โยชิดะ / 34 / ชาลเก้ / 121 – 12
ฮิโรกิ ซากาอิ / 32 / อุราวะ เร้ด ไดมอนด์ส / 71 – 1
ทาเคฮิโระ โทมิยาสุ / 23 / อาร์เซน่อล / 29 – 1
ยูตะ นากายามะ / 25 / ฮัดเดอร์สฟิลด์ ทาวน์ / 17 – 0
มิกิ ยามาเนะ / 28 / คาวาซากิ ฟรอนตาเล่ / 14 – 2
โชโง ทานิงูจิ / 31 / คาวาซากิ ฟรอนตาเล่ / 13 – 0
โค อิตาคุระ / 25 / โบรุสเซีย มึนเช่นกลัดบัค / 12 – 1
ฮิโรกิ อิโตะ / 23 / สตุ๊ตการ์ท / 5 – 0

 

กองกลาง
กาคุ ชิบาซากิ / 30 / เลกาเนส / 59 – 3
วาตารุ เอ็นโดะ / 29 / สตุ๊ตการ์ท / 43 – 2
ทาคุมิ มินามิโนะ / 27 / โมนาโก / 43 – 17
จุนยะ อิโตะ / 29 / แร็งส์ / 38 – 9
ริตสึ โดอัน / 24 / ไฟรบวร์ก / 28 – 3
ไดอิจิ คามาดะ / 26 / แฟร้งค์เฟิร์ต / 21 – 6
ทาเคฟุสะ คุโบะ / 21 / เรอัล โซเซียดัด / 19 – 1
ฮิเดมาสะ โมริตะ / 27 / สปอร์ติ้ง ลิสบอน / 17 – 2
อาโอะ ทานากะ / 24 / ฟอร์ทูน่า ดุสเซลดอร์ฟ / 14 – 2
คาโอรุ มิโตมะ / 25 / ไบรท์ตัน / 9 – 5
ยูกิ โซมะ / 25 / นาโงย่า แกรมปัส / 7 – 3

 

กองหน้า
ทาคุมะ อาซาโนะ / 27 / โบคุ่ม / 36 – 7
อายาเสะ อุเอดะ / 24 / แซร์ก บรูซ / 10 – 0
ไดเซน มาเอดะ / 25 / เซลติก / 8 – 1

 

ประวัตินักเตะทีมชาติญี่ปุ่น ที่จะออกศึก บอลโลกปี 2022 นี้

 

ทีมชาติญี่ปุ่น รายชื่อ 26 นักเตะไปแข่งศึก ฟุตบอลโลก 2022 ล่าสุด• เริ่มต้นที่ตัวกุนซือ ฮาจิเมะ โมริยาสุ โค้ชชาวเมืองชิซุโอกะ วัย 54 จะนำ ญี่ปุ่น ลงสู้ศึกฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายเป็นสมัยแรกของตัวเขา ภายหลังเป็นมือขวาของ อากิระ นิชิโนะ ในบอลโลกครั้งก่อนที่รัสเซีย และขึ้นคุมแทนหลังจบทัวร์นาเมนต์นั้น โดยจากวันนั้นถึงวันนี้ โมริยาสุ มีพาทีมเข้าชิง เอเชียน คัพ 2019 หนึ่งหน (แพ้ กาตาร์ 1-3) และได้แชมป์รายการย่อย สี่เส้าชิงแชมป์เอเชียตะวันออก EAFF E-1 Football Championship 2022 เมื่อกลางปี

 

• ส่วนสถิติถึงวันนี้ โมริยาสุ พาทีมลงสนาม 57 เกม ชนะ 39 เสมอ 8 แพ้ 10 เปอร์เซ็นต์ชนะอยู่ที่ 68.42%

 

• ในการประกาศรายชื่อ 26 แข้งลุยฟุตบอลโลก 2022 แบบไม่ต้องเผื่อเหลือเผื่อขาดกับชุดเบื้องต้นสี่ซ้าห้าสิบคน โมริยาสุ จำแนกลูกทีมตามตำแหน่ง ประกอบด้วย 3 ผู้รักษาประตู, 9 กองหลัง, 11 กองกลาง และอีก 3 กองหน้า ซึ่งการที่เรียกศูนย์หน้าติดธงไปน้อยแค่นี้ เพราะหมากการเล่นโดยส่วนใหญ่ของพวกเขามักใช้หอกเป้ารายเดียว เช่น 4-3-3 หรือ 4-5-1 และเน้นการโจมตีริมเส้นเป็นหลัก

 

• น่าสนใจว่าจาก 26 รายชื่อ มีตัว “เจลีก” เล่นในประเทศ หลงเหลืออยู่เพียง 6 รายเท่านั้น โดยมาจาก คาวาซากิ ฟรอนตาเล่ 2 คน และ นาโงย่า แกรมปัส, ชิมิซุ เอส-พัลส์, อุราวะ เร้ด ไดมอนด์ส, เอฟซี โตเกียว ทีมละคน นอกนั้นอีก 20 คน เล่นอยู่ในลีกยุโรปทั้งสิ้น
– บุนเดสลีกา เยอรมนี 8 คน
– พรีเมียร์ลีก + แชมเปี้ยนชิพ อังกฤษ 3
– ลีก เอิง ฝรั่งเศส 3
– ลา ลีกา สเปน 2
– โปรลีก เบลเยียม 2
– พรีเมียร์ชิพ สกอตแลนด์ กับ ปรีเมร่า ลีกา โปรตุเกส อย่างละ 1

 

• ชุดนี้ จัดว่าไม่มี “หน้าใหม่” แม้แต่รายเดียว ทั้งหมดล้วนแต่เคยเล่นทีมชาติมาแล้ว อย่างน้อยที่สุด 5 นัด (ฮิโรกิ อิโตะ กองหลังสตุ๊ตการ์ท) รวมถึงว่าก็แทบไม่มีดาวรุ่งด้วย ที่เข้าข่ายมีแค่ ทาเคฟุสะ คุโบะ เจ้าหนูมหัศจรรย์วัย 21 จากเรอัล โซเซียดัด แต่เจ้าตัวก็เล่นทีมชาติมาแล้ว 19 นัด แถมยังผ่านประสบการณ์ใน ลา ลีกา สเปน มาเกิน 100 นัดไปแล้วด้วย

 

ทีมชาติญี่ปุ่น รายชื่อ 26 นักเตะไปแข่งศึก ฟุตบอลโลก 2022 ล่าสุด• ขุมกำลังผู้รักษาประตู นำมาโดยจอมเก๋าวัยปาเข้าไป 39 เออิจิ คาวาชิมะ จอมหนึบสตราส์บูร์ก ผู้ซึ่งกำลังจะได้เล่นฟุตบอลโลกเป็นสมัยที่ 4 ติดต่อกัน (2010, 2014, 2018, 2022) ขณะที่มือสาม ดาเนี่ยล ชมิดท์ จากแซงต์-ทรุยด็อง แม้ชื่อจะออกฝรั๊งฝรั่ง แต่ที่จริงชื่อเต็มคือ “ดาเนี่ยล ยูจิ ยาบูกิ ชมิดท์” เป็นลูกครึ่งคุณพ่อเยอรมัน-แม่ญี่ปุ่น โตที่สหรัฐอเมริกา แล้วย้ายมาตั้งรกรากในแดนอาทิตย์อุทัยตั้งแต่ 2 ขวบ จากนั้นเทิร์นโปรกับ เวกัลตะ เซนได ก่อนย้ายไปเล่นที่เบลเยียมตั้งแต่ 2019 เป็นต้นมา

 

• กองหลัง ไม่พลาดอยู่แล้วกับ มายะ โยชิดะ กัปตันทีมชุดนี้ ที่แม้จะสูงวัย 34 แล้ว แต่ก็ยังยืนระยะกับ ชาลเก้ 04 ได้อยู่ภายหลังเพิ่งย้ายมาจาก ซามพ์โดเรีย เมื่อซัมเมอร์ ส่วนรายอื่นๆ ก็ถือเป็นชื่อที่คุ้นหูแฟนบอลดีแทบทั้งหมด ทาเคฮิโระ โทมิยาสุ จากอาร์เซน่อล, โค อิตาคุระ จากกลัดบัค, ฮิโรกิ ซากาอิ จากอุราวะ รวมถึง ยูโตะ นางาโตโมะ ในวัย 36 ก็ยังได้มาเล่นฟุตบอลโลกเป็นสมัยที่ 4 เช่นกัน

 

• ในราย นางาโตโมะ ย้ายจาก โอลิมปิก มาร์กเซย กลับไปเล่นให้ต้นสังกัดแรก เอฟซี โตเกียว เมื่อปี 2021 แต่ก็ยังคงเป็นตัวเลือกแรกในตำแหน่งแบ็กซ้ายของ ฮาจิเมะ โมริยาสุ รวมถึงเป็นตัวที่เล่นทีมชาติสูงสุดในชุดนี้ ผ่านการรับใช้ชาติมามากถึง 137 เกม หรือเป็นอันดับ 2 นักเตะที่เล่นให้ญี่ปุ่นสูงสุดตลอดกาล เป็นรองเพียง ยาสุฮิโตะ เอ็นโดะ ที่ลงสนาม 152 นัด รายเดียวเท่านั้น

 

ทีมชาติญี่ปุ่น รายชื่อ 26 นักเตะไปแข่งศึก ฟุตบอลโลก 2022 ล่าสุด• นางาโตโมะ วัย 36 ยังนับเป็นหนึ่งใน 8 “ซามูไรซีเนียร์” อายุเกินหลักสามร่วมกับ เออิจิ คาวาชิมะ (39), มายะ โยชิดะ (34), ชูอิจิ กอนดะ (34), ฮิโรกิ ซากาอิ (32), โชโง ทานิกูจิ (31), ดาเนี่ยล ชมิดท์ (30) และ กาคุ ชิบาซากิ (30) ที่จะได้เข้าร่วมศึก กาตาร์ 2022

 

• กองกลาง นอกจาก ทาเคฟุสะ คุโบะ ที่ได้เอ่ยถึงไปแล้ว ตัวน่าจับตาอยู่ที่ ทาคุมิ มินามิโนะ ดาวซัลโวสูงสุดของทีมชุดนี้ ที่กดไปแล้ว 17 ประตูจาก 43 เกมทีมชาติ อย่างไรก็ตาม มินามิโนะ ยังโชว์ฟอร์มในซีซั่นนี้กับทาง โมนาโก ไม่สวยนัก ลงสนาม 13 นัดเพิ่งยิงได้ลูกเดียว

 

• ด้านกองหน้า ต้องดูว่าระหว่าง ทาคุมะ อาซาโนะ (โบคุ่ม) กับ ไดเซน มาเอดะ (เซลติก) ใครจะได้เป็นตัวยืนในไลน์อัพแรก เมื่อตัวเลือกที่ 3 อย่าง อายาเสะ อุเอดะ (แซร์ก บรูช) ยังไม่เคยยิงประตูในนามทีมชาติได้มาก่อน จากการเล่น 10 นัด

 

ทีมชาติญี่ปุ่น รายชื่อ 26 นักเตะไปแข่งศึก ฟุตบอลโลก 2022 ล่าสุด• อีกจุดที่น่าสนใจคือการที่ โมริยาสุ กล้าๆ จะมองข้ามตัวที่เล่นในลีกยุโรปไปหลายรายมาก โดยเฉพาะ เกงคิ ฮารางุจิ มิดฟิลด์อูนิโอน เบอร์ลิน ที่ติดทีมชาติไปแล้วถึง 74 นัด (11 ประตู) หลุดไป (ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า มีตัวเลือกอื่นฟอร์มเข้าตากว่า) เช่นเดียวกับ เรโอ ฮาตาเตะ & เคียวโง ฟุรุฮาชิ (เซลติกทั้งคู่), เคนโตะ ฮาชิโมโตะ (อวยส์ก้า), เซอิ มุโรยะ (ฮันโนเวอร์), นาโอมิจิ อุเอดะ (นีมส์) หรือสองกองหน้าตัวเก๋า ยูยะ โอซาโกะ กับ โยชิโนริ มุโตะ (วิสเซิล โกเบ ทั้งคู่) ก็ไม่ถูกเรียกตัวด้วย

 

• สำหรับการลุยฟุตบอลโลก 2022 งวดนี้ โมริยาสุ ตั้งเป้าไว้สูงถึงการเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้าย “เป้าหมายของเราในการร่วมเล่นทัวร์นาเมนต์นี้ คือการไปถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายให้ได้…เป็นอย่างน้อย” เขาว่า “แต่เราก็รู้ว่ามันจะไม่ใช่เรื่องง่าย”

 

 

แต่เหนืออื่นใด ผ่านรอบแรก “กลุ่มแห่งความตาย” ให้ได้เสียก่อนนะ ซามูไรบลู…
23/11 เยอรมนี – ญี่ปุ่น
27/11 ญี่ปุ่น – คอสตาริกา
01/12 ญี่ปุ่น – สเปน

 

 

ไกด์เถื่อน

 

 

อ้างอิง
WIKIPEDIA
Republic World

ภาพประกอบ
Getty Images
Japan Football Fans
Goal
AFP

ฟุตบอลโลก 2022 ของ 6 ชาติเอเชีย พวกเขาจะผ่านเข้ารอบสองได้กี่ทีม ?

ฟุตบอลโลก 2022 ของ 6 ชาติเอเชีย พวกเขาจะผ่านเข้ารอบสองได้กี่ทีม ?

6 ทีมจากเอเชีย กาตาร์-เจ้าภาพ, อิหร่าน, เกาหลีใต้, ซาอุดิ อาระเบีย, ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ชาติไหนมีโอกาสผ่านเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้ายในฟุตบอลโลก 2022 ได้มากที่สุด จากฟอร์มล่าสุด และชื่อชั้นนักเตะ วิเคราะห์เจาะลึกกันมาให้อ่านแล้ว