แคสเปอร์ ชไมเคิ่ล : หนึ่งประตูที่ปิดลง กับหนึ่งประตู (สุดท้าย) ที่แอบฝัน

แคสเปอร์ ชไมเคิ่ล : หนึ่งประตูที่ปิดลง กับหนึ่งประตู (สุดท้าย) ที่แอบฝัน

แคสเปอร์ ชไมเคิ่ล : หนึ่งประตูที่ปิดลง กับหนึ่งประตู (สุดท้าย) ที่แอบฝัน

คงเป็นอีกสิ่งที่สะท้อนถึงบางความจริงของชีวิต — เส้นทางเฝ้าเสาของ แคสเปอร์ ชไมเคิ่ล

 

หนึ่งคือ วันเวลาไม่เคยคอยท่าใคร เชื่อว่าคอบอลหลายๆ ท่านทันดูช่วงเวลาเลี่ยมทองของ ปีเตอร์ ชไมเคิ่ล โดยเฉพาะแฟนยุค 90 ที่ได้เป็นสักขีพยานความสำเร็จมากมายหลายประการของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จนถึงฉากสุดท้ายของ “ยักษ์เดนส์” กับการชูถ้วยยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ปิดท้ายปีทอง 3 แชมป์ 1999 เคียงข้างขุนพลปีศาจแดง กระทั่ง ชไมเคิ่ล ย้ายออกไป สปอร์ติ้ง, แอสตัน วิลล่า และกลับมาเลิกเล่นกับ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ แบบที่แฟนผีงงตาแตกไปตามๆ กัน ครั้นเมื่อหมดยุคปีเตอร์ผู้พ่อ ก็ถึงช่วงเวลาเบ่งบานของ แคสเปอร์ ชไมเคิ่ล ผู้ลูก กับทาง เลสเตอร์ ซิตี้ ที่ถึงขั้นผงาดแชมป์พรีเมียร์ลีกแบบที่ไม่เคยมีใครกล้าคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นได้จริง

 

…เพราะวันเวลาไม่เคยคอยท่าใคร บนความสำเร็จจากพ่อสู่ลูก ก็มาถึงวันที่ แคสเปอร์ ปิดตำนานอำลาพรีเมียร์ลีก ย้ายออกจาก คิง เพาเวอร์ สเตเดี้ยม ไปเรียบร้อย

 

อีกหนึ่งคือ ในช่วงชีวิต บางทีเราก็หลงลืมเวลาไปบ้างจริงๆ นั่นแหละ ตื่นเช้า ออกจากบ้านไปทำงาน ทำงานเสร็จเดินทางกลับบ้าน สุดสัปดาห์หาทริปเที่ยวใกล้บ้านบ้าง หาร้านอร่อยๆ กินเป็นรางวัลชีวิต นานๆ ทีถึงออกต่างจังหวัด เมื่อไหนจะลางานได้นานๆ ครั้ง ไหนจะงบเที่ยวที่ก็ต้องเก็บสตุ้งสตางค์กันพอตัว ยิ่งในยุคข้าวยากหมากแพงสนั่น คนเป็นเฮดโง่งี่เง่าแบบนี้ ยิ่งต้องใช้ชีวิตอย่างระวัง แล้วเผลอแผลบเดียว วันผ่านคืนผัน จากเดือนสู่ปี จากปีก็เป็นหลายปี

 

…บางทีเราก็หลงลืมเวลาไปบ้างจริงๆ จากยุคของคุณพ่อปีเตอร์ สู่ยุคของคุณลูกแคสเปอร์ เผลอแวบเดียวก็มาถึงวันนี้ที่บานประตูสีน้ำเงินถูกงับปิดลง ทุกอย่างกลายเป็นแค่ตำนานและเรื่องเล่าอย่างสมบูรณ์

 

ทั้งนี้ทั้งนั้น ข้อเท็จจริงหนึ่งที่อาจจะเป็นร่องรอยตำหนิของ แคสเปอร์ ชไมเคิ่ล อยู่บ้าง ก็คือการ “ดังช้า” ไม่ได้เทิร์นโปรขึ้นเปรี้ยงปร้างสว่างไสวในช่วงขวบวัยสิบกว่าไม่เต็มยี่สิบ เหมือนหลายๆ ตัวอย่างแข้งอาชีพ

 

เพราะตลอดการเริ่มต้นเส้นทางกับ แมนฯ ซิตี้ (ที่คุณพ่อปีเตอร์เอามาฝากเข้าอะคาเดมี่เรือตั้งแต่ 16 ขวบ) แคสเปอร์ ต้องร่อนเร่พเนจรไปอยู่กับทีมนั้นทีทีมโน้นที ทั้ง ดาร์ลิงตัน, บิวรี่, ฟัลเคิร์ก, คาร์ดิฟฟ์ และ โคเวนทรี จนในท้ายที่สุดก็แยกทางกับทัพเรือ ย้ายขาดสู่ น็อตต์ส เคาน์ตี้ และ ลีดส์ ยูไนเต็ด ในที่สุด

 

จนในช่วงขณะที่ขึ้นสู่จุดสูงสุดทั้งกับต้นสังกัด เลสเตอร์ ซิตี้ และทีมชาติเดนมาร์ก นั้น ลูกชายคุณพ่อปีเตอร์ ก็ทะลุ “หลักสาม” ไปแล้ว

 

แน่นอน เอ่ยถึง แคสเปอร์ แล้ว จะเลี่ยงไม่พูดถึงความมหัศจรรย์ระดับร้อยปีมีครั้งที่เคยเกิดขึ้นกับตัวเขาและ เลสเตอร์ ซิตี้ ก็ไม่ได้

 

ในแชมป์ประวัติศาสตร์ของเลสเตอร์ ทีมที่ 1 ปีก่อนหน้านั้นร่อแร่จะตกตายมิตายแหล่ ไฮไลท์สำคัญอยู่ที่ฟอร์มพลุ่งพล่านของ ริยาด มาห์เรซ (17 ประตู 11 แอสซิสต์, แข้งแห่งปีพีเอฟเอ) และ เจมี่ วาร์ดี้ (24 ประตู รองดาวซัลโวลีก) ทว่าเกมรุกอันร้อนแรงจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจากแรงส่งจากข้างหลัง

 

ความเหนียวแน่นแข็งแกร่งที่มากเพียงพอ–พอจะทำให้คนเกมรุกเดินหน้าได้อย่างไม่ต้องพะวักพะวง ซึ่งก็ควรถือว่า แคสเปอร์ ตอบโจทย์นั้นได้อย่างสบาย

 

อาจมีถ้อยคำปรามาสจากบางฝ่ายที่ไม่เชื่อมือ แคสเปอร์ รวมถึงแผงแบ็กโฟร์ด้านหน้า คู่เซนเตอร์อย่าง เวส มอร์แกน กับ โรเบิร์ต ฮูธ แบ็กสองข้างอย่าง คริสเตียน ฟุคส์ กับ แดนนี่ ซิมพ์สัน ว่าเนี่ยนะจะทำให้เลสเตอร์สามารถยืนระยะตลอดรอดฝั่งได้ แม้จะออกสตาร์ทดีภายใต้การทำทีมของ เคลาดิโอ รานิเอรี่ ด้วยการชนะกับเสมออย่างละครึ่งใน 6 เกมแรก แต่พวกเขามองว่าชะตาแบบซีซั่นก่อนของ ไนเจล เพียร์สัน (หลุดแพ้แล้วก็ไปยาว จากที่ 7 ลงสู่บ๊วย) จะเกิดขึ้นซ้ำสอง เมื่อตลอด 6 เกมแรกที่แม้จะไม่แพ้ใคร แต่ก็เสียประตูมันทุกนัด — ทว่านั่นคือการคาดการณ์ที่ผิดถนัด

 

เวลาต่อมา แคสเปอร์ ทำได้ถึง 15 คลีนชีต และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วยให้ต้นสังกัดสร้างระยะ “เข้าเบรค” ชนะแบบไม่เสียประตูเป็นจำนวน 6 จาก 7 เกมในช่วงเดือน ก.พ. – เม.ย.

 

1-0 นอริช (คั่นด้วย 2-2 เวสต์บรอมวิช), 1-0 วัตฟอร์ด, 1-0 นิวคาสเซิ่ล, 1-0 คริสตัล พาเลซ, 1-0 เซาธ์แฮมป์ตัน และ 2-0 ซันเดอร์แลนด์ ใน 6 เกมนี้ เลสเตอร์โดนยิงเข้ากรอบทั้งหมด 14 ครั้ง ทั้งหมดไม่ผ่านมือแคสเปอร์ และแมนออฟเดอะแมตช์บางนัดยังเป็นของเขา เช่นเกมเสมอ แมนฯ ซิตี้ 0-0 (แมตช์ที่ 19, 29 ธ.ค.) ที่บรรดาแนวรุกเรือใบอย่าง เซร์คิโอ อเกวโร่, ราฮีม สเตอร์ลิง, เควิน เดอ บรอยน์ ดาหน้ากันเข้าทำ สร้างจังหวะยิง 21 ครั้ง ตรงกรอบ 5 ทั้งหมดไม่ผ่านมือจอมหนึบเดนส์

 

จนในท้ายที่สุด เลสเตอร์ เข้าป้ายเถลิงแชมป์อย่างยิ่งใหญ่ ในปีนี้ที่บรรดาบิ๊กโฟร์บิ๊กไฟว์บิ๊กซิกส์ต่างพร้อมใจกันหลุดฟอร์ม ผิดไปจากมาตรฐานที่เคยเป็น

 

แม้ในความสำเร็จปาฏิหาริย์นั้นจะถูกปรามาสอยู่บ้างว่ามี “โชคดวง” แต่จะบอกว่านั่นคือเรื่องฟลุ้ค ดวงดี 100% ไม่ได้เป็นอันขาด เมื่อความสำเร็จของ เลสเตอร์ ยุค แคสเปอร์ ชไมเคิ่ล ก็ยังถูกการันความยอดเยี่ยมด้วยอีกหนึ่งโทรฟี่เมเจอร์อย่าง เอฟเอ คัพ ปี 2021

 

นั่นทำให้เมื่อถึง “วันปิดตำนาน” ย้ายออกไปยัง นีซ ในฝรั่งเศส หลายๆ สื่อถึงกับใช้คำว่า “Legacy” (มรดก) สำหรับสิ่งที่ แคสเปอร์ ทิ้งเอาไว้ใน คิง เพาเวอร์ สเตเดี้ยม

 

11 ปี
479 นัด
1 แชมป์พรีเมียร์ลีก
1 แชมป์เอฟเอ คัพ
1 แชมป์คอมมิวนิตี้ ชิลด์
1 แชมป์ เดอะ แชมเปี้ยนชิพ
2 รางวัลนักเตะแห่งปี เลสเตอร์ ซิตี้
2 รางวัลนักเตะแห่งปี (เพื่อนร่วมทีมโหวต) เลสเตอร์ ซิตี้
1 รางวัลนักเตะแห่งปี (แฟนบอลโหวต) เลสเตอร์ ซิตี้

 

(ส่วนสาเหตุที่ ชไมเคิ่ล ย้ายออกอย่างกะทันหัน แบบที่แฟนๆ ก็ถึงกับอึ้งรับประทาน เป็นเพราะ 1. สัญญาเหลือปีเดียว ฉะนั้นขายได้ก็ขาย รวมถึงนักเตะเองก็สูงวัยขึ้นเรื่อยๆ / 2. ซีซั่นที่แล้วเริ่มเล่นพลาดบ่อย ชักเผยจุดอ่อนเรื่องลูกโด่งและการออกบอล / 3. ปัญหาการเงินสโมสร ถ้าจะซื้อใครเข้า เบรนแดน ร็อดเจอร์ส ต้องขายออกเสียก่อน ซึ่งในราย แคสเปอร์ ยังนับเป็นการลดค่าจ้างรายสัปดาห์ลงเยอะด้วย)

 

แคสเปอร์ ชไมเคิ่ล : หนึ่งประตูที่ปิดลง กับหนึ่งประตู (สุดท้าย) ที่แอบฝัน

 

 

หนึ่งประตูที่ปิดลงกับ เลสเตอร์ ซิตี้ แต่ก็ยังคงเหลือหนึ่งประตู (สุดท้าย) ที่แอบฝัน…

 

แน่นอนที่สุดว่าคือ ฟุตบอลโลก 2022

 

แม้อนาคตยังไม่การันตีอะไรแน่นอน แต่ด้วยอายุอานาม 35 ย่าง 36 (ครบ 36 ก่อนบอลโลกไม่กี่วัน) นี่ก็คงจะเป็น “บอลโลกหนสุดท้าย” ของลูกชายพ่อปีเตอร์

 

อย่างที่บอก แคสเปอร์ ค่อนข้างจะดังช้าในเวทีระดับสูง นั่นส่งผลกับโอกาสรับใช้ชาติของเขาด้วย ที่เริ่มจะมาติดธงสม่ำเสมอก็ช่วงปี 2014 แล้ว ซึ่งเวลานั้น เจ้าตัวลงหลักปักฐานกับ เลสเตอร์ ไปได้เรียบร้อย — ด้วยวัย 27-28

 

แล้วก็ต้องบอกว่า แคสเปอร์ โชคไม่ดีนัก (อีกแล้ว) กับการที่มีช่วงพีคในยุค เดนมาร์ก มาทรง “ตกต่ำ” ภายใต้การดูแลของ มอร์เทน โอลเซ่น

 

ยูโร 2012 ที่โปแลนด์-ยูเครน แคสเปอร์ (25) ถูกหอบหิ้วไปในฐานะมือ 3 เท่านั้น เป็นรองทั้ง สเตฟาน อันเดอร์เซ่น (30) จากเอวิยอง และ อันเดอร์ส ลินเดการ์ด (28) จากแมนฯ ยูไนเต็ด แถมการเรียกตัวเขามา ยังเป็นแค่มวยแทนการบาดเจ็บของจอมเก๋า โธมัส โซเรนเซ่น ที่ต้องถอนตัวไปด้วย

 

ส่วน ฟุตบอลโลก 2014 ต่อด้วย ยูโร 2016 ที่ แคสเปอร์ เริ่มก้าวขึ้นมาเป็นมือหนึ่งโคนมบ้างแล้วนั้น

 

…งามไส้ที่แท้ทรู โอลเซ่น ทำทีมโคนมตกรอบคัดเลือกมันทั้ง 2 รายการติดต่อกัน

 

ก็มาถึง ฟุตบอลโลก 2018 และ ยูโร 2020 นี่เอง ที่ แคสเปอร์ สร้างชื่อให้เป็นที่จดจำในระดับนานาชาติ เคียงข้างกับเพื่อนโคนมทั้งหลายแหล่

 

เวิลด์ คัพ 2018 ที่รัสเซีย เดนมาร์ก อาจตกรอบเร็วไปสักนิดเพียงรอบ 2 แต่ก็เพราะการดวลจุดโทษ (ที่ไม่ต่างจากโยนหัวก้อยนัก) ภายหลังครบ 120 นาทีเสมอ 1-1 ซึ่ง แคสเปอร์ มีช็อตพุ่งเซฟจุดโทษในตอนต่อเวลานาที 116 จากการยิงของ ลูก้า โมดริช เอาไว้แบบติดหนึบอยู่มือ

 

ในการดวลเป้าชี้ขาด ปรากฏว่าแม้ แคสเปอร์ จะเซฟได้ถึง 2 จุดโทษจาก มิลาน บาเดลจ์ และ โยซิป พิวาริช แต่ เดนมาร์ก ก็กลับยิงไม่เข้าถึง 3 คน ทั้ง คริสเตียน เอริคเซ่น, ลาสเซ่ โชเน่ และ นิโคไล ยอร์เกนเซ่น จนแพ้ 2-3

 

เรียกว่า แคสเปอร์ เซฟจุดโทษไป 3 รอบ เดนมาร์ก ก็ยังไม่ว่ายร่วงอยู่ดี ว่าซั่น

 

มาถึง ยูโร 2020 ซัมเมอร์ที่แล้ว (2021) แคสเปอร์ มีส่วนสำคัญยิ่งในการที่เกือบจะสร้าง “เทพนิยายเดนส์” ให้เกิดขึ้นอีกรอบ กับการพลิกสถานการณ์โกงความตายจากความพ่ายแพ้ 2 นัดแรก มาเข้ารอบน็อกเอาต์ได้ในท้ายที่สุด (0-1 ฟินแลนด์, 1-2 เบลเยียม, 4-1 รัสเซีย) แล้วค่อยๆ ตบคู่แข่งไปทีละนัดๆ (4-0 เวลส์, 2-1 สาธารณรัฐเช็ก) จนถึงรอบตัดเชือก

 

สิ่งที่ขวางกั้น แคสเปอร์ และพลพรรคโคนมในการทำทีมของ แคสเปอร์ ฮูลมันด์ ไม่ให้เข้าถึงชิงชนะเลิศ มีเพียงจุดโทษปัญหา ช็อตที่สามารถตีความได้ว่าเป็นการตั้งใจ “พุ่งล้ม” เรียกฟาวล์ของ ราฮีม สเตอร์ลิ่ง ช่วงต่อเวลาพิเศษเท่านั้น (อังกฤษชนะ 2-1)

 

ฟอร์มแจ่มแจ๋วในยูโร ต่อยอดมายัง รอบคัดเลือก ฟุตบอลโลก 2022 ที่ก็ประสบความสำเร็จระดับคว้าตั๋วเข้ารอบสุดท้ายเป็นชาติที่ 2 ของยุโรป (ถัดจากเยอรมนี) ทีเดียว เช่นเดียวกับ ยูฟ่า เนชั่นส์ ลีก 2022/23 ที่ยังคงออกมาดีงามพระรามแปด นำจ่าฝูงของกลุ่ม 1 ลีกเอ ด้วยผลงานชนะ 3 แพ้ 1 มี 9 แต้ม เหนือทั้ง โครเอเชีย (7), ออสเตรีย (4) และ ฝรั่งเศส (2)

 

เมื่อ “ทรงดี” ต่อเนื่องนานนับปีแบบนี้

 

ย่อมไม่ผิดที่ เดนมาร์ก จะแอบวาดฝันถึงฟุตบอลโลก 2022 ไว้ ในฐานะเวิลด์คัพหนแรกที่พวกเขา “มีโอกาส” ไปถึงจุดสุดยอด

 

(ในสายตาร้านพูลอังกฤษ เดนมาร์ก ถูกวางเป็นเต็ง 8-9 แชมป์โลกในเรตจ่าย 28/1 เท่านั้น เรียกว่ามีแค่บรรดาแชมป์โลกหน้าเก่าๆ กับอีก 2-3 ชาติยุโรป ที่ถูกมองว่ามีภาษีดีกว่า)

 

ประเมินจากตรงนี้ รอบแรกไม่น่ามีปัญหาอะไร สำหรับการอยู่ร่วมสายกับ ฝรั่งเศส, ออสเตรเลีย และ ตูนิเซีย

 

ชื่อชั้นอาจเป็นรอง ฝรั่งเศส อยู่บ้าง แต่อย่าลืมว่าการพบกันล่าสุดใน เนชั่นส์ ลีก แคสเปอร์ ก็พาทีมบุกเชือดไก่ถึงปารีสมาแล้ว 2-1 (อันเดรียส คอร์เนเลียส ซัดสอง)

 

ส่วน ออสเตรเลีย กับ ตูนิเซีย แน่นอนว่าล้วนแต่เป็นรอง เดนมาร์ก อยู่แล้วในภาพรวม เท่ากับหากไม่เกิดข้อผิดพลาดหนักหนาขึ้น โคนม ก็ไม่น่ากลับบ้านเร็ว

 

ส่วนรอบน็อกเอาต์ เจอใคร-ผลออกหน้าไหน ยังเป็นเรื่องเกินการคาดเดา แต่หากเล่นเกมที่ตัวเองถนัดได้ คว้าโอกาสได้ไม่เปลือง และพอมีโชคดวงส่งเสริมบ้าง เดนมาร์ก ก็ไม่ต้องเกรงกลัวใครทั้งนั้น

 

ไปทีละแมตช์ เน้นทีละรอบ เหมือนที่ทำมาแล้วในยูโร 2022

 

ว่ากันตามตรง จุดอ่อนของพวกเขายังมีอยู่ ไม่ว่าจะแนวรับที่ไม่นิ่งแน่นอนนัก หรือแนวรุกที่บางครั้งบางคราวก็ขาดความเฉียบคมไปบ้าง

 

แต่ก็ไม่ต้องเป็นห่วงเลยกับ “ปราการด่านสุดท้าย” ที่มี แคสเปอร์ ชไมเคิ่ล คอยดูแล

 

หนึ่งประตูที่ปิดลงกับเลสเตอร์ ยังคงเหลือหนึ่งประตูสุดท้ายที่แอบฝัน กับทัพโคนม

 

การชูถ้วย ฟีฟ่า เวิลด์ คัพ ขึ้นเหนือหัว ณ กลางสนาม Lusail Iconic Stadium ประเทศกาตาร์

 

แม้ยังเป็นเพียงฝันหวานของคนทั้งชาติและตัว แคสเปอร์ เอง แต่ก็ใช่ว่านี่คือเรื่องเป็นไปไม่ได้

 

ต้องทวนความจำอีกครั้งไหมว่า แชมป์พรีเมียร์ลีกของ แคสเปอร์ ครานั้น เริ่มต้นขึ้นได้อย่างไร…???

 

 

ไกด์เถื่อน

 

 

ความน่ากังวลเมื่อถึง “วันนั้น”

กับฟุตบอลโลก 2022 ที่น่าจะเป็นครั้งสุดท้ายของนายด่านวัย 36 อย่าง แคสเปอร์ ชไมเคิ่ล เต็มที่ก็คงต่ออีกสัก 2 ปี ไปยูโร 2024 ที่เยอรมนี (ด้วยอายุปริ่ม 38) แล้วก็คงจะถึงคราวส่งไม้ต่อให้ “เจนใหม่” เข้ามารับหน้าที่เฝ้าประตูโคนมต่อไป ซึ่งมองจากตรงนี้ก็จะเห็นเลยถึงเมฆหมอกแห่งความทะมึนทึม เมื่อยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าจะเป็นใครที่ขึ้นมาแทน จากบรรดาตัวเลือกอย่างน้อย 6 ราย ดังนี้

 

แคสเปอร์ ชไมเคิ่ล : หนึ่งประตูที่ปิดลง กับหนึ่งประตู (สุดท้าย) ที่แอบฝัน

 

เฟรเดริค รอนโนว์
30 : อูนิโอน เบอร์ลิน : ทีมชาติ 8 นัด
มือสองโคนมคนปัจจุบัน ย้ายจาก บรอนด์บี้ มาวาดลวดลายในบุนเดสลีกา กับ แฟร้งค์เฟิร์ต ตั้งแต่เมื่อปี 2018 จากนั้นย้ายยืมไป ชาลเก้ 04 และเวลานี้อยู่กับ อูนิโอน เบอร์ลิน โดยซีซั่ที่แล้วได้เล่น 13 นัดเนื่องจากเป็นมือสองรองจาก อันเดรียส ลูเต้ แต่ซัมเมอร์นี้รายหลังย้ายออกไปแล้ว ทำให้จะเป็นโอกาสของ รอนโนว์ ได้พิสูจน์ตัวเองอย่างเต็มที่

 

 

 

 

 

แคสเปอร์ ชไมเคิ่ล : หนึ่งประตูที่ปิดลง กับหนึ่งประตู (สุดท้าย) ที่แอบฝัน

โยนาส ลอสเซิ่ล
33 : มิดทิลลันด์ : ทีมชาติ 1 นัด
ถือได้ว่าเป็น “จอมอาภัพ” คนหนึ่งของวงการ เมื่อเอาเข้าจริงทั้งที่ฝีไม้ลายมือไม่เลวและมีส่วนสูงเข้าที (195 ซ.ม.) แต่ช่วงชีวิตของการยกระดับจาก ฮัดเดอร์สฟิลด์ ทาวน์ สู่ทีมใหญ่ (พอตัว) อย่าง เอฟเวอร์ตัน กลับปรากฏเป็นสถิติลงสนาม 0 นัดตลอด 2 ซีซั่น 2019/20 และ 2020/21 จนที่สุดแล้วก็ต้องย้ายกลับบ้านเกิด ซบ มิดทิลลันด์ (แถมซีซั่นก่อนแวะมา เบรนท์ฟอร์ด ก็ได้เล่นแค่ 2 เกมเท่านั้นอีก)

 

 

 

 

 

 

แคสเปอร์ ชไมเคิ่ล : หนึ่งประตูที่ปิดลง กับหนึ่งประตู (สุดท้าย) ที่แอบฝัน

ปีเตอร์ วินดาห์ล เยนเซ่น
24 : อาแซด อัล์คมาร์ : ทีมชาติ 0 นัด
น่าจับตากับความก้านยาวจะสองเมตรรอมร่อ (198) และอายุอานามกำลังดี สามารถไปได้อีกไกลนับสิบปี แถมกำลังสั่งสมประสบการณ์อยู่ในฐานะมือหนึ่งของ อาแซด อัล์คมาร์ โดยเคยถูกเรียกตัวมาติดทีมชาติชุดใหญ่บ้างแล้ว แต่ยังไม่เคยลงสนามมาก่อน

 

 

 

 

 

 

 

 

แคสเปอร์ ชไมเคิ่ล : หนึ่งประตูที่ปิดลง กับหนึ่งประตู (สุดท้าย) ที่แอบฝัน

ดาเนี่ยล อีเวอร์เซ่น
25 : เลสเตอร์ ซิตี้ : ทีมชาติ 0 นัด
ทายาทของ แคสเปอร์ ชไมเคิ่ล โดยตรงในทีม เลสเตอร์ ซิตี้ กระนั้นก็ยังไม่เคยเล่นทีมชุดใหญ่จิ้งจอกสยามมาก่อน (จึงไม่ต้องพูดถึงทีมชาติ) โดยย้ายเข้าอะคาเดมี่ เลสเตอร์ ในปี 2016 ตอนที่เจ้าตัวอายุแค่ 18-19 ก่อนถูกส่งยืมไปเล่นกับหลายสโมสรในตลอดหลายปีที่ผ่านมา ซีซั่นที่แล้วไปเป็นมือหนึ่งของ เปรสตัน นอร์ธเอนด์ ก่อนที่ซีซั่นนี้จะกลับสู่ คิง เพาเวอร์ สเตเดี้ยม ในฐานะมือสอง

 

 

 

 

 

 

แคสเปอร์ ชไมเคิ่ล : หนึ่งประตูที่ปิดลง กับหนึ่งประตู (สุดท้าย) ที่แอบฝัน

แมดส์ เฮอร์แมนเซ่น
22 : บรอนด์บี้ : ทีมชาติ 0 นัด
มือหนึ่งของทีมเยาวชน ยู-21 (ซึ่่งยังไม่เคยถูกเรียกขึ้นชุดใหญ่) กำลังเป็นที่จับตาว่าจะมีอนาคตยาวไกล ภายหลังก้าวขึ้นมาเป็นมือหนึ่งของ บรอนด์บี้ ในซีซั่นที่แล้วขณะที่มีอายุเพียง 21 ขวบ รวมถึงถูกตั้งเป็นกัปตันเบอร์ 3 ของสโมสรด้วย โดยนับเป็นลูกหม้อของ บรอนด์บี้ ขนานแท้ ที่ถูกดึงตัวมาปั้นในอะคาเดมี่ตอนอายุ 14-15 เท่านั้น

 

 

 

 

 

 

 

แคสเปอร์ ชไมเคิ่ล : หนึ่งประตูที่ปิดลง กับหนึ่งประตู (สุดท้าย) ที่แอบฝัน

เยสเปอร์ แฮนเซ่น
37 : อาร์ฮุส : ทีมชาติ 0 นัด
ว่ากันตามตรง นี่คือตัวเลือกที่สามารถขีดฆ่าออกได้ง่ายที่สุด ด้วยความโชคร้ายของเจ้าตัวที่ดันอยู่ในยุคเดียวกับ แคสเปอร์ ชไมเคิ่ล จนไม่เคยได้มีโอกาสเฝ้าเสาทีมชุดใหญ่เลยสักครั้ง ที่สำคัญเจ้าของรางวัลนายประตูแห่งปีลีกเดนมาร์ก 2 สมัย (2012, 2019) ยังอายุอานามปาไป 37 สูงวัยกว่า แคสเปอร์ เสียอีก!

แคสเปอร์ ชไมเคิ่ล : หนึ่งประตูที่ปิดลง กับหนึ่งประตู (สุดท้าย) ที่แอบฝัน
0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น