กว่าจะเป็น 'กาตาร์ 2022'

กว่าจะเป็น ‘กาตาร์ 2022’

Last Updated on 07/07/2022 by fifa2022match
กว่าจะเป็น 'กาตาร์ 2022'

 คงต้องกล่าวโทษไอ้เจ้าโควิดฤทธิ์เยอะที่ทำเอาโลกลูกหนัง (และทั้งโลก) ผวนผันปั่นป่วนมาตลอด 3 ปีหลัง จนกระทบกับคิวฟุตบอลที่เราคุ้นเคยเข้าอย่างจัง

 

เพราะโดยปกติแล้ว ทัวร์นาเมนต์ใหญ่ที่คอบอลรอคอยอย่าง “ฟุตบอลโลก” กับ “ยูโร” จะสลับกันมา 2 ปีครั้ง–ในปีเลขคู่ ตลอดหน้าประวัติศาสตร์ที่ศึกชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 1960 (ขณะที่ฟุตบอลโลกมีมาก่อน 30 ปี)

 

ครั้นเมื่อโดนโควิดเข้าโจมตี ทำให้ “ยูโร 2020” เลี่ยงไม่ได้ต้องขยับโปรแกรมมาสู่ปี 2021 (โดยยังคงชื่อเดิม) ซึ่งก็อย่างที่เราต่างทราบกันดี อิตาลี ผงาดบัลลังก์แชมป์ชนิดหักหน้าชาติเจ้าภาพนัดชิงอย่าง อังกฤษ ที่เวมบลีย์ เมื่อกลางปีที่แล้ว

 

ยูโรขยับ แต่ฟุตบอลโลกไม่ ก็ทำให้ เวิลด์ คัพ รอบสุดท้าย ประจำปี 2022 จัดใหญ่ต่อเนื่องปีชนปีกันไป ไม่ต้องรอนานเหมือนคราวก่อนๆ

 

เพียงแต่ว่า เงื่อนเวลาของทัวร์นาเมนต์ก็ดัน “ผิดเพี้ยน” ไปจากปกติอีกน่ะสิ!

 

จากเดิมที่เราคุ้นเคยกับ เวิลด์ คัพ รับซัมเมอร์กลางปี พ.ค. – มิ.ย. – ก.ค. มันกลับสลับมาเป็น เวิลด์ คัพ ฉบับส่งท้ายปี พ.ย. – ธ.ค. เข้าให้

 

เรื่องของเรื่องก็คือการเลือกจิ้มให้ชาติตะวันออกกลางอย่าง “กาตาร์” รับหน้าเสื่อเจ้าภาพกับเขาบ้าง นั่นเอง

 

การตัดสินใจ (ร่วมกันของคณะกรรมการ) ครั้งนี้ เกิดขึ้นโดยต้องยึดโยงกับปูมหลัง ประวัติศาสตร์ฟุตบอลโลก และแนวทางที่ ฟีฟ่า ได้กำหนดไว้ …และกลายเป็นเชือกพันคอตัวเองกลายๆ อยู่เหมือนกัน

 

ในส่วนของปูมหลังบอลโลก ทั้งที่ใช้ชื่อว่า ‘เวิลด์คัพ’ แต่มันกลับเป็นเรื่องของ 3 ทวีปเพียงเท่านั้น อเมริกาใต้-อเมริกาเหนือ-ยุโรป ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปลายยุค 90 กระทั่งเข้าสู่ยุคมิลเลนเนียมถึงจะได้ฤกษ์นับหนึ่งฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายบนผืนแผ่นดินเอเชีย กับ เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น 2002 (มีการเลือกเจ้าภาพไว้ตั้งแต่ 1996) ต่อด้วย เยอรมนี 2006 ตามด้วยโยกไปประเดิมทวีปแอฟริกา กับ แอฟริกาใต้ 2010 ก่อนที่ 2014 (บราซิล) กับ 2018 (รัสเซีย) จะเข้าสเต็ปเดิมอีกครั้งกับอเมริกาใต้และยุโรป ตามลำดับ 

 

มาจนปี 2022 มันจึงเกิดเป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่ (ในการเลือกเจ้าภาพตอนปี 2010) กับการมอบหน้าที่ให้ชาติตะวันออกกลางรับเป็นเจ้าภาพหนแรกสุด แบบที่สร้างความตกตะลึงให้กับผู้คนและแฟนบอลครึ่งค่อนโลก

 

หลักเกณฑ์สำคัญหนึ่งที่ทำให้ชาติเล็กๆ ประชากรแค่ 2-3 ล้านคน (แต่รวย!) อย่าง กาตาร์ ผงาด คือการที่ ฟีฟ่า ออกกฎเกณฑ์มาบังคับตัวเองว่า เจ้าภาพฟุตบอลโลกในปี 2018 และ 2022 (ลงคะแนนพร้อมกันในปี 2010) จะต้องไม่เป็นชาติที่ซ้ำซ้อนทวีปกับฟุตบอลโลก 2 หนหลังสุด ซึ่งคือ แอฟริกา 2010 และ อเมริกาใต้ 2014 รวมถึงเจ้าภาพของปี 2022 จะต้องไม่ซ้ำซ้อนทวีปกับ 2018 ส่งผลให้การยื่นข้อเสนอ bidding เป็นเจ้าภาพบอลโลกของชาติต่างๆ ทั่วโลก เกิดขึ้นภายใต้ข้อจำกัดนี้

 

2018 กลายเป็นการสู้กันของชาติยุโรปเพียวๆ – รัสเซีย / อังกฤษ / เบลเยียม & เนเธอร์แลนด์ / โปรตุเกส & สเปน

ส่วน 2022 ก็เป็นการแย่งชิงกันของชาตินอกยุโรปเท่านั้น – กาตาร์ / ออสเตรเลีย / ญี่ปุ่น / เกาหลีใต้ / สหรัฐอเมริกา

 

จำเพาะมาที่การคัดเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 ไม่ว่าด้วยเหตุผลกลใด (หรือมีนอกมีใน?) จะพบว่า กาตาร์ กลายเป็นชาติที่โดดเด่นเข้าตามากกว่าใคร ในการลงคะแนนเสียงของสมาชิกบอร์ดฟีฟ่าผู้มีสิทธิ์โหวต (Eligible voters) จำนวน 22 เสียง ภายใต้ระบบว่า ชาติใดได้คะแนนโหวต “12 เสียงขึ้นไป” ภายในรอบใดก็ได้ รับสิทธิ์ผู้ชนะทันที แต่หากเสียงไม่ถึง 12 ก็จะคัดทิ้งชาติที่แต้มต่ำสุดออกไปในแต่ละรอบ

 

 

การโหวตหาเจ้าภาพปี 2022 เกิดขึ้น 4 รอบด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม ก็อย่างที่ทุกคนตั้งคำถามเหมือนกัน — กาตาร์ เหมาะสมแน่นะ?

 

เพราะ

  1.  ทีมชาติกาตาร์ ไม่เคยเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลกมาก่อน?

    ข้อนี้ ฟีฟ่า ไม่ถือเป็นสาระสำคัญอะไร หลังจากเคยให้สิทธิ์ เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น รับหน้าเสื่อปี 2002 ร่วมกัน ตั้งแต่การจิ้มเลือกในปี 1996 โดยที่ช่วงเวลานั้น ญี่ปุ่น ยังไม่เคยเข้ารอบสุดท้าย–ก่อนผ่านเข้าไปได้ใน ฟร้องซ์ 98


  2. สภาพอากาศที่เป็นปัญหา?

    ความที่เป็นดินแดนทะเลทราย อากาศร้อนจัดในช่วงกลางปี ว่ากันว่า มิ.ย. – ก.ค. อุณหภูมิช่วงกลางวันอาจพุ่งทะลุ 40 องศาฯ และไม่มีลดต่ำลงกว่า 30 องศาฯ ในช่วงนั้น ซึ่งแน่นอนว่าบรรดานักฟุตบอล หรือแม้กระทั่งผู้ชม คงไม่อาจทนร้อนไหว

    ทางแก้ทีแรกของ กาตาร์ คือการติดตั้งระบบปรับอากาศไว้ทั่วบริเวณ เพื่อรักษาระดับอุณหภูมิเอาไว้ให้ไม่เกิน 27 องศาฯ

    แต่ในท้ายที่สุดคือการเลือกที่จะโยกฟุตบอลโลก 2022 ไปเตะในช่วงสิ้นปีมันเสียเลย ที่สภาพอากาศจะเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวของประเทศ ร้อนสุดไม่เกิน 29 องศาฯ ส่วนหนาวสุดก็อาจลงได้ถึงเลขตัวเดีย


  3.  สนามล่ะ พร้อมขนาดไหน?

    ตอบได้ว่าไม่พร้อมเท่าไหร่…ถ้าไม่ได้จัดบอลโลก


    หะแรก กาตาร์ ให้คำมั่นสัญญาว่าจะปรับปรุงสนามที่มีอยู่จำนวน 2 สนามให้เข้ากับเกณฑ์มาตรฐานสามารถจัดฟุตบอลโลกได้ของ ฟีฟ่า พร้อมกับจะทุ่มงบสร้างสนามใหม่ไฉไลกว่าอีก 3 แห่ง


    เวลาดำเนินไปพร้อมกับเส้นตายที่ใกล้ขึ้นเรื่อยๆ จนมีการแย้บๆ ไอเดียว่าอาจต้องแบ่งให้ “ชาติเพื่อนบ้าน” บางประเทศ รับส่วนแบ่งเจ้าภาพจำเป็น กระนั้นในที่สุดแล้วก็มีการยืนยันว่า กาตาร์ สามารถดูแลได้ในฐานะเจ้าภาพชาติเดียวดังเดิม


กว่าจะเป็น 'กาตาร์ 2022'

กาตาร์ 2022 จะมีสนามทั้งสิ้น 8 แห่ง ในกรุงโดฮาและรอบๆ ไฮไลท์คือ “สเตเดี้ยม 974” ที่สร้างขึ้นจากตู้คอนเทนเนอร์ทั้งหมด 974 ตู้ และโครงเหล็กแบบแยกส่วนที่ได้จากการรีไซเคิล ออกแบบโดยบริษัทของสเปน โดยมีจุดประสงค์เพื่อลดต้นทุน ประหยัดเวลาในการก่อสร้าง และประหยัดพลังงาน อีกทั้งเมื่อจบทัวร์นาเมนต์แล้วก็จะถูกรื้อถอน ไม่ปล่อยไว้เป็นสนามร้างเหมือนของบางประเทศ

 

แต่เมื่อมีด้านสว่าง ก็ย่อมต้องมีด้านมืดควบคู่กันไป

 

กระบวนการสร้างสนามเหล่านี้เองที่ กาตาร์ ถูกตั้งข้อสังเกตว่า “ละเมิดสิทธิมนุษยชน” อย่างรุนแรง

 

หนึ่งคือการรีโนเวต 2 สนามเก่าอายุมาก ให้เข้ามาตรฐานพร้อมใช้สำหรับฟุตบอลโลก อีกหนึ่งคือการลงทุนลงแรงสร้างสนามใหม่ถึง 6 สนาม ให้ทันเวลา เวิลด์ คัพ 2022 เช่นกัน และทั้งสองกรณี ล้วนต้องเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ว่าสภาพอากาศในประเทศจะร้อนหนาวขนาดไหน 

 

คนซวยคือ “แรงงาน”

 

ความที่ประเทศมีประชากรน้อย (2-3 ล้านคน) ทำให้ กาตาร์ ต้องเปิดรับแรงงานข้ามชาติจำนวนมากเข้าช่วยในการณ์นี้ ไม่ว่าจะจาก อินเดีย, ปากีสถาน, บังกลาเทศ, เนปาล, ศรีลังกา และอื่นๆ 

 

เดอะ การ์เดี้ยน ขุดคุ้ยว่า แรงงานต่างชาติเหล่านี้ ถูกบังคับให้ทำงาน “ทุกวัน” ไม่มีหยุดพัก โดยส่วนใหญ่เป็นการทำงานในช่วงกลางวัน ซึ่งต้องเผชิญกับอากาศร้อนระดับ 40 องศาฯ และสำคัญคือ พาสปอร์ตของแรงงานเหล่านี้ถูกรัฐบาลกาตาร์ยึดเอาไว้ เพื่อ “ไม่ให้หนีกลับประเทศ” ทำให้พวกเขาไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกเสียจากก้มหน้าก้มตาทำงานทาสของตัวเองให้ลุล่วง

 

ด้าน วอชิงตัน โพสต์ รายงานโดยอ้างอิงจากสหพันธ์สหภาพแรงงานสากล (International Trade Union Confederation) ว่ามีแรงงานที่เกี่ยวข้องกับโปรเจ็กต์สร้างสนามบอลโลก 2022 เสียชีวิตไปอย่างน้อยถึง 1,200 คนภายในเวลาเพียง 4 ปีเท่านั้น 

 

และข้อมูลจาก npr.org ช่วงต้นปีที่แล้ว ระบุว่ามีแรงงานไม่ต่ำกว่า 6,500 ราย ที่ต้องสังเวยชีวิตเพื่อ กาตาร์ 2022

 

ใหญ่โตโอ่อ่า สวย ใหม่เอี่ยม เปี่ยมไปด้วยนวัตกรรม แต่มันคือ…สนามเปื้อนเลือด

 

นอกจากเรื่องสนามแล้ว ก็ยังหนีไม่พ้นต้องย้อนไปถึงความ “ไม่โปร่งใส” ในการจิ้มเลือกให้ กาตาร์ รับบทเจ้าภาพ ตั้งแต่เมื่อปี 2010

 

บีบีซี ปูดรายงานไว้ว่า ฟีฟ่า ได้รับเงินใต้โต๊ะมากกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากรัฐบาลกาตาร์ เพื่อให้ได้สิทธิ์การเป็นเจ้าภาพเหนือตัวเก็งอย่าง สหรัฐอเมริกา ที่เคยจัดบอลโลกมาแล้วเมื่อปี 1994

 

ด้าน ลอร์ด เดวิด ทรีสแมน สมาชิกสภาขุนนางแห่งสหราชอาณาจักร และอดีตผู้ช่วย รมต. ว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ไปจนถึงศาลแขวงสหรัฐ (US District Court) ก็ได้ร่วมเปิดโปงไว้ถึง “ขบวนการ” คอรัปชั่นที่ช่วยให้ กาตาร์ เข้าวินในท้ายที่สุด

แคเมอรูน และ ไอวอรี่โคสต์ รับเงิน 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เแลกกับการสนับสนุน กาตาร์ เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก

โมฮัมเหม็ด บิน ฮัมมัม อดีตประธานเอเอฟซี พยายามล็อบบี้สมาชิก 22 รายให้โหวตเลือก กาตาร์ เป็นเจ้าภาพ โดยมีการอัดเงินกว่า 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 

แจ๊ค วอร์เนอร์ อดีตรองประธานฟีฟ่า ตัวแทนของตรินิแดดแอนด์โตเบโก รับเงิน 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นค่าสนับสนุนกาตาร์

นิโกลัส เลออซ อดีตประธานสหพันธ์ฟุตบอลอเมริกาใต้ (คอนเมโบล) และ ริคาร์โด้ เตเซยร่า อดีตประธานสหพันธ์ฟุตบอลบราซิล ต่างก็รับเงินสินบนเพื่อลงเสียงโหวตให้กาตาร์

ยังมีบุคคลที่ถูกตั้งข้อหา จับกุมตัว และสั่งแบนห้ามยุ่งเกี่ยวกับวงการ (ไม่ว่าจะมีความเกี่ยวข้องกับการเลือกกาตาร์เป็นเจ้าภาพหรือไม่ก็ตาม) ในข้อหาคอรัปชั่น ทั้ง เชอโรม วัลช์เค่ อดีตเลขาฟีฟ่า, มิเชล พลาตินี่ อดีตประธานฟีฟ่า จนถึง เซปป์ แบล็ตเตอร์ อดีตประธานฟีฟ่า อีกราย

 

ทั้งเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชนและความมืดดำของการทุจริต ยังผลให้เกิดกระแสการแอนตี้ “คว่ำบาตรฟุตบอลโลก 2022” โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศหัวก้าวหน้าแถบยุโรปกลางและสแกนดิเนเวีย เช่น นอร์เวย์ หรือ เยอรมนี

 

บรรดาขุนพลนักเตะทีมชาติเยอรมนี ที่คว้าตั๋วเข้ารอบสุดท้ายเป็นชาติแรกของการคัดเลือก (ไม่นับรวมเจ้าภาพ กาตาร์) ถึงกับเคยสวมเสื้อยืดข้อความว่า “HUMAN RIGHTS” ลงไปตั้งแถวถ่ายรูปก่อนเกมคัดบอลโลกกับ ไอซ์แลนด์ ตอนต้นปี 2021 เช่นเดียวกับทีมชาตินอร์เวย์ (นำโดย เออร์ลิ่ง เบราท์ ฮาแลนด์) ที่ร่วมกันสวมเสื้อข้อความ “HUMAN RIGHTS, on and off the pitch” ลงตั้งแถวก่อนเกมพบ ยิบรอลตาร์

 

แต่ก็อีกนั่นแหละ จะเกิดแง่มุมมืดดำมากขนาดไหน หากลองปิดตาข้างหนึ่งก็ยังคงจะพบว่า ฟุตบอลโลก ยังคงศักดิ์สิทธิ์และเปี่ยมเสน่ห์ของฟุตบอลโลก ไม่ต่างอย่างที่เคยเป็นมา

 

เพื่อเป็นการต้อนรับเวิลด์คัพฉบับกาตาร์ ลีกลูกหนังเบอร์ 1 โลกอย่าง พรีเมียร์ลีก ก็ได้ประกาศกำหนดการเปิดปิด และ “ปิดกลางภาค” ฤดูกาลใหม่ไว้เรียบร้อยแต่เนิ่นๆ แล้ว นั่นคือ 6 ส.ค. เปิดซีซั่นใหม่ (เร็วกว่าที่เคย) / 12-13 พ.ย. ปิดเทอมกลางภาค / กลับมาเตะช่วงบ๊อกซิ่งเดย์ 25 ธ.ค. / ปิดซีซั่น 28 พ.ค. 2023

 

อย่างที่ว่า ท่ามกลางข้อครหาและการส่ายหัวไม่เห็นด้วยของบางกลุ่ม อย่างไรเสีย กาตาร์ 2022 ก็เดินหน้าไปแล้ว และเหลือเพียงนับถอยหลังระเบิดศึกเป็นทางการขึ้นเพียงเท่านั้น

 

21 พ.ย. – 18 ธ.ค. ที่จะถึง โลกทั้งโลกจะหยุดหมุนอีกครั้งเพื่อต้อนรับการมาของทัวร์นาเมนต์ที่ผู้คนต่างรอคอย… กาตาร์ 2022

 

 

ไกด์เถื่อน  

 

อ้างอิง

https://en.wikipedia.org/wiki/2022_FIFA_World_Cup

https://en.wikipedia.org/wiki/FIFA_World_Cup_hosts

https://www.bbc.com/news/10093703

https://www.bbc.com/news/magazine-33019838

https://www.mainstand.co.th/738

https://www.mainstand.co.th/MS2022QatarWorldCupHostSelection

https://www.premierleague.com/news/2264107

กว่าจะเป็น 'กาตาร์ 2022'