โอลิเวอร์ นอยวิลล์ : "คำว่า 'เกือบ' แชมป์โลก ...พูดกี่ครั้งก็เจ็บ!"

โอลิเวอร์ นอยวิลล์ : คำว่า ‘เกือบ’ แชมป์โลก …พูดกี่ครั้งก็เจ็บ!

Last Updated on 08/04/2022 by fifa2022match

บนความเป็นนักเตะอาชีพ หนึ่งในเกียรติยศสูงสุดคือการได้เป็นตัวแทนทีมชาติบ้านเกิด เข้าโรมรันชิงชัยใน ฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย แต่ในฐานะของการเป็นนักเตะอาชีพ–ระดับสูง พวกเขาไม่ได้เล็งถึงเพียงการเข้าร่วม แต่หมายตาถึง “แชมป์โลก” เมื่อตัวเองวาสนาดีพอได้เกิดมาในชาติที่เชิงลูกหนังแข็งแกร่งระดับหัวแถว

โอลิเวอร์ นอยวิลล์ จัดอยู่ในกลุ่มบรรทัดข้างต้นอย่างไม่ต้องสงสัย

กองหน้าร่างเล็กความเร็วจัดจ้านสร้างชื่อกับ ไบเออร์ เลเวอร์คูเซ่น ช่วงปลายยุค 90 ต่อต้นยุคมิลเลนเนียม โดยเป็นตัวจริงของทีมนายห้างขายยาชุดเข้าชิงชนะเลิศ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก (หนแรกและหนเดียวของสโมสร) ในปี 2002 — เลเวอร์คูเซ่น แพ้ เรอัล มาดริด 1-2

หนึ่งเดือนให้หลัง เขาได้ลงตัวจริงในนัดชิงชนะเลิศ ฟุตบอลโลก 2002 ทว่าก็ยังคงลงเอยด้วยความผิดหวังซ้ำสอง

และยิ่งเจ็บปวดเป็นทวีคูณกับการได้เป็นแค่ “อันดับ 3” บอลโลก 2006 ต่อด้วย “รองแชมป์” ยูโร 2008

1998-2008 ของการรับใช้ชาติ นอยวิลล์ ลงสนาม 69 นัด ซัด 10 ประตู

และทำได้แค่ “เกือบ” จะเป็นแชมป์ ในทุกทัวร์นาเมนต์ที่ว่ามา

“…มันโหดร้ายมาก” นอยวิลล์ ยอมรับเสียงอ่อยๆ พร้อมสีแดงก่ำในดวงตา เมื่อเราพาเขาย้อนอดีตไปถึงวันเหล่านั้นด้วยการจับเข่าคุย…

โอลิเวอร์ นอยวิลล์ : "คำว่า 'เกือบ' แชมป์โลก ...พูดกี่ครั้งก็เจ็บ!"

โอลิเวอร์ ความทรงจำของคุณจากฟุตบอลโลก 2002 ที่เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น เป็นอย่างไรบ้าง?
ผมสนุกกับการหวนคิดถึงช่วงเวลานั้นจริงๆ บรรยากาศในสเตเดี้ยมแห่งใหม่ของพวกเขานั้นช่างน่าเหลือเชื่อ และผู้คนในท้องถิ่นก็ยอดเยี่ยม ผมยังจำได้ว่าผู้หญิงญี่ปุ่นกรี๊ดกร๊าดทุกครั้งที่เห็น คาร์สเท่น ยังเคอร์ เพราะพวกเธอไม่เคยเห็นผู้ชายที่สูงขนาดนี้มาก่อน! (หัวเราะ)

อะไรทำให้เยอรมนีแข็งแกร่งขนาดนั้น และบทบาทส่วนตัวของคุณในทีมของ รูดี้ โฟลเลอร์ เป็นแบบไหน?
เราเป็นทีมที่ดีมากจริงๆ เราเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ที่จริงไม่มีใครคิดว่าเราจะไปถึงรอบชิงชนะเลิศ เพราะในรอบคัดเลือก เราต้องเหนื่อยเตะเพลย์ออฟกับ ยูเครน และผลงานในรอบแรกก็ไม่ได้สวยหรูดูดีเช่นกัน แม้เราจะชนะ ซาอุดีอาระเบีย 8-0 ก็ตาม
อย่างไรก็ตาม หลังจากเกมรอบแรกนัดสุดท้ายที่พบกับ แคเมอรูน เรามีความรู้สึกในทีมว่าสามารถประสบความสำเร็จจากทัวร์นาเมนต์นี้ได้ เราเชื่อมั่นในตัวเองเสมอมา ผมแน่ใจมากๆ ว่าคุณสามารถประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้นด้วยทีมที่เป็นหนึ่งเดียวกัน เข้ากันได้ดีทั้งนอกสนามและในสนาม มากกว่าที่คุณจะทำได้ด้วยยอดนักเตะระดับโลก 22 คน นั่นเป็นวิธีที่ผมมองบทบาทของผม – ผมเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังนั้น ตอนแรกผมอยู่บนม้านั่งสำรอง แต่เมื่อทัวร์นาเมนต์ดำเนินไป ผมก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของไลน์อัพตัวจริง

เยอรมนีชุดนั้นมีนักเตะหลากหลายประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแนวรุก ซึ่ง รูดี้ โฟลเลอร์ ก็ให้ทุกคนได้โอกาสลงสนามด้วย นั่นถือเป็นความแข็งแกร่งที่แตกต่างจากทีมอื่นหรือเปล่า?
แน่นอนที่สุด เราแต่ละคนต่างมีจุดแข็งของตัวเอง คาร์สเท่น ยังเคอร์ เป็นตัวเป้าที่ยอดเยี่ยม เขาสามารถเก็บบอลในแดนหน้าได้ตลอดเวลา, มิโรสลาฟ โคลเซ่ ยังเด็กมากในตอนนั้น แต่เขาก็เล่นลูกกลางอากาศได้ดีมาก และมีสัญชาตญาณในการไล่ล่าประตู, โอลิเวอร์ เบียร์โฮฟฟ์ เป็นตัวประสบการณ์สูง และเล่นลูกกลางอากาศได้ดีเช่นกัน ในส่วนของตัวผม อาวุธหลักคือเรื่องความเร็ว ดังนั้นมันจึงเป็นส่วนผสมที่ยอดเยี่ยม และส่งเสริมกันและกันได้เป็นอย่างดี

คุณถูกส่งลงเป็นตัวจริงครั้งแรกในทัวร์นาเมนต์ ก็รอบ 16 ทีมสุดท้ายกับ ปารากวัย แล้ว มันเป็นเกมที่ยาก แต่คุณก็กลายเป็นฮีโร่ด้วยการทำประตูตัดสินเกมในช่วงท้าย คุณยังจำช่วงเวลานั้นได้ไหม?
แบร์นด์ ชไนเดอร์ สาดบอลสวยๆ มาจากทางขวา มันไม่ง่ายที่จะจบสกอร์เพราะลูกบอลกระดอนพื้นก่อนที่มันจะเข้ามาหาผม แต่ผมจัดการมันได้อย่างสมบูรณ์ด้วยการฮาล์ฟวอลเลย์จากข้างเท้าด้านใน มันเป็นประตูที่ยอดเยี่ยม และเห็นได้ชัดว่าประตูในนาทีสุดท้ายทำให้ทีมฮึกเหิมกันอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรอบน็อกเอาต์ ซึ่งทุกเกมถือเป็นรอบชิงชนะเลิศของเราเอง

คุณทำประตูได้มากมายในเส้นทางค้าแข้งของคุณ แต่พูดได้ไหมว่าประตูกับ ปารากวัย ลูกนั้น สำคัญที่สุด?
ก็พูดยากพอสมควร บางทีอาจเพราะมันเป็นการยิงในทีมชาติ แต่ผมก็ยิงประตูสำคัญๆ มากมายในระดับสโมสรด้วย ตัวอย่างเช่น 2 ประตูที่ผมทำได้ในแชมเปี้ยนส์ ลีก รอบตัดเชือกกับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ตอนปี 2002 ถึงกระนั้น ประตูนั้นในเกมกับ ปารากวัย ก็เป็นหนึ่งในประตูที่สำคัญที่สุดอย่างแน่นอน

ระหว่างประตูที่ยิงใส่ ปารากวัย กับประตูที่คุณทำได้ในนัดพบ โปแลนด์ ตอนฟุตบอลโลก 2006 ในบ้านเกิดของคุณ ลูกไหนที่ถูกเอ่ยถึงมากกว่ากัน?
ประตูกับ โปแลนด์ มากกว่านะ อาจเป็นเพราะบรรยากาศความอิ่มเอมใจทั้งหมดที่อยู่กับเกมในดอร์ทมุนด์นัดนั้น ซึ่งมีแฟนบอลชาวโปลิชจำนวนมากอยู่ในสนามด้วย มันเป็นส่วนหนึ่งของ ‘เทพนิยายฤดูร้อน’ บนแผ่นดินบ้านเกิดของเรา

โอลิเวอร์ นอยวิลล์ : "คำว่า 'เกือบ' แชมป์โลก ...พูดกี่ครั้งก็เจ็บ!"

กลับมาที่บอลโลก เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น 2002 อีกสักหน่อย ทีมของคุณเบียดชนะ สหรัฐอเมริกา และ เกาหลีใต้ ด้วยสกอร์เดียวกัน 1-0 ในรอบถัดมาอีกสองรอบ โดยที่ มิชาเอล บัลลัค เป็นคนทำประตูโทนทั้งสองเกม แต่ปรากฏว่าเขาต้องติดโทษแบนสำหรับนัดชิงชนะเลิศ มันถือเป็นความเสียหายครั้งใหญ่ของทีมหรือเปล่า?
เขามีทัวร์นาเมนต์ที่ยอดเยี่ยมจนถึงจุดนั้น และอยู่ในฟอร์มที่ยอดเยี่ยมมากๆ ชัดเจนว่าเราคิดถึงเขาในนัดชิงฯ และมันยากสำหรับเรา แต่ก็สำหรับตัวเขาด้วย มันคงเป็นความรู้สึกที่แย่มากที่ต้องพลาดนัดชิงฟุตบอลโลก เพราะแค่โดนใบเหลืองสองใบ

คุณอยู่ในไลน์อัพตัวจริงอีกครั้งสำหรับนัดชิงชนะเลิศกับ บราซิล มันเป็นความรู้สึกอย่างไรเมื่อคุณก้าวลงสนามไปจริงๆ เพื่อเล่นเกมที่สำคัญที่สุดในโลก แล้วเสียงเพลงชาติก็บรรเลงขึ้นก่อนเกม?
พิเศษมากถึงมากที่สุด มันเป็นสิ่งที่คุณฝันถึงตอนเป็นเด็ก ก่อนหน้านั้นผมก็เคยเล่นในนัดชิงชนะเลิศแชมเปี้ยนส์ ลีก มาด้วย แต่คุณไม่สามารถเปรียบเทียบนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลโลกกับเกมอื่นได้อีก นี่คือเกมที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก คุณคงทราบดีว่ามีคนเฝ้ามองเกมนี้อยู่กี่คน และระหว่างทางจากโรงแรมของเราไปยังสนามกีฬา… ผมไม่เคยเจอฝูงชนเยอะขนาดนี้มาก่อนเลย ไม่มีอะไรที่คุณสามารถเปรียบเทียบได้เลยจริงๆ

คุณเกือบจะเป็นฮีโร่ของเยอรมนีในช่วงต้นครึ่งหลัง แต่ฟรีคิกระยะ 30 หลาของคุณที่กำลังจะพุ่งเข้าประตู ถูกปัดไปชนเสาอย่างจังโดย มาร์กอส คุณได้คิดบ้างไหมว่า เยอรมนี อาจขึ้นเป็นแชมป์โลกในคราวนั้น ถ้าลูกฟรีคิกของคุณมันเข้าประตูไป?
อืมมม ใครจะรู้ล่ะ? น่าเสียดายที่มันไม่ใช่สิ่งที่เราสามารถเปลี่ยนแปลงได้ทีหลัง แต่ถ้าเราขึ้นนำ 1-0 แน่นอนว่าโอกาสในการชนะของเราจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก จังหวะนั้นผมยืนรอเล่นฟรีคิกอยู่กับ ดิดี้ ฮามันน์ และ แบร์นด์ ชไนเดอร์ และผมก็พูดว่า ‘แบร์นด์ ผมจะยิงเอง’ เพราะผมมั่นใจไม่น้อยในการเตะลูกนิ่งของผม แต่แล้วนายประตูบราซิลก็เอาปลายนิ้วมือปัดทิ้งไปได้ แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอในฟุตบอล – องศาที่เบี่ยงไปแค่ 2-3 เซนติเมตรก็สามารถชี้ขาดเกมได้ บางครั้งบางคราว เยนส์ เยเรมิส ก็ยังแซวผมเรื่องนี้ เขาว่า “แกยิงฟรีคิกได้ห่วยเป็นบ้า!” (หัวเราะ)

ในที่สุด บราซิล ก็ชนะเยอรมนี 2-0 คุณยังจำช่วงเวลาหลังเป่านกหวีดได้ไหม? ความพ่ายแพ้นั้นกัดกินคุณนานแค่ไหนกัน?
แม้ว่าจะไม่มีใครคาดคิดว่าเราจะไปถึงชิงชนะเลิศ แต่เราทุกคนก็ยังผิดหวังอย่างเหลือเชื่อ มันโหดร้ายมาก เพราะเราเข้าใกล้การคว้าแชมป์โลกมากๆ แล้ว มันน่าจะเป็นเกมที่ดีที่สุดที่เราเล่นในทัวร์นาเมนต์ แต่เราก็แพ้ในที่สุด
แน่นอนว่าความรู้สึกเสียใจจะอยู่กับคุณไปชั่วขณะหนึ่งหลังจากนั้น แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง ความโศกเศร้าก็จะจางหายไป แต่ก็นั่นแหละ มันยังเป็นความรู้สึกเสียดายอยู่เสมอเมื่อคิดถึงลูกฟรีคิกของผมที่ไปชนเสาเข้าเสียแทนที่จะเป็นประตู เพียงแต่ว่ามันก็ไม่ได้แย่เท่ากับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงในท้ายที่สุดน่ะนะ…

ไกด์เถื่อน เรียบเรียง

โอลิเวอร์ นอยวิลล์ : "คำว่า 'เกือบ' แชมป์โลก ...พูดกี่ครั้งก็เจ็บ!"

ยุคทองของเยอรมนี…ที่ไปไม่ถึงสักแชมป์
ด้วยยี่ห้อเจ้าของแชมป์โลกถึง 4 สมัย บวกด้วยแชมป์ยูโรเจ้ายุโรปอีก 3 สมัย แสดงให้เห็นว่าระดับ “อินทรีเหล็ก” มันเหนือกว่าชาวบ้าน แข็งแกร่งกว่าใครเสมอมาทั้งในอดีตและปัจจุบัน พวกเขาสร้างนักเตะระดับสุดยอดขึ้นมาประดับวงการได้นักต่อนัก และหลายยุคหลายสมัยพวกแข้งเจ๋งๆ เหล่านี้ก็มารวมตัวกันสร้างยอดทีมพะตราเดเอฟเบบนชุดแข่งขาวดำ แต่ถึงกระนั้น “ยอดทีม” ที่ว่าก็เคยมีช่วงข้าวยากหมากแพง ห่างหายโทรฟี่แชมป์ยาวนานนับสิบปีอยู่เหมือนกัน…เพราะต่อให้จะเป็น “รองแชมป์” ก็ไม่ถูกนับว่ามันเป็นความสำเร็จ นั่นเอง

ฟุตบอลโลก 1998

จบที่ : รอบ 8 ทีม

บอลโลกแดนน้ำหอม “ฟร้องซ์ 98” มีไฮไลท์อยู่ที่เจ้าภาพ ฝรั่งเศส กับรองแชมป์อย่าง บราซิล ในขณะที่ เยอรมนี คงถือได้ว่าเป็นตัวประกอบรายการ (แม้จะมาในฐานะแชมป์ยูโร 96) เมื่อเด็กๆ ของ แบร์ตี้ โฟ้กท์ส ไม่ได้มีทัวร์นาเมนต์ที่โดดเด่นจนเป็นภาพจำอะไร ก่อนจะร่วงรอบ 8 ทีมสุดท้ายอย่างเซอร์ไพรส์เล็กน้อยกับสกอร์ที่้เกิดขึ้น ด้วยการพ่าย โครเอเชีย ยุค ดาวอร์ ซูเคอร์ + ซโวนิเมียร์ โบบัน 0-3 ซึ่งนับเป็นการล้างแค้นสำเร็จของทัพตาหมากรุก หลังจากแพ้ เยอรมนี 1-2 ในรอบ 8 ทีมยูโร 96

ยูโร 2000

จบที่ : รอบแรก

สองปีให้หลังจาก “ฟร้องซ์ 98” ก็กลับกลายเป็นว่าลูกทีมอินทรีเหล็กของ เอริค ริบเบ็ค ทำเซอร์ไพรส์กว่า ทั้งที่ทีมชุดนั้นก็ไม่ได้ขี้เหร่ แกนหลักมาจาก บาเยิร์น มิวนิค ที่เพิ่งเป็นดับเบิ้ลแชมป์บอลเบียร์มาหมาดๆ แต่ปรากฏว่าพวกเขาได้แค่เสมอ โรมาเนีย 1-1, แพ้ อังกฤษ 0-1 และแพ้ โปรตุเกส 0-3 ตกรอบแรกไปแบบงงๆ อึ้งๆ กันทั้งประเทศ

ฟุตบอลโลก 2002

จบที่ : รองแชมป์

ทัวร์นาเมนต์ที่ถูกเอ่ยถึงในบทสัมภาษณ์ต้นเรื่อง เยอรมนี มีการเปลี่ยนแปลงเยอะทั้งตัวกุนซือ มาเป็น รูดี้ โฟลเลอร์ เช่นเดียวกับขุมกำลังที่ปรับจากยูโรมากกว่าครึ่งทีม โดยเน้นไปที่เลือดใหม่อายุต่ำกว่า 30 ส่วนตำนานอย่าง โลธ่าร์ มัทเธอุส, โธมัส เฮสเลอร์, เมห์เม็ต โชล หรือ อูล์ฟ เคียร์สเท่น หมดอายุในระดับชาติ

ออกสตาร์ทได้อย่างเร้าใจด้วยการถล่ม ซาอุฯ 8-0 มิโรสลาฟ โคลเซ่ แฮตทริก ก่อนเข้ารอบในฐานะแชมป์กลุ่ม จากนั้นค่อยๆ บดบี้เอาชนะคู่แข่งด้วยสกอร์ 1-0 ซ้ำทั้ง 3 รอบ (16 ทีมชนะปารากวัย, 8 ทีมชนะสหรัฐฯ, ตัดเชือกชนะเกาหลีใต้) กระทั่งเข้าชิงฯ และเกือบขึ้นนำจากฟรีคิกของ โอลิเวอร์ นอยวิลล์ ที่ถูกปัดไปชนเสา ก่อนมาโดนทีเด็ดของ R9 โรนัลโด้ เหมาสองใส่ โอลิเวอร์ คาห์น ปิดเกมที่ บราซิล ชนะนิ่ม 2-0

ยูโร 2004

จบที่ : รอบแรก

ซ้ำแผลเก่าอย่างไม่น่าเชื่อ ใครจะคิดล่ะว่าทีมระดับรองแชมป์โลกหมาดๆ จะมาหยุดเส้นทางแค่รอบแรกของศึกชิงแชมป์ทวีปเป็นหนที่ 2 ติดกัน แต่ก็เป็นไปแล้วเมื่้อความฝืดหนืดเนือยเข้าเกาะกินอินทรีเหล็กอย่างประหลาด เริ่มจากเสมอ เนเธอร์แลนด์ 1-1 (ซึ่งเข้าใจได้) ตามด้วยเสมอ ลัตเวีย (เข้ารอบสุดท้ายหนแรกและหนเดียว) 0-0 ก่อนปิดท้ายแพ้ สาธารณรัฐเช็ก 1-2 จึงตกรอบกลับบ้านสบายแฮ

ฟุตบอลโลก 2006

จบที่ : อันดับ 3

8 ปีหลังอำลาทีมชาติและแขวนสตั๊ด เจอร์เก้น คลิ้นส์มันน์ คืนสู่เหย้าด้วยบทบาทใหม่อย่างการเป็นบุนเดสเทรนเนอร์ ซึ่งเชฟหลามก็ผ่าตัดเปลี่ยนแปลงทีมอย่างมันมือ เปิดที่ทางให้ดาวรุ่ง ยู-23 ได้ไปบอลโลกในบ้านเกิดถึง 8 โควตา (ลาห์ม, โอดอนคอร์, ชไวนี่, ฮูธ, โพลดี้ ฯลฯ) และปรับให้ เยนส์ เลห์มันน์ ขึ้นเป็นประตูมือหนึ่งแทน โอลิเวอร์ คาห์น

ห้องทดลองของ คลิ้นซี่ ได้ผลดีเกินคาด – เยอรมนี ชนะรวด 3 เกมรอบแรก (4-2 คอสตาริกา, 1-0 โปแลนด์, 3-0 เอกวาดอร์) เข้ารอบใสๆ ก่อนผ่าน สวีเดน 2-0 และชนะจุดโทษ อาร์เจนติน่า 4-2 กระนั้น เส้นทางของพวกเขาก็ถูกหยุดลงโดย อิตาลี ยุคโคตรมหาแข็งแกร่ง ที่ระเบิดพลังแฝงทุบชนะอินทรีเหล็ก 2-0 เฮือกท้ายช่วงต่อเวลา น.119 (ฟาบิโอ กรอสโซ่) และ 120+1 (อเลสซานโดร เดล ปิเอโร่)

นัดชิงที่ 3 ซึ่งไม่ต้องนับก็ได้ เยอรมนี ได้รางวัลปลอบใจเป็นเหรียญทองแดง จากชัยชนะเหนือ โปรตุเกส 3-1

ยูโร 2008

จบที่ : รองแชมป์

แต่แม้จะผลงานดี คลิ้นส์มันน์ ก็ไม่ขอนั่งเก้าอี้ต่ออีกทัวร์นาเมนต์ ส่งไม้ต่อให้มือขวา โยอัคคิม เลิฟ ขยับมานั่งเก้าอี้แทน เริ่มต้น “ยุคเลิฟ” ตั้งแต่หลังจบบอลโลก 2006 เป็นต้นไป

อาจกุกกักเล็กน้อยในรอบแรก ที่มีแพ้ โครเอเชีย 1-2 แต่ก็ยังเข้ารอบได้ และในรอบน็อกเอาต์ เยอรมนี เจอเกมสุดสะท้านใจในทุกรอบ เริ่มจาก 8 ทีมชนะ โปรตุเกส 3-2, ตัดเชือกชนะ ตุรกี 3-2 ฟิลิปป์ ลาห์ม ซัดชัยนาทีสุดท้าย และนัดชิง บดกับ สเปน อย่างสุดมันส์ ก่อนพ่าย 0-1 จากประตูในครึ่งแรกของ เฟร์นานโด ตอร์เรส

ใกล้เคียงแชมป์อีกครั้ง แต่ก็พลาดในก้าวสุดท้ายอีกแล้ว

ฟุตบอลโลก 2010

จบที่ : อันดับ 3

ตลอดหน้าประวัติศาสตร์ฟุตบอลโลก ก็มีเพียง เยอรมนี นี่แหละที่ป้องกันเหรียญทองแดง อันดับ 3 เอาไว้ได้ 2 หนติด ซึ่งก็ไม่รู้จะภาคภูมิใจดีหรือไม่เหมือนกัน

พลาดท่าแพ้ เซอร์เบีย 0-1 ในเกมที่สองของรอบแรก แต่ก็แก้ตัวได้ทันการณ์ เบียดชนะ กาน่า 1-0 ด้วยประตูโทนของ เมซุต โอซิล ส่งผลให้ยังคงจบที่แชมป์กลุ่ม และเข้าไปดวล อังกฤษ ในรอบ 16 ทีม ซึ่งปรากฏสกอร์ชนะขาดลอยเกินคาด 4-1 ภายหลังลูกยิงของ แฟร้งค์ แลมพาร์ด ที่ข้ามเส้นไปแล้วไม่ถูกเป่าให้เป็นลูก 2-2 เนื่องจากตอนนั้นยังไม่มีเทคโนโลยีโกลไลน์

เยอรมนี ยังโชว์เหนือถล่ม อาร์เจนติน่า 4-0 ในรอบ 8 ทีม เพียงแต่ว่าเมื่อมาเจอศัตรูเก่าอย่าง สเปน ที่เพิ่งซัดกันมานัดชิงยูโร อินทรีเหล็กก็เก๊กซิมอีกครั้ง แพ้สกอร์เดิม 0-1 การ์เลส ปูโยล สอยตาข่าย น.73

นัดชิงที่ 3 เยอรมนี เบียดชนะ อุรุกวัย 3-2 ซามี่ เคดิร่า สังหารชัย น.82 ส่งให้ชาติบ้านเกิดคว้าอันดับ 3 สองสมัยติดต่อกัน

ยูโร 2012

จบที่ : รอบตัดเชือก

ก่อนจะถึงฝั่งฝันอย่างที่ไม่ค่อยจะมีใครคาดคิดในฟุตบอลโลก 2014 ที่บราซิล เยอรมนี ก็ได้แค่ “เกือบ” อีกเหมือนเช่นเคยกับยูโร 2012 ที่โปแลนด์-ยูเครน (หลังจากชนะรวด 3 นัดรอบแรก และอัด กรีซ 4-2 รอบแปดทีม) เมื่อต้องชนตออย่าง อิตาลี ที่เวลานั้นมีตัวโหดอย่าง มาริโอ บาโลเตลลี่ ผู้ซึ่งเหมายิง 2 เม็ดในครึ่งแรก กว่าที่ทีมของ โยกี้ เลิฟ จะตีไข่แตกได้ก็ปาไปทดเจ็บ 90+2 (โอซิล) ซึ่งไม่ทันเวลาแต่อย่างใด หยุดเส้นทางที่รอบตัดเชือก — แบบที่ไม่มีนัดชิงที่ 3 ไว้ปลอบใจ

1998 – 2012 อาจไม่ได้นานนักสำหรับฟุตบอลระดับนานาชาติ หลายประเทศใช้เวลารอคอยความสำเร็จนานกว่านี้มาก แต่ก็เป็นเรื่องที่ เยอรมนี ต้องกล้ำกลืนฝืนทนอยู่ในที กับการที่ไปไม่ถึงแชมป์เลยสักรายการในช่วงสิบกว่าปีนั้น…ดีที่สุดได้แค่ “ใกล้เคียง”

อ้างอิง
https://www.fifa.com/fifaplus/en/articles/oliver-neuville-germany-interview-fifa-world-cup-2002
https://en.wikipedia.org/wiki/Germany_national_football_team
https://en.wikipedia.org/wiki/2002_FIFA_World_Cup
https://en.wikipedia.org/wiki/2006_FIFA_World_Cup
https://en.wikipedia.org/wiki/2010_FIFA_World_Cup
https://en.wikipedia.org/wiki/UEFA_Euro_2000
https://en.wikipedia.org/wiki/UEFA_Euro_2004
https://en.wikipedia.org/wiki/UEFA_Euro_2008
https://en.wikipedia.org/wiki/UEFA_Euro_2012

ภาพประกอบ
FIFA
Twitter
GettyImages
DFB
WorldFootball

โอลิเวอร์ นอยวิลล์ : "คำว่า 'เกือบ' แชมป์โลก ...พูดกี่ครั้งก็เจ็บ!"